9 ความลับของแคคตัส ไม้หนามสุดฮิต เอาใจเหล่าคนเลิฟเว่อร์

          เปิดความลับของ แคคตัส ไม้หนามสุดฮิต กับเรื่องราวน่ารู้ที่เหล่าคนรักแคคตัสไม่ควรพลาด โดยเฉพาะมือใหม่หัดปลูก 
แคคตัส

เรียกได้ว่า แคคตัส (Cactus) หรือ ต้นกระบองเพชร เป็นต้นไม้ยอดฮิตที่ครองใจคนรักต้นไม้หลายคนเลยทีเดียว ด้วยขนาด รูปทรงที่น่ารัก มีหลายสายพันธุ์ให้เลือกปลูกกันตามชอบ แถมยังมีประโยชน์มากมาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีคนให้ความสนใจกันมากมาย สำหรับใครที่เป็นแคคตัสเลิฟเว่อร์ วันนี้เรามีความลับเกี่ยวกับเจ้าไม้กระถางไซซ์มินิชนิดนี้ที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย !

1. แคคตัส มาจากภาษากรีก

แคคตัส (Cactus) มาจากคำภาษากรีกว่า คักโตส (Kaktos) หรือหัวอาร์ติโช้กของสเปน ซึ่งชาวกรีกจะเรียกพืชที่มีหนามแหลมว่า แคคตัส ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว พืชทั้ง 2 ชนิดนี้จะเป็นคนละสายพันธุ์และแตกต่างโดยสิ้นเชิงก็ตาม

ส่วนอีกหนึ่งที่มาตามพจนานุกรมนิรุกติศาสตร์ออนไลน์ (Online Etymology Dictionary) ระบุไว้ว่า Cactus มาจากคำภาษาละตินว่า Cardoon ที่หมายถึงพืชป่าลักษณะคล้ายอาร์ติโช้ก ต่อมาในปี 1769 คาโรลุส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน มีความคิดว่า ต้นกระบองเพชรอเมริกันที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับแคคตัส จึงได้นำคำว่า Cactus มาใช้เรียกพืชในตระกูลนี้ และในภาษาอังกฤษ รูปพหูพจน์ของแคคตัส คือ Cacti นั่นเอง

2. แคคตัส เซอร์ไวเวิลแห่งทะเลทราย

แคคตัส

เนื่องจาก ทะเลทราย เป็นแหล่งกำเนิดเดิมของแคคตัส ซึ่งพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และฝนที่ตกลงมาแต่ละครั้งก็ให้ปริมาณน้ำน้อยแถมยังระเหยไว ดังนั้นเจ้าไม้หนามชนิดนี้จึงต้องปรับตัวให้อยู่รอดด้วยระบบรากตื้น ซึ่งรากของแคคตัสจะมีความลึกเพียง 1.3 ซม. เท่านั้น เพื่อดูดซับน้ำให้ได้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว แล้วเอาไปเก็บในลำต้นไว้หล่อเลี้ยงตัวเองในยามที่ไม่มีน้ำฝน

3. แคคตัส จะเปิดปากใบเฉพาะกลางคืน

ปกติแล้วต้นไม้ส่วนใหญ่จะเปิดปากใบตอนกลางวันเพื่อสังเคราะห์แสง โดยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปและปล่อยออกซิเจนออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการคายน้ำและสูญเสียน้ำไปในปริมาณมาก ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดแคคตัสจึงต้องใช้อีกหนึ่งวิธีคือ การเผาผลาญกรด (Crassulacean Acid Metabolism หรือ CAM) กระบวนการที่ช่วยให้เปิดปากใบได้เฉพาะเวลากลางคืน เพื่อลดการสูญเสียน้ำนั่นเอง ยกเว้นบางฤดู เช่น ในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ แคคตัสอาจจะปิดปากใบไว้ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือเข้าสู่ช่วงระยะพักตัว ที่ทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโตไปเลยก็มี

4. หนามของแคคตัส คือ ใบนั่นเอง

แคคตัส

แคคตัส นับเป็นพืชที่พิเศษมากเพราะมีการลดรูปใบเป็นหนาม แถมยังมีหลายแบบ เช่น ตรง โค้ง แหลมและเล็กเหมือนเข็ม เป็นขนฟูเหมือนแปรง ยาวเหมือนผม กลม หรือแม้กระทั่งเป็นตะขอ ซึ่งหนามเหล่านี้เป็นวิธีทางธรรมชาติที่ช่วยให้อยู่รอดและเติบโตได้

นอกจากการผลิตอาหารให้อยู่รอดในทะเลทรายแล้ว หนามของแคคตัสยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง อาทิ

- ป้องกันตัวเอง ด้วยลักษณะของลำต้นที่อวบน้ำ ทำให้แคคตัสตกเป็นเป้าหมายของเหล่านักล่าที่ต้องการน้ำ แคคตัสจึงต้องพัฒนาใบเป็นหนามแหลมไว้ป้องกันเหล่าศัตรูทั้งหลาย เช่น แมลง สัตว์ต่าง ๆ รวมถึงการถูกคุกคามโดยคนที่ชอบตัดและทำลายต้นไม้ด้วย

- ช่วยกักเก็บน้ำ หนามเป็นสิ่งที่ช่วยดูดซึมน้ำในอากาศ เช่น ช่วงที่ทะเลทรายมีหมอกหนา ก่อนที่รากของต้นก็จะดูดซึมน้ำที่ไหลลงมาที่พื้นด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง

- ให้ร่มเงา ด้วยภูมิอากาศในทะเลทรายที่ร้อนจัด หนามจะทำหน้าที่เป็นร่มเงาให้กับต้น เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดก็ดูดความชื้นจากต้นไม้ไปจนหมดนั่นเอง

- การขยายพันธุ์ หนามที่ร่วงหลุดจากต้น ถ้านำไปปลูกหรือปลิวไปตามแรงลมและตกลงในสภาพดินที่พอเหมาะ ก็จะสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นแคคตัสต้นใหม่ได้

5. แคคตัส อายุยืนนับทศวรรษ

เป็นเรื่องที่คนเลี้ยงต้นไม้จะรู้กันดีอยู่แล้วว่า แคคตัสเป็นพืชที่ไม่ต้องประคบประหงมอะไรมาก และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ถ้าได้การดูแลที่ดีและถูกต้องจะมีอายุถึง 10-200 ปีเลยทีเดียว ซึ่งวิธีการดูแลก็ไม่ยากเลย ดังนี้

- การให้น้ำ แคคตัสทนแล้งได้ดี จึงควรให้น้ำประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่ควรรดน้ำมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้รากเน่าได้

- มีแสงสว่างที่เพียงพอ แต่ไม่ควรให้โดนแดดจัด เพราะอาจจะทำให้ผิวไหม้และเปลี่ยนสีได้

- เลือกดินที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ควรใช้ดินที่อุ้มน้ำในการปลูกแคคตัส เพราะการเก็บกักน้ำไว้ในดินเป็นเวลานานจะทำให้รากเน่าเปื่อยได้

- อุณหภูมิที่พอเหมาะ อยู่ที่ประมาณ 27-32 องศาเซลเซียส หรือแม้กระทั่งในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงถึง 35-40 องศาเซลเซียส ก็ไม่มีปัญหาสำหรับแคคตัสที่ปลูกกัน

6. แคคตัส ไม่ได้มีแค่สีเขียว

แคคตัส

ส่วนใหญ่แล้ว แคคตัสมักจะมีสีเขียวตามธรรมชาติของพืช จากคลอโรฟิลล์ที่ช่วยในการเจริญเติบโต แต่ก็มีบางสายพันธุ์ที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีเหลือง สีขาว สีม่วง และสีชมพู ทำให้เป็นที่ต้องการของคนที่ชอบเพาะต้นไม้สวยงาม

7. พืชอวบน้ำทั้งหมดไม่ใช่แคคตัส

หลายคนสับสนว่า แคคตัสทุกสายพันธุ์เป็นพืชอวบน้ำ แล้วพืชอวบน้ำทุกชนิดก็เป็นแคคตัส ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แม้ว่าลักษณะของพืชอวบน้ำบางชนิดจะใกล้เคียงกับแคคตัสมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เดียวกัน สังเกตได้จาก แคคตัสจะมี Areoles หรือเงี่ยงเล็ก ๆ เป็นตากิ่งที่เป็นช่องเปิดให้มีหนามและดอกงอกออกมาได้ ซึ่งพืชอวบน้ำสายพันธุ์อื่น ๆ จะไม่มี ดังนั้นจึงควรเลือกให้ถูกต้องก่อนจะนำมาปลูกในบ้าน เพราะพืชอวบน้ำบางชนิดก็มีพิษ ที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงได้

8. แคคตัส มีสายพันธุ์ที่กินได้

แคคตัส

แคคตัสกินได้ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า โอพันเทีย (Opuntia) เป็นกระบองเพชรที่มีลูกสีส้มแดง ชาวเม็กซิโกเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า พริคลีย์แพร์ (Prickly Pear) หรือลูกแพรมีหนาม และในส่วนที่เป็นสีเขียวของโอพันเทียที่มีรสชาติเปรี้ยว ก็สามารถนำมาปรุงอาหารด้วยการขูดหนามออก และนำไปนึ่งหรือทอดได้

9. เปลือกแคคตัสนำมาทำกระเป๋าได้

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Prima Linea ได้เปิดตัวแนวคิดใหม่ในการใช้เปลือกและแกนแอปเปิลที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหาร มาออกแบบทำเป็นกระเป๋าถือที่ทนทานและหรูหรา และได้พัฒนาคิดค้นต่อไปจนได้เปิดตัวกระเป๋าเงินที่ทำจากหนังของแคคตัส ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และแน่นอนว่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

เป็นอย่างไรบ้าง กับเรื่องราวน่ารู้ของแคคตัส หวังว่าข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงแคคตัสกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก cactuswayhousebeautifulsucculentalley และ inhabitat
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 ความลับของแคคตัส ไม้หนามสุดฮิต เอาใจเหล่าคนเลิฟเว่อร์ อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2564 เวลา 17:54:22 81,787 อ่าน
TOP
x close