รู้จัก 9 สายพันธุ์ทุเรียนไทย และวิธีซื้อให้ได้ผลสุก รสชาติดี พร้อมกิน

แนะนำ 9 ทุเรียนไทยสายพันธุ์ยอดฮิต กินกันทั่วบ้าน ฟินกันทั่วเมือง รสชาติจะเด็ดขนาดไหน ขายได้ราคาแพงอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ทุเรียนไทย ด้วยรสหวานและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ถูกอกถูกใจนักกินทั้งไทยและต่างชาติ จนถูกยกเป็นราชาแห่งผลไม้ ถึงฤดูเก็บเกี่ยวทีไร เรียกได้ว่าแทบจะไม่พอขายกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะ 9 สายพันธุ์ทุเรียนไทยยอดฮิตที่นำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ทุเรียนราคาสูงที่นิยมปลูก กลิ่นหอมยั่วยวนทะลุหนาม พร้อมวิธีซื้อให้ได้ผลสุกกำลังดี กลับบ้านแล้วปอกเปลือกกินได้เลย

กลุ่มทุเรียนปลูกได้ในไทย

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้รวบรวมพันธุ์ทุเรียนที่มีการปลูกในเมืองไทยไว้กว่า 600 สายพันธุ์ และแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ตามทรงของผลทุเรียน ดังนี้

  • กลุ่มกบ : ทรงผลกลม มีทั้งแบบทรงรี ทรงกลม และแป้น หนามโค้งงอ มี 46 สายพันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบชายน้ำ กองสุวรรณ กบพิกุล กบเล็บเหยี่ยว กบก้านสั้น กบหน้าศาล เป็นต้น
  • กลุ่มลวง : ทรงผลมี 2 แบบ คือ ทรงกระบอกและทรงรี หนามเว้า มี 12 สายพันธุ์ เช่น ชะนี ชะนีก้านยาว รวงทอง สายหยุด เป็นต้น
  • กลุ่มก้านยาว : ทรงผลกลม รูปไข่กลับ หนามนูน มี 8 สายพันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ต้นใหญ่ ทองสุข เป็นต้น
  • กลุ่มกำปั่น : ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน หนามแหลมตรง มี 13 สายพันธุ์ เช่น หมอนทอง ปิ่นทอง กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง เป็นต้น
  • กลุ่มทองย้อย : ทรงผลรูปไข่ หนามนูนปลายแหลม มี 14 สายพันธุ์ เช่น ทองใหม่ นกหยิบ ทับทิม ทองย้อยฉัตร เป็นต้น
  • กลุ่มเบ็ดเตล็ด : เป็นกลุ่มที่มีสายพันธุ์เยอะที่สุด แต่ไม่สามารถบอกลักษณะได้ชัดเจน เพราะอาจจะมีบางจุดที่คล้ายคลึงกับ 5 สายพันธุ์ข้างต้น คาดว่าน่าจะเกิดจากการพัฒนาของเกษตรกรสวนต่าง ๆ ในขณะนี้มีทั้งหมด 81 สายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พวงมณี บางขุนนนท์ กระดุมทอง หลงลับแล หลินลับแล เป็นต้น

9 สายพันธุ์ทุเรียนไทย ขายดี กำไรงาม

มารู้จักพันธุ์ทุเรียนไทยที่นิยมปลูกและเป็นที่ต้องการของตลาด ว่ามีลักษณะผลและรสชาติเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงราคาขายโดยประมาณ ดังต่อไปนี้

ทุเรียนไทย 9 สายพันธุ์

1. ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

มีแหล่งปลูกหลักอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ก้านใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่น ผลทรงกลม หนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม หนามเล็กสั้นและถี่ เนื้อในสีเหลืองทอง นุ่มเนียน รสชาติหวานมัน กลิ่นหอม ราคาจะแพงมากเพราะปัจจุบันนี้หากินได้ยาก มีสวนปลูกน้อย ราคาเฉลี่ยต่อลูกประมาณ 5,000-15,000 บาท

2. ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล

มีต้นกำเนิดมาจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะผลเล็ก กลมรี หนักประมาณ 1-3 กิโลกรัม หนามโค้งแหลมคม สีของเนื้อหลงลับแลอ่อนกว่าหลินลับแล เนื้อในเหนียวเนียนละเอียด เม็ดเล็ก รสชาติหวานจัด มีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ เนื่องจากต้องปลูกบนเขา การรดน้ำและขนส่งทำได้ค่อนข้างยาก ราคาจึงสูง ประมาณ 250-500 บาทต่อกิโลกรัม

3. ทุเรียนพันธุ์ป่าละอู

เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่นำมาปลูกในป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลเป็นวงรี หนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม หนามคม เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นอ่อน ๆ เม็ดลีบ รสชาติหวานมัน ราคาประมาณ 250-350 บาทต่อกิโลกรัม

4. ทุเรียนพันธุ์ภูเขาไฟ

มีต้นกำเนิดจากจังหวัดศรีสะเกษ เป็นสายพันธุ์เดียวที่มาจากภาคอีสาน ปลูกในบริเวณที่เป็นภูเขาไฟเก่า ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ผลขนาดกลาง หนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีเหลืองอ่อน แห้ง ละเอียด ไม่ติดมือ กลิ่นหอมปานกลาง รสชาติหวานมัน ราคาประมาณ 150-250 บาทต่อกิโลกรัม

5. ทุเรียนพันธุ์พวงมณี

          เป็นพันธุ์พื้นบ้านของจังหวัดระยอง เป็นพันธุ์เล็ก หนักประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม ผลทรงรี ปลายผลแหลม หนามตรงนูนแหลม เนื้อสีเหลืองเข้ม เนียนละเอียดไม่มีเสี้ยน รสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อน ๆ จุดเด่นคือ ผลดก ติดเป็นพวงใหญ่ ราคาประมาณ 150-200 บาทต่อกิโลกรัม 

6. ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบ

          มีต้นกำเนิดจากจังหวัดนนทบุรี และขยายพันธุ์ไปปลูกในภาคตะวันออก ผลเล็ก หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม เนื้อละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมละมุน ติดดอกออกผลเร็วกว่าพันธุ์อื่น ๆ ปลูกประมาณ 4-5 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลได้แล้ว ราคาประมาณ 130-150 บาทต่อกิโลกรัม

7. ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

เป็นพันธุ์ยอดนิยม หาซื้อง่าย ราคาไม่สูง และกลิ่นหอมอ่อน ๆ ลักษณะผลใหญ่ หนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม หนามแหลมตรง มีขนาดใหญ่-เล็กสลับหว่างกัน เนื้อในสีเหลืองนวล นุ่มละเอียด ไม่ติดมือ เม็ดเล็ก รสชาติไม่หวานมาก ราคาประมาณ 90-130 บาทต่อกิโลกรัม

8. ทุเรียนพันธุ์ชะนี

อีกหนึ่งพันธุ์ยอดนิยม มีกลิ่นแรงเป็นเอกลักษณ์ ผลขนาดกลางถึงใหญ่ หนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม หนามใหญ่ สั้น และห่าง เนื้อในสีเหลืองเข้ม ละเอียด มีเสี้ยนเล็กน้อย รสชาติหวานจัด เมื่อสุกเนื้อจะเละ จึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือขนมหวานต่าง ๆ ราคาประมาณ 65-100 บาทต่อกิโลกรัม

9. ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง

ลักษณะผลเล็ก หนักประมาณ 1 กิโลกรัม หนามนูนปลายแหลมและถี่ เนื้อสีเหลืองเข้ม เนียนละเอียด เม็ดใหญ่ เมื่อสุกจัดเนื้อจะเละ รสชาติหวาน ราคาประมาณ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม

วิธีซื้อทุเรียน ดูยังไงให้ได้ผลสุกพร้อมกิน

ปอกทุเรียนไทย

ปกติแล้วจะนิยมกินทุเรียนเมื่อสุกและแก่ได้ที่ หรือบางคนก็จะชอบแบบกรอบนอกนุ่มใน ซึ่งมีจุดสังเกตต่าง ๆ ก่อนซื้อทุเรียน ดังนี้

  • รอยต่อระหว่างขั้วและก้าน หรือปลิง : จะมีสีน้ำตาลเข้ม บวมหรือปริเห็นรอยแตกชัด ตอนจับจะรู้สึกสากมือ และเมื่อตัดออกจะมีน้ำใส ๆ ไหลออกมา ชิมดูจะมีรสหวาน  
  • หนาม : เลือกที่ปลายหนามแห้ง สีน้ำตาลเข้ม ร่องหนามห่างกว้างขึ้น มีลักษณะเหมือนสปริงเมื่อบีบเข้าหากัน
  • เปลือก : มีสีเข้มขึ้นเมื่อเทียบกับทุเรียนสายพันธุ์เดียวกัน ผิวแห้งแต่มีความมัน และมองเห็นรอยแยกสีน้ำตาลบนร่องพูชัดเจน
  • เคาะแล้วฟังเสียง : ใช้ไม้ที่ปลายเป็นยางเคาะที่ผล ถ้าเสียงที่ได้เป็นเสียงโปร่ง กลวง ก็แสดงว่าสุกพร้อมกินได้ แต่ถ้าเคาะแล้วเสียงแน่นทึบ หมายถึงเนื้อยังแข็งและอ่อนอยู่  
  • กลิ่น : ถ้ามีกลิ่นหอมเตะจมูก ไม่เหม็นสาบ ไม่เหม็นเขียว ก็แสดงว่าสุกพร้อมกินแล้ว

ประโยชน์ของทุเรียน

ปอกทุเรียนไทย

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมาย ดังนี้

  • เนื้อทุเรียน : นอกจากกินสด ๆ ได้แล้วยังนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้ทั้งของคาวและของหวาน รวมถึงแปรรูปหรือถนอมเพื่อเก็บไว้กินต่อไป เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ทุเรียนเชื่อม เป็นต้น
  • เปลือกทุเรียน : นำไปทำปุ๋ยหรือเผาเป็นถ่าน หรือนำมาผลิตเป็นกระดาษ และยังนำไปทำเป็นพลาสติกชีวภาพหรือ ซีเอ็มซี (CMC : Carboxymethyl Cellulose) ได้อีกด้วย
  • เม็ดทุเรียน : นำไปคั่ว ทอดในน้ำมัน หรือนึ่ง นำมากินได้
  • ดอกและใบอ่อน : นำมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารได้ เช่น ห่อหมก แกงส้ม เป็นต้น

ข้อควรระวังในการกินทุเรียน

ทุเรียน เป็นผลไม้ให้พลังงานสูง เมื่อคิดในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 130-200 กิโลแคลอรี หรือคิดง่าย ๆ ว่า ถ้ากินทุเรียน 2 เม็ด ก็เท่ากับกินข้าว 2 ทัพพี และถ้ากิน 4-6 เม็ด ก็จะเท่ากับการกินอาหารปกติ 2 มื้อเลยทีเดียว

อีกทั้งทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรกินทุเรียน รวมถึงไม่ควรกินทุเรียนคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะจะทำให้เกิดอาการร้อนใน เจ็บคอ เมาไว เสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือเลือกกินทุเรียนกับผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มังคุด เพื่อดับความร้อนและต้านการอักเสบได้

การกินทุเรียนไม่ให้เป็นอันตรายกับร่างกาย ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หรือกินกับผลไม้หลากหลายชนิด เช่น มังคุด ผลไม้ที่มีปริมาณน้ำมา ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับพันธุ์ทุเรียนไทยที่เรานำมาแนะนำกันวันนี้ หลายคนอ่านแล้วแทบจะอดไม่ไหว ร่างกายต้องการทุเรียนขึ้นมาทันทีเลย อย่างไรก็อย่ากินจนเพลินเกินไปนัก เดี๋ยวเครื่องชั่งน้ำหนักจะโอดครวญเอาได้ค่ะ

เรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับ ทุเรียนไทย : 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก 9 สายพันธุ์ทุเรียนไทย และวิธีซื้อให้ได้ผลสุก รสชาติดี พร้อมกิน อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:19:10 143,388 อ่าน
TOP
x close