รีวิวต่อเติมโถงบันไดบ้านทาวน์เฮ้าส์ เป็นห้องพระเล็ก ๆ ไว้กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นั่งสมาชิก และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในครอบครัว
อยากมีห้องพระแต่พื้นที่ในบ้านน้อย มาดูไอเดียต่อเติมชั้นลอยบนโถงบันไดให้กลายเป็นห้องพระเล็ก ๆ จากความศรัทธา โดย คุณ jnove007 สมาชิกเว็บไซต์ดอทคอม จากทาวน์เฮ้าส์สองชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ไว้สำหรับจัดสางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำสมาธิ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในบ้าน แถมยังเป็นคนออกแบบเองอีกด้วย
[CR] รีวิวการ "รีโนเวทห้องพระน้อย" ในบ้านทาวน์เฮาส์
โดย คุณ jnove007
(1) ปฐมบทแห่งความคิด
ห้องพระสำหรับพุทธศาสนิกชนคนที่รักบ้านทุกท่าน ผมเชื่อว่าหลายท่านในนี้คงมี "ห้องแห่งศรัทธา" อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกภายในบ้าน เพื่อใช้สร้างความสงบ นั่งสมาธิ หรือเจริญสติปัญญา รวมไปถึงใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บวัตถุมงคลต่าง ๆ ผมเองก็เช่นเดียวกัน แต่ติดว่าบ้านทาวน์เฮาส์หลังเล็ก ๆ จะทำห้องพระสักห้อง คงต้องมีการเสียสละ 1 ห้องนอน ซึ่งปกติบ้านผมเอง ก็ใช้ห้องนอนเล็กที่ว่างอยู่ ทำเป็นห้องพระครับ (บ้านผมมี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ)
พอมีโอกาสได้รีโนเวทบ้าน ผมจึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลว่า เราสามารถจัดวาง หรือสร้างห้องพระให้ในอยู่ส่วนไหนของบ้านได้บ้าง เนื่องจากข้อจำกัดของความเป็นทาวน์เฮ้าส์ อันมีพื้นที่ขนาดเล็ก และตัวบ้านเป็นแบบสำเร็จรูปตายตัวอีกด้วย ผลลัพท์ที่ได้คือ "บริเวณโถงบันไดทางขึ้น" อันเป็นตำแหน่งกึ่งกลางของตัวบ้าน และยังสามารถต่อเติมห้องให้อยู่สูงกว่าจุดอื่น ๆ ของบ้านได้
จากบทสรุปอันนี้นี่เอง ผมจึงพยายามหาแนวคิดเพื่อต่อยอดและค้นข้อมูลต่าง ๆ ในอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติม จนนำมาสู่การออกแบบห้องพระชั้นลอยด้วยตัวเองในที่สุด
- ภาพแสดงโถงบันไดทางขึ้นชั้นสอง ก่อนทำการรีโนเวท (1)
- ภาพแสดงโถงบันไดทางขึ้นชั้นสอง ก่อนทำการรีโนเวท (2)
ซึ่งในการต่อเติมทั่ว ๆ ไปที่ผมทำการศึกษามานั้น พบว่าการต่อเติมห้องพระในบ้าน ในรูปแบบชั้นลอยบริเวณโถงบันไดนี้ โดยแบบที่มีกันอยู่ดาษดื่นในอินเทอร์เน็ตนั้น ถ้าไม่เป็นแบบโมเดิร์นจ๋า ก็ดูโบร๊าณโบราณเสียจนนึกว่าเป็นโบสถ์เก่าสมัยกรุงธนบุรีเสียอีก
แบบที่ผมเจอบ้างก็ทำกันเป็นชั้นลอยง่าย ๆ มีบันไดทางขึ้นไปแบบตัดตรงขึ้นไปดื้อ ๆ พิเคราะห์ดูแล้วไม่ได้คำนึงถึงจำนวนขั้นของลูกบันไดมากนัก หรือแม้กระทั่งความลาดเอียงของบันไดเองก็ตาม ทั้งยังมีรูปแบบการวางโต๊ะหมู่บูชา หรือหิ้งพระในแบบโล่ง ๆ ที่มักจะสามารถมองเห็นได้โดยง่ายจากส่วนอื่น ๆ ของบ้าน
(2) ตกผลึกกระบวนทัศน์
มันเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะโจทย์คือผมต้องออกแบบขั้นบันไดให้ได้ทั้งสิ้น 7 ขั้น ความลาดชันของบันไดต้องเหมาะสม โครงสร้างหลักของห้องเป็นเหล็กกล่อง บานต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวของห้อง ต้องสร้างมาจากงานไม้ที่ผมรัก อีกประการสำคัญอย่างหนึ่งคือ แม้จะมีพื้นที่อันจำกัดของโถงบันไดนี้ หากแต่ต้องสามารถเข้าไปยืนในห้องได้ นั่งสมาธิได้ รวมถึงต้องมีระยะพอที่จะก้มกราบองค์พระประธานของบ้านในแบบ "เบญจางคประดิษฐ์" (ศอกต่อเข่า) ได้ ซึ่งการกราบลักษณะดังกล่าวนี้ จะสูญเสียพื้นที่ในแนวยาวของห้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5.23% เลยทีเดียว (คุณเชื่อผมปะ ?)
และต้องมี "ฝาไหล" ซึ่งเป็นบานไทยโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือ ที่ผมชื่นชอบและหลงใหลเป็นการส่วนตัว เข้ามาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของห้องพระนี้ด้วย (ฝาไหลนี้ผมได้รู้จักและเริ่มศึกษา รวมไปถึงออกแบบอย่างจริงจังมาก เมื่อเริ่มต้นโครงการห้องพระนี้)
ผมพยายามนึก และบรรจงเขียนมันออกมาจากความคิด มองย้อนกลับไปยังธรรมสถานต่างๆที่เรา(ผมและภรรยา)เคยไป ทั้งยังระลึกนึกถึงสิ่งที่เราศรัทธาที่มีต่อศิลปะไทยและพระพุทธศาสนา ตรึกตรองกลับไปยังจริตธรรม ครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เพื่อกลั่นกรองและเรียงร้อยออกมาว่าแก่นแท้แล้ว ผมต้องการอะไรบ้างจาก "ห้องแห่งศรัทธา" แห่งนี้
- คุณภรรยาขณะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในห้องพระเดิม ที่อยู่ในห้องนอนเล็ก (เป็นห้องเก็บกระเป๋าและเก็บของทั่ว ๆ ไปด้วย)
(3) สถาปนึก(เอง) และวิศวกะ(เอา)
ผมใช้เวลาออกแบบอยู่ราว ๆ 2 สัปดาห์ พยายามกำหนดขนาดบันได ซึ่งเป็นงานที่ยากและซับซ้อนสำหรับผมมาก เพราะกลัวว่าจะเดินขึ้นไม่สะดวก ความลาดชันที่ถูกต้องของบันไดจะไม่เหมาะสม รวมไปถึงการที่ต้องคำนึงถึงขนาดห้องที่เล็ก แต่ต้องสร้างสรรค์พื้นที่ในการใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขนาดพื้นที่ของห้องที่ผมกำหนดลงในโถงบันไดนี้คือ 1.7 ตร.ม.เท่านั้น (1.9x0.9 ม.) และในที่สุดผมก็ได้แบบโครงร่างของห้องออกมาเชยชมสมใจปอง....ซะที
- แบบสามมิติที่วัดจากขนาดจริง เพื่อใช้ในการกำหนดตำแหน่งบันได และขนาดของห้องที่เหมาะสม
- ห้องพระในจินตนาการที่ผมพยามวาดลงสู่กระดาษเป็นครั้งแรก เพื่อจะได้นำไปทำในคอมพิวเตอร์เป็นลำดับถัดไป
- แสดงห้องพระในรูปแบบสามมิติ ที่พยายามวาดออกมาจากจินตนาการ ด้วยโปรแกรม สเก็ตซ์อัป (SketchUp)
การหาข้อมูลของขนาดลูกบันไดที่เหมาะสมควรต้องเป็นเช่นไร ผมถึงขั้นต้องตัดกระดาษแข็งมาจำลองการเดินขึ้น-ลงว่า เหยียบได้เต็มเท้ามั้ย จังหวะเลี้ยวขึ้น-ลงอันตรายมั้ย เป็นต้น การกำหนดขนาดของห้องลงไปใน "โถงบันไดที่จำกัด" ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ยาก..แต่มันคือหัวใจที่สำคัญของการสร้างห้องพระนี้เลยก็ว่าได้
- รายละเอียดของบันไดที่ผมใช้ระยะเวลาออกแบบยาวนานที่สุด
(4) รักที่ออกแบบได้
และเมื่อผมดำดิ่งจมลึกลงไปในห้วงของโลกการออกแบบ ผมกลับพบว่ามันมีเสน่ห์น่าค้นหายิ่งนัก โดยเฉพาะการคิดออกแบบในสิ่งใหม่ ๆ หรือแม้แต่สิ่งที่เราไม่อาจหาได้จากโลกอินเทอร์เน็ต เช่น ฝาไหลโบราณ เป็นต้น ซึ่งหากเพื่อน ๆ ย้อนกลับไปดูในแบบสามมิติที่ผมออกแบบไว้ จะพบว่าไอ้ช่องที่อยู่หน้าห้อง ที่ออกจะดูโบร๊าณ โบราณ มันคือสิ่งที่เรียกว่า "ฝาไหล" นั่นเอง
นี่กระมังที่ฝรั่งมังค่า มักเรียกว่า "ธิงค์-เอ้าท์-อัฟ-เธอะ-บ๊อกซ์" (การคิดนอกกรอบ) เพราะเมื่อผมยิ่งคิด ยิ่งขีด ยิ่งเขียน ผมยิ่งถลำออกนอกกรอบเดิม ๆ ที่ผมเคยคิด เคยทำ และเคยเป็น มันทำให้ค้นพบแนวทางใหม่ ๆ วิธีคิดใหม่ ๆ เช่น การ "คำนวนช่องของฝาไหล" ขนาดตัวเลขที่สอดคล้อง แม้ว่าวงกบจะขนาดเท่าใด.. ผมสามารถออกแบบให้สมดุลได้ ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์แบบง่าย ๆ รวมไปถึงสุนทรียภาพใหม่ ๆ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ ผมค่อนข้างทึ่งกับภูมิความคิดของคนโบราณ ในการออกแบบความลงตัวของเจ้าช่องฝาไหลแบบนี้มาก ผมไม่รู้หรอกว่า คนในยุคนั้นเขาใช้หลักคำนวณในแบบที่ผมคิดหรือไม่ แต่สำหรับผม "ผมเริ่มทำมันได้บ้างแล้วล่ะ"
- ฝาไหลขนาดที่ผมต้องการไม่มีขาย - ผมอยากได้ลายแบบไหน จำเป็นศึกษาและต้องออกแบบเอาเอง
- การออกแบบขั้นสุดท้ายก่อนส่งให้ "ร้านไม้เก่า" ตัดตามแบบ
- อัตราส่วนและตัวเลชที่ผมบรรจงคิดและคำนวณ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับลวดลายของฝาไหล
(5) เข้าที่-ระวัง-ไป !
เมื่อวันเริ่มงานมาถึง ผมเข้าใจเลยว่า การมีแบบมันสำคัญมาก ๆ เพราะช่างจะได้เห็นภาพ และลดปัญหาหน้างานลงได้พอสมควร รวมไปถึงช่างจะสามารถประเมินวัสดุที่ต้องใช้ ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
แต่เหนือไปกว่าสิ่งอื่นใด การบอกกล่าวและเคารพต่อสถานที่ยังเป็นความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ของชาวพุทธเช่นเรา ๆ ท่าน ๆ มาอย่างช้านาน และนี่เป็นการสร้าง "ห้องพระในบ้าน" ซึ่งเป็นความศรัทธาในอานุภาพของพระพุทธศาสนาโดยตรง แม้ผมจะจัดเป็น "คนรุ่นใหม่ ไฟร้อนแรง แฝงในธรรม" ก็ตามที แต่ผมก็มิอาจละเลยที่จะทำพิธีเล็ก ๆ ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล และความสบายใจให้กับสมาชิกในครอบครัวครับ
- ขณะที่ผมอาราธนาสิ่งศักสิทธิ์ เพื่อขออนุมัติเปิดกิจการ เอ้ย ! เปิด "โครงการสร้างห้องพระในบ้าน" อย่างเป็นทางการ (ติดตั้งวันแรก)
- ก่อนเริ่มงาน ช่างมีการติดกระดาษลูกฟูกเพื่อป้องกันสะเก็ดไฟจากงานเชื่อมที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน
- แผ่นเพลทเหล็กขนาด 4" ที่ถูกยึดตรึงไว้กับผนังของบ้านชนิดแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast-พรีคาสท์) ด้วยพุกเหล็ก
- ติดตั้งคานเหล็กกล่องขนาด 2"x4" สำหรับเป็นพื้นห้องพระเรียบร้อยแล้ว
- คานที่พร้อมสำหรับดำเนินงานในขั้นต่อไป
(6) ลงแรง-ลงมือ-ลงใจ-ลงตังค์
ก่อนการเริ่มงาน ช่างมีความกังวลใจอยู่พอสมควร อาจด้วยเพราะแกไม่ค่อยคุ้นเคยกับการต่อเติมอะไรประหลาด ๆ แนวนี้ ผมเองก็เช่นกัน ผมกังวลไม่ต่างอะไรกับช่างเลย แต่ผมบอกกับช่างว่า "ช่างวีไม่ต้องกังวล เราจะสู้ไปด้วยกัน" นี่คือสิ่งที่ผมพอจะทำได้ในวันเริ่มโครงการอันน่าตื่นเต้นนี้
- ขณะเริ่มรื้อราวบันไดเดิมออก
- เปิดแบบของห้องพระที่ผมเขียนจากโน๊ตบุ๊ก เพื่อใช้ในสื่อสารการทำงานกับช่างโดยตรง และทำให้ช่างเห็นภาพที่จะต้องลุยไปด้วยกันตลอดระยะเวลาของโครงการฯ นี้
- ในคืนที่ 2 ของการเริ่มงาน ผมจำเป็นต้องนำโน๊ตบุคตัวเก่ง นั่งปรับปรุง แก้ไขแบบเพื่อความเหมาะสม ก่อนที่รุ่งเช้า ผมจะได้ลุยต่อกับช่าง
- ภาพเขียนขาว-ดำของแนวลูกบันไดบนผนัง (ต้นศตวรรษที่ 21, ในยุคโควิดตอนกลาง) อันเป็นร่อยรอยทางอารยธรรมของช่างในตำนานที่บ่งชี้ว่าจะมีการวาง "เหล็กลูกตั้ง" ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
(7) ซู่ ๆ สู้ว้อย !!
เมื่อกระบวนการโหมโรงได้จบลงในช่วงสองวันแรกและย่างเข้าสู่วันที่ 3 ของการติดตั้ง งานบันไดวน (แบบหักฉาก) ก็เริ่มกลายมาเป็นอุปสรรคชิ้นเขื่อง ๆ สำหรับพวกเรา เนื่องจากช่างเองก็มีประสบการณ์ไม่มากนัก ในการทำบันไดลักษณะแบบนี้ ส่วนผมเองก็ไม่ได้เขียนแบบในส่วนนี้ให้ชัดเจน (วาดตรงนี้ไม่เป็นจริง ๆ) แต่กระนั้นใจที่พร้อมสู้ของผมและความเด็ดเดี่ยวของช่าง มันก็ทำให้เราเดินหน้าต่อไปจนได้ เราผ่านมันมาได้ด้วยความภูมิใจ ทั้งผมยังมักแซวแกในขณะทำงานหลังจากนี้อีกว่า "วีระพงษ์ บันไดวน" ช่างในตำนาน มาจวบจนถึงทุกวันนี้
- แบบของบันไดที่ผมพิมพ์ออกมาเพื่อใช้ในการสื่อสารกับช่าง
- โครงของบันไดหลังจากทำการติดตั้งแล้ว
- "บันไดเลี้ยวหักฉากแบบไม่มีชานพัก" เชื่อมต่อเข้ากับ "คานของห้องพระ" ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ
ในวันรุ่งขึ้น งานรื้อและงานทำลายก็กลับมาหลอกหลอนอีกครา หลังจากรื้อราวบันไดไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพราะด้วยเหตุว่าเราต้องทำการเพิ่มขนาดด้านบนของห้องให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถยืนในห้องได้ ดังตามความตั้งใจแรกในการออกแบบของผม และแน่นอนการรื้อฝ้าเดินด้านบนออก จึงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ทำการวัดระยะ เพื่อตั้งแนวการกรีดฝ้าเพดาน
- แสดงให้เห็นตำแหน่งฝ้าที่ถูกรื้อออก เพื่อเพิ่มขนาดพื้นที่ด้านบนของห้อง
- วางแนวซีไลน์ใหม่บนผนังเดิมของห้องพระ
- ห้องที่กั้นขึ้นมาใหม่ก่อนการติดตั้งผนังเบา
- ติตตั้งฉนวนกันความร้อนให้กับห้องพระ
- ติดตั้งแผ่นยิปซั่มเข้ากับซีไลน์
- ติดตั้งผนังเบาเข้ากับโครงซีไลน์สมบูรณ์ 100%
- ผนังและเพดานที่ทำสีเสร็จแล้ว 100% รอทำสีโครงเหล็กในขั้นตอนถัดไป
(8) ความแข็งแกร่งอันบริสุทธิ์
ในช่วงแรก ๆ ของการออกแบบ เรื่องสีโครงห้องเป็นอีกสิ่งหนึ่งในการตัดสินใจที่ยากสำหรับผมมาก มันเป็นการตัดสินใจว่าจะเลือกสีอะไรดี ระหว่างโครงสีดำและสีเทา โดยผมไม่ได้มีความคิดเรื่องสีขาวอยู่เลย "จนในวันหนึ่งสีขาวอันบริสุทธิ์ก็วนเข้ามาในก้นบึ้งของความคิด" และวันนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวังเลยแม้แต่น้อย.
- โครงเหล็กที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการทำสี
- ขาวจนดูกลมกลืนไปกับผนังทั้งหมด
- โครงสร้างบันไดและห้อง หลังจากทาสีแล้ว และนี่คือการสร้างโครงของห้องพระ เพื่อเตรียมนำงาน "ไม้เก่า" มาประกอบเข้ากับโครงที่เห็นนี้ เพื่อให้กลายเป็นห้องพระที่สมบูรณ์ต่อไป
เมื่อการทาสีห้องและผนังได้จบลง สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้คือเหล็กที่ดูแข็งแกร่งก่อนหน้านี้ กลับดูสงบลง และยิ่งเมื่อพิเคราะห์ให้ดี มันทำให้โถงบันไดที่ดูคับแคบในตอนแรก ดูกว้างขึ้นไปในถนัดตา ผมตระหนักได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อโครงของห้องเป็นสีขาวบริสุทธิ์เช่นนี้ หากผมได้นำงานไม้ที่เสร็จสมบูรณ์ เข้ามาประกอบเมื่อใด ผลที่ออกมาก็น่าจะดูพิศมัยมิใช่น้อยเป็นแน่ และดูเหมือนว่าความสะอาดและบริสุทธิ์ กำลังจะเดินทางเข้ามาปกคลุม "ห้องแห่งศรัทธา" แห่งนี้เป็นลำดับ
(9) ไม้เก่าในห้องใหม่
จากที่ผมได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่าโครงการนี้ ผมเลือกใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญ เพื่อที่จะขับความมีมนต์ขลังของห้องแห่งศรัทธานี้ .. และด้วยเรา (ผมและคุณภรรยา) ต่างก็มีประสบการณ์เป็นศูนย์ด้วยกันทั้งคู่ ผมเริ่มต้นจากการไปพูดคุยและสอบถามเรื่องราวงานไม้ต่าง ๆ จากช่างไม้เพียงคนเดียวที่ผมรู้จักในชีวิต ... ซึ่งก็คือคนที่ผมเจอโดยบังเอิญในร้านไม้นั่นแหละครับ ผมเรียกช่าง (ครู) ไม้ของผมคนนี้ว่า "น้าทอง"
และด้วยผมจำเป็นต้องตัดงบประมาณของโครงการฯ ในบางส่วน ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของบ้าน ผมจึงวางกรอบการทำงานกับน้าทอง โดยให้แกสร้างชิ้นงานให้กับผมตามแบบที่ผมวาดและส่งให้แกเท่านั้น ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เช่น ขัด แต่ง ทำสี ผมจะทำเอง น้าทองจะมีหน้าที่เพียง "ตัดและประกอบขึ้นตามแบบ".. และอีกตำแหน่งหนึ่งของแกคือ "ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษงานไม้ " นั่นเอง
- บานหน้าต่างไม้สักฝีมือน้าทอง ตั้งอยู่หน้าบ้าน เพื่อรอผมทำสีต่อไป
- "บานกันตก" (ไม้แดง) ก่อนการทำสี (ภาพถ่ายขณะอยู่ที่ร้านไม้น้าทอง)
- หน้าต่างที่ผมออกแบบให้เปิดได้ทั้งแบบปกติด้านข้างและกระทุ้งในบานเดียวกัน ขณะที่อยู่ระหว่างทำสีเองที่บ้าน
- หน้าต่างไม้สักชิ้นนี้ ผมตั้งใจออกแบบให้เปิดได้ทั้งแบบปกติ และเป็นบานกระทุ้งในตัวผสมเข้ากับกระจกดอกพิกุลที่ผมชื่นชอบ (ดูเล็ก ๆ น่ารัก ๆ เหมือนหน้าตาผู้ออกแบบ)
- ฝาไหลที่ผมออกแบบ และสร้างขึ้นโดยน้าทอง ก่อนที่ผมจะนำมาขัดและทำสีทุกขั้นตอน เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ภูมิใจที่ได้สร้างงานศิลปะ และนำภูมิปัญญาทางความคิดของบรรพบุรุษในสมัยก่อน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
(10) สอดผสานงานไม้เข้ากับงานเหล็ก
เมื่อเวลาคล้อยลง เป็นกาลว่าเหล่าบรรดางานไม้ต่าง ๆ ของผม ก็พร้อมที่จะประกอบร่างเข้ากับโครงเหล็กของห้องพระเสียที หลังจากผ่านการทำสีมากว่าสองสัปดาห์ เมื่อวันติดตั้งมาถึงปัญหาอย่างหนึ่งคือไม้ที่เตรียมไว้นั้น มีขนาดที่ไม่ได้พอดีเป๊ะ ซึ่งต้องมีการปรับแต่งหรือไสออกไปบ้าง เพื่อให้เข้าได้กับโครงของเหล็กที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้
- กันตก "แม่แดง" ถูกระบุให้ติดเป็นชิ้นแรกของส่วนงานนี้
- เริ่มติดตั้งฝาไหลเข้ากับโครงห้อง
- ภาพจากในห้องหลังจากติดตั้งหน้าต่างและฝาไหลแล้ว (รอารติดตั้งฝาปะกน)
- ติดตั้งลูกบันได(ลูกนอน) เข้ากับโครงเหล็ก (ลูกตั้ง)
หากว่ากันตามตรง ในช่วงที่ผมออกแบบ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่า เจ้าโครงเหล็กสีขาว ๆ ถ้ามันตัดกับไม้สีเข้ม ๆ มันจะออกมาหน้าตาหรืออารมณ์แบบไหน ผมรู้แต่เพียงว่าอยากได้โครงห้องสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งน่าจะทำให้ดูสบายตาและเข้ากับห้องแห่งความศรัทธานี้ แต่พอวันแรกที่งานไม้ ได้เข้าไปรวมร่าง "สอดผสานเข้ากับโครงเหล็กสีขาวบริสุทธิ์" นั้น แม่คุณเอ้ย ! ผมแทบอยากอุทานเป็นภาษาอูกานด้าว่า "แม่ม สะรวย ค่อด ๆ"... 555
10_5
- เมื่อติดตั้งงานไม้เข้ากับโครงเหล็กของห้องเรียบร้อยแล้ว (ภาพแสดงในแบบปิดและเปิดบานต่าง ๆ)
(11) เมื่อแสงธรรมและแสงแอลอีดี ก่อเกิดขึ้นกลาง (ใจ) บ้าน
หลังจากติดตั้งตัวห้องพระเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้มีโอกาสโชว์ฝีมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง ด้วยการเดินระบบปลั๊กและงานแสงสว่างภายในห้องทั้งหมด(หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผมได้เดินสายไฟไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว) รวมไปถึงพัดลมดูดอากาศด้วย
- รูปหน้าห้องพระ (หลังจากประกอบงานไม้เสร็จ) ก่อนที่ผมจะติดตั้งโคมไฟต่าง ๆ เช่น โคมไฟหน้าห้อง หลอดแอลอีดีภายในห้อง หลอดไฟแบบปรับองศาได้ สำหรับององค์พระประธาน
- งานทดสอบระบบแสงสว่างภายในห้อง (เบื้องต้น)
- ฟังก์ชั่น (โหมด) ของห้อง สำหรับการนั่งสมาธิเพื่อความเป็นส่วนตัว สามารถปิดประตูและฝาไหล แต่ยังสามารถเปิดหน้าต่างไว้ได้ (เมื่อท่านเข้าสู่โหมดนี้แล้ว ระบบประมวลผลกลางของห้องพระ จะทำการเชื่อมต่อเข้ากับฟังก์ชั่นสมาธิให้โดยอัตโนมัติ และจะดึงฐานข้อมูลจากหน่วยความจำชั่วคราว เพื่อสร้างให้เกิดเป็นนิมิตขึ้นมาเป็นระยะ ๆ)
หลังจากที่งานไม้ต่าง ๆ ได้ผสานร่างเข้ากับโครงเหล็กที่แข็งแร่งอันบริสุทธิ์ รวมไปถึงเมื่อ "ไม้เก่า" ได้ต้องกับแสงสีเหลืองทองของหลอดไฟต่าง ๆ ที่ผ่านการคิดในเรื่องตำแหน่งการวางงมาเป็นอย่างดี ห้องที่ผมได้บรรจงออกแบบและทุ่มเททั้งแรงกายแรงคิด และแรงศรัทธา บัดนี้มันได้สัมฤทธิ์ผลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน เมียก็พร้อมไปสั่งการถึงที่นั่น" (ฮามั้ย)
อนึ่ง ผมอยากบอกว่า ไม้ที่เพื่อน ๆ เห็นทั้งหมดก่อนหน้านี้ มันมีสภาพเก่ามากจริง ๆ สภาพที่เห็นตอนแรกนั้น ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนี้ได้เลย แต่เมื่อผมได้ทำ ได้ชัด ได้โป้ว และลงสีด้วยมือของตัวเอง ไม้ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ได้แปรสภาพจนสวยหยดย้อยหยาดเยิ้ม ดุจสาวน้อยแรกแย้มก็มิปาน ดั่งเช่นคนเราแม้อาจจะดูทรุดโทรม ดูแย่เพียงใด หากแต่นำมาขัดเกลา แก้ไข ลงสีแห่งความดีเสียใหม่ ผมเชื่อว่าคน ๆ นั้น ย่อมไม่ต่างจากความสวยงามที่ได้มาจากไม้เก่า ในงานห้องพระของผมในครั้งนี้เล..
(12) ห้องแห่งศรัทธา
จวบจนถึงวันนี้...มันก็ผ่านไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนกลายเป็นความจริงออกมาได้ในที่สุด เป็นห้องพระเล็ก ๆ ในทาวน์เฮาส์น้อย ๆ ที่ผมกลั่นกรองความคิด ตกผลึกความฝัน ขับเคลื่อนมันออกมาจากจินตนาการและความศรัทธา ทั้งยังรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ มันออกมาดีกว่าที่ผมคาดคิดไว้ในตอนแรกเสียอีก
แต่มีสิ่งที่น่าประหลาดใจอยู่ประการหนึ่งคือ การสร้างห้องพระในบ้านครั้งนี้ได้เกิดความเชื่อมโยงของ "เลข 7" ขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์และมีด้วยกัน "7 สิ่ง" ประกอบไปด้วย
1) ลูกบันได (ไม้ประดู่) 7 ขั้น
2) พื้นไม้รวม 7 แผ่น
3) ฝาปะกน (ไม้สัก) 7x7 แถว
4) ฝาไหล (ไม้สัก) ๗ ช่อง ซึ่งแต่ละช่องมีขนาดความกว้าง 7 ซม.
5) บานหน้าห้อง (ไม้สัก) รวมกันได้ ๗7 บาน
6) ฝากันตกแม่แดง (ไม้แดง) 7+7 ช่อง
7) โต๊ะหมู่บูชา (ไม้สัก)-หมู่ 7
เหล่านี้ล้วนมีที่มาที่ไป บางอย่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ บางอย่างเป็นเรื่องที่ผมเจตนาออกแบบให้เป็นเช่นนั้น หากโอกาสอำนวยในอนาคต ผมจะมาเขียนเล่าสู่ท่านฟังว่าเลข 7 นี้ มันเกิดมาได้เช่นไรบ้างครับ แต่ก่อนผมจะพาออกทะเลไปไกลกว่านี้ เชิญท่านเพื่อน ๆ ทัศนาห้องแห่งศรัทธาน้อย ๆ ของกระผมได้ ณ บัดนาวเลยครับ
- นำโต๊ะหมู่บูชา (หมู่ 7) มาวางเป็นครั้งแรก
- เกินกว่าความศรัทธา.. มากกว่าคำบรรยาย
- มนต์เสน่ห์ที่เจือปนไปด้วยมนต์ขลัง
พลานุภาพแห่งความศรัทธา บัดนี้ได้ตั้งตระหง่านเป็นสง่า ควรค่าแก่การเคารพสักการะแลกราบไหว้บูชา ณ. กลางดวงใจของบ้าน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก คุณ jnove007 สมาชิกเว็บไซต์ดอทคอม