สูตรปุ๋ยไส้เดือน วิธีทำปุ๋ยด้วยไส้เดือน ปุ๋ยสารพัดประโยชน์จากภูมิปัญญาไทย

          ปุ๋ยไส้เดือน คืออะไร วิธีทำเป็นอย่างไร วิธีใช้เป็นแบบไหน มีประโยชน์อะไรบ้าง ดีกว่าปุ๋ยทั่วไปหรือเปล่า เรามีคำตอบมาฝากแล้วค่ะ

ปุ๋ยไส้เดือน

          ไม่ใช่แค่ดิน น้ำ หรือแสงเท่านั้นที่มีความสำคัญกับต้นไม้ เพราะปุ๋ยปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จำเป็นสำหรับการจัดสวน ไม่แพ้กัน ทว่านอกเหนือจากปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมีที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว วันนี้กระปุกดอทคอมมีเรื่องราวของปุ๋ยไส้เดือน ปุ๋ยทางเลือกของเกษตรอินทรีย์มาฝาก เอาเป็นว่าถ้าหากใครอยากรู้ว่าปุ๋ยไส้เดือนคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และดีงามมาก-น้อยแค่ไหน ก็ตามมาดูกันได้เลย

ปุ๋ยไส้เดือน คือ

          ปุ๋ยไส้เดือน หรือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากนำไส้เดือนดิน สัตว์ตัวเล็กที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ มาเลี้ยงเพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบและเพิ่มจุลินทรีย์ จนทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีประสิทธิภาพ สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างยอดเยี่ยม

          โดยปุ๋ยไส้เดือนมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุที่ไส้เดือนดินกินเข้าไป แล้วย่อยสลายออกมาเป็นมูลที่มีประโยชน์ รูปทรงเป็นเม็ดร่วน สีดำหรือสีน้ำตาล โปร่งเบา จุความชื้นสูง ระบายน้ำและระบายอากาศดี แถมมีธาตุอาหารและปริมาณอินทรีย์วัตถุมาก

วิธีเลี้ยงไส้เดือน

ปุ๋ยไส้เดือน

          วิธีเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ย ส่วนใหญ่แบ่งออก 2 วิธี คือ วิธีเลี้ยงไส้เดือนดินในกะละมังและวิธีเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อซีเมนต์ โดยถ้าหากใครต้องการปริมาณไม่มาก ก็ให้เลี้ยงในกะละมัง แต่ถ้าหากใครต้องการปริมาณเยอะ ก็ให้เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ซึ่งขั้นตอนมีดังนี้

1. วิธีเลี้ยงไส้เดือนดินในกะละมัง

     - วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนดินในกะละมัง

          1. ไส้เดือนดินประมาณ 3 ขีด

          2. มูลวัวที่ปราศจากเศษฟางหรือเศษวัสดุอื่น

         3. กากมะพร้าวสับที่ล้างยางมะพร้าวแล้ว

         4. กะละมังกว้างประมาณ 1 ศอก

     - ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนดินในกะละมัง

          1. เจาะรูเล็ก ๆ ให้ทั่วกะละมัง เพื่อให้น้ำไหลออกสะดวก

          2. รดน้ำใส่มูลวัวให้เปียกสักประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อล้างแก๊สและความร้อน

         3. ผสมกากมะพร้าวสับเข้ากับมูลวัว อัตราส่วน 30:70 เพื่อเพิ่มความเย็น
  
         4. คลุกให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่ในกะละมังประมาณครึ่งกะละมัง

          5. ใส่ไส้เดือนดินลงไปบนมูลวัว ไม่ต้องฝัง เดี๋ยวไส้เดือนดินจะไชลงไปเอง แล้วนำไปไว้ในโรงเรือน แล้วคอยรดน้ำให้ความชื้นประมาณ 1 ครั้ง/3-4 วัน

     6. คอยรดน้ำให้ความชื้นประมาณ 1 ครั้ง/3-4 วัน รอประมาณ 1-2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยไส้เดือนที่พร้อมใช้งาน

2. วิธีเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อซีเมนต์

     - วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อซีเมนต์

          1. ไส้เดือนดินประมาณ 2 กิโบกรัม/บ่อ

          2. มูลวัวประมาณ 1-1 ½ กระสอบ

          3. บ่อซีเมนต์ทรงกลม กว้างประมาณ 80-100 เซนติเมตร

     - ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อซีเมนต์

     1. ใส่มูลวัวลงในบ่อซีเมนต์ แล้วรดน้ำเรื่อย ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อล้างแก๊สและความร้อน

     2. รอจนมูลวัวเย็นพอดี สามารถวัดได้ด้วยการนำมือล้วงลงไปเพื่อเช็กความอุ่นและความเย็น

     3. ใส่ไส้เดือนดินลงไปบนมูลวัว ไม่ต้องฝัง เดี๋ยวไส้เดือนดินจะไชลงไปเอง

อาหารไส้เดือนดิน

ปุ๋ยไส้เดือน

          ไส้เดือนดินที่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยในประเทศไทย ส่วนใหญ่มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไทเกอร์ วอร์ม, แอฟริกัน ไนท์ คลอเลอร์ และขี้ตาแร่ ซึ่งที่นิยมมากที่สุดคือ ไส้เดือน แอฟริกัน ไนท์ คลอเลอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกินมูลวัว มูลควายเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว แต่เราสามารถให้อาหารเสริมเพื่อความหลากหลายได้ เช่น ของเสียจากอาหาร ของเสียจากกระดาษ และเศษพืชจากการเกษตร นอกจากนี้ควรเลือกแหล่งเลี้ยงไส้เดือนที่โล่ง โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงแดดส่องบ้างเล็กน้อย รวมถึงอย่าลืมวางระบบน้ำปุ๋ย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังจนไส้เดือนดินขาดอากาศด้วย

วิธีทำปุ๋ยไส้เดือน

          การทำปุ๋ยไส้เดือนทำง่าย ๆ หลังจากเตรียมอุปกรณ์เพาะเลี้ยงไส้เดือนเรียบร้อยแล้ว นำไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ใส่ลงไปในกะละมัง ผสมกับขี้วัวแล้วคลุกให้เข้ากัน นำไปวางในบริเวณที่เย็น ไม้ร้อน จากนั้นหมั่นรดน้ำให้ดินชื้น 3-4 ครั้งต่อวัน ทำไปเรื่อย ๆ ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยไส้เดือนไปปลูกต้นไม้แล้ว

วิธีใช้ปุ๋ยไส้เดือน

          - ไม้ใบ ไม้ดอก และไม้ประดับ เช่น เฟิร์น กุหลาบ มะลิ และดาวเรือง ถ้าปลูกในกระถาง ให้ใส่ปุ๋ยไส้เดือนรอบโคนต้น อัตรา 200-300 กรัม/กระถาง ทุก 7-15 วัน (ควรใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 5 เท่า) ถ้าปลูกในแปลง ให้ใส่ปุ๋ยหมักไส้เดือนลงบนหน้าดินหรือผสมดินปลูก อัตรา 1.5-2 กิโลกรัม/ตารางเมตร พร้อมคลุมด้วยฟางข้าว (ควรใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 5 เท่า รดเป็นประจำทุกสัปดาห์)

          - ผัก เช่น ผักกาด ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี หัวหอม ถั่วฝักยาว และแตงกวา ถ้าปลูกในแปลง ให้ใส่ปุ๋ยไส้เดือนลงบนหน้าดินหรือผสมดินปลูก อัตรา 1.5-2 กิโลกรัม/ตารางเมตร พร้อมคลุมด้วยฟางข้าว (ควรใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 5 เท่า รดเป็นประจำทุกสัปดาห์)

          - ผลไม้ เช่น มะม่วง ลำไย ส้มโอ และชมพู่ ถ้าขนาดต้นเล็กกว่า 1-5 เมตร ให้พรวนดินรอบต้นแล้วใส่ปุ๋ยไส้เดือนรอบโคนต้น อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น พร้อมใส่ซ้ำทุก 4 เดือน และใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 2 เท่า รดรอบโคนต้นทุกเดือน ถ้าขนาดต้นอยู่ระหว่าง 1-5 เมตร ให้พรวนดินรอบต้นแล้วใส่ปุ๋ยไส้เดือนรอบโคนต้น อัตรา 5-15 กิโลกรัม/ต้น พร้อมใส่ซ้ำทุก 4 เดือน และใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 2 เท่า รดรอบโคนต้นทุกเดือน ถ้าขนาดต้นใหญ่กว่า 1-5 เมตร ให้พรวนดินรอบต้นแล้วใส่ปุ๋ยไส้เดือนรอบโคนต้น อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ต้น พร้อมใส่ซ้ำทุก 4 เดือน และใช้ร่วมกับน้ำหมักไส้เดือนเจือจาง 2 เท่า รดรอบโคนต้นทุกเดือน

ปุ๋ยไส้เดือน ดีไหม

          ต้องบอกเลยปุ๋ยไส้เดือนเป็นของดีที่มีประโยชน์กับการปลูกต้นไม้อย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ และธาตุอาหารอีกหลายหลายชนิดแล้ว ยังช่วยรักษาสภาพความเป็นกรด-ด่างในดินให้สมดุล อีกทั้งยังช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น เพราะทำให้ดินมีช่องว่าง มีการระบายน้ำและอากาศได้ดีขึ้น อีกทั้งรากต้นไม้ยังชอนไชง่าย และป้องกันไม่ให้หน้าดินจับตัวเป็นก้อนอีกด้วย

          ว้าว ทำง่าย ใช้ไม่ยาก แถมประโยชน์เพียบ ถ้าหากใครอยากจัดสวนแบบออร์แกนิก ก็ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ ส่วนถ้าหากใครอยากหารายได้เสริม บอกเลยว่าปุ๋ยไส้เดือนก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิยาลัยขอนแก่น, สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และศูนย์ประสานงานโครงการพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สูตรปุ๋ยไส้เดือน วิธีทำปุ๋ยด้วยไส้เดือน ปุ๋ยสารพัดประโยชน์จากภูมิปัญญาไทย อัปเดตล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13:23:01 114,715 อ่าน
TOP
x close