ทำความรู้จัก นางพญาเสือโคร่ง ต้นไม้ดอกสวย ฉายาซากุระเมืองไทย อยากปลูกจัดสวนที่บ้านทำอย่างไร ดูแลยากไหม ไปดูกัน
ด้วยความสวยงามของ ดอกนางพญาเสือโคร่ง แถมยังได้ฉายาซากุระเมืองไทย เอาเป็นว่าใครประทับใจจนอยากจะลองปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเอาไว้ที่บ้าน แต่ไม่แน่ใจว่าสามารถปลูกได้หรือไม่ หรือดูแลยากหรือเปล่า ตามไปดูกันเลย
ลักษณะนางพญาเสือโคร่ง
นางพญาเสือโคร่ง หรือ ชมพูพิงค์ (Wild Himalayan Cherry) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cereasoides D.Don จัดอยู่วงศ์ Rosaceae เป็นต้นไม้ที่พบได้ทั้งในประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน รวมถึงในไทย ซึ่งปกติแล้วจะขึ้นอยู่ตามภูเขาสูง อย่างที่เห็นกันตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ดอยเชียงดาวและดอยอินทนนท์
ต้นนางพญาเสือโคร่ง ลักษณะเป็นไม้ผลัดใบ ความสูงประมาณ 10-15 เมตร เปลือกไม้มีสีน้ำตาลแดง ใบรูปไข่ปลายแหลม ขอบหยักเล็กน้อย ปกติจะผลัดใบก่อนออกดอก โดยดอกนางพญาเสือโคร่งจะออกเป็นกระจุกใกล้ปลายกิ่ง มีทั้งสีขาวและสีชมพู และออกดอกในระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะออกผลทรงกลมสีแดง
วิธีปลูกนางพญาเสือโคร่ง
สำหรับการปลูกต้นพญาเสือโคร่ง มี 2 วิธี คือ การตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด แต่หากใช้วิธีเพาะเมล็ดควรนำมาตากให้แห้งก่อน แล้วใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดรวมกับซองดูดความชื้นหรือซิลิกาเจล ก่อนนำมาเพาะเป็นต้นกล้า โดยสามารถปลูกลงในถุงปลูกก่อน หรือปลูกลงดินโดยตรงเลยก็ได้ และปลูกไว้กลางแจ้งที่มีแดดรำไร หมั่นรดน้ำเป็นประจำ แต่ลดจำนวนครั้งได้เมื่อต้นโต และหมั่นใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกต้นพญาเสือโคร่งในบริเวณที่มีลมแรง เพราะอาจจะทำให้กิ่งไม้หักได้ง่ายและใบร่วงบ่อย
ประโยชน์นางพญาเสือโคร่ง
ประโยชน์ของต้นนางพญาเสือโคร่งก็มีหลายอย่าง โดยสามารถนำไม้ไปทำเฟอร์เจอร์ก็ได้ หรือจะนำมาปลูกประดับสวนเพิ่มร่มเงาและทำให้มีสีสันก็ดี นอกจากนี้ในส่วนของเปลือกไม้ รก เมล็ด รวมไปถึงกิ่งและใบ ยังสามารถนำไปทำยารักษาโรคได้ด้วย
เรียกได้ว่า นางพญาเสือโคร่ง นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่มีดอกสวยงามสมฉายาซากุระเมืองไทยแล้ว ยังมีประโยชน์หลากหลายอย่าง สามารถนำไปใช้งานได้เกือบทุกส่วนอีกด้วย
บทความเกี่ยวกับ นางพญาเสือโคร่ง :
ขอบคุณข้อมูลจาก : science.cmu.ac.th, forest.go.th (1) (2) และ royalparkrajapruek.org