วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ไว้ทำอาหารกินเองที่บ้าน

          วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวยอดนิยมคู่ครัวไทย พร้อมข้อมูลน่ารู้ทั้งลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ รวมถึงโรคและแมลงที่คนปลูกต้องคอยระวัง !
ต้นโหระพา

          นอกจากการปลูกต้นไม้ ดอกไม้แล้ว ผักสวนครัวก็ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่คนรักการจัดสวน ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะช่วยให้บ้านสวยงามแล้ว ยังทำให้เรามีผักสด ๆ ไว้กินฟรี ๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น โหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ๆ ดูแลไม่ยาก มากด้วยสรรพคุณ แถมเอาไปต้มยำทำแกงได้หลากหลายเมนู วันนี้กระปุกดอทคอมเลยอยากเอาวิธีปลูกโหระพา วิธีดูแล และโรคที่ควรระวังมาฝากกันค่ะ

 

ข้อมูลน่ารู้ของโหระพา

          โหระพา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เป็นพืชตระกูลเดียวกับกะเพราและแมงลักที่จัดอยู่ในวงศ์ Labiatae โหระพามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basilicum L. และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Basil, Sweet Basil และ Thai Basil ซึ่งคำว่า Basil มาจากภาษากรีก Basileus ซึ่งมีความหมายว่า ราชา หรือ ผู้นำของประชาชน ส่วนในไทยนั้นนอกจากจะเรียกผักสวนครัวกลิ่นหอมชนิดนี้กันว่าโหระพาแล้ว ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่ใช้เรียกกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ ห่อกวยซวย, ห่อวอซุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และอิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

 

ต้นโหระพา

ลักษณะของต้นโหระพา

          โหระพา เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมและมีขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านเป็นสีม่วงอมแดง มีขนอ่อน ๆ ตามลำต้น  มีกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม ก้านอ่อนสีม่วง-แดง แตกแขนงออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน มีใบแทงออกตามข้อเดี่ยว ลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ สีเขียวเข้มมองเห็นเส้นใบชัดเจน ความกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อน และมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อดอกเรียงเป็นชั้น ชั้นละ 6-8 ดอก ดอกมีสีขาวอมม่วง ในดอกมีเมล็ดใน 3-4 เมล็ด ลักษณะเมล็ดคล้ายหยดน้ำ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม มีเมือกหุ้ม เมื่อนำมาแช่น้ำเมือกจะพองตัวออกคล้ายเมล็ดแมงลัก 

 

วิธีปลูกโหระพา

วิธีปลูกโหระพา

          โหระพาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 1-2 ปี โหระพาจะขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำได้ดีเป็นพิเศษ เหมาะจะปลูกในตอนเย็น ซึ่งต้องทำการเตรียมขุดดินให้ลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ย่อยให้ละเอียดพร้อมเก็บเศษวัชพืชออกให้เรียบร้อย จากนั้นก็ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมีลงไปให้ทั่ว คลุกให้เข้ากัน เสร็จแล้วก็ลงมือปลูก โดยนิยม 2 วิธี ได้แก่
 

          1. การเพาะกล้าและย้ายปลูก : หว่านเมล็ดแล้วใช้แกลบหรือฟางคลุมพร้อมรดน้ำตามทันที จากนั้นก็หมั่นรดน้ำทุกเช้า-เย็น จนมีอายุ 20-25 วัน จึงทำการถอนกล้าแล้วเด็ดยอดเพื่อย้ายปลูก โดยถ้าปลูกในแปลงควรเว้นระยะให้ห่างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ถ้าปลูกในกระถางก็กระถางละ 1-2 ต้น
 

          2. การปักชำโหระพา : ตัดกิ่งโหระพาที่โตเต็มที่หรือยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เด็ดใบออกและเหลือไว้เพียงบางส่วน นำไปปักชำลงในแปลงหรือกระถาง จากนั้นใช้หญ้าแห้งหรือฟางคลุมแล้วรดน้ำตามทันที

 

วิธีดูแลและเก็บเกี่ยว

          โหระพาเป็นพืชที่ดูแลง่าย โตเร็ว ชอบความชื้นสูงและสม่ำเสมอ แดดไม่จัด จึงต้องคอยรดน้ำทุกวัน แต่อย่าปล่อยให้ท่วมขังจนเกินไป อีกทั้งในช่วงแรกควรพรวนดินและกำจัดศัตรูพืชออกทุก 1-2 สัปดาห์ โดยระวังไม่ให้กระทบต้นและราก

 

          สำหรับการเก็บเกี่ยว ต้นโหระพาสามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 30-35 วัน โดยใช้มีดคม ๆ ตัดกิ่งให้ห่างจากยอดลงมาประมาณ 10-15 เซนติเมตร สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก ๆ 15-20 วัน ไปจนถึงอายุ 7-8 เดือน

 

โหระพา

โรคและแมลงที่ต้องระวัง

          นอกจากวัชพืช เช่น แห้วหมูและผักโขม ที่ต้องคอยระวังและกำจัดแล้ว คนที่ปลูกต้นโหระพาต้องคอยสำรวจตรวจเช็กและใส่ใจดูแลเพื่อป้องกันโรคและแมลงเหล่านี้เอาไว้ด้วย

 

          - เพลี้ยไฟโหระพา : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิก ส่วนขอบม้วนงอ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย

          - เพลี้ยอ่อนฝ้าย : เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้มีอาการงอหงิก และชะงักการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นพาหะนำไวรัสหลายชนิดมาสู่พืชด้วย โดยจะพบมากในช่วงอากาศแห้งแล้งหรือฤดูหนาว แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำจัดวัชพืชเป็นประจำ และถ้าหากพบพืชหงิกงอให้ตัดส่วนนั้น ๆ ออกแล้วนำมาเผาทิ้ง

          - แมลงหวี่ขาวยาสูบ : เป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหี่ยวแห้งและต้นแคระแกร็น อีกทั้งยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคด่างเหลืองอีกด้วย พบมากในฤดูแล้ง สามารถแก้ไขได้ด้วยการหมั่นสำรวจและติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อดักจับตัวโตเต็มวัย

          - หนอนแมลงวันชอบใบ : เป็นหนอนที่ชอนไชใบจนทำให้เกิดรอยสีขาว แต่ถ้าระบาดรุนแรงอาจจะทำให้ใบร่วงและตายได้ ส่วนการแก้ไขคือ หมั่นเก็บเศษใบที่ถูกทำลายและร่วงหล่นตามพื้นดินมาเผาทิ้ง จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้

          - หนอนผีเสื้อห่อใบ : เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่มักจะปล่อยเส้นใยและกัดกินใบไปเรื่อย ๆ จนถึงยอด

          - โรคราน้ำค้าง : เป็นโรคที่ทำลายใบด้านบนให้เป็นสีเหลือง ส่วนด้านล่างเป็นเชื้อราสีน้ำตาล สามารถแก้ไขและป้องกันด้วยการเลือกใช้เมล็ดที่ปลอดโรค พร้อมทั้งทำความสะอาดเมล็ดให้ดีก่อนปลูก นอกจากนี้อย่าปลูกให้หนาแน่นเกินไป พร้อมทั้งคอยเก็บเศษซากของพืชหลังจากการเก็บเกี่ยวด้วย

          - โรคเหี่ยว : เป็นโรคที่ทำให้ใบดำและเหี่ยวตาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดยากำจัดเชื้อรา

          - โรคใบเน่า : เป็นโรคที่ทำให้ใบเป็นแผล มีน้ำและมีเมือก โดยแผลจะค่อย ๆ ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนทำให้ต้นเน่าตาย

          - โรคใบจุด : เป็นโรคที่ทำให้ใบมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ จากนั้นใบโหระพาก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหล่นลงตามลำดับ

 

ประโยชน์และสรรพคุณของโหระพา

          โหระพาเป็นผักสวนครัวที่มีสรรพคุณมากมาย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ เมล็ด และราก นอกจากปลูกไว้ทำอาหารแล้ว ยังมีคุณค่าทางยาทั้งช่วยในการขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องร่วงแล้ว ยังช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคหวัด ปวดหัว แก้ไอ และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย [อ่านเพิ่มเติม : กะเพรา โหระพา พืชสวนครัวกับคุณประโยชน์อันหอมหวาน]


         และนอกจากนี้เรายังมีเมนูอาหารจากใบโหระพา พร้อมวิธีเก็บโหระพาไว้ใช้ได้นาน ๆ ไม่เน่าง่ายมาฝากด้วยค่ะ

          ทั้งปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก สรรพคุณดี และมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ ถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าจะปลูกผัก ปลูกผลไม้อะไรดี เราขอแนะนำให้ปลูกโหระพาติดบ้านเอาไว้เลย รับรองอร่อยเด็ด มีคุณค่า และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแน่นอน
 

ขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน, พืชเกษตร, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กรมวิชาการเกษตร

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปลูกโหระพา ผักสวนครัวปลูกง่าย ไว้ทำอาหารกินเองที่บ้าน อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2564 เวลา 11:19:47 234,264 อ่าน
TOP
x close