ยมหิน หรือต้นยมหิน เป็นพรรณไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเพื่อเป็นมงคลแก่จังหวัดแพร่ และถือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดด้วย ต้นยมหินนี้จัดเป็นไม้ยืนต้น ให้ร่มเงา แถมยังใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อไม้ของยมหิน ที่มีความแข็งแรง ทนทาน เช่น นำไปสร้างบ้าน ทำเครื่องจักสาน รวมถึงของใช้ต่าง ๆ วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปรู้จักต้นยมหินกัน ตั้งแต่ที่มา ลักษณะไว้ใช้สังเกต วิธีการปลูกและขยายพันธุ์ รวมถึงการใช้งานต่าง ๆ จากต้นยมหิน
ต้นยมหิน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ แต่ผลิใบเร็ว จัดอยู่ในวงศ์ Meliaceae ที่สามารถพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบผสมทั่วไปในแถบเอเชีย เช่น จีน เมียนมา ไทย มีชื่อสามัญคือ Almond-wood ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Chukrasia velutina Wight & Arn. ส่วนไทยมีชื่อพื้นเมืองหลายชื่อแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ยมขาว มะเฟืองต้น สะเดาช้าง สะเดาหิน ช้ากะเดา เสียดค่าย โค้โย่ง และริ้งบ้าง
ก่อนหน้านี้ต้นยมหินถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 จากทั้งหมด 158 ชนิด ไม่ว่าต้นไม้จะขึ้นอยู่ที่ใดแม้จะอยู่ในที่ดินตัวเอง หรือจะกระทำการใด ๆเช่น ตัด ฟัน โค่น เลื่อย ถอน หรือขุดออกมา ก็ต้องยื่นเรื่องและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนถึงจะทำได้ หากฝ่าฝืนมีความผิด มีโทษจำคุก 1-20 ปี และถูกปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท
โดยในปี 2562 ได้มีประกาศให้ประชาชนและเอกชนสามารถปลูกและตัดขายไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก. ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หากเป็นต้นที่ขึ้นบนที่ดินกรรมสิทธิ์หรืออยู่ในการครอบครอง และได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์
- ลำต้น : มีขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ สูงได้ถึง 20-30 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้มถึงดำ จะแตกสะเก็ดเป็นร่องลึกยาวตามลำต้นเมื่อมีอายุมาก
- ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบยาว 30-60 ซม. มีใบย่อยประมาณ 5-6 คู่ และมีใบตรงปลายก้าน 1 ใบ รูปทรงไข่หรือวงรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ท้องใบมีขนอ่อน หลังใบเกลี้ยง
- ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบและกิ่ง ช่อยาวประมาณ 15-30 ซม. มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วงและกลีบดอกสีเหลือง 4-5 กลีบ ดอกเล็ก มีกลิ่นหอม ยาวประมาณ 1.5 ซม. มักจะออกดอกช่วงเดือนกันยายนของทุกปี
- ผล : กลมทรงรีหรือรูปไข่ ออกเป็นพวง ผลแห้งจะมีเปลือกแข็ง สีน้ำตาล ยาวประมาณ 4-4.5 ซม. กว้างประมาณ 2.5-3.5 ซม. ด้านในผลจะแบ่งเป็นช่อง และภายในช่องจะมีเมล็ดลักษณะแบนอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ดต่อช่อง
ต้นยมหิน ต้นยมหอม แตกต่างกันยังไง
ทั้งชื่อ ลักษณะภายนอก และการใช้ประโยชน์ที่คล้ายคลึงกันของต้นยมหินและยมหอม ทำให้หลายคนสับสนว่า เป็นต้นเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้ง 2 ต้นจัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน และมีความแข็งแรงของเนื้อไม้ที่ใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ผลของต้นยมหอมจะมีสีน้ำตาลแดง รูปกระสวย เมล็ดยาวรี มีปีกทั้งสองข้าง และส่วนดอกนำมาทำสีย้อมผ้าได้ ให้สีแดงหรือเหลือง
ต้นยมหิน นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เพราะง่าย สะดวก สามารถเก็บเมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ แล้วนำมาตากแห้ง 2-3 วัน จึงค่อยนำมาเพาะในกระบะชำหรือในถุงพลาสติก โตได้ดีกับดินทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วนผสมอินทรีวัตถุ เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขุยมะพร้าว หรือมูลสัตว์ ชอบน้ำและความชุ่มชื้น จึงควรรดน้ำให้ชุ่มเป็นประจำทุก ๆ วัน วันละ 1-2 ครั้ง
- เป็นสมุนไพรมีสรรพคุณทางยา ที่ช่วยสมานแผลและใช้เป็นส่วนผสมยาแก้ไขได้
- นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือนได้ เพราะเนื้อไม้แข็ง ทนทาน และมีลายไม้สวย ละเอียด ไสง่าย ขัดเงาได้ดี ส่วนใหญ่จะเป็นงานในร่มที่ไม่สัมผัสกับพื้นดิน เช่น เสา ขื่อ พื้นห้อง กระดาน หน้าต่าง ประตู ฝาบ้าน
- ทำเป็นเครื่องจักสานหรือเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ เช่น กล่องใส่ใบชา ไม้อัด หรือลังเก็บของ
- ประโยชน์อื่น ๆ อาทิ ทำเชื้อเพลิง หรือใช้ในงานศิลปะต่าง ๆ
ต้นยมหิน นับเป็นต้นไม้ยืนต้นที่น่าสนใจมากจริง ๆ เพราะเป็นอีกหนึ่งพรรณไม้ที่ใช้งานได้หลายอย่างเลยทีเดียว โดยนอกจากจะให้ร่มเงาแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา และนำเนื้อไม้มาทำเป็นเครื่องเรือนหรือใช้ในงานก่อสร้างได้อีกด้วย เรียกว่าประโยชน์ครบครันทุกด้านเลยจริง ๆ