10 แอร์ประหยัดไฟ 2023 เซฟเงิน เซฟพลังงาน อยู่ในบ้านก็เย็นสบาย !!

แอร์ประหยัดไฟ 2023 ใครไม่อยากร้อนตับแลบและไม่อยากเสียค่าไฟแพงหูฉี่ ลองมาดูกันว่า แอร์บ้านประหยัดไฟสูงสุดมียี่ห้อไหนบ้าง แล้วจะเลือกแอร์ยี่ห้อไหนดี

แอร์ประหยัดไฟ

ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดนิยมประจำบ้านของคนไทยก็คงหนีไม่พ้นแอร์หรือเครื่องปรับอากาศ ฉะนั้นถ้าหากใครสนใจอยากจะถอยแอร์ใหม่ แต่เกิดสงสัยว่า แอร์ยี่ห้อไหนดี ? แอร์ประหยัดไฟ 2023 มียี่ห้อไหนบ้าง ? วันนี้กระปุกดอทคอมขออาสารวบรวมข้อมูลมาฝาก กับ 10 พรีวิวแอร์บ้านประหยัดไฟ 2023 ทำงานด้วยระบบ Inverter การันตีด้วยฉลากเบอร์ 5 พร้อมค่า SEER และค่าไฟเฉลี่ยต่อปี ไว้เปรียบเทียบก่อนซื้อ

ค่า SEER (Seasonal Energy Efficiency Ratio) คือ ค่าวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามฤดู โดยจะมีเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิมาช่วยในการทำงาน เมื่อแอร์ปรับลดอุณหภูมิถึงระดับที่ตั้งเอาไว้ คอมเพรสเซอร์จะลดรอบการทำงาน เพื่อคงระดับความเย็น แต่จะไม่หยุดการทำงาน ทำให้ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายิ่งค่า SEER สูง ก็จะช่วยประหยัดไฟได้มากขึ้นนั่นเอง

ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อแอร์

แอร์ประหยัดไฟ

เลือกขนาด BTU ที่เหมาะสม

ขนาด BTU (British Thermal Unit) คือ ขนาดทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ซึ่ง 1 ตันความเย็น จะเท่ากับ 12000 BTU ต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงขนาดของแอร์กับขนาดของห้องให้พอดีกัน เพราะหากเลือกแอร์ที่มี BTU สูงหรือต่ำจนเกินไป จะทำให้เปลืองไฟและแอร์เสียได้ง่ายอีกด้วย

  • การคิดค่า BTU แบบคร่าว ๆ

การคำนวณค่า BTU แบบคร่าว ๆ เพื่อเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU เหมาะสมกับห้องนั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้ขนาดของพื้นที่คูณด้วย 650-800 BTU ต่อ 1 ตารางเมตร ทั้งนี้ สามารถบวกลบได้อีก 5% ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ เช่น ทิศทางของห้อง การโดนแดด ลักษณะการใช้งาน เป็นต้น โดยมีตัวอย่างคร่าว ๆ ของขนาด BTU ที่เหมาะสม ดังนี้

การเลือกขนาด BTU

คอมเพรสเซอร์ (Compressor)

ควรเลือกคอมเพรสเซอร์ที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยคอมเพรสเซอร์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. คอมเพรสเซอร์ลูกสูบ (Reciprocating Compressor) ทำงานด้วยการใช้กระบอกสูบในการอัดน้ำยา ให้กำลังแรงสูง แต่มีความสั่นสะเทือนสูง และเสียงค่อนข้างดัง นิยมใช้ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่

2. คอมเพรสเซอร์โรตารี (Rotary Compressor) ทำงานด้วยการหมุนของใบพัดที่มีความเร็วสูง มีความสั่นสะเทือนน้อย เสียงเงียบ เหมาะสำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก

3. คอมเพรสเซอร์แบบขด (Scroll Compressor) ทำงานด้วยใบพัดรูปก้นหอย มีความสั่นสะเทือนน้อยมาก มีเสียงเงียบ ให้พลังงานสูง ถือว่าดีกว่าคอมเพรสเซอร์ชนิดอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน

คอยล์ (Coil)

เป็นอุปกรณ์สำหรับระบายและดูดซับความร้อนจากอากาศ ประกอบด้วยท่อทองแดงและครีบอะลูมิเนียม (Fin) ก่อนเลือกซื้อให้พิจารณาวัสดุที่ใช้ทำคอยล์ เช่น สารที่เคลือบป้องกันการกัดกร่อน หรือความหนาของครีบ เป็นต้น หากเลือกคอยล์ที่มีคุณภาพดี แอร์ของคุณก็จะมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น

มอเตอร์พัดลม (Fan Motor)

มอเตอร์พัดลมเป็นส่วนสำคัญในแอร์ที่จะช่วยระบายและดูดซับความร้อน เพื่อให้แอร์ของคุณทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมอเตอร์พัดลมที่ดีควรใช้ขดลวดที่ทนความร้อนได้สูง เพื่อให้รอบการทำงานของมอเตอร์ไม่สะดุดและไม่เสื่อมคุณภาพง่ายอีกด้วย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อแอร์จึงควรสอบถามถึงข้อมูลของมอเตอร์พัดลมให้ละเอียดก่อน

ระบบฟอกอากาศ (Air Purifier)

ระบบฟอกอากาศกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับแอร์ที่วางขายอยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบฟอกอากาศจะช่วยหมุนเวียนให้อากาศภายในห้องสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นหลายระบบ ดังนี้

1. การกรอง (Filtration) เป็นการใช้แผ่นกรองอากาศดักจับฝุ่นละอองเอาไว้ และต้องหมั่นเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อหมดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคในอากาศ นอกจากนี้หากต้องการกำจัดกลิ่นให้เลือกแผ่นกรองที่เป็นคาร์บอน เพื่อดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ

2. การดักจับด้วยไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) คือ การดักจับฝุ่นละอองในอากาศด้วยการใช้ตะแกรงไฟฟ้า (Electric Grids) และใช้แผ่นโลหะอีกชุดเรียงขนานกันเพื่อดูดฝุ่นละอองเอาไว้ หากหมดอายุต้องหยุดเครื่องเพื่อทำความสะอาด

3. การปล่อยประจุไฟฟ้า (Ionizer) คือ การผลิตไฟฟ้าประจุลบเพื่อปล่อยออกมาพร้อมกับลมเย็น เพื่อให้ดักจับฝุ่นละอองที่เป็นประจุบวก ซึ่งฝุ่นละอองที่ถูกดักจับจะรวมตัวกันและร่วงหล่นมาบนพื้นห้อง สามารถทำความสะอาดห้องได้ตามปกติ โดยไม่ต้องทำความสะอาดภายในเครื่องปรับอากาศ

การประหยัดไฟ (Energy Saving)

เครื่องปรับอากาศยุคใหม่นั้นส่วนใหญ่แล้วมักมีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดเอาไว้ โดยแอร์ที่ติดฉลากเบอร์ 5 จะเป็นแอร์ที่มีประสิทธิภาพในการให้พลังงานสูง ทำให้ประหยัดไฟฟ้า โดยมีข้อเสียตรงที่ราคาสูงกว่าแอร์ทั่วไป จึงควรศึกษาฉลากประหยัดไฟให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อว่าเหมาะสมกับความต้องการของคุณหรือไม่

เลือกประเภทของการใช้งาน

เครื่องปรับอากาศนั้นมีให้เลือกประเภทในการใช้งานอยู่ 2 รูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้

1. แอร์ติดผนัง เป็นแบบยอดนิยม เพราะมีความเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่น้อย หรือไม่ต้องการวางบนพื้นให้เกะกะ เสียงเงียบ และรูปลักษณ์ทันสมัย แต่ไม่เหมาะกับงานหนัก หรือห้องที่ต้องการความเย็นสูงและเป็นเวลานาน

2. แบบตั้งพื้น หรือแบบแขวน เป็นแอร์ที่ให้พลังงานสูง เหมาะสำหรับห้องทุกขนาด สามารถเลือกติดตั้งกับพื้น หรือแขวนเพดานก็ได้ แต่ข้อเสียคือ หน้าตาไม่ทันสมัย รวมทั้งกินไฟมากกว่าด้วย

คุณสมบัติพิเศษและดีไซน์

ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศนั้นมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ ก่อนซื้อแอร์สักเครื่องคุณจึงควรเปรียบเทียบคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ที่มีให้เลือกหลากหลายก่อนว่ามีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร เช่น นาโนไทเทเนียม ซิลเวอร์นาโน เป็นต้น นอกจากนี้อย่าลืมเลือกรูปร่างหน้าตาของแอร์ในแบบที่คุณชอบ หรือจะเลือกให้เข้ากับห้องนั้น ๆ ก็ได้ จะได้ออกมาสวยงามกลมกลืนกัน

แอร์ยี่ห้อไหนดี ประหยัดไฟ 2023

1. Daikin รุ่น FTKM09SV2S

Daikin รุ่น FTKM09SV2S

ภาพจาก : daikin.co.th

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์แบบสวิง สำหรับห้องขนาด 9-12 ตารางเมตร โดยจะช่วยสร้างอากาศภายในบ้านให้เย็นเร็วขึ้น ทำงานเงียบและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังประหยัดไฟและรักษาอุณหภูมิให้คงที่ โดยสารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึงผ่านบานสวิงแบบใหม่ ไม่โดนตัวโดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นลมเย็นที่มาพร้อมความชื้นที่เหมาะสม ช่วยให้อากาศไม่แห้งจนเกินไป มาพร้อมแผ่นกรองอากาศช่วยดักจับสิ่งสกปรก กลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมถึงฝุ่น PM2.5 ขนาดความกว้าง 99 เซนติเมตร สูง 29.5 เซนติเมตร ลึก 26.6 เซนติเมตร 

  • ขนาด 8,500 BTU/h
  • ค่า SEER 26.05 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3,773 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 13,540 บาท

2. Beko รุ่น BSEOG090

Beko รุ่น BSEOG090

ภาพจาก : beko.com

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 8-13 ตารางเมตร ปรับอุณหภูมิได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีระบบทำความเย็นเร่งด่วนพร้อม Micro Clean Filters และแผ่นกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ได้ มีระบบ Eco Mode ช่วยประหยัดไฟ สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถทำความสะอาดด้วยตัวเองได้ผ่านระบบ Self Clean+ ดูการตั้งค่าต่าง ๆ ได้ผ่านหน้าจอ LED ขนาดความกว้าง 80.20 เซนติเมตร สูง 29.50 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร

  • ขนาด 8900 BTU/h
  • ค่า SEER 22.50 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,574 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : 3 ดาว 
  • ราคาประมาณ 18,981 บาท

3. Hitachi รุ่น RAS-UH10CMT

Hitachi รุ่น RAS-UH10CMT

ภาพจาก : hitachi-homeappliances.com

เครื่องปรับอากาศติดผนังระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 11-14 ตารางเมตร มาพร้อมเทคโนโลยี Anti Air Pollution System มีทั้งระบบแผงคอยล์เย็น Frost Wash และระบบฟอกอากาศ 2 ชั้น นอกจากจะสามารถดักจับและลดการเจริญเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย และฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 99% แล้ว ยังสามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนแผงคอยล์เย็นได้เอง อีกทั้งยังใช้วัสดุที่แข็งแรงแถมทนต่อความร้อนได้ดี ขนาดความกว้าง 78 เซนติเมตร สูง 28 เซนติเมตร ลึก 23 เซนติเมตร

  • ขนาด 8,920 BTU/h
  • ค่า SEER 22.6 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,564 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 20,490 บาท

4. Hisense รุ่น AS-13TW4RMETG02

Hisense รุ่น AS-13TW4RMETG02

ภาพจาก : powerbuy.co.th

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 12-16 ตารางเมตร มีเซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับอุณหภูมิและสร้างความเย็นได้รวดเร็วทันใจด้วยระบบ Fast Cooling มาพร้อมกับเทคโนโลยี Hi-Namo และแผ่นกรองอากาศถึง 4 ชั้น ดักจับและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อโรค ฝุ่นขนาดเล็ก ทั้งยังช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน ConnectLife ได้อีกด้วย ขนาดความกว้าง 86.60 เซนติเมตร สูง 27 เซนติเมตร ลึก 21.30 เซนติเมตร

  • ขนาด 12,000 BTU/h
  • ค่า SEER 22.50 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 6,167 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : 3 ดาว 
  • ราคาประมาณ 21,990 บาท

5. Sharp รุ่น AH/AU-PHX10

Sharp รุ่น AH/AU-PHX10

ภาพจาก : homepro.co.th

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ ช่วยให้ตัวเครื่องทำงานเงียบ มีประสิทธิภาพ และประหยัดไฟ มีระบบ Supet Jet ส่งลมเย็นลงด้านล่างพร้อมทำให้อากาศเย็นลง 5 องศาเซลเซียส ใน 5 นาที ด้านหน้ามีบานสวิงแบบคู่ Dual Long Panel ช่วยกระจายลมเย็นให้ทั่วถึง ตามมาด้วย Plasmacluster Ions สามารถฆ่าได้ทั้งแบคทีเรีย เชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไข้หวัดนก H5N1 และลดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แถมยังสามารถสั่งงานผ่านสมาร์ตโฟนได้อีกด้วย ขนาดความกว้าง 85.6 เซนติเมตร สูง 29 เซนติเมตร ลึก 24.4 เซนติเมตร

  • ขนาด 8,850 BTU/h
  • ค่า SEER 27.33 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3,773 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 26,990 บาท

6. Electrolux รุ่น esv09cru-a1

Electrolux รุ่น esv09cru-a1

ภาพจาก : electrolux.co.th

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาดไม่เกิน 14 ตารางเมตร นอกจากจะทำงานเงียบแล้วยังช่วยคงอุณหภูมิให้คงที่ ให้ลมเย็นสม่ำเสมอ และช่วยประหยัดพลังงานไปในตัว มีเทคโนโลยี ActivePure ช่วยลดการเกิดไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99% ช่วยให้อากาศในบ้านสะอาด สดชื่น และไม่ต้องกังวลเรื่องสิ่งสกปรกที่ปะปนมาในอากาศ ใช้สารทำความเย็น R32 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวเครื่องเคลือบด้วยสาร GoldTech เพิ่มความทนทาน ขนาดความกว้าง 83.70 เซนติเมตร สูง 29.60 เซนติเมตร ลึก 20.50 เซนติเมตร

  • ขนาด 9,000 BTU/h
  • ค่า SEER 23.31 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,465 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : 3 ดาว 
  • ราคาประมาณ 28,990 บาท

7. Samsung รุ่น AR10AYAAAWKNST

Samsung รุ่น AR10AYAAAWKNST

ภาพจาก : samsung.com

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 12-15 ตารางเมตร มาพร้อมระบบ Wind-Free™ Cooling ช่วยกระจายลมเย็นได้ทั่วถึงและนุ่มนวล ไม่สัมผัสผิวโดยตรง ทำงานเงียบ แถมส่งลมเย็นได้ไกลและกว้างมากขึ้น ด้วยน้ำยาทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังใช้พลังงานน้อย ช่วยประหยัดไฟได้สูงสุด 77% รวมถึงระบบ AI ที่จะทำการประมวลผลและปรับโหมดให้เหมาะกับสภาพอากาศได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีแผ่นกรองอากาศช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กสุดถึง PM1.0 ขนาดความกว้าง 82 เซนติเมตร สูง 34.50 เซนติเมตร ลึก 21.50 เซนติเมตร

  • ขนาด 10,000 BTU/h
  • ค่า SEER 23.20 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,984 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 29,990 บาท

8. Mitsubishi รุ่น SRK10YVS-W1

Mitsubishi รุ่น SRK10YVS-W1

ภาพจาก : mitsuheavythai.com

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 9-12 ตารางเมตร มาพร้อม Jet Flow ช่วยกระจายลมเย็นได้ไกล 15-17 เมตร ให้ลมเย็นสบายแบบธรรมชาติ และ Hi Power ช่วยปรับอุณหภูมิได้ไวตามต้องการ รวมถึงบางสวิงที่สามารถปรับทิศทางลมได้ 14 รูปแบบทั้งแนวตั้งและแนวนอน นอกจากนี้ยังมีแผ่นกรองอากาศที่สามารถกำจัดได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นละออง PM2.5 และดูดซับก๊าซอันตรายไปในตัว มีฟังก์ชันทำความสะอาดคอยล์เย็นทำความสะอาดเองอัตโนมัติหลังปิดเครื่อง ขนาดความกว้าง 87 เซนติเมตร สูง 29 เซนติเมตร ลึก 23 เซนติเมตร

  • ขนาด 8,610 BTU/h
  • ค่า SEER 24.53 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,059 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 30,300 บาท

9. Carrier รุ่น 42TVAA010/38TVAA010

Carrier รุ่น 42TVAA010/38TVAA010

ภาพจาก : carrierthailand.com

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ ที่ใช้พลังงานน้อยและประหยัดไฟกว่าระบบอินเวอร์เตอร์ทั่วไป 33% สำหรับห้องขนาด 10-14 ตารางเมตร มาพร้อมเทคโนโลยี X-Ionizer และแผ่นกรองอากาศ Static Cotton เคลือบสาร Leuconostoc Enzyme นอกจากจะช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็ก อาทิ PM2.5 ได้แล้ว ยังช่วยลดการเจริญเติบโตของเหล่าแบคทีเรีย เชื้อโรค ไวรัส อีกทั้งยังสามารถลดกลิ่นเหม็นรบกวนได้อีกด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาด เพราะมีระบบ Self Cleaning ทำความสะอาดคอยล์เย็นได้เองอัตโนมัติ ขนาดความกว้าง 82 เซนติเมตร สูง 34.50 เซนติเมตร ลึก 21.50 เซนติเมตร

  • ขนาด 9200 BTU/h
  • ค่า SEER 24.00 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,433 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 31,900 บาท

10. LG รุ่น IH13R

LG รุ่น IH13R

ภาพจาก : lg.com

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ สำหรับห้องขนาด 14-18 ตารางเมตร มาพร้อม Dual Inverter Compressor ช่วยให้อากาศในห้องเย็นเร็วขึ้นด้วยสารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า อีกทั้งยังทำงานเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน และช่วยฟอกอากาศให้สะอาดด้วย Plasmaster Ionizer Plus ที่สามารถกำจัดแบคทีเรียและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้สูงสุด 99% สั่งการได้จากทุกที่ผ่านแอปพลิเคชัน ขนาดความกว้าง 99.8 เซนติเมตร สูง 34.50 เซนติเมตร ลึก 21 เซนติเมตร

  • ขนาด 12,000 BTU/h
  • ค่า SEER 23.20 BTU/W-h
  • ค่าไฟเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5,981 บาท 
  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว
  • ราคาประมาณ 31,990 บาท

โอ้โห เครื่องปรับอากาศสมัยนี้ นอกจากจะให้ลมเย็น ดีไซน์สวยงาม แข็งแรงทนทาน และมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องประหยัดไฟและประหยัดพลังงานอีกต่างหาก ฉะนั้นถ้าหากใครจะซื้อแอร์เข้าบ้านสักเครื่อง อย่าลืมพิจารณาและเปรียบเทียบคุณสมบัติเหล่านี้ด้วยนะคะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 แอร์ประหยัดไฟ 2023 เซฟเงิน เซฟพลังงาน อยู่ในบ้านก็เย็นสบาย !! อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2566 เวลา 14:57:15 637,666 อ่าน
TOP
x close