แบบบ้านสองชั้นทรงกล่อง ผนังเมทัลชีท สวยเท่ สไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์

แบบบ้าน 2 ชั้น บรรยากาศโปร่งโล่ง สวยน่าอยู่ ดูสบาย ตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ บ้านทรงกล่องของคู่สามี-ภรรยา ที่อยากจะขยับขยายพื้นที่ เพื่อต้อนรับสมาชิกตัวน้อย 

หากพื้นที่ในบ้านคับแคบ อยากจะขยับขยายให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อต้อนรับสมาชิกตัวน้อย ในขณะเดียวกันก็อยากได้บ้านที่ดูโปร่งโล่ง สบาย สว่าง ไม่เปิดจนขาดความเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่ปิดทึบจนน่าอึดอัด มีลมพักโกรกตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกร้อน สอดคล้องกับสภาพอากาศของเมืองไทย วันนี้จะพาไปชมแบบบ้าน 2 ชั้นสวย ๆ ตกแต่งสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ จากนิตยสาร room พร้อม ๆ กันค่ะ 

บ้านสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์หลังนี้เป็นของ คุณเอ็ม ชานนท์ คูวัฒนะศิริ และคุณแป้ง พีรยา นาคพีระยุทธ คู่สามี-ภรรยาที่มีความตั้งใจอยากขยับขยายครอบครัวเพื่อต้อนรับสมาชิกตัวน้อย กับโจทย์ที่ต้องการบ้านขนาดเล็ก มีช่องแสงไม่มากเกินไป เพราะไม่ต้องการให้บ้านร้อน และต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ขณะเดียวกันบ้านยังคงต้องสามารถระบายอากาศได้ดี จากความต้องการเหล่านี้จึงมาลงตัวกับบ้านทรงกล่องดีไซน์เรียบง่าย

ด้านหน้าบ้านดูเรียบนิ่งด้วยผนังเมทัลชีทสีเทาเข้ม ที่ใช้ระบบคลิปล็อกช่วยให้งานดูเนี้ยบและประหยัดเวลา แต่เนื่องจากหน้าบ้านหันไปทางทิศใต้จึงออกแบบช่องแสงเปิดเฉพาะในส่วนของโถงทางเดิน และห้องนอนเท่านั้น เพื่อควบคุมปริมาณความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน

แม้มองจากภายนอกจะดูทึบตัน เพราะอยากจำกัดช่องเปิดทางทิศตะวันตกและทิศใต้ไม่ให้เปิดรับแดดโดยตรง แต่ได้แอบแทรกพื้นที่สีเขียวด้วยคอร์ตกลางบ้านไว้ภายในสำหรับเป็นช่องเปิดและช่องแสงหลักให้กับบ้าน การทำคอร์ตกลางบ้านที่เปิดเป็นช่องแสงเช่นนี้ ช่วยให้ลมทะลุจากหน้าบ้านไปยังหลังบ้าน อีกทั้งยังพัดพาความเย็นจากบ่อน้ำเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังได้ไม้ประธานอย่างต้นสงวนทองใบละเอียดสีเขียวดูพลิ้วไหว ช่วยเพิ่มความอ่อนโยนให้แก่บ้านที่เต็มไปด้วยโครงสร้างแข็งกระด้างได้อย่างดี 

สำหรับพื้นที่ใช้งานภายในได้ออกแบบเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนพักอาศัยบริเวณชั้น 1 ฝั่งซ้าย จัดวางแบบโอเพ่นแปลน ประกอบด้วยส่วนนั่งเล่นเชื่อมต่อไปยังส่วนรับประทานอาหาร ส่วนเตรียมอาหาร และครัวไทย ก่อนจะนำไปสู่ชั้น 2 ที่กำหนดเป็นห้องทำงาน ห้องซ้อมดนตรี และห้องนอน อีกส่วนคือพื้นที่ชั้น 1 ฝั่งขวา แยกออกมาอย่างเป็นสัดส่วนสำหรับใช้เป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน กับห้องเลี้ยงเด็กในอนาคต โดยพื้นที่ฝั่งซ้ายและขวาได้รับการเชื่อมต่อด้วยชานบ้านขนาดพอดีสำหรับทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ทำกิจกรรม จากชานบ้านชั้นล่างสามารถเชื่อมไปยังระเบียงขนาดใหญ่ชั้น 2 ด้วยบันไดที่ทำแยกไว้ต่างหากด้านนอก พื้นที่ระเบียงถูกปิดล้อมด้วยผนังสีขาวขนาดสูงเพื่อบังสายตาจากด้านนอกเพื่อความเป็นส่วนตัว เหลือช่องเปิดไว้ด้านบนสำหรับมองท้องฟ้า เหมาะออกมานั่งนักผ่อนชมดาวยามค่ำคืน

นอกจากฟังก์ชันที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้อย่างดีแล้ว งบประมาณและระยะเวลาในการก่อสร้างถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย โดยคุณเอ็มได้ศึกษาเรื่องวัสดุต่าง ๆ ก่อนนำไปพัฒนาผ่านเทคโนโลยีใหม่ในงานก่อสร้าง เช่น ระบบผนังที่ใช้ "โฟมกรีต" เป็นการผสมระหว่างโฟมกับเนื้อปูนปิดผิวด้วยบอร์ด มีข้อดีคือ เป็นผนังสำเร็จรูปสามารถติดตั้งได้ง่าย ก่อนซ้อนทับด้วย Breathable Membrane แผ่นเมมเบรนหายใจได้ช่วยกันน้ำไม่ให้เข้าบ้าน แต่ยอมให้ความชื้นในบ้านสามารถทะลุผ่านออกไปได้ กลายเป็นผนังสองชั้น ก่อนปิดทับด้วยแผ่นเมทัลชีทอีกทีหนึ่ง เท่านี้ก็ช่วยกันความร้อนและมลภาวะทางเสียงรอบ ๆ ได้เป็นอย่างดี รวมกับไม้เทียม และระแนงอะลูมิเนียม เพื่อป้องกันปลวก ช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้าง แถมยังให้ลุคอินดัสเทรียลลอฟท์โทนสีเข้มขรึมอย่างที่เจ้าของต้องการ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
นิตยสาร room magazine
ฉบับที่ 187 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบบบ้านสองชั้นทรงกล่อง ผนังเมทัลชีท สวยเท่ สไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2564 เวลา 16:06:51 41,042 อ่าน
TOP
x close