วิธีดูแลเครื่องปรับอากาศ อยู่ทน ใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย

          วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ รู้วิธีที่ถูกต้องหรือยัง ถ้ายังไม่แน่ใจก็ตามไปศึกษา วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ พร้อม ๆ กันเลยค่ะ


          ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยของเรา เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์คอนดิชันเนอร์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมีติดไว้ ยิ่งถ้าบ้านไหนมีสมาชิกในบ้านที่ขี้ร้อนด้วยละก็ เครื่องปรับอากาศของคุณคงจะต้องทำงานหนักสู้ร้อนกันทั้งวันเลยล่ะ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศของคุณอยู่เสมอ เพื่อให้อยู่ทนอยู่นานให้คุณได้ใช้ประโยชน์ในระยะยาว จะได้ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อย ๆ ส่วนเคล็ดลับน่ารู้จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกันเลยค่ะ

ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ


วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ

          เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้กับบ้านพักอาศัยและสำนักงานทั่วไป สามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการติดตั้งได้หลายประเภท เครื่องปรับอากาศทุกแบบจะสามารถแบ่งส่วนประกอบของเครื่องออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่อยู่ภายในอาคาร (Indoor) เรียกว่า ชุดคอยล์เย็น หรือแฟนคอยล์ยูนิต และส่วนที่อยู่ภายนอกอาคาร (Outdoor) เรียกว่า ชุดคอยล์ร้อน หรือคอนเดนซิ่งยูนิต 

          ซึ่งการทำงานของแต่ละส่วนก็จะมีลักษณะการทำงานที่คล้ายชื่อ คือ ชุดคอยล์เย็นจะมีหน้าที่สร้างความเย็น ส่วนชุดคอยล์ร้อนก็มีหน้าที่สร้างความร้อนออกมา และเครื่องปรับอากาศแต่ละชุดยังมีส่วนประกอบย่อยต่าง ๆ ซึ่งแต่ละส่วนประกอบของเครื่องต้องได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการใช้งานของเครื่อง นอกจากนี้แล้วยังต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

วิธีการดูแล บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ


วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ

          คอยล์เย็น หรือแฟนคอยล์ยูนิต เป็นตัวที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องหรือภายในอาคาร มีส่วนประกอบย่อยที่จำเป็นต้องดูแลบำรุงรักษาและทำความสะอาดคือ

1. แผงกรองฝุ่น

          ในเครื่องปรับอากาศทุกเครื่องจำเป็นต้องมีแผงกรองฝุ่นหรือฟิลเตอร์ เพราะฟิลเตอร์จะทำหน้าที่เป็นด่านแรกที่จะกรองอากาศ โดยจะดักจับฝุ่นและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศไม่ให้ผ่านเข้าไปยังตัวแผงขดท่อคอยล์เย็น และเป่าเข้าสู่บรรยากาศภายในห้องได้อีก ฟิลเตอร์โดยทั่วไปมีใช้กันอยู่หลายชนิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของเครื่อง เช่น เป็นแบบใยสังเคราะห์สีขาวหรือดำ ลักษณะคล้ายเส้นด้ายไนลอน มีขอบเป็นโครงพลาสติก หรือเป็นแบบใยสังเคราะห์สีดำ โครงขอบเป็นเหล็กเส้นลวด หรือเป็นแบบเส้นใยอะลูมิเนียมถัก (ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศบางรุ่นมีฟิลเตอร์กรองกลิ่นและควันอยู่ด้วย) เราต้องดูแลทำความสะอาดฟิลเตอร์อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ฟิลเตอร์อุดตันไปด้วยฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ เพราะถ้าฟิลเตอร์อุดตันจะทำให้ลมไม่สามารถหมุนเวียนผ่านคอยล์เย็นได้ ซึ่งจะทำให้เครื่องปรับอากาศไม่เย็น มีน้ำแข็งเกาะที่ตัวคอยล์เย็น และอาจมีน้ำหยดจากตัวเครื่องได้เมื่อน้ำแข็งที่เกาะอยู่ละลาย

          โดยฟิลเตอร์มีจุดประสงค์เพื่อการกรองดักจับฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ดังนั้น ฟิลเตอร์จึงมีโอกาสอุดตันจากสิ่งเหล่านี้ได้มาก การล้างทำความสะอาดจึงควรทำให้บ่อยครั้ง โดยดูความเหมาะสมจากสภาพแวดล้อมและการใช้งาน เช่น ถ้าติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้อง หรือในอาคารที่มีลักษณะการทำงานที่มีฝุ่นละอองมาก เช่น ห้องเตรียมผ้าสำหรับใช้ในการผ่าตัด ซึ่งห้องนี้จะมีฝุ่นใยผ้าเกิดขึ้นจำนวนมาก ดังนั้นการล้างฟิลเตอร์ควรจะล้างทุกวัน หรืออย่างน้อยที่สุดทุกสัปดาห์ ส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในสถานที่ที่ไม่ค่อยมีฝุ่นละอองมากนัก เช่น ห้องนอน ห้องพักผ่อน หรือห้องทำงานทั่วไป ควรทำความสะอาดฟิลเตอร์ทุก ๆ 1 เดือน หรือ 3 เดือน

          วิธีการล้างฟิลเตอร์ทำได้โดยใช้น้ำแรง ๆ ฉีดที่ด้านหลังของฟิลเตอร์ (ด้านที่ไม่ได้รับฝุ่น) ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออก หรือถ้าฟิลเตอร์เป็นแบบเส้นใยอะลูมิเนียมถัก แบบเส้นใยไนลอน อาจใช้แปรงที่มีขนนิ่ม เช่น แปรงสีฟัน หรือแปรงทาสี ช่วยปัดฝุ่นด้วยก็ได้

2. แผงขดท่อคอยล์เย็น

          แผงขดท่อคอยล์เย็น คือ ตัวสร้างความเย็น มีรูปร่างเป็นเส้นท่อขดไปมาตามความยาวของเครื่อง และจะมีแผ่นครีบอะลูมิเนียมบาง ๆ หุ้มขดท่อเหล่านั้นอยู่ แผงขดท่อจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อถอดหน้ากากส่งลมหรือหน้ากากรับลมกลับของเครื่องออก ที่แผงขดท่อนี้จะมีฝุ่นผงขนาดเล็กที่สามารถผ่านการกรองของฟิลเตอร์เข้ามาได้ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ฝุ่นเหล่านี้จะจับตัวกันหนาขึ้น และอากาศจะไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งจะทำให้เครื่องปรับอากาศมีผลเช่นเดียวกันกับฟิลเตอร์ตัน จึงควรมีการล้างทำความสะอาดขดท่อและแผ่นอะลูมิเนียม โดยระยะเวลาในการล้างในรอบ 1 ปี ควรมีการล้าง 1 ครั้ง

          วิธีล้างทำความสะอาดให้ใช้แปรงสีฟัน หรือแปรงทาสี ปัดเอาฝุ่นที่เกาะยึดติดอยู่ให้ออกก่อนด้วยการลากแปรงลงตามแนวร่องของแผ่นครีบอะลูมิเนียม แล้วจึงค่อยเอาน้ำฉีดหรือราด เพื่อให้ฝุ่นที่เหลือหลุดตามน้ำออกมา แต่เนื่องจากฝุ่นละอองที่จับอยู่เป็นเวลานานจะมีความเหนียวมาก บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้น้ำยาเคมีช่วยในการขจัดคราบสกปรกออก น้ำยาเคมีที่ใช้ต้องเป็นแบบที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อคน และไม่ทำลายวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เช่น แผ่นอะลูมิเนียม ท่อทองแดง หรือพลาสติก ในการเอาน้ำฉีด น้ำยาเคมีที่ใช้ต้องเป็นแบบที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ หรือเวลาราด ต้องระมัดระวังอย่าให้น้ำกระเด็นเปียกอุปกรณ์ไฟฟ้าของเครื่อง และควรระวังไม่ให้น้ำล้นถาดรองรับน้ำของเครื่อง

3. ใบพัดลมคอยล์เย็น

          ใบพัดลมคอยล์เย็น หรือโบลเวอร์ เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเคลื่อนที่ของลม โดยได้กำลังมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า ฝุ่นผงขนาดเล็กที่เล็ดลอดมาจากการดักจับของแผงกรองอากาศบางส่วนจะมาจับอยู่ที่ใบพัดลม ทำให้ร่องดักลมของใบพัดลมอุดตันไม่สามารถดักลมได้เต็มที่ การเกิดในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ปริมาณลมเย็นที่ออกไปจากคอยล์เย็นลดลง

          จึงต้องเสียเวลาในการเดินเครื่องปรับอากาศนานขึ้น เพื่อที่จะให้ได้อุณหภูมิของห้องเท่าเดิม ซึ่งมีผลทำให้เสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากฝุ่นที่เกาะตามใบพัดลมจะทำให้พัดลมส่งลมเย็นออกมาได้น้อยแล้ว อาจจะทำให้เกิดเสียงดังที่ตัวชุดคอยล์เย็นขึ้นได้ เนื่องจากฝุ่นที่จับอยู่จะไปเพิ่มน้ำหนักให้กับใบพัด ทำให้ใบพัดเสียการสมดุลในตัวเอง และเมื่อมอเตอร์หมุนจะเกิดการสั่นสะเทือนจากแรงเหวี่ยงและเกิดเสียงดังขึ้นได้ การล้างทำความสะอาดใบพัด ควรทำไปพร้อมกับการล้างทำความสะอาดแผงคอยล์เย็น

4. ถาดรองรับน้ำทิ้งและท่อน้ำทิ้ง

          เป็นอุปกรณ์สำหรับรองรับน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำของไอน้ำในอากาศภายในห้อง น้ำที่เกิดขึ้นนี้จะไหลไปรวมกันที่ถาดรองรับน้ำ และถูกระบายทิ้งโดยผ่านทางท่อน้ำทิ้ง ถาดรองรับน้ำทิ้งนี้ถ้าไม่ได้รับการดูแลหรือทำความสะอาดเป็นเวลานานจะทำให้เกิดเมือกขาวใสคล้ายวุ้น น้ำที่ขังอยู่ในถาดรองรับน้ำทิ้งเป็นเวลานานนี้ เมื่อรวมกับฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่เกาะอยู่ตามถาดรับ อาจเป็นแหล่งอาหาร หรือเป็นแหล่งสะสม ของเชื้อโรค เชื้อรา และทำให้เชื้อโรคเชื้อราเหล่านี้เจริญเติบโตและแพร่กระจายสู่ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้พักอาศัยภายในห้องและภายในอาคารได้ การทำความสะอาดถาดน้ำทิ้งโดยการใช้แปรงที่มีขนแข็งขัดถู หรือการถอดออกมาล้าง ส่วนท่อน้ำทิ้งทำได้โดยการใช้เครื่องเป่าลมเป่าเข้าไปตามท่อน้ำ หรือใช้น้ำที่มีแรงดันเล็กน้อยฉีดเข้าไปภายในท่อ (ต้องแน่ใจว่าในระบบท่อไม่มีรอยรั่ว)

          วิธีการล้างทำความสะอาดถาดรองรับน้ำและท่อน้ำทิ้ง ควรทำไปพร้อมกับการทำความสะอาดแผงขดท่อคอยล์เย็นและใบพัดลม และควรตรวจดูแนวท่อน้ำทิ้งด้วยว่ามีลักษณะโค้งงอ (ตกท้องช้าง) หรือไม่ ถ้ามีต้องทำการแก้ไข เพราะท่อน้ำทิ้งช่วงที่โค้งงอตกท้องช้างจะเป็นแหล่งที่รวมของน้ำและสิ่งสกปรก ซึ่งจะทำให้ท่อน้ำทิ้งอุดตัน และจะทำให้มีน้ำหยดจากบริเวณที่ท่อตกท้องช้างได้ เนื่องจากไอน้ำในอากาศกระทบท่อที่น้ำเย็นขังอยู่

5. ตัวโครงเครื่อง หน้ากากรับลม และหน้ากากจ่ายลม

          ทำความสะอาดโดยการปัดฝุ่น หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู หรือถ้าสามารถถอดออกได้จะนำไปล้างน้ำก็ได้ คอยล์ร้อน หรือคอนเดนซิ่งยูนิต เป็นตัวที่ติดตั้งอยู่ภายนอกห้อง หรือภายนอกอาคาร ภายในชุดคอยล์ร้อนจะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ส่วน คือ คอมเพรสเซอร์ มอเตอร์พัดลมพร้อมใบพัดลม และแผงขดท่อกับครีบอะลูมิเนียม ชุดคอยล์ร้อนจะมีหน้าที่นำเอาความร้อนจากภายในห้องมาระบายออกทิ้งไป ดังนั้นลมที่เป่าออกมาจากคอยล์ร้อนจึงเป็นลมร้อน

          การดูแลบำรุงรักษาคอยล์ร้อนจึงต้องทำให้เกิดการระบายความร้อนได้ดี โดยไม่มีวัตถุสิ่งของใด ๆ มาปิดบังทิศทางของการระบายของลม และดูแลไม่ให้มีฝุ่นหรือสิ่งอื่น ๆ มาปิดบัง โดยเฉพาะที่แผงขดท่อและแผ่นอะลูมิเนียมของคอยล์ร้อน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้ลมเข้าไปรับความร้อนจากชุดคอยล์ร้อนได้ ระยะห่างระหว่างชุดคอยล์ร้อนกับสิ่งกีดขวางที่ยอมรับได้จะถูกกำหนดโดยข้อกำหนดเฉพาะในการติดตั้งของเครื่องปรับอากาศแต่ละรุ่น ซึ่งรวมถึงการเผื่อพื้นที่ว่างเพื่อการดูแลซ่อมบำรุงด้วย ถ้าคอยล์ร้อนสกปรก หรือมีสิ่งของมาปิดบังช่องทางการระบายลม ทำให้ความร้อนไม่สามารถระบายออกมาได้แล้ว จะทำให้เครื่องปรับอากาศไม่มีความเย็น หรือเย็นน้อย กินกระแสไฟฟ้ามากกว่าปกติ และอาจทำให้คอมเพรสเซอร์เสียหายได้ การทำความสะอาดฝุ่นละอองที่เกาะอยู่ตามชุดคอยล์ร้อนสามารถใช้น้ำฉีดล้างได้ แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำกระเด็นเข้าไปเปียกอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ ระยะเวลาในการล้างทำความสะอาดชุดคอยล์ร้อนควรล้างทุก 6 เดือน หรือทุก 12 เดือน

          การดูแลสภาพทั่วไปของเครื่องอื่น ๆ เช่น นอต สกรู ยางรองแท่นเครื่องต่าง ๆ อย่าให้หลุดหรือหลวม เพราะอาจทำให้เกิดเสียงดังจากการสั่นสะเทือนได้ ดูแลฉนวนที่ใช้ป้องกันความร้อนต่าง ๆ ถ้าพบว่าชำรุดฉีกขาดควรแก้ไขหรือซ่อมบำรุง เพราะถ้าฉนวนที่ใช้ป้องกันความร้อนชำรุด จะทำให้ไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำในบริเวณนั้น และจะทำความเสียหายให้กับฉนวนส่วนอื่น ๆ อีก หรือน้ำที่เกิดขึ้นนั้นจะหยดลงบนฝ้าเพดานหรือตามผนังห้อง (ในกรณีที่ฉนวนหุ้มท่อสารทำความเย็น หรือท่อส่งลมเย็น หรือท่อน้ำเย็น ชำรุด) ทำให้เกิดรอยคราบสกปรก และเกิดเชื้อราขึ้นได้

ประโยชน์การดูแลเครื่องปรับอากาศ


วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ

          การดูแลบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศจะทำให้เกิดประโยชน์ได้ 2 ทาง คือ

          1. ทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้า ประหยัดค่าซ่อมบำรุง และยืดอายุการทำงานของเครื่อง

          2. ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ใช้และผู้อยู่อาศัย เนื่องจากการล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอยู่เสมอจะช่วยขจัดเอาฝุ่นละออง เชื้อโรค เชื้อรา ที่เกาะติดอยู่กับส่วนต่าง ๆ ของเครื่อง และที่ล่องลอยอยู่ในอากาศภายในห้องออกไปด้วย (ฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศจะถูกดักจับโดยแผงกรองฝุ่น ที่เรียกว่า ฟิลเตอร์) ซึ่งฝุ่นละออง เชื้อโรค เชื้อรา เหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคลีเจียนแนร์ วัณโรค หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

ข้อแนะนำการใช้แอร์


วิธีดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ

          เพื่อการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา และการตรวจซ่อมเครื่องปรับอากาศให้ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพและรูปแบบของเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่อง ควรศึกษาทำความเข้าใจเอกสารคู่มือที่ให้มาพร้อมกับเครื่องปรับอากาศ และปฏิบัติตามคำแนะนำให้ถูกต้อง

คำเตือน

          ก่อนดำเนินการตรวจสอบ ดูแล บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่มีไฟฟ้าป้อนอยู่ ต้องปิดสวิตช์ หรือเบรกเกอร์ ตัดวงจรของระบบไฟฟ้าออกก่อนทุกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก กองวิศวกรรมการแพทย์ และ สํานักเครื่องจักรกล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูแลเครื่องปรับอากาศ อยู่ทน ใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2565 เวลา 23:14:59 166,856 อ่าน
TOP
x close