การตรวจรับคอนโด ต้องเช็กจุดไหนบ้าง ? ตามไปดู Checklist และวิธีตรวจรับคอนโดเอง จะได้ไม่พลาดก่อนเซ็นโอนบ้าน
หากมองเผิน ๆ สภาพทุกอย่างในห้องอาจดูปกติ แต่จริง ๆ แล้วอาจจะมีจุดผิดปกติซ่อนอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาวหลังย้ายไปเข้าไปอยู่ เจ้าของคอนโดก็ควรตรวจให้ดีก่อนเซ็นโอนห้อง หากไม่รู้ว่าต้องตรวจยังไงบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีตรวจรับคอนโดเองง่าย ๆ จาก ตรวจรับบ้าน.com มาฝาก ไว้เช็กก่อนเซ็นโอนกรรมสิทธิ์
1. พื้นลามิเนต
วัสดุพื้นลามิเนตมีส่วนผสมของเศษไม้อยู่ด้านใน และปิดผิวด้วย Laminate ที่มีความมันวาว ทำให้ทนต่อการสัมผัสน้ำได้ ทั้งนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าในขั้นตอนการเตรียมพื้นก่อนปูนั้น จะต้องปรับพื้นให้เรียบก่อน แล้วปูด้วยโฟมรองพื้นก่อนปูด้วยพื้นลามิเนต
- ให้เดินไป-มาให้ทั่วห้อง แล้วคอยสังเกตว่ามีบริเวณใดเป็นหลุมหรือยวบ หากมีก็แสดงว่าเกิดจากการปรับพื้นไม่เรียบนั่นเอง ข้อแนะนำคือ ให้เดินด้วยเท้าเปล่า และเดินแบบลากเท้า ก็จะทำให้สัมผัสถึงความเรียบ ได้ระดับของพื้นที่ปูใต้ลามิเนตได้ และให้ช่างแก้ไขบริเวณที่รู้สึกว่าเป็นหลุม ไม่เรียบ โดยหลุมดังกล่าวต้องมีขนาดลึกพอสมควร
- ถ้าไม่แน่ใจว่าได้ระนาบไหม ให้นำลูกแก้วโยนลงไปบนพื้นให้ทั่วบริเวณ ถ้าลูกแก้วกระจายตัวไปทั่วพื้นห้อง ไม่กระจุกเป็นแอ่ง ก็แสดงว่าพื้นห้องได้ระนาบแล้วนั่นเอง
- ตรวจสอบพื้นลามิเนตว่ามีรอยบิ่นหรือแตกที่ไม้ลามิเนตหรือไม่ หากมีก็สามารถแจ้งให้ทางโครงการเปลี่ยนได้
- ตรวจสอบพื้นลามิเนตว่า มีการโก่ง งอ หรือขึ้นสันไหม โดยนำไม้บรรทัดมาวางที่รอยต่อของพื้นลามิเนต ถ้าขึ้นสันไม้บรรทัดจะไม่แนบกับพื้น
- ตรวจสอบรอยต่อการปูแผ่นลามิเนตว่า แนบสนิทกันดีไหม โดยให้ลองเอามือไปลูบดู จะต้องเสมอกัน ไม่กระเดิด
- ตรวจสอบการยวบของพื้นลามิเนตที่ริมห้องด้วยการเหยียบ เพราะเป็นตำแหน่งที่จะเจอบ่อยที่สุด และสังเกตได้ง่ายว่ามีการยวบหรือไม่ เนื่องจากเป็นบริเวณขอบของพื้นลามิเนตนั่นเอง
2. บัวเชิงผนัง
- ตรวจสอบดูการติดตั้งบังเชิงผนังว่า ติดตั้งได้แนบกับผนังไหม ติดแน่นดีไหม ทั้งนี้ถ้าไม่สามารถติดตั้งบัวให้แนบกับผนังได้ ก็อาจมีสาเหตุมาจากผนังไม่เรียบ ไม่ได้ระนาบ หรืออาจเป็นจากบัวไม้โก่ง (กรณีที่บัวเป็นไม้จริง ซึ่งตามปกติดโครงการคอนโดมักจะไม่ใช้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นบัวพีวีซี (PVC) หรือไม้เฌอร่ากันมากกว่า)
- กรณีมีการทาสี ก็ให้ดูความเรียบเนียนของสีว่า สวยงามดีไหม มีสีหยอดไหม ซึ่งจุดนี้แก้ไขได้ไม่ยาก
- ตรวจสอบการเข้ามุมเนียนบัวเชิงผนังว่า เข้ามุมได้แนบสนิทกันดีไหม ปกติแล้วควรจะเป็นมุม 45 องศา
- กรณีเป็นบัวสำเร็จรูป ให้ลูบบริเวณที่มุม บางครั้งจะมีความคมมาก เนื่องจากเข้ามุมแบบ 45 องศา โดยสามารถแก้ไขด้วยการให้ทางโครงการนำกระดาษทรายมาลูบ เพื่อลบคมออก
3. ผนังห้อง
- กรณีติดวอลเปเปอร์ก็ให้ดูว่ามีรอยฉีกขาด รอยต่อแผ่นวอลเปเอร์สนิทไหม วอลเปเปอร์ติดแน่นดีหรือว่ามีการหลุดร่อนหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบคราบเลอะและดูการเข้ามุมผนังห้องด้วยว่าเรียบเนียนไหม
- หากมีวอลเปเปอร์ฉีกขาดสามารถเปลี่ยนได้ โดยจะต้องเปลี่ยนทั้งแผ่น แต่ถ้าวอลเปเปอร์ดังกล่าวติดตั้งมานานแล้ว การเปลี่ยนอาจต้องเปลี่ยนแผ่นข้าง ๆ กันด้วย เพื่อป้องกันสีของวอลเปเปอร์ใหม่และเก่าแตกต่างกัน จากระยะเวลาที่ติดตั้งมานาน สีของวอลเปเปอร์จะซีดจางลง
- กรณีเป็นการทาสีให้ดูว่าทาสีเรียบเนียนไหม การทาสีควรทาให้ครบ 2-3 รอบ โดยทิ้งระยะทางเวลาให้สีรอบก่อนหน้าแห้งสนิทก่อนจึงสามารถทารอบต่อไปได้
- ตรวจสอบผนังว่าเรียบเนีบนไหม บางครั้งอาจจะมีจุดที่ผนังปูด-นูน เพราะฉาบไม่เรียบ มีขี้ปูนตามผนังหรือก่อผนังไม่ได้ระนาบ
4. ประตูห้อง
- ประตูห้องปกติเป็นไม้สำเร็จรูป ให้ลองเปิด-ปิดไปมา จะต้องไม่ติดขัด และถ้าเปิดค้างประตูจะต้องไม่ปิดเอง (ถ้าไม่มีโช้คที่ด้านบนประตูมาช่วยปิดประตู)
- ตรวจสอบการทาสีเรียบเนียนไหม
- เอากระจกส่งที่สันบานประตูด้านบนต้องทาสีด้วย เพื่อความสวยงาม
- กรณีเป็นประตูห้องน้ำ ควรทาสีสันบานประตูทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อป้องกันประตูบวมจากความชื้นในห้องน้ำ
- สำหรับลูกบิดประตูให้ลองหมุนไป-มา และตรวจสอบว่าติดตั้งแน่นดีไหม
- ให้ลองล็อกกลอนประตูดูว่า สอดเข้ารูได้เรียบร้อยดีไหม
5. ประตูเลื่อน หน้าต่าง และอะลูมิเนียม
- ลองเปิด-ปิดดูว่าติดขัดไหม
- ดูรอยต่อต่าง ๆ ว่า อัดซิลิโคนยาแนวเรียบร้อยดีหรือไม่
- ตรวจสอบช่องระบายน้ำจากกรอบอะลูมิเนียม และตรวจสอบน้ำขังในรางเลื่อน
6. งานระบบไฟฟ้า ทีวี และโทรศัพท์
- ให้ไปซื้อเครื่องตรวจสอบไฟของการไฟฟ้านครหลวง (Easy Check) ราคา 200 บาท มาตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้า
- ส่วนช่องสัญญาณโทรศัพท์ ก็นำโทรศัพท์จริงไปลองเลยก็ได้ หรือให้ทางโครงการเอาอุปกรณ์ตรวจสอบของช่างมาช่วยเช็กให้
- ส่วนทีวีให้ทางโครงการเอาอุปกรณ์ตรวจสอบของช่างมาตรวจสอบให้ดู โดยปกติจะมีทีวีขนาดเล็กมาทดสอบสัญญาณให้ดู
- ช่องสัญญาณ Network ให้ช่างโครงการนำอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณมาทดสอบให้ดู
- ดูบนฝ้าดูความเรียบร้อยการเดินสายไฟฟ้า เช่น มีการร้อยท่อไหม มีการปิดกล่องไฟเรียบร้อยดีไหม
7. ตรวจสอบงานระเบียงห้อง
- ให้เทน้ำที่ระเบียงดูว่ามีน้ำขังที่พื้นกระเบื้องหรือไม่ หามีอาจจะมาจากการปรับความลาดชัน (Slope) ของกระเบื้องผิด
- ให้เคาะกระเบื้องดูทั้งหมดว่า มีจุดที่หลุดร่อนหรือเป็นโพรงไหม โดยจุดที่ผิดปกติเสียงจะดังก้อง ๆ ทั้งนี้ให้เทียบกับแผ่นกระเบื้องใกล้ ๆ กันที่ติดแน่นซึ่งจะมีเสียงทึบ จะง่ายที่สุด
8. ฝ้า-เพดาน
ตรวจสอบแผ่นฝ้าเพดาน รอยต่อแผ่นวัสดุ รอยแตกร้าว รอยคราบน้ำ รวมถึงการทาสีฝ้าว่าทาสีสม่ำเสมอหรือไม่ นอกจากนี้จะต้องไม่มีรู ขอบชายฝ้าต้องไม่เลื้อยหรือตกท้องช้าง
9. ห้องน้ำและสุขภัณฑ์
- การติดตั้งสุขภัณฑ์ต้องเก็บยาแนวรอบสุขภัณฑ์ให้เรียบร้อย และท่อต่าง ๆ จะต้องไม่มีจุดรั่วซึม ใช้งานได้ดี
- ระดับลาดเอียงของพื้นกระเบื้องจะต้องเทลาดไปทางท่อระบายน้ำทิ้ง จะต้องไม่มีน้ำขังเป็นแอ่งหรือขังบริเวณมุมกระเบื้อง
- ภายในรูระบายน้ำทิ้งไม่มีเศษปูนหรือขยะ รวมถึงรอยแตกร้าวและรอยขูดขีดของสุขภัณฑ์ รอยรั่วซึมของท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง แรงดันน้ำในท่อ
10. ห้องครัว
- ตรวจระบบน้ำดีและน้ำทิ้งของซิงค์ล้างจาน จะต้องไม่มีน้ำรั่วซึมใต้ซิงค์
- อุปกรณ์ฮูดดูดควันและพันลมระบายอากาศทำงานปกติ
- ตรวจเช็กความเรียบร้อยของตู้ลอย และบานเปิด-ปิด ระยะบาย และบานตก
คราวนี้หากใครกำลังจะซื้อคอนโดใหม่ แต่ยังไม่รู้ว่าต้องตรวจจุดไหนบ้าง และมีวิธีการตรวขรับคอนโดเองอย่างไร ก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันได้ จะได้ไม่มีปัญหากวนใจตามมาหลังโอนห้อง