17 เคล็ดลับ Work From Home วิธีทำงานที่บ้านให้ได้งาน แฮปปี้ และมีประสิทธิภาพ ควรเตรียมตัวอย่างไร และจัดโต๊ะทำงานอย่างไรดี มาดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
หลังการระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home กันอีกครั้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานที่บ้านนาน ๆ อาจะทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อและส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำ 17 เคล็ดลับ Work From Home วิธีทำงานที่บ้านให้ได้งานมาฝากกัน จะได้เซฟตัวเอง เซฟคนในครอบครัว ทำงานที่บ้านอย่างแฮปปี้ มีความสุข พร้อมทั้งได้งานมีประสิทธิภาพ
1. กำหนดเวลาทำงาน
แม้ว่าการทำงานที่บ้านจะมีข้อดีมากมาย แต่หลายครั้งก็กินเวลาชีวิตอย่างไม่รู้ตัว เช่น ทำให้บางคนเริ่มงานเร็วกว่าปกติ ทำให้บางคนทำเพลินจนลืมเวลาพัก และทำให้บางคนติดพันจนเลิกช้ากว่าเดิม จึงส่งผลให้การใช้ชีวิตเริ่มไม่สมดุล ฉะนั้นเคล็ดลับแรกของการทำงานที่บ้าน คือ การกำหนดตารางเวลาทำงานและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด (ยกเว้นกรณีงานด่วน) อาจจะตั้งเวลาแจ้งเตือนไว้ เพื่อช่วยให้ชีวิตมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่บ้านมีสิ่งล่อลวงเยอะ ทำให้เสียสมาธิได้ง่าย Alan Hedge จึงให้คำแนะนำว่า ในช่วงแรก ๆ ให้ทำตามกฎ 20-20-20 คือ ทำงาน 20 นาที พักเบรก 20 วินาที โดยในช่วงพักเบรกให้มองไกลออกไปจากงาน 20 ฟุต เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ เนื่องจากคนเรามักจะหลุดโฟกัสหรือมีความมุ่งมั่นน้อยลงภายใน 20 นาทีนั่นเอง
2. ตั้งกฎกับคนในครอบครัว
ถ้าหากในบ้านมีสมาชิกอยู่ด้วยกันหลายคน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเพื่อน ให้บอกกล่าวกับทุกคนให้ชัดเจนว่า เราว่างตอนไหน อะไรที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพื่อช่วยให้เข้าใจตรงกันและไม่ส่งผลกระทบต่องาน เนื่องจากบางครั้งคนที่อยู่ด้วยอาจจะคาดหวังให้เราคุยเล่นหรือทำงานบ้านบ้าง ซึ่งความจริงแล้วก็พอช่วยได้บ้างเล็กน้อย แต่ต้องไม่ทำประจำ จนทำให้เวลาและประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ส่วนบ้านที่มีเด็กวัยเรียนที่พอจะรู้เรื่องรู้ราวอยู่บ้าง ให้บอกขอบเขต เวลาว่าง และเวลาเลิกงานกับพวกเขาอย่างชัดเจน อาจจะเป็นการล็อกประตูห้องไว้ก่อน ติดป้ายบอกว่ากำลังทำงานอยู่ หรือกำหนดเวลาว่าสามารถเข้ามาได้ตอนไหนก็ได้
3. สร้างกิจวัตรในตอนเช้า
การเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเป็นเรื่องยากเสมอ ในแง่ของการทำงานที่บ้านก็เช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งกว่าจะตัดสินใจนั่งประจำที่และทำงานได้ ต้องใช้เวลามากกว่าที่ออฟฟิศ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ให้สร้างกิจวัตรในตอนเช้าที่จะทำให้ร่างกายคุ้นเคยว่าถึงเวลาเริ่มงานแล้ว เช่น การดื่มกาแฟ การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้ว การใส่ชุดนอนทำงานเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร เนื่องจากทำให้รู้สึกสบายและผ่อนคลายมากเกินไป โดยทางที่ดีให้เปลี่ยนมาเป็นชุดลำลองหรือชุดทำงานที่ไม่ค่อยเนี้ยบ เพื่อช่วยให้ความรู้สึกแบบอื่นที่ไม่ใช่การพักผ่อนแทน
4. รู้เวลาพัก
เพราะการทำงานที่บ้านไม่มีเพื่อนชวนกินข้าวยามพักกลางวัน หรือชวนพักเบรกจากความเหนื่อยล้าระหว่างวัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่ต้องรู้นโยบายของบริษัทว่าให้พักได้ในเวลาไหน มีพักเบรกย่อยบ้างหรือเปล่า จากนั้นก็นำมาปฏิบัติตามในช่วงที่ทำงานที่บ้านอย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหลายบริษัทมักจะให้พักกลางวันในช่วงเที่ยง และมีพักเบรกย่อยในช่วงบ่าย อ้อ แล้วในขณะพักก็พยายามใช้เวลาให้คุ้มค่า ไม่จำเป็นต้องกลับมาทำงานเร็วกว่ากำหนด ถ้าเพื่อความสะดวกสบายและแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสม จะตั้งเวลาหรือนาฬิกาไว้เลยก็ได้
5. แสงสว่างที่เพียงพอ
การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการนั่งทำงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานที่บ้าน เพราะบางห้องอาจทำให้รู้สึกเอื่อย เหนื่อยล้า และไม่มีแรงบันดาลใจได้ ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำให้นั่งทำงานในห้องที่ให้พลังงานมากที่สุด ซึ่งปกติแล้วจะเป็นห้องที่วิวดีและมีแสงธรรมชาติมาก อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งเคล็ดลับบอกว่า ควรเลือกห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอและติดตั้งไฟในตำแหน่งที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงห้องที่มีแสงสว่างมาจากจุดเดียว พยายามเลือกห้องที่มีแสงสว่างหลายแหล่ง ซึ่งจะทำให้แสงกระจายตัว ช่วยลดอาการปวดตา แถมยังช่วยลดแสงสะท้อนและความสว่างจ้าของหน้าจอด้วย
6. จัดพื้นที่ทำงานให้น่านั่ง
เมื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะกับการนั่งทำงานได้แล้ว ต่อไปก็ต้องเคลียร์ข้าวของ ทำความสะอาด และจัดระเบียบให้เรียบร้อย เนื่องจากการนั่งทำงานในบริเวณที่รกและสกปรก สามารถทำให้ความคิดยุ่งเหยิงและเสียสมาธิได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าต้องจัดเตรียมพื้นที่ให้เป๊ะทุกองศา เพราะความจริงแล้วแค่เก็บเอกสารไว้ในกล่อง เก็บข้าวของให้เข้าที่เข้าทาง เลือกสิ่งของที่วางบนโต๊ะอย่างเหมาะสม แยกข้าวของที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป พร้อมทั้งหาอะไรที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เช่น ผลงานศิลปะหรือต้นไม้ มาวางไว้ ก็ช่วยเพิ่มความสดใสและชีวิตชีวา ทำให้น่านั่งทำงานไม่เบาแล้ว
7. วางอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการทำงาน
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างสำหรับการทำงานที่บ้าน คือ ต้องมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำงาน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ ก็ต้องถูกต้องตามหลัก เพื่อช่วยให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
8. หลีกเลี่ยงการทำงานบนโซฟาหรือเตียงนอน
ทุกวันนี้ Wi-Fi ช่วยให้เราทำงานได้ทุกที่ แม้กระทั่งโซฟาและเตียงนอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราสามารถทำงานได้ทุกที่จริง ๆ เพราะ Julie Morgenstern ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดระเบียบและผู้เขียนหนังสือ Organizing from the Inside Out อธิบายว่า เราต้องแยกระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่พักผ่อนออกจากกัน เพื่อช่วยให้มีขอบเขตในการใช้ชีวิต ซึ่งถ้าหากใครไม่มีโต๊ะทำงานก็สามารถใช้เป็นโต๊ะอาหารหรือโต๊ะญี่ปุ่นแทนได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องระวังเรื่องปัญหาปวดหลัง ปวดคอ และต้องเคลียร์เอกสารและอุปกรณ์หลังเลิกงานเสมอ เพื่อไม่ให้เวลางานมาปะปนกับเวลาส่วนตัวนั่นเอง
9. แสดงตัวและติดต่อสื่อสารอยู่เสมอ
หนึ่งสิ่งที่คนทำงานที่บ้านต้องทำ คือ การติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา คอยบอกตารางงาน รายงานสถานะงาน เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าทำงานอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ซึ่งถึงแม้จะฟังดูวุ่นวายไปหน่อย แต่ก็ช่วยให้หัวหน้าสบายใจได้ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าต้องพูดคุยหรือรายงานทุก 5 นาที เขียนอธิบายทุกการเคลื่อนไหว ทว่าเป็นการทบทวนตัวเองให้คนอื่นทราบ และเป็นการติดต่อสื่อสารกันอยู่เรื่อย ๆ ก็เท่านั้น
นอกเหนือจากนี้ การวิดีโอคอลก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คนที่ทำงานที่บ้านต้องทำบ่อย ๆ ทว่าแทนที่จะเข้าร่วมและทำตัวเงียบ ๆ อย่าลืมพูดคุย ทักทาย และเสนอแนะ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเรารับฟังอยู่ หรือที่ง่ายที่สุด แค่กล่าวสวัสดีตอนเริ่มและบอกลาตอนจบก็ยังได้
10. เตรียมข้อมูลและอุปกรณ์ให้พร้อม
อย่าลืมว่าการทำงานที่บ้านจะเรียกไอทีมาช่วยเหลือไม่ได้ ฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่พนักงานทุกคนต้องเตรียมไฟล์ข้อมูลไว้ให้พร้อม บุ๊กมาร์กหน้าสำคัญไว้ให้ครบ พร้อมทั้งเก็บเบอร์ติดต่อไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย ส่วนสำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ก็ต้องวางเตรียมไว้ที่โต๊ะอย่าให้ขาด ทั้งสายชาร์จ หูฟัง สมุด ปากกา กระดาษ เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่า จะไม่ต้องวุ่นวายตามหาทุกครั้งที่ต้องการใช้งานนั่นเอง
11. ทำให้เป็นมืออาชีพ
เมื่อมีโอกาสทำงานที่บ้าน เราควรทำตัวให้เป็นมืออาชีพ เพราะว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้หมายความว่าสามารถทำงานบ้านหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ทว่าก็แน่นอนว่าเราไม่ควรจะติดอยู่กับงานยาวนานตลอด 8 ชั่วโมง ดังนั้นอาจจะแวบไปทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งวันจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน โดยมีเคล็ดลับที่น่าสนใจอยู่ว่า ให้เรากำหนดตารางเวลาที่เหมาะสม แล้วแบ่งเวลาช่วงพักเบรกสัก 5 นาที ไปจัดการงานบ้านง่าย ๆ เช่น นำผ้าที่จะซักใส่ถังหรือกรอกน้ำเตรียมไว้ดื่ม จากนั้นก็กลับมาทำงานต่อเหมือนเดิม เท่านี้ก็ช่วยให้แฮปปี้ขึ้นได้แล้วค่ะ
12. เป็นมิตรและคิดบวก
แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ชอบข้อความที่กระชับและชัดเจน แต่การทำงานที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะแชตหรือพิมพ์คุยกัน ไม่ค่อยได้ยินเสียงกันเท่าไร สามารถทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีหรือเข้าใจผิดกับถ้อยคำห้วน ๆ ได้ ดังนั้นทางที่ดีผู้พิมพ์ควรใช้เทคนิคบางอย่างที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจอารมณ์ ใช้อีโมจิหรือสติ๊กเกอร์ที่ช่วยให้ข้อความดูซอฟต์ลง และงดใช้เครื่องหมายตกใจ (!) โดยไม่จำเป็น อ้อ แล้วนอกเหนือจากจะเป็นผู้พิมพ์ที่เป็นมิตรแล้ว อย่าลืมคิดบวกเวลาอ่านข้อความของคนอื่นด้วยล่ะ
13. อย่าเคร่งเครียดมากเกินไป
เป็นที่รู้กันดีว่าการทำงานที่บ้านต้องมีวินัยมาก เพราะเจ้านายมองไม่เห็น จึงต้องมีผลงานรองรับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าหนัก อย่าเครียด หรืออย่าหักโหมมากเกินไป จนถึงขั้นทำงานเลยเวลา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยของคนทำงานที่บ้าน เนื่องจากไม่มีเพื่อนร่วมงานคอยเตือน หรือสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลาเลิกแล้ว จึงยากที่จะหยุดจนส่งผลให้กินเวลาชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งการทำงานฝืนต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ก็อาจจะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ต้องรู้จักอนุโลมหรือผ่อนผันบ้าง เช่น ลองเปลี่ยนความสนใจสักครู่ แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ หรือให้คิดแบบง่าย ๆ ว่า ทำตัวเหมือนทำงานที่ออฟฟิศนั่นเอง
14. เดินเล่นหรือออกจากบ้านบ้าง
แม้ว่าสถานการณ์โคโรนาไวรัสจะยังน่ากลัว แต่ถึงอย่างไรก็ควรออกนอกบ้านบ้าง อ๊ะ ๆ ๆ ทว่าไม่ได้หมายความว่าให้ออกไปกินข้าวข้างนอกหรือไปเที่ยวตามสถานยอดฮิตเสียทีเดียว แต่หมายถึงให้เดินเล่นในบ้านหรือออกมาหน้าบ้านหรือพาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นในสวนอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง และรู้สึกเบื่อ นอกจากนี้ยังทำให้ได้รับแสงแดด ซึ่งส่งผลให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกดีขึ้นได้อีกด้วย
15. สร้างกิจวัตรตอนเลิกงาน
นอกจากจะสร้างกิจวัตรบางอย่างเพื่อบอกว่าถึงเวลาเริ่มงานแล้ว เราต้องสร้างกิจวัตรบางอย่างเพื่อช่วยเตือนว่าถึงเวลาเลิกงานด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าการทำงานที่บ้านสามารถติดพันจนส่งผลให้เลิกงานได้ยาก ฉะนั้นให้ลองมองหากิจวัตรหรือกิจกรรม เช่น การล็อกเอาต์จากเมล การเปลี่ยนเสื้อผ้า การทำอาหารเย็น หรือการดูหนัง ฟังเพลง แล้วทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้เป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาต้องหยุดทำงานแล้วนั่นเอง
16. ใช้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน
ประโยชน์อย่างหนึ่งของการทำงานที่บ้าน คือ ช่วยให้มีเวลาในการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นในเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว ขอแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากมัน ลองทำกิจกรรมที่ชอบ ที่อยากทำ หรือกิจกรรมที่ทำไม่ได้เวลาทำงานปกติ เพราะว่าส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง เช่น ทำขนม ทำอาหาร วาดรูป ฝึกเล่นดนตรี หรือออกกำลังกาย เป็นต้น
17. อย่าลังเลในการขออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
เพื่อให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พนักงานทุกคนควรมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วสามารถขอยืมข้าวของที่เคยใช้งานหรือที่มีอยู่ในบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ โน้ตบุ๊ก โต๊ะ เก้าอี้ หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยเคล็ดลับในการขอยืมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ดี คือ ให้ลองทำงานที่บ้านดูก่อนสัก 2-3 วัน เพื่อพิจารณาว่าขาดอะไร หรือต้องการอะไรบ้าง จากนั้นค่อยดำเนินการขอ แล้วอย่าลืมถามถึงรายละเอียด เช่น ข้อมูลการขนย้าย ระยะเวลาการคืน รวมถึงเรื่องความเสียหายด้วย
ถ้าหากใคร Work From Home แล้วรู้สึกเบื่อ เหงา เครียด รวมถึงเกิดแรงเฉื่อยในการทำงาน ไม่กระตือรือร้นอย่างที่เคย ขอแนะนำให้นำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับและปฏิบัติตาม รับรองจะช่วยให้คุณทำงานที่บ้านได้อย่างแฮปปี้และมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน !
ขอขอบคุณข้อมูลจาก realsimple และ sea.pcmag