x close

วิธีปลูกสับปะรดด้วยจุก พร้อมเคล็ดลับเพิ่มรสหวานแถมผลใหญ่

          ไม่ต้องมีพื้นที่เป็นไร่ ก็ปลูกสับปะรดได้ เพราะวันนี้เรามีวิธีการปลูกสับปะรดด้วยจุกแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเองมาฝาก พร้อมข้อมูลน่ารู้ก่อนปลูกสับปะรด 

สับปะรด
 
          การปลูกสับปะรดดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนที่ไม่ได้มีอาชีพทำไร่ทำสวน แต่เราก็สามารถปลูกสับปะรดเอาไว้รับประทานเองในบ้านได้เหมือนกัน ถึงจะมีเนื้อที่ในบ้านไม่พอให้ทำสวนก็ไม่เป็นไร เพราะพื้นที่เล็ก ๆ ก็ปลูกได้ โดยการปลูกด้วยจุกสับปะรด พร้อมเคล็ดลับในการดูแลให้เนื้อหวานฉ่ำ แถมผลใหญ่ 

ลักษณะและสายพันธุ์สับปะรด

          สับปะรด เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Ananas comosus และมีชื่อสามัญว่า Pineapple ในไทยก็มีชื่อเรียกอื่น ๆ แตกต่างตามพื้นถิ่น ได้แก่ ย่านัด (ภาคใต้) บ่อนัด (ภาคเหนือ) บักนัด (ภาคอีสาน) โดยเป็นพืชในกลุ่มใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นอยู่ใต้ดิน มีดอกช่อออกกลางต้น ความสูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร ออกผลเป็นผลรวมทรงกระบอก ปลายผลมีใบกระจุก ออกผลผลิต 2 ช่วงคือ  ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน และพฤศจิกายน - มกราคมของทุกปี สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในไทยมี 6 สายพันธุ์คือ พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์ภูเก็ต พันธุ์สวี พันธุ์นางแล พันธุ์อินทรชิต และพันธุ์ตราดสีทอง 

 
วิธีปลูกสับปะรดด้วยจุก

1. คัดสับปะรดพันธุ์ดี

          ควรเลือกผลสับปะรดที่เนื้ออิ่มแน่น จุกสับปะรดต้องเป็นสีเขียว ไม่เหลือง และไม่มีใบสีน้ำตาล ส่วนผลสับปะรดก็ควรมีสีเหลืองทอง ไม่เขียว หรืออ่อนจัดจนเกินไป ที่สำคัญต้องตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่า จุกหรือใบสับปะรดไม่มีแมลงมากัดกิน โดยสังเกตได้จากจุดสีเทาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เกาะติดอยู่ตามใบ หากพบเจอแมลงกินพืชเหล่านี้ก็ต้องหาสับปะรดผลไม้มาเป็นพันธุ์แทน

          นอกจากนี้ผลสับปะรดที่เลือกต้องเป็นผลที่กำลังดี ไม่สุก หรืออ่อนจนเกินไป ซึ่งวิธีการตรวจสอบสับปะรดก็ทำไม่ยาก เพียงแค่ลองดึงจุกสับปะรดเบา ๆ หากจุกสับปะรดหลุดออกอย่างง่ายดาย ก็แสดงว่า สับปะรดลูกนั้นสุกเกินไปที่จะนำมาเพาะเป็นพันธุ์แล้วล่ะค่ะ

สับปะรด
 
2. เตรียมจุกสับปะรดสำหรับลงปลูก

          หลังจากได้ผลสับปะรดคุณภาพดีมาแล้ว (ควรคัดเลือกสัปปะรด 2 ลูก เพื่อป้องกันความผิดพลาด) ต่อจากนี้ให้คุณใช้มือบิดจุกสับปะรดออกมา โดยหลีกเลี่ยงการใช้มีดตัดจุกสับปะรด เพราะความคมของมีดอาจจะทำให้คุณตัดสับปะรดเข้าถึงเนื้อ เป็นเหตุให้สับปะรดเน่าเสียทั้งลูกได้

          เมื่อบิดจุกสับปะรดออกมาได้แล้ว คราวนี้ให้ใช้มีดค่อย ๆ เล็มโคนจุกสับปะรดให้มีลักษณะ เรียบเสมอกัน โดยในระหว่างที่ใช้มีปาดบาง ๆ ก็พยายามสังเกตด้วยว่า เราปาดถึงเนื้อเยื่อ และรากของสับปะรด (ปุ่มกลม ๆ เล็ก ๆ ลักษณะคล้ายตาสับปะรด) แล้วหรือยัง ถ้าปาดจนเริ่มเห็นรากสับปะรดแล้ว ขั้นต่อไปให้ดึงกาบใบสับปะรด โดยเริ่มจากส่วนโคนจุกสับปะรดก่อน ดึงกาบใบออกไปเรื่อย ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น เป็นการเปิดทางให้รากงอกออกมาได้สะดวกขึ้น แต่ก่อนจะนำจุกสับปะรดปักล งกระถาง ควรตากจุกสับปะรดประมาณ 2-3 วัน โดยคว่ำยอดจุกลงสู่พื้นดิน เพื่อฆ่าเชื้อโรค และให้แสงแดดเลียรอยแผลจนแห้ง และรัดตัว ป้องกันจุกสับปะรดเน่าเสีย จากนั้นค่อยนำไป

3. เพาะพันธุ์ขยายราก

          ก่อนนำจุกไปปลูกให้นำมาแช่น้ำเพื่อขยายรากสับปะรดก่อน โดยขั้นตอนนี้ให้ใช้โหลพลาสติก หรือแก้วขนาดใหญ่ ใส่น้ำสะอาด แล้วนำจุกสับปะรดไปปักแช่ไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ และระหว่างนั้นก็ต้องเปลี่ยนน้ำในขวดโหลทุก ๆ 2-3 วันด้วย ทั้งนี้ควรวางขวดโหลไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติคือ ไม่ร้อนจัด หรือเย็นจัดเกินไป หรืออาจจะวางขวดโหลไว้บนหลังตู้เย็นก็ได้

วิธีปลูกสัปะรด

4. ปลูกลงกระถาง

          หลังจากเพาะจนรากสับปะรดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ให้คุณเตรียมกระถางสำหรับปลูกสับปะรดได้เลย โดยเลือกกระถางปลูกต้นไม้ความสูงประมาณ 8 นิ้ว และมีรูระบายน้ำมากพอสมควร จากนั้นรองก้นกระถางด้วยหิน เทให้หนาประมาณ 2 นิ้ว ตามด้วยลงดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ผสมปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 เสร็จแล้วให้ปักจุกสับปะรดลงไป กลบดินให้แน่น

          ทั้งนี้ในระยะแรกให้คุณหมั่นรดน้ำต้นสับปะรดพอประมาณ รักษาระดับความชื้นของดินให้สมดุล ไม่เปียกจัด และไม่แห้งระแหงจนเกินไป ที่สำคัญในช่วง 6-8 สัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่รากสับปะรดกำลังเติบโต และสร้างความแข็งแรงให้ตัวเอง ดังนั้นทางที่ดีอย่าเพิ่งใส่ปุ๋ย หรือรบกวนต้นสับปะรดนะคะ และหลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน รากของต้นสับปะรดจะเริ่มแข็งแรง พร้อมจะงอกหน่อ ซึ่งหากอยากตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของราก ก็ทำได้โดยลองดึงจุกสับปะรดเบา ๆ หากต้นสับปะรดยึดเกาะกับดินในกระถางอย่างเหนียวแน่น ก็หมายความว่ารากมีความแข็งแรงมากพอแล้ว และในระยะนี้คุณจะเริ่มเห็นต้นสับปะรดงอกรากใหม่แล้วล่ะค่ะ

          แต่ในกรณีที่รากสับปะรดยังอ่อนแอ หรือมีปัญหาเกิดขึ้น คุณจะสามารถดึงจุกสับปะรดออกมาจากกระถางได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเมื่อเจอแบบนี้ก็คงต้องตรวจ สอบความผิดปกติกันหน่อย ง่าย ๆ ก็แค่สำรวจดูรากว่าเน่า หรือมีเชื้อรารบกวนหรือไม่ และถ้าเจอปัญหาเหล่านี้ ก็คงต้องเริ่มกระบวนการเพาะจุกสับปะรดกันใหม่ตั้งแต่ต้นเลยล่ะ แต่คราวนี้อย่าเผลอมือหนักรดน้ำจนชุ่มแฉะเกินไปนะคะ

สับปะรด

การดูแลทั่วไป

1. แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม

          เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชเขตร้อน เราจึงต้องวางกระถางต้นสับปะรดไว้ในมุมที่แดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และควรรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 24-30 องศาเซลเซียส หรือถ้าวันไหนที่แดดดี จะนำกระถางต้นสับปะรดไปตากแดดจัด ๆ ก็จะดีมาก เพราะช่วยเสริมให้สับปะรดเติบโตอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น อีกทั้งยังเสริมภูมิคุ้มกันโรคพืช และศัตรูพืชได้ด้วย

          แต่หากคุณไม่สามารถจัดวางกระถางต้นสับปะรดในจุดที่มีแดดส่องถึงได้ แนะนำให้ใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซ้นส์เปิดอนุบาลต้นสับปะรดวันละประมาณ 12-14 ชั่วโมง ในช่วงแรก ๆ จนกว่าที่ต้นสับปะรดจะโตและเริ่มมีดอกออกผล ค่อยลดการใช้ไฟเป็นวันละ 10-11 ชั่วโมงในเวลาต่อมา
 
2. การรดน้ำ

          ควรหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ อย่างน้อยประมาณ 1 ลิตรต่อต้น ยกเว้นในช่วงฤดูฝน ควรระวังไม่ให้น้ำเยอะเกินไปจนดินแฉะ เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ นอกจากนี้ควรระวังเรื่องเชื้อรา 
 
3. การให้ปุ๋ย

          เคล็ดลับที่ทำให้สับปะรดหวานฉ่ำก็คือ ควรให้ปุ๋ยฟอสฟอรัส โพรแทสเซียม และไนโตรเจนอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง โดยให้ปุ๋ยในปริมาณเล็กน้อยก็พอ ซึ่งจะเลือกให้ปุ๋ยทางกาบใบ ด้วยการโรยปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้น หรือให้ปุ๋ยชนิดเหลว ด้วยการฉีดพ่นกาบใบ หรือราดบนหน้าดินรอบ ๆ ก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องระวังอย่าใส่ปุ๋ยที่โคนต้นโดยตรง เพราะอาจจะทำให้รากเกิดความเสียหายได้ และหากให้ปุ๋ยน้อยเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อรสชาติของสับปะรด 
 
4. โรคพืช และศัตรูพืช

          ศัตรูพืชที่มักจะมาก่อกวนต้นสับปะรด คือ ไร เชื้อรา และอาการตกสะเก็ด ซึ่งสามารถจำได้โดยการล้างกาบใบด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ส่วนโรคพืชที่พบบ่อยจะเป็นโรครากเน่า รากเกิดเชื้อรา สังเกตได้ง่าย ๆ จากการที่กาบใบตรงกลางเป็นสีน้ำตาลคล้ำออกดำ และเวลาที่ดึงจุกสับปะรด รากก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย ซึ่งสาเหตุของโรคพืชเหล่านี้ก็มาจากการรดน้ำมากเกินไป รวมทั้งการใส่ปุ๋ยตรงกลางลำต้น ทำลายเนื้อเยื่อของรากให้เน่าตายนั่นเอง และนี่ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องระมัดระวังการรดน้ำ และให้ปุ๋ยต้นสับปะรดให้มาก
 
การออกดอกและผล

          แม้พื้นฐานของสับปะรดจะเป็นผลไม้เนื้อหวานฉ่ำ แต่ในระหว่างที่รอคอยผลผลิตนานนับปี เราจะมีโอกาสได้เห็นดอกของสับปะรดในช่วงเดือนที่ 12 ถึงเดือนที่ 14 ในขณะที่ต้นสับปะรดเจริญเติบโตได้ประมาณ 21 นิ้วเป็นต้นไป ตรงกลางของจุกจะผลิดอกสีแดงสดออกมาให้เราได้ชมจนชื่นใจ แต่สำหรับผลผลิตที่เรารอคอย จะเริ่มแตกหน่อประมาณเดือนที่ 20 และจะใช้เวลาเติบโต จนกว่าจะสุกงอมพร้อมรับประทานในเดือนที่ 24-26 เป็นต้นไป

 การบังคับดอก

          เนื่องจากเราปลูกต้นสับปะรดด้วยวิธีบ้าน ๆ อีกทั้งยังปลูกสับปะรดในจำนวนน้อย จึงอาจจะไม่เหมาะเท่าไรนัก หากจะใช้สารเคมีเร่งดอก แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็สามารถใช้วิธีบ้าน ๆ บังคับดอกสับปะรดได้เช่นกัน เพียงแค่นำกระถางต้นสับปะรดใส่ลงไปในถุงที่มีผลแอปเปิลสุกงอม (ช้ำจนเกือบจะเน่านิดหน่อยก็ได้) จากนั้นวางถุงทิ้งไว้ในที่ที่มีแสงแดดรำไร นานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยนำถุงต้นสับปะรดไปตากแดดจัด ผลแอปเปิลสุกจะปล่อยก๊าซเอธิลีนออกมา เร่งต้นสับปะรดให้ออกดอกเร็วขึ้นได้

          หรือคุณจะใช้วิธีวางก้อนแคลเซียม คาร์ไบด์ (Calcium Carbide) ปริมาณเพียงแค่นิ้วก้อยเล็ก ๆ ของเรา ตรงบริเวณโคนต้น แล้วรดน้ำประมาณ ¼ ถ้วยตวงตามลงไป วิธีนี้ก็จะช่วยให้เกิดสารเอธิลีน เร่งดอกสับปะรดอีกทางหนึ่งได้ แต่ทั้งนี้คุณควรทำในช่วงตกเย็น หรือเวลากลางคืนจะได้ผลดีที่สุด

สับปะรด
 
ระยะเวลาที่ควรเก็บเกี่ยว

          เมื่อสับปะรดออกผลแล้ว ตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน กว่าที่ผลสับปะรดจะเปลี่ยนจากสีเขียว สด แล้วค่อย ๆ เป็นสีเหลืองจากด้านล่าง ไล่ระดับไปจนถึงผลด้านบน และกลายเป็นสีเหลืองทองทั้งลูก บ่งบอกถึงความสุกงอมเต็มที่ แต่ถ้าใครใจร้อน จะรอให้ผลสับปะรดเหลืองแค่กลางลูก หรือเป็นสีเหลืองประมาณ 10% ก็ถือว่าใช้ได้แล้วล่ะค่ะ ทั้งนี้ผลสับปะรดจะมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ลิ้มรสผลไม้ลูกแรกในชีวิตให้อิ่มหนำกันได้เลย
 
หลังการเก็บเกี่ยว

          ต้นสับปะรดหลังการเก็บกี่ยว จะสามารถไว้ตอได้ประมาณ 1-2 ครั้ง โดยให้คุณตัดต้นสับปะรดในระดับเหนือดินประมาณ 20-30 เซนติเมตร จากนั้นใช้พืชคลุมดินป้องกันวัชพืช และเก็บรักษาความชุ่มชื้น ในระหว่างนั้นก็รดน้ำดูแลต่อไปอีกสักประมาณ 2-3 เดือน ต้นสับปะรดจะเริ่มแตกหน่อข้างออกมา และเติบโตจนออกผลได้อีกครั้ง
 
          แม้ว่าการปลูกสับปะรดเพื่อกินผลจะต้องรอนานนับปี แต่เราเชื่อว่า หากใครได้กินสับปะรดที่ตัวเองทุ่มเทแรงกายแรงใจปลูก และดูแลมาตลอด ก็คงต้องภูมิใจ และกินสับปะรดผลนั้นได้อร่อยกว่าครั้งไหน ๆ แน่นอนจ้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิชาเกษตร และพลังเกษตร
 
รับรีวิวโครงการบ้านใหม่ คอนโดเปิดตัว ของแต่งบ้าน อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน หรืออื่น ๆ รับทำการตลาดด้วย Social Network, Content Marketing คลิกเลย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปลูกสับปะรดด้วยจุก พร้อมเคล็ดลับเพิ่มรสหวานแถมผลใหญ่ อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2563 เวลา 11:47:07 165,264 อ่าน
TOP