1. บรอนด์บี้ ประเทศเดนมาร์ก
หมู่บ้านวงกลมในเมืองบรอนด์บี้ (Brøndby) ประเทศเดนมาร์ก ถือเป็นสถานที่ที่มีการออกแบบผังเมืองได้สวยงาม โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์มาก โดยที่นี่จัดสรรพื้นที่เป็นวงกลมขนาดใหญ่ และใช้บล็อกต้นไม้กั้นเป็นกำแพง เพื่อแบ่งที่ดินในวงกลมออกเป็นทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมจำนวน 24 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีขนาดประมาณ 400 ตารางเมตร พร้อมบ้านขนาดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน ชมสวน และใกล้ชิดธรรมชาติในวันหยุด เปรียบเสมือนเป็นบ้านพักตากอากาศ
โดยการออกแบบผังเมืองนี้ถือเป็นการร่วมมือกันระหว่างเทศบาลเมือง Brøndby และสถาปนิก Erik Mygind ซึ่งพวกเขาได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากโปรเจกต์ Runde haver ของ Carl Theodor Sørensen หนึ่งในสถาปนิกผู้โด่งดังของเดนมาร์ก โดยได้แรงบันดาลใจในการเขียนต้นแบบมาจากหมู่บ้านเก่าแก่ในอดีต ที่มีลักษณะเป็นวงกลม พร้อมกับบ่อน้ำอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ชาวบ้านมาพบปะ พูดคุย และเปลี่ยนข่าวสารกัน ทว่าในปัจจุบันผู้คนต้องการความเป็นส่วนตัวและเป็นธรรมชาติมากขึ้น พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ตรงกลางให้มีบล็อกต้นไม้ล้อมรอบ และทำเป็นลานจอดรถแทน แม้ว่าดูเหมือนจะใช้พื้นที่ฟุ่มเฟือยไปนิด แต่ก็เป็นการออกแบบผังเมืองที่สวยงามและเป็นระเบียบไร้ที่ติ ที่สำคัญมีพื้นที่สีเขียวเยอะมาก ถือเป็นหมู่บ้านที่สงบและร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนจริง ๆ ค่ะ
2. โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
รับรองเลยว่าคนที่ชอบชีวิตเรียบง่าย สโลว์ไลฟ์ ต้องหลังรักเมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) แน่ เพราะเมืองนี้ยืนหนึ่งเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบสุด ๆ โดยพวกเขามีแนวคิดหลัก คือ การกำจัดขยะและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การบำบัดน้ำเสียและแปรรูปขยะเหลือใช้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีนโยบายห้ามสร้างที่อยู่อาศัยใกล้กับต้นไม้ประมาณ 30 เมตรอีกต่างหาก งานนี้ก็เลยทำให้ผังเมืองนี้มีความสวยงามและมีความเป็นธรรมชาติซ่อนอยู่เกือบทุกมุม
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ผังเมืองโคเปนเฮเกนยังมีเอกลักษณ์แตกต่างจากผังเมืองอื่นด้วย โดยที่นี่ใช้นโยบายห้านิ้ว หรือ Five-Finger Plan ในการก่อสร้าง ซึ่งหลักการสำคัญของนโยบายนี้ก็คือ การกระจายเส้นทางคมนาคมไปยังจุดต่าง ๆ แบบแผ่ออก 5 ทิศ เหมือนกับการกางนิ้วมือ ที่สำคัญเส้นทางในเมืองก็ยังออกแบบโดยคำนึงถึงจักรยานและคนเดินเป็นหลัก เพราะเกือบ 40% ของคนที่นี่เลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะเพื่อช่วยลดมลพิษนั่นเอง (อ้อ แล้วในอนาคตข้างหน้าพวกเขาก็มีแนวโน้มจะหันมาปั่นจักรยานเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะโคเปนเฮเกนตั้งเป้าว่าจะกลายเป็นเมืองที่ปลอดก๊าซคาร์บอน หรือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แล้วหันไปใช้พลังงานทดแทนภายในปี ค.ศ. 2025 นี้ล่ะ)
3. จัณฑีครห์ ประเทศอินเดีย
จัณฑีครห์ (Chandigarh) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องสถาปัตยกรรมและการออกแบบผังเมืองมาอย่างยาวนาน แถมยังได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองในอุดมคติจาก BBC เพราะมีทั้งความศิวิไลซ์ สะอาด และเป็นธรรมชาติด้วย โดยจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผังเมืองนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพ ซึ่งได้ Le Corbusier สถาปนิกชาวฝรั่งเศสและทีมงาน มาเป็นคนออกแบบให้ โดยพวกเขานำหลักการของ Albert Mayer และ Matthew Novicki มาปรับเปลี่ยนรูปทรงจากโค้งมนเป็นสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน เพื่อช่วยให้การคมนาคมสะดวกและรวดเร็วขึ้น แถมยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ด้วย
นอกจากนี้แนวคิดของผังเมืองนี้ก็ยังคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอีกต่างหาก เพราะแนวคิดสำคัญของผังเมืองจัณฑีครห์ คือ การเปรียบเทียบตัวเมืองกับร่างกายคน โดยมีศูนย์กลางการลงทุนเป็นเหมือนหัว มีศูนย์การค้าเป็นเหมือนหัวใจ มีแหล่งพักผ่อนเป็นเหมือนแขน มีหุบเขาสีเขียวเป็นเหมือนปอด และมีถนนและเส้นทางจักรยานเป็นเหมือนระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งแต่ละส่วนก็จะเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ออกแบบมาเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันและรองรับอนาคตได้ดีมากทีเดียว
4. เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
ถึงแม้จะมีเนื้อที่เพียง 700 ตารางกิโลเมตร แต่ สิงคโปร์ (Singapore City) ก็สามารถออกแบบผังเมืองได้อย่างสวยงามและเป็นระเบียบ แถมยังมีครบทั้งเขตที่อยู่อาศัยและเขตสีเขียว (ที่สร้างขึ้นจากฝีมือมนุษย์) เนื่องจากเมืองนี้มีการวางแผนผังเมืองมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1819 โดยแนวคิดพื้นฐานเริ่มมาจาก การแยกกลุ่มคนชาติต่าง ๆ ให้อยู่อาศัยในโซนเดียวกัน พร้อมทั้งกระจายอำนาจให้ทุกเขตมีความเจริญเท่า ๆ กัน จึงทำให้ผู้คนไม่ต้องมาแออัดอยู่ในใจกลางเมือง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ส่งผลดีงามมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผังเมืองของสิงคโปร์แบ่งออกเป็น 4 เขตสำหรับที่อยู่อาศัย ได้แก่ เหนือ ใต้ ออก ตก นอกจากนี้ยังมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เขตอุตสาหกรรม และเขตอื่น ๆ อีกครบครัน
และเนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีแหล่งธรรมชาติให้ต้องดูแลมาก รัฐบาลจึงมุ่งไปที่การวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งที่นี่จะมีนโยบายกำจัดของเสียไม่เหมือนใคร โดยขยะทุกชิ้นจะถูกเผาเพราะไม่มีพื้นที่เก็บ ส่วนน้ำเสียก็นำมากรองเป็นน้ำดื่ม ที่สำคัญยังเตรียมรับมือกับการขยายตัวในอนาคตได้เป็นอย่างดี เพราะเน้นสร้างที่อยู่อาศัยแบบแนวดิ่งพร้อมทั้งขยายไปยังใต้ดิน เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบในเรื่องการวางผังเมืองจริง ๆ เลยค่ะ
5. กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
โซล (Seoul) เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับการยกย่องเรื่องความสวยงามของผังเมือง เพราะสามารถผสมผสานทั้งความทันสมัยและประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว เนื่องจากที่มีการวางแผนมาอย่างดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1300 โดยในอดีตผังเมืองโซลถูกออกแบบตามหลักฮวงจุ้ย เน้นความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาและแม่น้ำ แต่หลังจากเกิดสงครามปูซาน โซลก็ได้รับการฟื้นฟูและวางระบบใหม่ ซึ่งจะเน้นไปที่การคมนาคมเป็นหลัก เพื่อช่วยให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีโซนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ ส่วนอาคารบ้านเรือนก็แบ่งเป็นโซนชัดเจน แยกที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และแหล่งพักผ่อนออกจากกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันกรุงโซลก็ยังเตรียมรับมือกับอนาคต ด้วยการดำเนินนโยบาย "2030 Seoul Plan" ด้วย โดยหลักการนี้เป็นออกแบบผังเมืองฉบับใหม่ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแผนการหลัก ๆ จะมีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่
- เมืองที่มีผู้คนเป็นศูนย์กลางโดยไม่มีการแบ่งแยก
- เมืองที่มีตลาดงานแข็งแรง
- เมืองที่โดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
- เมืองที่มีชีวิตชีวาและปลอดภัย
- เมืองที่ที่อยู่อาศัยมั่นคงและการเดินทางสะดวก
โอ้โห แต่ละที่สวยงาม น่าอยู่ ออกแบบสร้างสรรค์ แถมยังรองรับอนาคตอีกด้วย งานนี้ต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้กับคนที่วางแผนจริง ๆ เลยค่ะ อ้อ แต่เห็นผังเมืองต่างประเทศดีเยี่ยมขนาดนี้ ขอบอกเลยว่าเมืองไทยของเราก็ดีงามไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น ผังเมืองจังหวัดยะลา ที่เคยได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในผังเมืองที่สวยที่สุดในโลกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Avantgardens, Theculturetrip และ Arch2o