x close

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ เตรียมตัวไว อพยพทัน ปลอดภัยจากเหตุร้าย

          เนื่องจาก ไฟไหม้ เกิดได้ทุกเมื่อ แม้จะคาดการณ์ไม่ได้ แต่หากมีการเตรียมตัวล่วงหน้า และรู้จักวิธีปฏิบัติ ก็จะช่วยให้เอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้อย่างปลอดภัย 
ไฟไหม้บ้าน

          ไฟไหม้ เป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ก็เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและไม่มีใครคาดคิด ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ก็คงเป็นการเตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันให้รอบคอบ และถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างไฟไหม้ใกล้ ๆ บริเวณที่พักอาศัย ในบ้านของตัวเอง หรือขณะอยู่ในอาคารสถานที่ต่าง ๆ ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดออกมาให้ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะหากเป็นเหตุไฟไหม้ที่มีอันตรายร้ายแรง เช่น โรงงานที่เป็นแหล่งผลิตสารเคมี วันนี้เลยขอรวมวิธีฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ไว้เตรียมความพร้อมและเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงวิธีป้องกันไฟไหม้บ้านกัน   

ไฟไหม้บ้าน ทำอย่างไร 


1. ตั้งสติและหนีออกมาให้เร็วที่สุด 

          ถ้าได้ยินเสียงร้องเตือนของเครื่องจับควันไฟที่ดังขึ้น หรือได้กลิ่นไหม้ภายในบ้าน ให้รีบเดินสำรวจจุดเกิดเหตุ และพาทุกคนออกจากบ้านให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะถ้าเกิดเหตุในช่วงกลางคืนก็ต้องร้องตะโกนให้สุดเสียง เพื่อปลุกให้ทุกคนในบ้านตื่น และเตรียมตัวหนีรอดโดยไว อย่ามัวห่วงหน้าพะวงหลัง ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญก็ไม่ต้องไปสนใจ นาทีนี้ควรรีบพาตัวเองและทุกคนในครอบครัวไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัยก่อน ที่สำคัญหากมีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ก็พาหนีออกมาด้วย อย่าทิ้งไว้ในบ้านตามลำพัง 

2. สำรวจประตูหนีไฟ

          ถ้าแน่ใจแล้วว่าเกิดไฟไหม้ที่บ้าน และสังเกตเห็นควันไฟลอดผ่านช่องประตูด้านล่างเข้ามา ให้รีบโทร. แจ้งสถานีดับเพลิงที่เบอร์ 199 และแจ้งตำรวจก่อนเป็นอันดับแรก แล้วพยายามหาทางออกจากบ้านให้เร็วที่สุด ถ้าประตูทางออกหน้าบ้านไม่สามารถออกได้ เพราะมีเปลวไฟลุกกั้นทางเดินอยู่ ให้เดินหาทางออกทางอื่น ทั้งนี้ ก่อนจะเปิดประตู ให้ใช้หลังมือสัมผัสกับประตูก่อนว่าประตูร้อนหรือไม่ หากไม่ร้อนก็ค่อย ๆ เปิดออกไปช้า ๆ แล้วหนีมาตามทางเดิน 

          แต่ถ้าประตูร้อนก็แสดงว่าด้านหลังประตูนั้นต้องมีเปลวไฟปะทุอยู่แน่ ๆ กรณีนี้ควรปิดห้องให้สนิท ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดช่องว่างที่ควันไฟลอดเข้ามา รวมถึงปิดแอร์และพัดลมระบายอากาศเพื่อป้องกันการสูดดม จากนั้นโทร. แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกพิกัดตำแหน่งที่อยู่ และส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้เพื่อขอความช่วยเหลือ 

3. ปิดปาก ปิดจมูก คลานหนีควันไฟ

          ถ้าคุณยังหาทางหนีออกมาไม่ได้ และยังติดอยู่ด้านใน ให้รีบหาผ้าขนหนูชุบน้ำให้ชุ่ม แล้วเอามาปิดปากและจมูกของคุณและทุกคนในครอบครัว จากนั้นก็พากันก้มต่ำ คลานด้วยเข่าและมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อหนีควันไฟ โดยรีบหาทางออกมาจากตัวบ้านให้เร็วที่สุด เพราะวิธีก้มต่ำแบบนี้จะช่วยให้รอดพ้นจากการสูดควันไฟเข้าไปจนเกิดอาการสำลักควันไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนประสบเหตุเพลิงไหม้เสียชีวิตมานักต่อนัก

4. กลิ้งตัวดับไฟที่ติดบนเสื้อผ้า

          ในกรณีที่เสื้อผ้ามีเปลวไฟติดมา ให้รีบนอนราบลงกับพื้น เอามือปิดหน้า ห้ามวิ่ง เพราะจะทำให้ไฟยิ่งลุกท่วม จากนั้นกลิ้งตัวไปกับพื้นจนไฟที่ลุกท่วมอยู่ดับสนิท วิธีนี้จะช่วยให้ไฟที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าดับสนิทในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อแน่ใจว่าไม่มีเปลวไฟบนตัวแล้วก็ต้องรีบลุกและหาทางหนีออกมาให้เร็วที่สุด 

5. อย่าตื่นตกใจ

          ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันแค่ไหนก็ตามแต่ สิ่งสำคัญที่คุณควรต้องมีไว้ตลอดเวลาคือ สติ และถ้าเป็นไปได้ก็พยายามอย่าตื่นตกใจจนเกินไปนัก เพราะอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อย่างถ้าคุณไม่สามารถหาทางหนีออกไปได้ และต้องอยู่นิ่ง ๆ รอความช่วยเหลือ ให้คุณตั้งสติให้ดี พาตัวเองและคนอื่น ๆ ไปอยู่ในจุดที่คิดว่าจะปลอดภัยที่สุด แล้วก็ช่วยกันหาผ้าเท่าที่จะหาได้มาชุบน้ำให้ชุ่ม เสร็จแล้วก็นำไปอุดตามช่องหรือรอยแตกของประตูให้หมด เพื่อป้องกันควันไฟลอยเข้ามา รวมทั้งหาผ้าชุบน้ำมาปิดปากและจมูกของตัวเองด้วย เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยดีแล้วก็ยืนรอความช่วยเหลืออย่างมีสติ

6. แสดงสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ

          ถ้าในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วคุณติดอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน ต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้คนอื่นได้เห็นว่าคุณติดอยู่ในนี้ เพื่อที่เขาจะได้มาช่วยเหลือเราได้ทันเวลา โดยถ้าหาที่ปลอดภัยได้ เช่น ระเบียงบ้าน ก็ให้พากันไปยืนอยู่ตรงนั้น พร้อมกับช่วยกันร้องตะโกน หรือออกไปยืนแสดงตัวให้คนภายนอกได้เห็นว่ามีคนติดอยู่ในบ้าน และทางที่ดีควรหาผ้าขาว ผ้าแดง หรือเสื้อผ้าอะไรก็ได้ แขวนนอกหน้าต่างหรือระเบียงเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้คุณควรจะปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อป้องกันออกซิเจนในอากาศไปกระพือให้เพลิงไฟยิ่งลุกลาม และหาผ้าไปอุดช่องประตูเพื่อกันควันไฟทะลักออกมาตรงจุดที่คุณยืนอยู่ด้วย

7. หนีออกทางหน้าต่าง

          นี่คือเหตุผลที่คุณควรจะสร้างบันไดหนีไฟไว้บ้าง ถ้าคุณคิดจะสร้างบ้าน 2 ชั้น หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรสร้างชานหน้าต่างให้กว้างพอที่จะออกไปเดินได้อย่างไม่อันตรายเกินไปนัก เพราะถ้าเกิดกรณีไฟไหม้อย่างนี้ และคุณติดอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน จะได้ปีนบันไดหนีไฟออกมาได้อย่างปลอดภัย หรือถ้าไม่มีบันไดก็จะได้ปีนออกมาทางหน้าต่าง แล้วค่อย ๆ เดินอย่างระวังบนชานบันได รอความช่วยเหลือ หรือค่อย ๆ ไต่ลงไปด้านล่าง ในกรณีที่ความสูงระหว่างชั้น 2 ของบ้านกับพื้นดินไม่สูงจนเกินไปนัก

8. นับจำนวนสมาชิกในบ้าน

          ในกรณีที่หนีออกมาอยู่ข้างนอกได้อย่างปลอดภัย อันดับแรกที่คุณควรจะทำก็คือ นับจำนวนสมาชิกในบ้านรวมถึงสัตว์เลี้ยงว่าอยู่กันครบถ้วนหรือไม่ ถ้าพบว่ามีใครคนใดคนหนึ่งหายไป ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ทันที เขาจะได้ออกตามหา หรือเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในบ้านได้ทันเวลา และที่สำคัญอย่าเสี่ยงเข้าไปช่วยเหลือญาติด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายทั้งกับคุณและญาติที่ติดอยู่ด้วยกันทั้งคู่

9. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          ถ้าสามารถหนีออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยกันครบถ้วนทุกคนแล้ว ให้รีบสำรวจอาการบาดเจ็บของตัวเองและทุกคนโดยเร็วที่สุด ถ้ามีใครบาดเจ็บเพราะโดนไฟลวก หรือมีอาการสำลักควันไฟ ก็ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที 

          วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีแผลไฟไหม้ ทำได้โดยถอดเครื่องประดับและเสื้อผ้าบริเวณแผลออก ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จากนั้นใช้ผ้าแห้งซับ แล้วพาไปพบแพทย์ทันที หรือโทร. แจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) พร้อมแจ้งชื่อ ที่อยู่ จำนวนคนป่วย เพศ อายุ อาการ และเบอร์โทร. ติดต่อกลับให้ชัดเจน ระหว่างนี้ก็อย่าเพิ่งใช้ยาใด ๆ ทาลงไปบนแผล เพราะยังไม่แน่ใจในสรรพคุณของยาชนิดนั้น ๆ ที่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อและรักษายากขึ้น 

10. ออกจากพื้นที่โดยด่วน

          พยายามอยู่ห่างจากเปลวไฟให้ได้มากที่สุด ส่วนข้าวของภายในบ้านก็ไม่ต้องไปห่วง เพราะตราบใดที่ไฟยังไม่ดับมอดลง คุณก็ไม่สามารถเข้าไปขนออกมาได้อยู่แล้ว ดังนั้น นาทีนี้ต้องห่วงสวัสดิภาพของคนในบ้านให้มากที่สุด และเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว และพื้นที่มีความปลอดภัยมากพอ ก็ค่อยมาสำรวจความเสียหายภายหลัง 

ไฟไหม้อาคารสูง ทำอย่างไร 


ไฟไหม้บ้าน

          สำหรับคนที่พักอาศัยหรือทำงานบนอาคารสูง เช่น คอนโด อพาร์ตเมนต์ หอพัก ออฟฟิศ หรือเข้าไปเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าที่เป็นตึกสูง ก่อนอื่นควรศึกษาแผนผังอาคาร จำตำแหน่งประตูทางออกฉุกเฉินและบันไดหนีไฟ หรือคอยสังเกตป้ายทางหนีไฟเอาไว้ หากเกิดเหตุไฟไหม้เล็กน้อยให้ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวหรือถังดับเพลิงฉีดบริเวณที่เกิดเหตุไปก่อน เพื่อควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม 

          แต่ถ้าหากไฟไหม้รุนแรงให้รีบกดสัญญาณแจ้งเตือนภายในอาคาร หรือตะโกนบอก ปิดประตูห้องให้สนิทเพื่อชะลอไม่ให้ไฟลุกลาม แล้วรีบหนีออกจากอาคารให้เร็วที่สุด โดยใช้ไฟฉายหรือมือถือส่องนำทางออกจากความมืด พร้อมกับใช้ผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก ก้มต่ำ แล้วคลานเข่าออกมาตามทางหนีไฟ และไม่ใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะเมื่อไฟฟ้าดับอาจจะทำให้ติดค้างภายในลิฟต์และขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้บันไดภายในอาคาร เพราะมีลักษณะเป็นปล่อง อาจมีควันและเปลวไฟพุ่งขึ้นมาปกคลุม เสี่ยงต่อการสำลักควันและถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ 

          ในกรณีติดอยู่ในห้องพัก ไม่สามารถออกมาได้ เพราะมีเปลวไฟอยู่บริเวณใกล้เคียง ให้อยู่ภายในห้องพัก ปิดประตู พร้อมหาผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบประตูให้สนิท จากนั้นโทร. แจ้งเจ้าหน้าที่ และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากหน้าต่างหรือระเบียง 

ไฟไหม้บริเวณใกล้เคียง 



          หากเกิดเหตุไฟไหม้บริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย และเป็นโรงงานที่มีสารเคมีอย่างกรณี ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ที่พบว่าอาจมีสารอันตรายและก๊าซพิษที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจอย่าง สารไตรีน (Styrene) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (HCHO) ให้ปฏิบัติดังนี้ 

          - พาครอบครัวและสัตว์เลี้ยงอพยพออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงห่างจากจุดเกิดเหตุ 3-5 กิโลเมตร 

          - ถอดเสื้อผ้าและรองเท้าที่ปนเปื้อนออกทันที หากผิวหนังหรือตาสัมผัสกับสารเคมีให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดเยอะ ๆ  [อ่านเพิ่มเติม : วิธีปฐมพยาบาลสารเคมีเข้าตา ถ้าสูดดม-สัมผัสผิวหนัง ต้องล้างออกยังไง]
 
          - ติดตามสถานการณ์เป็นระยะ และอพยพออกจากพื้นที่เพิ่มเติม หากได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

          - หากมีอาการรุนแรงจากการสัมผัสกับสารเคมี เช่น อาการปวดแสบปวดร้อน ควรไปพบแพทย์ทันที 

          - ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และย้ายกลับเข้าที่พักเมื่อได้รับแจ้งยืนยันความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว 

วิธีป้องกันไฟไหม้บ้าน


ไฟไหม้บ้าน

1. ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟ

          เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน ควรติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟไว้ภายในบ้านด้วย โดยเฉพาะในจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดเพลิงไหม้ เช่น ห้องครัว ห้องซักผ้า โรงรถ และห้องนอนทุกห้อง หรือทางที่ดีควรจะติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟทุกส่วนในบ้านเลยยิ่งดีค่ะ

2. เช็กสภาพเครื่องตรวจจับควันไฟ

          เครื่องตรวจจับควันไฟทำงานได้ด้วยระบบแบตเตอรี่ ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นตรวจจสอบแบตเตอรี่และสภาพการใช้งานของเครื่องตรวจจับควันไฟอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ปีละครั้ง แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเช็กสภาพการใช้งานทุกเดือนได้ก็จะยิ่งดีที่สุด

3. สร้างทางหนีไฟ

          ในบ้านควรจะมีประตูหนีไฟเผื่อไว้บ้าง โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้าน 2 ชั้น ก็ต้องสร้างบันไดหนีไฟเอาไว้ด้วย หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องสร้างชานหน้าต่างให้มีความกว้างพอที่จะปีนออกไปยืนได้ เผื่อมีกรณีฉุกเฉินอย่างไฟไหม้เกิดขึ้นจะได้ใช้ทางหนีไฟเหล่านี้หนีรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย

4. ซ้อมหนีไฟเป็นประจำ

          ทุกคนในบ้านควรจะต้องเรียนรู้วิธีการหนีไฟ และวิธีการป้องกันตัวเองจากเพลิงไหม้ที่ถูกวิธี โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องสอนให้เขารู้จักทางหนีไฟภายในบ้านให้ครบถ้วน นอกจากนี้ก็ควรซ้อมหนีไฟกันเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

5. แปะเบอร์โทร. ฉุกเฉินให้เห็นเด่นชัด

          เพื่อความรอบคอบ ควรเขียนเบอร์โทร. ฉุกเฉิน เช่น เบอร์โทร. สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ และเบอร์โทร. โรงพยาบาลใกล้บ้าน เอาไว้ให้เห็นเด่นชัด จะติดไว้บนกำแพงตรงจุดที่วางโทรศัพท์บ้านก็ได้ เวลาเกิดเหตุขึ้นมาจะได้ไม่ตกใจจนลนลานและลืมเบอร์เหล่านี้ไปจนหมด

6. ติดตั้งเครื่องตัดไฟ

          เครื่องตัดไฟทุกชนิดก็ควรจะต้องมีติดไว้ที่บ้านเช่นกัน เพราะหากเกิดกรณีไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องตัดไฟเหล่านี้จะได้ช่วยตัดกระแสไฟในบ้านได้เลยทันที ไร้กังวลกับเหตุเพลิงไหม้ได้ประมาณนึงเลยล่ะ

7. ซื้อถังดับเพลิงติดไว้

          นอกจากเครื่องตรวจจับควันไฟและเครื่องตัดไฟก็น่าจะซื้อถังดับเพลิงเอาไว้ที่บ้านบ้าง อย่างน้อยก็ชั้นละ 1 ถัง ติดตั้งในจุดที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ให้ทุกคนในบ้านรู้ตำแหน่งของถังดับเพลิง และที่สำคัญอย่าลืมศึกษาวิธีการใช้ถังดับเพลิงกันทุกคนด้วยนะ


6. ใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง

          ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมกันภายในเต้าเสียบไฟเต้าเดียว เพราะอาจจะทำให้เกิดไฟช็อตและไฟฟ้าลัดวงจรได้ รวมทั้งควรจะติดตั้งสายดินของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านด้วย และหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดอยู่เสมอ หากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนชำรุด เช่น สายไฟขาด ก็ไม่ควรใช้ แต่ควรนำไปซ่อมแซมหรือซื้ออันใหม่มาใช้ทันที

7. ลดความเสี่ยงเกิดไฟไหม้

          สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านมีได้หลายอย่าง เช่น เพลิงไหม้ในห้องครัว ที่อาจจะเกิดจากความสะเพร่าของเราเอง เป็นต้นว่าเผลอตั้งไฟทิ้งไว้แล้วลืม หรือวางผ้าเช็ดมือและวัตถุไวไฟใกล้กับเตาไฟเกินไป รวมทั้งกรณีลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเพื่อความปลอดภัยเราก็ควรสำรวจความเรียบร้อยของสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และพยายามใช้ความระมัดระวังทุกครั้งที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟืนไฟด้วยจ้า

8. ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน

          บุหรี่ก็เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้อย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าสูบในบ้าน บนเตียงนอน หรือบนโซฟา ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น ถ้ามีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ควรจัดที่สูบบุหรี่เป็นกิจจะลักษณะ และควรจะจัดที่ทางสำหรับสูบบุหรี่ด้านนอกบ้านที่เป็นพื้นที่โล่ง ๆ ลมโกรกดี ๆ ด้วยนะคะ

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทุกคนควรจะศึกษาเป็นข้อมูลไว้ เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเองและทุกคนในบ้าน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยจะดีที่สุดนะคะ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ เตรียมตัวไว อพยพทัน ปลอดภัยจากเหตุร้าย อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 23:11:47 50,141 อ่าน
TOP