รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เหล็กเส้น ประเภทเหล็กเส้น วิธีสังเกตเหล็กเส้นที่ดีและได้มาตรฐานเบื้องต้น ไว้พิจารณาก่อนซื้อ

ทำให้หลายคนที่กำลังสร้างบ้านหรือบ้านได้รับความเสียหายเริ่มกังวลว่าเหล็กเส้นที่นำมาใช้ได้มาตรฐานหรือเปล่า วันนี้เลยรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กเส้นมาให้พิจารณากันเบื้องต้นว่าเหล็กเส้นมีกี่ประเภท สังเกตยังไงก่อนซื้อ
เหล็กเส้น ใช้ทำอะไร ?

เหล็กเส้น (Steel Bar) วัสดุก่อสร้างที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในงานโครงสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานราก พื้น เสา คาน ผนัง ของบ้าน คอนโด อาคาร ถนน โครงการรถไฟฟ้า ฯลฯ ผลิตจากเหล็กที่ถูกนำไปหลอมด้วยความร้อนสูงแล้วเทลงในแม่พิมพ์ ก่อนจะนำไปรีดให้เป็นเส้นยาว และทำการทดสอบคุณสมบัติตามที่มาตรฐานกำหนด เพื่อให้ได้เหล็กเส้นที่มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้เยอะ โดยไม่แตกร้าวหรือหักได้ง่าย
เหล็กเส้น มีกี่ประเภท ?
เหล็กข้ออ้อย

เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar หรือ DB) ใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นเหล็กเส้นที่มีลายบั้งหรือลายเส้นนูนบนผิวเหล็ก เพื่อช่วยเพิ่มแรงยึดเกาะระหว่างเหล็กเส้นกับคอนกรีต ช่วยลดการเคลื่อนตัวของเหล็กภายในโครงสร้าง เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างและทำให้รองรับน้ำหนักได้ดีขึ้น
เหล็กข้ออ้อยประกอบด้วยขนาด DB10, DB12, DB16, DB20, DB25, DB28 และ DB32 โดยตัวเลขด้านหลังหมายถึงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตร เช่น DB10 คือ เหล็กข้ออ้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 10 มิลลิเมตร แต่ละขนาดมีการใช้งานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสเกลของงานก่อสร้าง
นอกจากนี้ยังแบ่งตามเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย SD30, SD40 และ SD50 ซึ่งตัวเลขด้านหลังหมายถึงค่าความแข็งแรงของเหล็กที่สามารถรับแรงดึงได้ โดยต้องมีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 3000, 4000 และ 5000 ksc. (กก./ตร.ซม.) ตามลำดับ
เหล็กข้ออ้อยที่ดี รอยบั้งหรือปล้องจะต้องไม่มีรอยปริ ไม่แตกร้าว ไม่มีสนิมขุย เพราะสนิมชนิดนี้จะกัดกร่อนเนื้อเหล็กทำให้เหล็กมีขนาดเล็กลง หากใช้งานไปนาน ๆ อาจทำให้เหล็กเสียรูปทรงได้ นอกจากนี้รอยบั้งควรมีขนาดและรูปร่างที่เหมือนกันตลอดทั้งเส้น และมีระยะห่างเท่ากันอีกด้วย
เครื่องหมายที่ปรากฏบนเหล็กข้ออ้อยควรมีเลข อักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดที่เห็นได้ง่ายและชัดเจน โดยประทับเป็นตัวนูนถาร ดังนี้ ชื่อผู้ผลิตหรือโรงงานที่ทำหรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ชื่อขนาด ชั้นคุณภาพ และสัญลักษณ์ T (เฉพาะเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (Heat Treatment) ในระหว่างการผลิต
ส่วนที่มัดหรือที่ขดของเหล็กข้ออ้อยทุกมัดจะต้องมีป้ายที่ไม่ฉีกขาด ไม่หลุดง่ายติดอยู่ และป้ายจะต้องมีเลข อักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียด ดังนี้ คำว่า "เหล็กข้ออ้อย" ชื่อขนาด ชั้นคุณภาพ สัญลักษณ์ T (เฉพาะเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (Heat Treatment) ในระหว่างการผลิต ความยาวของแต่ละเส้น หมายเลขการหลอม ชื่อผู้ผลิตหรือโรงงานที่ทำหรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ประเทศที่ทำ หากเป็นภาษาต่างประเทศจะต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น
เหล็กเส้นกลม

เหล็กเส้นกลม (Roundl Bar) มีลักษณะพื้นผิวเรียบเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณที่ทำเครื่องหมายเพื่อระบุข้อมูลของเหล็กเส้น ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับงานโครงสร้างขนาดเล็ก หรือโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น อาคารขนาดเล็กหรือบ้านพักอาศัย มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นสูง ทนต่อแรงดึงและการบิดเบี้ยวได้ดี มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 2400 ksc. (กก./ตร.ซม.) แต่ยึดเกาะกับคอนกรีตได้น้อยกว่าเหล็กข้ออ้อย มีขนาดตั้งแต่ 6-25 มิลลิเมตร
ลักษณะเหล็กเส้นกลมที่ดีจะต้องไม่มีรอยปริ แตกร้าว ไม่มีสนิมขุย หรือตำหนิที่ทำให้เสียคุณสมบัติ หรือส่งผลกระทบต่อการใช้งาน อีกทั้งพื้นที่การตัดขวางควรกลมสม่ำเสมอ ต้องไม่มีปีกหรือเป็นคลื่น และข้อมูลที่ระบุบนเหล็กเส้นกลมจะต้องมีเลข อักษรหรือเครื่องหมายประทับเป็นตัวนูนที่เห็นได้ง่าย ชัดเจน ทั้งชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน ชื่อขนาดอยู่ถัดจากชื่อของผู้ทำ รวมถึงที่มัดหรือที่ขดเหล็กเส้นกลมจะต้องมีป้ายที่ไม่ฉีกขาด ไม่หลุดง่ายผูกติดไว้ โดยบนป้ายจะต้องระบุคำว่า "เหล็กเส้นกลม" ชั้นคุณภาพ ชื่อขนาด ความยาว หมายเลขการหลอมแต่ละครั้ง ชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ ประเทศที่ทำ กรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น
เครื่องหมายรับรองเหล็กเส้นมาตรฐาน

นอกจากนี้ก่อนซื้อเหล็กเส้นควรสังเกตที่เครื่องหมายรับรองคุณภาพต่าง ๆ ได้แก่
-
ASTM (American Society for Testing and Materials) หรือสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งสหรัฐอเมริกา
-
JIS (Japanese Industrial Standards) หรือมาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
-
มอก. หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
รวมไปถึงควรจะมีมาตรฐานความแข็งแรงของเหล็กกำกับ เช่น SD40 หรือ SD50 และตราสินค้า เช่น ชื่อหรือโลโก้ของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้น โดยสามารถเช็กรายชื่อผู้ประกอบการเหล็กเส้นไทยได้จาก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ที่นี่ https://iiu.isit.or.th/
เหล็กเส้นมี T หรือ Non T ต่างกันยังไง

เหล็กเส้นทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันที่กรรมวิธีผลิต ซึ่งเหล็กเส้นที่มี T เช่น SD40T หรือ SD50T คือ เหล็กที่ผลิตด้วยกรรมวิธีทางความร้อน หรือ Heat Trearment ทำให้ผิวเหล็กเย็นตัวอย่างรวดเร็ว แต่แกนกลางเหล็กยังร้อนอยู่ ทำให้ได้ผิวเหล็กที่แข็งแรงและเนื้อเหล็กนิ่ม-ยืดหยุ่นได้ดี เป็นประเภทเหล็กเส้นที่ มอก. ไม่อนุญาตให้กลึงลดขนาดเพื่อทดสอบ เพราะจะทำให้ผลทดสอบผิดเพี้ยนไป
สำหรับเหล็กเส้นที่ไม่มี T หรือ Non T เป็นเหล็กเส้นที่มีการเพิ่มค่าเคมีบางตัว เช่น คาร์บอนหรือแมงกานีส เข้าไปในกระบวนการหลอมและหล่อ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับเหล็ก จากนั้นจะนำแท่งเหล็กไปอบก่อนจะรีดเป็นเส้น และปล่อยให้เย็นตัวตามปกติ โดยไม่มีกาสเปรย์น้ำ ทำให้ได้เหล็กที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด และมีความแข็งแรงเท่ากันตลอดทั้งหน้าตัด ซึ่งการทดสอบเหล็กชนิดนี้ทาง มอก. อนุญาตให้กลึงลดขนาดเพื่อทดสอบได้ นิยมใช้กับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ตึกสูง ถนน สะพาน อุโมงค์ เป็นต้น
สำหรับใครที่กำลังสร้างบ้านแล้วสงสัยว่าเหล็กเส้นที่นำมาใช้ได้มาตรฐานหรือเหมาะสมกับงานที่ใช้หรือไม่ สามารถนำข้อมูลในวันนี้ไปพิจารณาดูได้นะคะ