7 ประเภทหลอดไฟ พร้อมข้อดี-ข้อเสียและการใช้งาน

          ทำความรู้จักประเภทพหลอดไฟในบ้าน พร้อมข้อดีและข้อเสียของหลอดไฟแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการใช้งานหลอดไฟแต่ละประเภทให้เหมาะสม

ประเภทหลอดไฟ

          ความสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผู้อยู่อาศัย ดังนั้นตามสถานที่ต่าง ๆ และบ้านเรือนที่พักอาศัยทั่วไปจึงจำเป็นต้องติดตั้งหลอดไฟเอาไว้ เพื่อคอยให้แสงสว่าง โดยในปัจจุบันมีหลอดไฟมากมายหลายชนิดให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น หลอดกลม หลอดตะเกียบ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น หลอดไฟแต่ละประเภทมีการใช้งานและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสนได้ ดังนั้นในวันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับหลอดไฟประเภทต่าง ๆ มาให้ทราบกันค่ะ

1. หลอดกลม

หลอดกลม
          ระบบการทำงานของหลอดกลมคือ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเส้นลวดเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในหลอด เพื่อทำให้เกิดความร้อน ความร้อนนี่เองที่เป็นตัวจุดประกายไฟ และให้แสงสว่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดไฟประเภทนี้ใช้พลังงานค่อนข้างมาก และเสื่อมสภาพเร็ว โดยมีระยะการใช้งานแค่ประมาณ 8 เดือน ดังนั้นในตอนนี้ผู้ผลิตจึงหันความสนใจไปที่การผลิตหลอดไฟแบบอื่นแทน และด้วยหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานนานกว่า และประหยัดพลังงานมากกว่า ทั้งนี้มีการคาดกันว่าหลอดไฟประเภทนี้จะถูกลดจำนวนการใช้งานลงเรื่อย ๆ และหมดไปในที่สุด

2. หลอดฟลูออเรสเซนต์

หลอดฟลูออเรสเซนต์
          หลอดยาวที่นิยมนำมาใช้งานในที่พักอาศัย หลอดไฟประเภทนี้มีกระบวนการให้แสงสว่างคือ ส่งผ่านประจุอิเล็คตรอนซึ่งเกิดจากขั้วลบผ่านสารเรืองแสงที่ใช้เคลือบหลอดไฟไปยังขั้วบวก เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่เป็นหลอดประเภท T12 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหลอดอ้วน หากเป็นไปได้ควรที่เลือกหลอดผอมแบบ T8 หรือ T5 ที่มีขนาดของหลอดเล็กกว่า แต่ให้ความสว่างเท่ากัน จะช่วยประหยัดพลังงานและประหยัดค่าไฟได้มากขึ้นด้วย

3. หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์


          หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อของ หลอดตะเกียบ นั้นถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้แทนหลอดไส้แบบเก่า เพราะหลอดตะเกียบนอกจากจะมีขนาดกระทัดรัดแล้ว ยังเพิ่มระดับความสว่าง และมีอายุการใช้งานที่มากขึ้น โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยถึง 7 ปี หรือประมาณ 8,000 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถประหยัดพลังงานได้มากถึง 4 เท่าของหลอดไฟแบบเก่าด้วย ขนาดของหลอดตะเกียบแบ่งออกเป็น 5 ชนิดด้วยกันคือ 2U 3U 4U 5U และ 6U สามชนิดหลังเหมาะกับโรงงานหรืออาคารเชิงพาณิชย์มากกว่า ส่วนชนิดที่เหมาะกับบ้านเรือนที่พักอาศัยทั่วไปคือ 2U และ 3U นั่นเอง

4. หลอดฮาโลเจน

หลอดฮาโลเจน
          หลอดฮาโลเจนเป็นหลอดไฟที่ประกอบด้วยไส้ทังสเตน เมื่อเทียบกับหลอดไฟทั่วไปแล้วหลอดไฟฮาโลเจนมีอายุการใช้งานที่นานกว่า เนื่องจากสามารถทนต่อความร้อนได้ดีกว่าไส้หลอดทั่วไป โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 1,500 - 3,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ให้ระดับความสว่าง และความถูกต้องของสีที่มากกว่าหลอดแบบอื่น ๆ ดังนั้นส่วนมากจึงนิยมนำมาใช้กับพื้นที่สำหรับสินค้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้สามารถนำมาใช้ในบ้านได้เช่นกัน เหมาะกับบริเวณที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ อย่างเช่น มุมอับ ห้องทำงาน เป็นต้น

6. หลอดไฮบริดฮาโลเจน


          หลอดไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาจากหลอดไฟ 3 ประเภทด้วยกันคือ หลอดตะเกียบ หลอดกลม และหลอดฮาโลเจน เพื่อให้มีระดับความสว่างมากขึ้น และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น ทั้งนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลอดกลมแล้วจะมีอายุการใช้งานนานกว่าถึง 8 เท่า เหมาะกับการใช้งานในบ้านเรือนและที่พักอาศัยทั่วไป

7. หลอดไฟ LED

หลอดไฟ LED

          ราคาของหลอดไฟ LED ค่อนข้างสูงกว่าหลอดไฟทั่วไปอยู่สักหน่อย แต่ถ้าหากนำมาเปรียบเทียบการใช้งานและคุณภาพแล้วถือว่าหลอดไฟแบบ LED คุ้มค่ากับราคาของมันอยู่ไม่น้อย เพราะหลอดไฟประเภทนี้สามารถเปิด-ปิดได้บ่อยครั้ง ไม่มีการเสื่อมสภาพไปตามจำนวนการกดสวิตช์ นอกจากนี้ไม่มีการปล่อยรังสียูวี หรือก๊าซอันตราย อีกทั้งยังให้แสงที่สบายตากว่าหลอดชนิดอื่น ที่สำคัญยังช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับหลอดไส้แบบเดิม ๆ และมีอายุการใช้งานที่นานถึง 50,000 ชั่วโมงเลยทีเดียว

5. หลอด HID


          หลอด HID หรือมีชื่อเต็มว่า High Intensity Discharge เป็นหลอดที่ให้ระดับความสว่างกว่าหลอดฮาโลเจนประมาณ 3 - 4 เท่า และมีอายุการใช้งานที่นานกว่าหลอดไฟแบบอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากนำมาเปรียบเทียบกับหลอดกลมแล้วมีระยะการใช้งานมากกว่าถึง 20 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นจึงเหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการความสว่างเป็นพิเศษ อย่างเช่น ลานจอดรถ เป็นต้น

          คงเห็นกันแล้วว่าหลอดไฟแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามการใช้งาน ดังนั้นในการเลือกซื้อหลอดไฟนอกจากจะพิจารณาราคาของหลอดไฟแล้ว ควรจะคำนึงถึงอายุการใช้งาน และความเหมาะสมของหลอดไฟกับพื้นที่ที่จะนำไปติดตั้งด้วย เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอต่อความต้องการ ไม่สลัวหรือสว่างจ้าจนเกินไป ใส่ใจกับการเลือกหลอดไฟสักนิดเพื่อการใช้งานที่คุ้มค่านะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : wayfair และ thelightbulb
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 ประเภทหลอดไฟ พร้อมข้อดี-ข้อเสียและการใช้งาน อัปเดตล่าสุด 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:55:19 126,157 อ่าน
TOP
x close