ร่วมลอยกระทงสืบสายประเพณีไทย ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยไอเดียกระทงจากวัสดุธรรมชาติ และวิธีลดขยะกระทง
ลอยกระทง อีกหนึ่งประเพณีไทยที่สำคัญ ซึ่งจะจัดงานกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 สำหรับใครที่อยากจะออกไปลอยกระทง แต่ไม่อยากทำลายสิ่งแวดล้อม หรือลอยกระทงเองที่บ้านแบบรักษ์โลก วันนี้เรามีไอเดียกระทงรักษ์โลกและวิธีช่วยกันลดขยะกระทงมาฝากกันแล้ว
ประวัติวันลอยกระทง
ลอยกระทงนับเป็นอีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่ของไทย ที่สืบเนื่องมาอย่างช้านานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย เดิมเป็นการลอยโคมก่อนจะพัฒนามาเป็นการลอยกระทงแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน พร้อมกับการจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ ให้ผู้คนได้มาร่วมสนุก
โดยมีความเชื่อแตกต่างกันไป ทั้งการขอขมาพระแม่คงคา การสำนึกถึงบุญคุณที่ทำให้เรามีน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค รวมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ด้วยการลอยสิ่งไม่ดี ทั้งความทุกข์ความเศร้าโศกออกไปจากชีวิตนั่นเอง
- อ่านเพิ่มเติม : วันลอยกระทง 2567 วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน
เวลาในการย่อยสลายกระทงแต่ละชนิด
แต่เนื่องจากในปัจจุบันขยะกระทงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกระทงโฟม เพราะย่อยสลายนานกว่า 50 ปี อีกทั้งยังกำจัดยาก และส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งมีขยะตกค้างทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย ขัดขวางการระบาย เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย
จึงเริ่มมีการรณรงค์หันมาออกแบบกระทงจากวัสดุอื่น ๆ มากขึ้น เพราะย่อยสลายได้เร็วและส่งผลกระทบน้อยกว่า ได้แก่
- กระทงน้ำแข็ง ใช้เวลาย่อยสลาย 1 ชั่วโมง
- กระทงขนมปัง ใช้เวลาย่อยสลาย 3 วัน
- กระทงโคนไอศกรีม ใช้เวลาย่อยสลาย 3 วัน
- กระทงกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลาย 2-5 เดือน
- กระทงกล้วย ใช้เวลาย่อยสลาย 14 วัน
- กระทงกะลา ใช้เวลาย่อยสลาย 15 วัน
นอกจากนี้ยังสามารถลอยกระทงแบบออนไลน์ให้ทุกคนสามารถร่วมกิจกรรมได้จากทุกที่โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ผ่านเว็บไซต์หรือกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ต่าง ๆ
วิธีลอยกระทงรักษ์โลก
ทุกคนสามารถลอยกระทงเพื่อช่วยกันรักษาประเพณีไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ง่าย ๆ ด้วยการนำหลัก 3R คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) ได้ดังนี้
1. เลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ
ปรับเปลี่ยนจากการใช้โฟมมาใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำกระทงแทน เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงใบตอง กระทงกะลามะพร้าว กระทงดอกบัว รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กระทงมันสำปะหลัง หรือกระทงเปลือกข้าวโพดแทนก็ได้
2. ไม่ใช้วัสดุอันตราย
ในขั้นตอนวิธีทำกระทงควรหลีกหลีกการใช้ตะปู หมุดโลหะ แม็กเย็บกระดาษ หรือลวด ในการทำกระทง เพราะคัดแยกไปกำจัดต่อยาก อีกทั้งหากตกลงสู่แม่น้ำลำคลองก็เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำและคนได้ หากเป็นไปได้ใช้ไม้กลัดจะดีกว่า
3. ลดจำนวนกระทง
ไม่ว่าจะไปกับคนรัก เพื่อนฝูง หรือครอบครัว แทนที่จะลอยกระทงคนละใบ ก็เปลี่ยนมาลอยกระทงใบเดียวกัน เป็นการช่วยลดจำนวนขยะกระทงไปในตัว อีกทั้งยังช่วยประหยัดและลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
4. เลี่ยงการใช้วัสดุที่เปื่อยยุ่ยง่าย
วัสดุที่เปื่อยยุ่ยไวเมื่อโดนน้ำ ได้แก่ กระทงกระดาษและกระทงขนมปัง แม้จะย่อยสลายง่าย แต่ก็ทำให้จัดเก็บไปกำจัดยาก อีกทั้งการนำกระดาษเข้าสู่ระบบรีไซเคิลจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า ในส่วนของกระทงขนมปังก็มีสารประกอบประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน หากตกค้างในน้ำมาก ๆ ก็จะส่งผลทำให้น้ำเน่าเสียได้นั่นเอง
5. เลือกใช้วัสดุทำกระทงประเภทเดียวกัน
อีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ก็คือ เลือกใช้วัสดุประเภทเดียวกันในการทำกระทง เพราะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดแยกเพื่อนำไปกำจัดต่อได้ง่ายกว่า เช่น รวมเทียนไขไปหลอมใหม่ ในขณะที่กลุ่มวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย กาบกล้วย ใบข้าวโพด ดอกบัว ก็สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพได้ สำหรับกะลามะพร้าวที่แม้จะใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า ก็นำไปผลิตถ่านใช้แทนเชื้อเพลิงไม้ได้เช่นกัน
สำหรับใครที่อยากร่วมกิจกรรมวันลอยกระทงก็สามารถทำได้ ด้วยการลดปริมาณกระทงที่จะนำไปใช้ เลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย หรือลอยกระทงออนไลน์ เพียงเท่านี้ก็เป็นการช่วยรักษาประเพณีไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติได้แล้วค่ะ