ดอกไม้ ฤดูหนาว มีอะไรน่าปลูกบ้าง ? มาดู 10 ไม้ดอกหน้าหนาวบานดก หอมฟุ้ง ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก น่ามีประดับบ้านประดับสวนไม่เบา !
ใกล้จะถึงหน้าหนาวแล้ว หากใครอยากให้บ้านเต็มไปด้วยความสวยงามและกลิ่นหอมฟุ้งของดอกไม้หรือไม้ดอกต่าง ๆ ละก็ วันนี้กระปุกดอทคอมรวบรวมดอกไม้ที่บานและหอมในช่วงหน้าหนาว หรือระหว่างเดือนกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์มาฝาก โดยมีครบทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อย ที่สำคัญสวยงาม เลอค่า น่าปลูกมาก บอกเลยงานนี้คนรักการจัดสวนต้องห้ามพลาดเด็ดขาด
1. ปีบ
ปีบ หรือกาสะลอง (Cork Tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millingtonia hortensis Linn. ต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงโปร่ง ผลัดใบ ยอดพุ่มทรงกระบอก แตกกิ่งก้านสูงและห้อยลงมาด้านล่าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก รูปไข่ ปลายแหลม โคนมน ขอบหยักเล็กน้อย ส่วนดอกออกเป็นช่อกระจุกซ้อนตาม มีขน บ้างสีขาว บ้างสีชมพู มักจะพบในช่วงปลายฝนถึงกลางหนาว หรือราวเดือนตุลาคม-มีนาคม ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ผลเป็นฝักแห้ง แบน ตรง สีน้ำตาล สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งปักชำและตอนกิ่ง ดูแลไม่ยาก ปลูกในที่แล้งได้ ชอบดินที่มีธาตุอาหารต่ำ ต้องการน้ำประมาณ 3 วัน/ครั้ง แต่ต้องหมั่นตัดแต่งทรงเพื่อควบคุมลักษณะและความสวยงามของต้นเป็นประจำ
2. ลำดวน
ลำดวน หรือหอมนวล (Lumduan) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum Lour. ต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอินโดจีน ในไทยพบมากตามป่าป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้ง เป็นทั้งไม้มงคล ต้นประจำจังหวัดศรีสะเกษ และไม้ประดับ ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ยอดหนาทึบ ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอก ปลายแหลม โคนมน แผ่นบางเหนียว ส่วนดอกออกเดี่ยว สีเหลืองนวลสวย กลีบหนาแข็ง ส่งกลิ่นหอมเย็นในช่วงเย็นไปจนถึงเช้า มักจะพบในเดือนธันวาคม-มีนาคม ผลทรงกลม อยู่เป็นกลุ่ม สีเขียวเมื่ออ่อน สีแดงอมดำเมื่อสุก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง ชอบดินร่วน ชอบแดดปานกลาง ชอบน้ำปานกลาง แข็งแรง ทนทาน ทนแล้งดี แต่โตค่อนข้างช้าและใช้เวลานานกว่าจะออกดอก
3. พะยอม
พะยอม (Phayom หรือ White - Meranti) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea roxburghii G. Don. ต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ทรงพุ่มกลมสวยงาม ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็ก รูปหอก ปลายมน โคนมน ขอบเป็นคลื่น เนื้อหนาเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อ สีขาวหรือขาวอมเหลือง กลิ่นหอมมาก โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงมืด บานพร้อมกันทั้งลำต้น มักจะพบในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน หรือราวเดือนธันวาคม-เมษายน ผลเป็นทรงกระสวยปลายแหลมมีปีก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง สวยงามแต่โตช้า ปลูกในที่แห้งแล้งได้แต่ไม่ชอบดินเค็ม ช่วงที่ใบร่วงไม่ควรให้ปุ๋ยและน้ำ รอสักพักจนกระทั้งร่วงหมดต้น แล้วจึงกลับมาให้ปุ๋ยและน้ำทันที
4. กระดังงา
กระดังงา หรือการเวก (Ylang-Ylang หรือ Cananga) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artabotrys hexapetalus (Linn.f.) Bhandari. หรือ Cananga odorata (Lamk.) Hook.f. et Th. ต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้เลื้อยเนื้อแข็งมีเถา ขนาดกลางถึงใหญ่ อายุหลายปี กิ่งก้านลู่ลงด้านล่าง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ปลายแหลม โคนมน แผ่นหนาและเหนียว มีขนตามเส้นใบ ดอกออกเดี่ยว สีเหลืองสวยงาม มีจุดเล็กสีขาวตรงกลาง ส่งกลิ่นหอมแรง บานช่วงเช้าตรู่ พบเห็นได้ตลอดทั้งปี แต่จะดกมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ส่วนผลทรงรีและป้อม มีเมล็ดข้างใน
คนส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้มงคล ไม้ประดับ และไม้ช่วยลดมลพิษทางอากาศ นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ นิยมปลูกในแปลงและทำที่ค้ำให้เลื้อยเกาะ แข็งแรง ทนความร้อนดี ทนมลพิษสูง ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำปานกลาง ต้องการแดดจัดกลางแจ้ง และควรหมั่นตัดแต่งกิ่งเป็นประจำเพื่อความสวยงามและทรงพุ่มที่เหมาะสม
5. วาสนา
วาสนา หรือ ประเดหวี (Dracaena) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dracaena fragrans (L.) Ker-GawI. ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นกลม ไม่มีกิ่งแต่มีข้อติดกัน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอก โคนเป็นกาบหุ้มต้น ปลายแหลมโค้งลง ขอบเรียบ แผ่นหนา ผิวมัน มีทั้งสีเขียว สีขาวอมเขียว และสีเขียวมีลาย ดอกออกเป็นช่อ สีชมพูอ่อนถึงขาว บานตอนกลางคืน มีกลิ่นหอมแรง มักจะพบในช่วงกลางหรือปลายหนาว ส่วนผลเป็นทรงกลม มีเมล็ดข้างใน ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก ใช้ดินทั่วไป โตเร็วปานกลาง ชอบความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดปานกลางถึงรำไร
6. ช่อมาลี
ช่อมาลี หรือกุมาริกา (Osmanthus) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Parameria laevigata (Juss.) Moldenke ต้นกำเนิดมาจากบางประเทศในทวีปเอเชีย ลักษณะเป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก ยึดเกาะได้ดี ลำต้นมีน้ำยางสีขาว ยอดเป็นทรงพุ่มเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยัก แผ่นหนา ส่วนดอกออกเป็นช่อ ขนาดเล็ก สีขาว ส่งกลิ่นหอมตอนพลบค่ำ มักจะพบในช่วงฤดูหนาว หรือราวเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นฝักคู่และมีเมล็ด นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง โตเร็ว ออกดอกเร็วภายใน 6 เดือน แข็งแรง ทนโรค ทนแมลง ไม่ต้องดูแลมาก ชอบดินร่วน ชอบแสงแดดจัดตลอดวัน ชอบน้ำปานกลาง เหมาะปลูกเป็นไม้ประดับตามแนวรั้ว ปลูกทำซุ้ม แต่ต้องหมั่นกวาดพื้นและทำความสะอาดเพราะใบร่วงเยอะมาก
7. จันทร์กะพ้อ
จันทน์กะพ้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vatica diospyroides Syming ต้นกำเนิดมาจากทวีปเอเชียเขตร้อน ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงใหญ่ ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ผลัดใบ กิ่งเปราะง่าบ และมีน้ำยาง ใบเป็นมบเดี่ยว รูปหอก ปลายแหลม โคนเบี้ยวและสอบ ขอบเรียบ แผ่นเกลี้ยงหนา ส่วนดอกออกเป็นช่อสั้น ขนาดเล็ก สีขาวหรือเหลืองอ่อน ส่งกลิ่นหอมแรงหรือหอมร้อน มักจะพบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม โดยจะดกมากในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลทรงกลมรี เป็นขุย สีน้ำตาล นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ชอบดินที่ระบายน้ำดี ชอบที่ร่มมากกว่าที่แจ้ง ชอบร่มเงาจากต้นไม้อื่น ชอบอากาศชื้น และชอบลมไม่แรง ทว่าส่วนใหญ่หายาก ปลูกยาก เพราะราคาแพงและโตช้า ต้องใช้เวลากว่า 5-7 ปี ถึงจะออกดอก
8. หิรัญญิการ์
หิรัญญิการ์ (Herald Trumpet หรือ Nepal Trumpet) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Beaumontia grandiflora Wall. ต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบไทย จีน อินเดีย เวียดนาม ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ลำต้นมียางสีขาวและมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมบางส่วน เลื้อยได้ไกลประมาณ 15 เซนติเมตร กิ่งก้านเป็นพุ่มแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ค่อนข้างใหญ่และยาว ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยง หยาบ และหนา ส่วนดอกออกเป็นช่อ ทรงคล้ายถ้วย ขนาดใหญ่ สีขาวสวย กลิ่นหอมอ่อนช่วงเช้า มักจะพบในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน นิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเพาะเมล็ด ดูแลง่าย โตได้ในดินเกือบทุกชนิด ชอบอยู่กลางแจ้ง ต้องการแสงมาก ต้องการน้ำปานกลาง ต้องการแค่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ต้องการที่ค้ำให้ยึดเกาะ ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
9. แย้มปีนัง
แย้มปีนัง หรือหอมปีนัง (Climbing Oleander หรือ Cream fruit) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strophanthus gratus (Wall. ex Hook.) Baill. ต้นกำเนิดมาจากประเทศตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และประเทศเขตร้อนของทวีปเอเชีย ลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก เปลือกหนา ไม่ยึดเกาะ ลำต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ปลายแหลม โคนสอบ แผ่นหนา ส่วนดอกออกเป็นช่อกระจุก ทยอยบาน สีชมพูอมม่วงคล้ายกุหลาบ ส่งกลิ่นหอมทั้งวัน แต่กลิ่นจะแรงเป็นพิเศษในช่วงเช้าหรือเย็น (ช่วงที่อุณหภูมิต่ำ) ส่วนใหญ่พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะดกและเยอะมากในช่วงปลายฤดูหนาว ผลเป็นฝักคู่รูปกระบอกและมีเมล็ดข้างใน สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ ไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำดี ชอบแดดจัด ชอบน้ำพอสมควร หลีกเลี่ยงการปลูกในที่แล้ง และหมั่นตัดแต่งทรงบ่อย ๆ ประมาณปีละ 2-3 ครั้ง
10. ตีนเป็ด
ตีนเป็ด สัตบรรณ หรือพญาสัตบรรณ (White Cheesewood) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้ออ่อนแต่เหนียว ทรงพุ่มสูงคล้ายฉัตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายมีติ่ง โคนสอบ ส่วนดอกออกเป็นช่อ ทรงรี มีขนข้างใน สีขาวอมเหลืองและเขียวนิด ๆ กลิ่นหอมแรงมากไปจนถึงฉุน บางคนอาจจะเหม็นหรือแพ้ได้ มักจะพบในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ส่วนผลเป็นฝักคู่เรียวยาว นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด โดยควรเลือกทำเลที่ห่างจากตัวบ้าน และเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีเสาหรือสายไฟ ดูแลไม่ยาก ต้องการแสงแดดจัดกลางแจ้ง ต้องการน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แต่ต้องระวังอย่าให้แฉะ และใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปีละ 3 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว
มาถึงตอนนี้หากใครยังสับสนไม่รู้จะปลูกอะไรดี ขอแนะนำให้ลองปลูกไม้ดอกหอมเหล่านี้เลย อ๊ะ ๆ ๆ แต่ต้องรีบเร่งมือหน่อยนะคะ ไม่งั้นจะไม่ทันลมหนาวและอากาศเย็นเอาได้นะ