วิธีปลูกฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทย สรรพคุณดี ที่น่าจับตามอง ปลูกลงกระถางก็ดี หรือปลูกแบบแปลงไว้ขายสร้างรายได้ก็ได้
ฟ้าทะลายโจร กลายเป็นสมุนไพรไทยที่น่าจับตามองอีกหนึ่งชนิด หลังการระบาดของโรค COVID-19 แม้ตอนนี้ผลของการป้องกันและรักษาโควิด 19 ด้วยฟ้าทะลายโจรยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่และต้องรอการวิจัยผลในคนเพิ่มเติม แต่ก็ถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาอาการป่วยอื่น ๆ ได้หลากหลายทีเดียว ทั้งช่วยรักษาไข้หวัด ต้านไวรัส ระงับอาการอักเสบ แก้อาการติดเชื้อ ช่วยบรรเทาโรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และเบาหวาน ฯลฯ
ส่วนตอนนี้สำหรับคนที่อยากรู้วิธีปลูกฟ้าทะลายโจร ไว้ปลูกฟ้าทะลายโจรขาย กระปุกดอทคอมก็รวบรวมวิธีปลูกฟ้าทะลายโจรในกระถาง และวิธีการปลูกฟ้าทะลายโจรแบบแปลง เผื่อสำหรับขายสร้างรายได้มาฝากกันแล้ว
ฟ้าทะลายโจร (Kariyat, The Creat) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees สำหรับในประเทศไทยมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค เช่น หญ้ากันงู เมฆทะลายฟ้าสะท้าน สามสิบดี ฟ้าสาง หรือน้ำลายพังพอน ลักษณะเป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีรสขมทุกส่วน กิ่งใบเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีสีเขียวเข้มผิวมัน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ และมีเส้นสีม่วง-แดงพาดอยู่ มีผลเป็นฝัก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ด้านในมีเมล็ดจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เมื่อต้นมีอายุประมาณ 3-5 เดือน ใช้ได้ทั้งต้น ใบสด และใบแห้ง
สภาพอากาศ :
ต้นฟ้าทะลายโจร เจริญเติบโตได้ดีในที่อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ควรปลูกไว้บริเวณที่มีแสงแดดรำไร ไม่มีลมพัดแรง หากต้องปลูกกลางแจ้งควรทำแนวบังลมและกันแดด ในช่วงที่มีแดดจัดควรให้น้ำเพิ่มเป็นพิเศษ เพราะเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องให้น้ำเพียงพอตลอดฤดู เพื่อรักษาผลผลิตและปริมาณสารสำคัญให้คงที่
สภาพดิน :
ดินที่เหมาะกับการปลูกฟ้าทะลายโจร ควรเป็นดินร่วนซุย ที่สามารถระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวหรือดินทราย ค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างประมาณ 5-5.8 และมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 3.5%
การปลูกฟ้าทะลายโจรในกระถางสามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ ปลูกด้วยเมล็ดและปลูกจากต้นกล้า โดยมีขั้นตอนดังนี้
- นำเมล็ดจากฝักแก่ที่มีสีน้ำตาลแดงโรยในดินแล้วกลบด้วยดินอีกชั้นบาง ๆ หากใช้ต้นกล้า ควรเลือกต้นกล้าฟ้าทะลายโจรที่มีอายุเกิน 30 วันมาปลูกลงดิน
- วางกระถางในที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำให้เพียงพอและสม่ำเสมอ หากปลูกที่มีแดดจัดควรรดน้ำเพิ่ม
การเตรียมดินและคัดเมล็ดพันธุ์
- ดิน : หากมีวัชพืชมากควรไถพรวนดินก่อน 2 รอบ แล้วตากดินให้แห้ง 2 สัปดาห์ จากนั้นค่อยใส่ปุ๋ยอิทรีย์รองพื้นก่อนทำแปลงและบำรุงดิน หากพื้นที่ปลูกไม่มีวัชพืชมากสามารถใส่ปุ๋ยได้เลย
- เมล็ดพันธุ์ : เลือกเมล็ดจากฝักแก่จัดที่สีน้ำตาลแดง เมล็ดที่ดีควรมีเมล็ดสมบูรณ์ไม่มีโรคหรือแมลงเจาะ จากนั้นนำมาแช่น้ำที่อุณหภูมิห้อง ทิ้งไว้ประมาณ 6-12 ชั่วโมง
- แปลงปลูก : ยกแปลงปลูกสูง 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ยาว 3-5 เมตร (หรือปรับขนาดตามสภาพพื้นที่) บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ถ่านไบโอชาร์ และรดน้ำ ทิ้งไว้อย่างน้อย 30-45 วัน ก่อนปลูก
วิธีปลูกขาย
สามารถปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้า มี 4 วิธี คือ
- นำเมล็ดผสมทรายหยาบอัตรา 1:1-2 ส่วน แล้วหว่านในแปลงปลูก
- โรยเมล็ดเป็นแถวแนวขวาง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยดินบาง ๆ
- เพาะต้นกล้าในถาดเพาะ แล้วย้ายกล้ามาปลูกในแปลง เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน
- เพาะต้นกล้าในแปลง การเตรียมแปลงเพาะต้นกล้าใช้วิธีเดียวกับการทำแปลงปลูก โดยรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง ตั้งแต่ปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ในช่วงที่มีแดดจัดหรือหน้าร้อนควรรดน้ำ 2 ครั้งต่อวัน ทั้งเช้าและเย็น หากมีแดดไม่จัดมาก รดน้ำวันละครั้งเฉพาะช่วงเย็นก็ได้ เมื่อต้นอายุประมาณ 2 เดือนสามารถลดการให้น้ำได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
การใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช
ช่วงเตรียมดินย้ายต้นกล้าให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เล็กน้อย หลังจาก 15 วันใส่ปุ๋ยอินทรีย์รอบที่ 2 หว่านกระจายให้ทั่วแปลง นอกจากนี้ควรหมั่นกำจัดวัชพืชทุก ๆ ครึ่งเดือน และระวังหอยทากกับโรคต่าง ๆ เช่น โรคโคนเน่า-รากเน่าจากเชื้อรา หากพบให้ถอนทิ้งและทำลายทันที
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวช่วงเริ่มออกดอก-ดอกบาน เพราะเป็นช่วงที่มีสารสำคัญมากที่สุด หากเก็บหลังช่วงนี้สารสำคัญจะลดลง โดยตัดเหนือดินห่างจากโคนประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นนำมาคัดแยกวัชพืชออก ล้างด้วยน้ำสะอาด ตัดเป็นท่อนประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วผึ่งให้แห้งหรืออบด้วยเครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีสัดส่วนผลผลิตสดต่อผลผลิตแห้งอัตรา 4:1 กิโลกรัม ส่วนราคาหลังแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน