วิธีเลือกใช้หลอดไฟในบ้าน และวิธีเปลี่ยนหลอดไฟเองง่าย ๆ

รวมเรื่องราวน่ารู้ของหลอดไฟ ทั้งประเภท แสงสีที่เหมาะกับการใช้งาน และวิธีการเปลี่ยนหลอดไฟ รวมถึงการทิ้งหลอดไฟแต่ละประเภทให้ปลอดภัย 

หลอดไฟในบ้าน

เป็นระยะเวลากว่า 2 ศตวรรษแล้วที่โลกของเรามีหลอดไฟไว้ให้แสงสว่างกับบ้านเรือนที่พักและอาคารต่าง ๆ ผู้ผลิตหลอดไฟต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงในเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพของแสง ความหนาแน่น ความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงการประหยัดพลังงานด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักหลอดไฟ แหล่งให้แสงสว่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่ามีกี่ประเภท เลือกความสว่างแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน และวิธีการเปลี่ยนหลอดใหม่ รวมถึงการทิ้งหลอดไฟอย่างไรให้ปลอดภัยด้วย

ประเภทของหลอดไฟ
ประเภทหลอดไฟ

ปัจจุบันนี้มีหลอดไฟมากมายหลายชนิดให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นหลอดไส้ หลอดตะเกียบ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น ซึ่งหลอดไฟแต่ละประเภทมีการใช้งานและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสนได้ เราจึงขอแนะนำชนิดของหลอดไฟทั่วไปที่นิยมใช้กัน ดังนี้

1. หลอดไส้

หลอดไส้ มีหลักการทำงานง่าย ๆ คือ ในหลอดไส้จะมีขดลวดทังสเตนอยู่ภายในหลอด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ขดลวดนี้จะเกิดความร้อนจนเป็นตัวจุดประกายไฟ ทำให้เกิดแสงสว่าง และจากปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าจะทำให้ไส้หลอดร้อนจนไหม้ เสื่อมสภาพเร็ว มีอายุการใช้งานสั้น (ประมาณ 700-1,000 ชั่วโมง) และสิ้นเปลืองพลังงาน แม้หลอดไส้จะเป็นหลอดไฟที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ก็เริ่มมีผู้ผลิตหลอดไฟชนิดอื่นขึ้นมาทดแทน เพราะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ใช้งานได้ยาวนาน และประหยัดไฟกว่า เช่น หลอดไฟ LED หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และหลอดไฟ CFL

2. หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์

หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า หลอดนีออน มีหลักการทำงานคือ เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหลอด จะกระตุ้นอนุภาคปรอทและก๊าซอื่น ๆ ที่บรรจุอยู่ภายในหลอด ให้ปล่อยพลังงานที่แผ่รังสีความร้อนออกมา เมื่อรังสีนี้กระทบกับสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ด้านในตัวหลอด จะเปลี่ยนเป็นแสงสว่างที่มองเห็นได้ และเนื่องจากไม่ได้เปล่งแสงโดยอาศัยความร้อน จึงมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากกว่าและนานกว่าหลอดไส้ แต่การใช้งานจะต้องติดตั้งคู่กับชุดบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ และกำจัดได้ยากกว่าเพราะมีสารปรอทที่เป็นอันตราย 

3. หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์

หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent Lamps : CFL) หรือหลอดตะเกียบ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนหลอดไส้ในบ้านและอาคารพาณิชย์ มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าถึง 10,000 ชั่วโมง จึงประหยัดพลังงานมากกว่า และให้ประสิทธิภาพการส่องสว่างที่สูงกว่า แต่ด้านในหลอดมีสารปรอทที่เป็นอันตราย จึงกำจัดได้ยากกว่าหลอดไส้ 

4. หลอดฮาโลเจน

หลอดฮาโลเจน เป็นหลอดไส้ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นหลอดไส้ที่เติมก๊าซฮาโลเจน ได้แก่ โบรมีน หรือไอโอดีน เข้าไปเล็กน้อย ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หลอดไอโอดีนควอตซ์ หรือหลอดฮาโลเจนทังสเตน ซึ่งก๊าซฮาโลเจนจะช่วยเพิ่มความสว่าง ทำให้ประสิทธิภาพการส่องสว่างสูงขึ้น ยืดอายุการใช้งานของหลอดไฟได้ถึง 2,000 ชั่วโมง และมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับหลอดไส้ทั่วไป นอกจากนี้ยังให้แสงที่ถูกต้อง ไม่เพี้ยน จึงนิยมนำมาใช้กับการผลิตละครเวทีและสตูดิโอถ่ายภาพ หรืองานจัดแสดงสินค้า แต่ก็สามารถนำมาใช้ในบ้านได้ในพื้นที่บริเวณที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ เช่น มุมอับ ห้องทำงาน เป็นต้น

5. หลอดไฟ LED

หลอดไฟ LED กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะให้แสงสว่างและสีของแสงที่หลากหลาย ผลิตแสงสว่างได้ในปริมาณที่ต้องการ โดยใช้พลังงานน้อยลง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามาก และกินไฟน้อยกว่าหลอดไฟชนิดอื่น ๆ

การเลือกสีของหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งาน
แสงหลอดไฟ

หลังจากที่ทำความรู้จักกับประเภทของหลอดไฟที่ใช้กันในบ้านเรือนที่พักอาศัยไปแล้ว ก็ต้องมาเลือกแสงสีของหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานกัน โดยสีของหลอดไฟหรือที่ศัพท์ทางช่างจะเรียกว่า อุณหภูมิของสีของแสง (Colour Temperature) มีหน่วยวัดเป็น เคลวิน (K) ซึ่งถ้าอุณหภูมิสียิ่งต่ำ แสงที่ส่องออกมาจะเป็นสีโทนร้อน เช่น สีส้ม สีเหลือง แต่ถ้าอุณหภูมิสีสูงก็จะได้แสงในโทนเย็น เช่น สีขาว หรือสีฟ้า 

หลอดไฟในปัจจุบัน สามารถแบ่งตามอุณหภูมิของสีได้ 3 ชนิด ได้แก่ 

  • วอร์มไวท์ (Warm White) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 2,700-3,300 เคลวิน ให้แสงสีขาวอบอุ่นหรือนุ่มนวล เหมาะสำหรับพื้นที่ในบ้านที่ต้องการพักผ่อน เช่น ห้องนอน หรือสถานที่ให้ความบันเทิงอย่างห้องนั่งเล่น 

  • คูลไวท์ (Cool White) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 3,300-5,300 เคลวิน ให้ช่วงแสงสีขาวที่เป็นกลางมากกว่า มีความสมดุลระหว่างแสงสีที่อบอุ่นและนุ่มนวล เหมาะสำหรับห้องเรียน ห้องทำงาน และห้องครัว รวมถึงการใช้งานนอกอาคารต่าง ๆ เช่น ในสวน โรงรถ และสนามหญ้า

  • เดย์ไลท์ (Daylight) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 5,300-6,500 เคลวิน ให้แสงเทียบเท่ากับแสงแดดตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับใช้ในสำนักงาน เวิร์กช็อปงานฝีมือ ห้องน้ำ หรือห้องซักรีด 

วิธีเปลี่ยนหลอดไฟเองง่าย ๆ ใครก็ทำได้
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟเอง

หลอดไฟเมื่อใช้งานไปนาน ๆ อาจมีอาการเสื่อมสภาพ เช่น ขั้วหลอดดำ หลอดสั่น เปิดแล้วติด ๆ ดับ ๆ มีแสงกะพริบ ใช้เวลานานกว่าจะสว่าง หรือมีเสียงดังตอนเปิด ควรรีบเปลี่ยนใหม่ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนหลอดไฟถือเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราสามารถทำเองได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกช่างมาให้เปลืองเงินเลย หลายคนที่กำลังลังเลไม่กล้าเปลี่ยนหลอดไฟเอง มาดูขั้นตอนเหล่านี้กัน 

  1. ปิดสวิตช์ไฟหลอดที่เสียให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟดูดหรือไฟช็อต 

  2. ทิ้งไว้ให้หลอดไฟเย็น ไม่ควรจับหรือถอดหลอดไฟในขณะที่ยังมีความร้อน 

  3. ใช้บันได เพื่อให้สามารถจับหรือถอดหลอดไฟได้สะดวกและมั่นคง ไม่ควรยืนบนเก้าอี้หรือโซฟา เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากการลื่นล้มได้ 

  4. ถอดหลอดไฟ ด้วยการหมุนให้ตัวหลอดหลุดออกมาจากตัวล็อก ขึ้นอยู่กับว่าหลอดไฟที่ใช้มีขายึดเป็นแบบไหน
              - ถ้าเป็นหลอดแบบขาทั่วไป ให้หมุนทวนเข็มนาฬิกาให้ขาหลุดออกจากตัวล็อก จากนั้นก็ดึงออกมาได้เลย 
              - ถ้าเป็นหลอดแบบขาสปริง ให้จับหลอดไฟแล้วดันขึ้นเบา ๆ แล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกาจนหลุดออกจากตัวล็อก และดึงออกได้เลย

  5. เปลี่ยนหลอดไฟใหม่ โดยเลือกใช้หลอดที่มีกำลังไฟเท่ากัน ใส่หลอดไฟในตัวล็อกให้แน่น จากนั้นหมุนตามเข็มนาฬิกาให้ล็อกเข้าที่ 

  6. เปิดสวิตช์ไฟตามปกติ 

  7. ทิ้งหลอดไฟเก่า นิยมใช้บรรจุภัณฑ์จากหลอดใหม่ห่อหลอดเก่าที่เปลี่ยนแล้ว เพื่อทิ้งอย่างปลอดภัย

วิธีทิ้งหลอดไฟใช้แล้ว
วิธีทิ้งหลอดไฟใช้แล้ว

หลอดไฟ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแก้วที่บอบบางและแหลมคมมาก รวมถึงมีชิ้นส่วนโลหะที่เป็นอันตราย จึงต้องทิ้งให้ถูกวิธีและถูกต้องตามประเภทของหลอดไฟ ดังนี้ 

  • หลอดไส้และหลอดฮาโลเจน : ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เวลาทิ้งควรห่อด้วยกระดาษหรือผ้าหนา ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บในกรณีที่เกิดการแตกหัก
  • หลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอด CFL : มีส่วนประกอบของสารปรอทที่เป็นพิษ โลหะ และแก้ว ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะทั่วไปในครัวเรือน จึงควรแยกทิ้งต่างหาก โดยสามารถทิ้งไว้ในถังขยะรีไซเคิลหรือจุดที่กำหนดได้ ทั้งนี้ การทิ้งหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หักต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีไอปรอทจำนวนเล็กน้อยหลุดออกมาเมื่อหลอดแตกได้ 
  • หลอดไฟ LED : ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ และไม่มีสารที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทิ้งในถังรีไซเคิลได้เลย

ถึงตรงนี้หลายคนคงจะหมดข้อสงสัยในการเลือกหลอดไฟว่าจะเลือกประเภทอะไร ใช้แสงสว่างแบบไหนให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงการเปลี่ยนหลอดเก่า และวิธีการทิ้งอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อให้ได้แสงสว่างที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานในบ้านที่อยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด  

ขอบคุณข้อมูลจาก MediumEnergyrating.gov.auFeitHomeserveWholesaleledlights และ Bobvila

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเลือกใช้หลอดไฟในบ้าน และวิธีเปลี่ยนหลอดไฟเองง่าย ๆ อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2564 เวลา 16:33:17 42,370 อ่าน
TOP
x close