วิธีทำบ้านแรงดันบวก หรือ DIY Positive Pressure Room ป้องกันฝุ่น PM2.5 งบไม่เกิน 2,000 บาท โดยไม่ต้องเจาะผนังให้ยุ่งยาก !
ในวันที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่หมดไป แม้จะอยู่บ้านก็ไม่ได้ปลอดภัยกับสุขภาพเสมอไป วันนี้เลยจะชวนมาทำ วิธีทำบ้านแรงดันบวก หรือ DIY Positive Pressure Room ไว้กำจัดฝุ่น PM2.5 ในบ้าน จาก AiroTEC CMRU ที่จัดทำโดย ผศ. ดร.ชยานนท์ สวัสดีนฤนาท สาขาวิชาพลังงานและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีแห่งเอเชีย (ศภอ.) ใช้อุปกรณ์อะไร ทำอย่างไร ต้องเจาะผนังไหม กินไฟหรือเปล่า ตามไปดูกันเลย
DIY Positive Pressure Room
บ้านแรงดันบวก ป้องกันฝุ่น PM2.5
โดย AiroTEC CMRU
โดย ดร.ชยานนท์ เผยว่า ขณะทำการทดสอบค่าฝุ่นภายนอก 516 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 10 เท่า เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน และทดสอบกับบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ฉะนั้นไปดูกันว่า DIY Positive Pressure Room หรือ บ้านแรงดันบวก ทำเองได้ยังไงบ้าง
กระบวนการทำงาน
กระบวนการทำงานของ DIY Positive Pressure Room หรือ ระบบบ้านแรงดันบวก เอาอากาศเสียมาผ่านเครื่องกรอง เพื่อเปลี่ยนเป็นอากาศดี แล้วส่งผ่านท่อลมอัดเข้าไปในบ้านเรา
จุดสำคัญของระบบบ้านแรงดันบวกก็คือ บ้านต้องปิดทุกจุดให้สนิท ปิดให้แน่น ไม่มีอากาศจากข้างนอกผ่านเข้าไปได้ ก็จะทำให้แรงดันในบ้านเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็จะไปช่วยล็อกไม่ให้ฝุ่นจากข้างนอกผ่านเข้าไปในบ้านได้ และทำให้อากาศในบ้านดีขึ้นนั่นเอง
ซึ่งจะตรงข้ามกับ Negative Pressure Room หรือ ห้องแรงดันลบ ซึ่งเป็นระบบที่ห้ามอากาศภายในบ้านออกไป
ดังนั้น หากทำบ้านแรงดันบวกถูกต้องตามหลักการก็จะทำให้อากาศในบ้านดีขึ้นได้ แม้จะไม่มีเครื่องฟอกอากาศในบ้านเลยก็ตาม เพราะเป็นแรงดันที่สม่ำเสมอทั้งบ้าน
วิธีต่อท่อลมโดยไม่เจาะผนัง
DIY Positive Pressure Room หรือ ระบบบ้านแรงดันบวก ทำเอง ไม่จำเป็นต้องเจาะผนัง โดยแง้มหน้าต่างห้องไว้แล้วนำฟิวเจอร์บอร์ดมาปิดทับ แล้วเจาะรูฟิวเจอร์บอร์ดเป็นวงกลมให้เท่ากับขนาดของปากท่อลม แล้วใช้สกอตช์เทปหรือเทปกาวติดปากท่อกับฟิวเจอร์บอร์ดเอาไว้ให้แน่น
วิธีทำตัวกรองอากาศ
อุปกรณ์
สิ่งแรกที่สำคัญเลยก็คือ เครื่องเติมอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วย ไส้กรองเครื่องฟอกอากาศ พัดลมดูดอากาศหรือพัดลมดูดควัน และท่อลม ตัวที่จะช่วยอัดอากาศดีเข้าไปในบ้าน
ทั้งนี้ ควรเลือกขนาดพัดลมดูดควันให้พอดีกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของไส้กรองเครื่องฟอกอากาศที่จะนำมาใช้ด้วย
วิธีทำ
- นำพัดลมดูดควันมาวางไว้บนไส้กรอง โดยคว่ำหน้าพัดลมลง
- จากนั้นนำกาวร้อนมายิงปิดรอยรั่วระหว่างพัดลมดูดควันกับไส้กรองเครื่องฟอกอากาศ หากไม่มีกาวร้อนสามารถใช้เทปกาว สติ๊กเกอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ปิดแทนได้
- หุ้มไส้กรองด้วยฟิลเตอร์ HEPA (จะมีหรือไม่มีก็ได้) เพื่อยืดอายุการใช้งานของไส้กรอง โดยเฉพาะบริเวณที่มีค่าฝุ่นสูง
- จากนั้นนำตัวกรองอากาศที่ได้ไปต่อกับท่อส่งลม