รู้จักก๊าซหุงต้ม สิ่งสำคัญในการประกอบอาหารในครัวเรือน พร้อมวิธีการประหยัดก๊าซหุงต้ม ใช้อย่างไรให้คุ้มค่า พร้อมยืดระยะเวลาการใช้งานก๊าซหุงต้ม 1 ถังได้นานกว่าเดิม
ทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน (โดยเฉพาะกลุ่มเบนซิน) ไปจนถึงค่าก๊าซหุงต้ม ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนน่าจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหารในครัวเรือนทั่วไปหรือตามร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ก๊าซหุงต้ม และวิธีการใช้ก๊าซหุงต้มอย่างไรให้ประหยัดในวันที่ราคาปรับสูงขึ้นกันค่ะ
ก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas : LPG) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ถือเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เพราะไม่มีเขม่าและขี้เถ้า มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ ติดไฟง่าย ให้เปลวไฟความร้อนสูง ทำให้นิยมนำมาใช้ในการทำอาหาร
และจริง ๆ แล้วเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่ที่เรามักจะได้กลิ่นก๊าซ เนื่องจากผู้ผลิตได้เพิ่มกลิ่นลงไป เพื่อส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกิดก๊าซรั่วไหล พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบรอยรั่วของถังและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
ในการเลือกใช้ถังแก๊สในครัวเรือนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรเลือกขนาดให้เหมาะกับความต้องการและการใช้งาน โดยในปัจจุบันก๊าซหุงต้มมีขนาดให้เลือกใช้ ดังนี้
-
ถังแก๊สขนาด 4 กิโลกรัม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ถังแก๊สปิกนิก ความสูงประมาณ 40 ซม. ขนาดเล็กกะทัดรัด เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่น้อย เคลื่อนย้ายสะดวก ตอบสนองการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งผู้ใช้ตามบ้าน ตามห้องเช่า ตลอดจนร้านรถเข็นเล็ก ๆ มีข้อเสียคือ ขนาดบรรจุน้อย ทำให้ใช้หมดเร็ว และตัวถังกับเตาไฟอยู่ชิดกันมาก ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยมากกว่าถังรุ่นอื่น ๆ
-
ถังแก๊สขนาด 7 กิโลกรัม ความสูงประมาณ 48 ซม. เป็นขนาดครึ่งหนึ่งของถัง 15 กก. เหมาะกับบ้านที่ทำอาหารกินเองไม่ค่อยบ่อย นาน ๆ จะทำกับข้าวกินเองสักครั้ง หรือมีพื้นที่ของบ้านไม่มากนัก
-
ถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม ถือเป็นขนาดมาตรฐานใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือนและร้านอาหาร สูงประมาณ 66 ซม. เหมาะกับบ้านที่เป็นครอบครัวขนาดกลาง-ใหญ่ หรือทำกับข้าวกินเอง ส่วนใหญ่จะมีระยะการใช้งานประมาณ 1-2 เดือน ต่อ 1 ถัง
-
ถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม ความสูงประมาณ 140 ซม. เป็นถังที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เหมาะสำหรับร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ หรือครอบครัวขนาดใหญ่มาก เพราะมีขนาดบรรจุมาก ใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย แต่ตัวถังก็มีน้ำหนักมาก ขนย้ายลำบาก และจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการวางถังด้วย
หัวปรับแรงดันก๊าซ เป็นหัวที่ติดอยู่กับวาล์วของถังแก๊ส ทำหน้าที่ช่วยลดแรงดันก๊าซภายในถังให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและคงที่เหมาะกับการใช้งาน มี 2 ประเภท คือ
การใช้หัวปรับแรงดันก๊าซผิดประเภท เช่น การเอาหัวปรับแรงดันสูงไปใช้กับเตาแก๊สในครัวเรือน จะทำให้วาล์วรั่ว ไม่สามารถปิดแก๊สได้ หากทิ้งไว้จะเกิดอันตรายได้ เราจึงต้องเลือกหัวปรับแรงดันให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท และควรเลือกหัวปรับแรงดันก๊าซที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน มอก. 805-2540 มอก. 875-2540 เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งานด้วย
เรียกได้ว่าตอนนี้ราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ดังนั้นมาดูวิธีใช้ก๊าซหุงต้มแบบประหยัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กัน
1. ใช้หม้อ-กระทะที่สะอาด
ไม่มีคราบไหม้ รอยดำ หรือคราบตะกรันเกาะอยู่ เพราะคราบต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวกั้นความร้อน ทำให้อาหารสุกหรือเดือดช้า และใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุนั่นเอง
2. ไม่ควรตั้งเตาหุงต้มในที่มีลมพัดแรง
หรือไม่ใช้พัดลมเป่าเข้าเตา เพราะเปลวไฟจะไม่สัมผัสกับภาชนะ จนเกิดการสิ้นเปลืองก๊าซมากขึ้น
3. เลือกขนาดหัวเตาให้เหมาะกับเครื่องครัว
เพราะหากใช้กระทะใบเล็กแต่ใช้หัวเตาขนาดใหญ่ จะทำให้สิ้นเปลืองก๊าซโดยไม่จำเป็น
4. ใช้ภาชนะให้เหมาะกับปริมาณอาหาร
5. ต้มน้ำให้พอเหมาะ
6. ใช้หม้ออัดความดันหรือปิดฝาหม้อต้ม
เพราะหม้อประเภทนี้จะช่วยกักเก็บไอความร้อน และทำให้อาหารสุกได้เร็วขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้มไปพร้อมกัน
7. แช่อาหารไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา
เพราะเมื่อนำวัตถุดิบออกมาปรุงจะทำให้อาหารสุกเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ควรระวังวัตถุดิบบางประเภทบูดเร็วขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ หากนำมาวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกินไป
8. วางแผนก่อนทำอาหาร
โดยลำดับว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง เช่น เตรียมวัตถุดิบทั้งหมดให้เรียบร้อย ก่อนนำไปปรุงสุกพร้อมกันทั้งหมด เพื่อลดการใช้ก๊าซหุงต้มหรือเปิดเตาทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น
9. หมั่นสังเกตเปลวไฟจากเตาแก๊สอยู่เสมอ
ถ้าเปลวไฟเป็นสีน้ำเงินนิ่ง ๆ หมายถึง ระดับส่วนผสมของก๊าซพอดีกับอากาศ ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ให้ความร้อนสูงสุด และไม่มีเขม่าดำติดก้นหม้อให้รำคาญใจอีกด้วย
10. ทำความสะอาดหัวเตาแก๊สไม่ให้อุดตัน
โดยนำเบกกิ้งโซดาโรยลงบนผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดบนเตาและหัวเตา จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดตามเพื่อทำความสะอาดอีกครั้ง นอกจากจะช่วยกำจัดคราบสกปรกและเขม่าควันได้แล้ว ยังช่วยทำให้ระดับไฟมีความเสถียรมากขึ้นอีกด้วย
เคล็ดลับทำอาหาร :
นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับในการเข้าครัวเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ประหยัดก๊าซหุงต้มมากขึ้น เช่น หั่นผักแนวเฉียง จะทำให้ผักสุกไวขึ้น ในการต้มน้ำหรือต้มวัตถุดิบ ให้ใส่เกลือลงไปในน้ำเล็กน้อยแล้วปิดฝา จะทำให้น้ำเดือดเร็วขึ้น หรือการนำเอาวัตถุดิบบางชนิด เช่น เนื้อไก่ มันฝรั่ง เข้าเตาไมโครเวฟให้สุกพอประมาณก่อนนำออกมาปรุงอาหาร และการเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊สอินฟราเรด จะช่วยประหยัดก๊าซกว่าเตาประเภทอื่นได้ถึง 30-40% ด้วย
ถังแก๊สที่ดีจะต้องมีเครื่องหมายของผู้ผลิต ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และมีการระบุน้ำหนักไว้อย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังมีสภาพสมบูรณ์ ตัววาล์วปิดสนิท มีซีลปิดผนึกเรียบร้อย บอกวันหมดอายุ และวันตรวจสอบคุณภาพถังครั้งล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญไว้ชัดเจน ทั้งนี้ ถังแก๊สเป็นวัตถุไวไฟและไวต่อความร้อน เราจึงควรหมั่นตรวจสอบถังแก๊สอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- วางถังแก๊สในบริเวณที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นพื้นราบ แสงแดดส่องไม่ถึง และวางถังในแนวตั้ง พร้อมอยู่ห่างจากเตาประมาณ 1.5-2 เมตร
- เช็กสภาพภายนอกของถังให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสายยางก๊าซ หัวปรับแรงดัน และหัววาล์ว ว่าไม่มีจุดชำรุด สามารถทดสอบได้โดยเปิดวาล์วถังแก๊ส แล้วหมุนไม่เกิน 2 รอบ หากได้กลิ่นก๊าซ ให้ระวังไม่ให้เปิดใช้ก๊าซ
- หมั่นตรวจสอบรอยรั่วของถังแก๊ส ด้วยการใช้น้ำฟองสบู่ลูบตามจุดต่าง ๆ ของตัวถัง เช่น ถังแก๊ส วาล์ว หัวปรับแรงดัน และสายยาง หากเห็นว่ามีฟองสบู่ฟูขึ้นมา แสดงว่ามีก๊าซรั่ว ให้รีบปิดวาล์วบนหัวถัง จากนั้นเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท แล้วรีบติดต่อร้านก๊าซหุงต้มให้รีบเข้ามาดูโดยเร็วที่สุด
- หากต้องการเคลื่อนย้ายถังแก๊ส ให้ใช้วิธีการยก ไม่ควรกลิ้งหรือกระแทกถังแก๊สเด็ดขาด
- ปิดวาล์วถังแก๊สให้สนิทเมื่อก๊าซหมด และห้ามนำถังแก๊สไปให้สถานีบริการก๊าซ LPG หรือร้านค้าก๊าซเติมเอง
- ก่อนการเปลี่ยนถังแก๊ส ควรปิดเตาแก๊สรอบข้างให้หมดก่อน
- ควรเช็กสภาพสายยางก๊าซให้อยู่ในสภาพดี โดยปกติจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี หากสายยางบวม มีรอยปริ เปลี่ยนสีหรือแข็งจนหักงอไม่ได้ ให้รีบเปลี่ยนใหม่ทันที
- เมื่อใช้งานเสร็จ ให้ปิดวาล์วถังแก๊สก่อน และรอจนไฟที่เตาดับสนิทแล้วจึงปิดวาล์วที่หัวเตา
ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติไวไฟ ทำให้เกิดการติดไฟได้อย่างรวดเร็ว สัญญาณที่บ่งบอกว่าถังแก๊สรั่วคือ มีกลิ่นของก๊าซอยู่ในบริเวณนั้น หากมีกลิ่นแรงแสดงว่ามีปริมาณก๊าซรั่วออกมามากแล้ว ให้รีบปฏิบัติดังนี้
- หากก๊าซรั่วจากการลืมปิดวาล์วถังหรือปิดไม่สนิท ขั้นแรกควรรีบปิดวาล์วให้สนิททันที แต่หากเป็นกรณีถังแก๊สรั่ว ให้ย้ายถังอย่างระมัดระวังไปวางไว้ที่กลางแจ้ง จากนั้นใช้ผ้าขนหนูซับน้ำห่อหุ้มบริเวณที่รั่ว และรีบติดต่อให้ช่างจากร้านเข้ามาดูแลปิดวาล์วถังแก๊สและเตาแก๊สทันที
- เปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเทโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญห้ามเปิดพัดลมเพื่อไล่อากาศ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเกิดไฟไหม้ได้
- ห้ามเปิด-ปิดหรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งห้ามทำให้เกิดประกายไฟ เช่น จุดไม้ขีดไฟ จุดไฟ สูบบุหรี่ สตาร์ตเครื่องยนต์ เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ได้
- หากเกิดเพลิงลุกไหม้ ห้ามใช้น้ำราดไปที่ตัวถังโดยตรง ให้ใช้ถังดับเพลิงเคมีดับเท่านั้น ในกรณีที่ไม่มีถังดับเพลิงเคมีให้ใช้ผ้าชุบน้ำหนา ๆ คลุมถังแก๊สเพื่อดับไฟไว้เบื้องต้นก่อน
ก๊าซหุงต้ม มีความจำเป็นต่อการหุงหาอาหารและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้านเรือน ปัจจุบันราคาค่าก๊าซหุงต้มนั้นพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าตกใจและมีแนวโน้มว่าจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ เราจึงควรเลือกใช้ก๊าซหุงต้มให้เหมาะสมกับการใช้งาน และช่วยกันประหยัดการใช้ก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยเซฟเงินในกระเป๋ากันด้วยนะคะ