บัว ราชินีแห่งไม้น้ำ ดอกไม้มงคลสารพัดประโยชน์

ทำความรู้จัก บัว ดอกไม้จัดสวนสีสวย พร้อมลักษณะบัวแต่ละสายพันธุ์ วิธีการปลูกบัว และการดูแลให้บัวออกดอกสวยตลอดทั้งปี

ดอกบัวหลวง

หากพูดถึงดอกไม้มงคลแล้วละก็ หลายคนจะต้องนึกถึงดอกบัวอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะนิยมนำมาปลูกสร้างสีสันในบ่อน้ำแล้ว ยังนิยมนำมาใช้สำหรับถวายพระอีกด้วย สำหรับคนที่อยากหาบัวมาปลูกไว้ที่บ้านบ้าง วันนี้ไปดูข้อมูลพร้อม ๆ กันเลย

ลักษณะบัว

ดอกบัวหลวง

บัว (Lotus, Sacred Lotus, Egyptian Lotus) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. ได้รับการขนานนามว่า ราชินีแห่งไม้น้ำ มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ แตกต่างกันที่สีและลักษณะของกลีบดอกบัว เช่น ดอกสีชมพู ดอกสีขาว ดอกกลีบซ้อน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย

ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน โดยเหง้าหรือรากบัวเป็นท่อนยาว สีออกเหลือง เมื่อตัดขวางจะมีรูหลายรู สำหรับไหลบัว หรือหลดบัว เป็นส่วนของหน่อบัวที่งอกออกมาพร้อมโตเป็นลำต้นได้ สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการใช้เมล็ดและการแยกไหลบัว ใบเป็นใบเดี่ยวรูปทรงรี ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ถ้าเป็นใบอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ ส่วนใบแก่แผ่นใบจะชูขึ้นเหนือน้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีสีขาวและสีชมพู มีกลิ่นหอม จะเริ่มบานในตอนเช้า โดยดอกจะออกมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ฝักมีผลหรือเมล็ดสีเขียวรูปกลมรี มีดีบัวหรือต้นอ่อนอยู่ด้านในเมล็ด ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีใบอ่อน 2 ใบ สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเหลือง

ความหมายของดอกบัว

ดอกบัว ความหมาย

เชื่อกันว่า ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความดีงาม และความศรัทธา จึงมีคนนิยมนำดอกบัวไปถวายพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ได้แก่ การบูชาพระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังนิยมนำไปสักการะเพื่อระลึกถึงพระแม่ลักษมีอีกด้วย

ชนิดของดอกบัว

ดอกบัว

บัวไทยสามารถแบ่งออกเป็น 3 สกุลใหญ่ ได้แก่ สกุลเนลุมโบหรือปทุมชาติ สกุลนิมเฟียร์หรืออุบลชาติ และสกุลวิกตอเรียหรือบัววิกตอเรีย โดยแต่ละสกุลสามารถจำแนกได้หลายชนิด แต่ในไทยชนิดของบัวที่เด่น ๆ มีอยู่ 6 ชนิด คือ

บัวหลวง

           บัวหลวง (Lotus) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. อยู่ในสกุลปทุมชาติ ลักษณะใบอยู่เหนือน้ำ มีไหลเลื้อยไปใต้พื้นดินเล็กน้อย มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ฉัตรขาว ฉัตรแก้ว และฉัตรแดง เป็นบัวที่นิยมปลูกมากที่สุดในไทย โดยสามารถตัดดอกมาบูชาพระและประกอบอาหารได้แทบทุกส่วน

บัวฝรั่ง

บัวฝรั่ง (Hardy Water Lily) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea sp. and hybrid อยู่ในสกุลปทุมชาติ ลักษณะคล้ายบัวหลวง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะใบมีทั้งขอบเรียบและขอบใบจัก ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง สีชมพู เป็นต้น มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกดกในฤดูฝน

บัวผัน หรือบัวเผื่อน

บัวผัน หรือบัวเผื่อน (Water Lily) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea stellata Wild. อยู่ในสกุลอุบลชาติ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงสลับกัน ใบลอยปริ่มน้ำ ดอกชูเหนือน้ำเล็กน้อย ใบรูปรีหรือค่อนข้างกลม เมื่อบานหลาย ๆ วันสีจะจางลง บานในเวลาเช้าหรือกลางวัน และหุบตอนเย็น นิยมนำมาประกอบอาหารเฉพาะสายบัว

บัวสาย

บัวสาย (Water Lily) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea lotus L. อยู่ในสกุลอุบลชาติ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบกลมขอบใบหยัก ดอกมีหลายสีโผล่เหนือน้ำ ดอกบานตอนกลางคืนและหุบเวลาเช้า นิยมนำมาประกอบอาหารเฉพาะสายบัว

จงกลนี

จงกลนี (Jongkolnee) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea siamensis อยู่ในสกุลอุบลชาติ ใบเป็นรูปไข่ ขอบใบหยัก ดอกบานใกล้ผิวน้ำหรือชูก้านขึ้นเล็กน้อย ไม่มีกลิ่น กลีบดอกแน่นเรียงซ้อนกันหลายชั้น

บัวกระด้ง หรือบัววิกตอเรีย

บัวกระด้งหรือบัววิคตอเรีย

บัวกระด้งหรือบัววิคตอเรีย

บัวกระด้ง หรือบัววิกตอเรีย (Giant Water Lily) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Victoria amazonica (Poepp.) J.C. Sowerby ใบมีขนาดใหญ่และกลมคล้ายกระด้ง ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมตอนกลางคืน บานตอนเย็น หุบตอนสาย

วิธีปลูกดอกบัว

วิธีปลูกบัว

การแยกหน่อหรือเหง้า

วิธีปลูกบัวที่เหมาะกับบัวที่มีเหง้า โดยตัดแยกหน่ออ่อนยาวประมาณ 10 เซนติเมตร นำปลูกลงกระถางเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ปลูกลงในดินเหนียวลึกประมาณ 5 เซนติเมตร เติมน้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ปลูกจนต้นสมบูรณ์จึงนำลงปลูกในแหล่งที่ต้องการได้

การแยกไหล

วิธีปลูกบัวเหมาะกับบัวที่มีไหล โดยตัดไหลที่มีต้นอ่อนงอกออกมาประมาณ 3 ข้อ นำปลูกลงดินในกระถางลึกประมาณ 5 เซนติเมตร รอจนต้นสมบูรณ์จึงนำลงปลูกในแหล่งที่ต้องการได้

ประโยชน์ของบัว

ประโยชน์ดอกบัว

  • ใบสดหรือใบแห้ง : ต้มกับน้ำเปล่าช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ห่อขนมหรืออาหารได้อีกด้วย 
  • รากบัว : นำมาเชื่อมเป็นของหวาน ต้มน้ำตาล หรือต้มจืด และยังมีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน พร้อมบำรุงร่างกาย 
  • สายบัว : ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง บรรเทาอาการท้องผูก และสามารถนำมาทำแกงต้มต่าง ๆ เช่น แกงส้ม ได้อีกด้วย
  • ไหลบัว : มีเส้นใยมาก ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยบำรุงหัวใจ
  • เม็ดบัวสด : นำไปต้มน้ำตาล อบกรอบ ช่วยบำรุงเลือด มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสมอง
  • ดีบัว (ต้นอ่อนในเมล็ด) : นำมาตากแห้ง คั่วให้หอม ชงน้ำร้อนดื่มเหมือนน้ำชา ช่วยขยายหลอดเลือด บำรุงหัวใจ ขับเสมหะ

ใครที่อยากมีสวนบัวสวย ๆ เอาไว้นั่งมองพักสายตาในบ้าน ลองดูสายพันธุ์ดอกบัวที่เรานำมาฝากกัน นอกจากสวยแล้วยังกินได้ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : otop.dss.go.th, fisheries.go.th, data.addrun.org, rspg.or.th, eto.ku.ac.th และ arit.kpru.ac.th
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัว ราชินีแห่งไม้น้ำ ดอกไม้มงคลสารพัดประโยชน์ อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2566 เวลา 14:39:30 73,249 อ่าน
TOP
x close