วิธีไล่ตะขาบ สำหรับคนที่บังเอิญเจอตะขาบเข้าบ้าน และกำลังตกใจไม่รู้จะหาทางไล่อย่างไรดี วันนี้เรามีวิธีไล่ตะขาบออกจากบ้านมาแนะนำกันค่ะ
บ้านไหนกำลังกลุ้มใจกับสัตว์ขาเยอะยั้วเยี้ยอย่าง "ตะขาบ" ที่จู่ ๆ ก็แอบมาอาศัยอยู่ร่วมบ้านอย่างไม่ได้รับเชิญโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งนอกจากจะชวนขนลุกแล้วยังมีพิษร้ายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอีกด้วย ลองมาดูวิธีไล่ตะขาบที่กระปุกดอทคอมรวบรวมมาฝากกันในวันนี้ แล้วนำไปจัดการกับตะขาบที่คอยกวนใจให้ขนลุกกันนะคะ
1. หาแหล่งให้เจอ
สิ่งสำคัญที่สุดในการกำจัดตะขาบออกจากบ้าน คือควรหาแหล่งซ่อนตัวของตะขาบให้เจอ เพื่อจัดการไล่ให้หมดตั้งแต่ต้นตอ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการออกลูกหลานตะขาบ และกระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของบ้านให้น่าสยองมากขึ้น โดยแหล่งอาศัยของตะขาบส่วนใหญ่จะเน้นจุดอับที่มีความชื้น เช่น ตามซอกผนัง โพรงดิน หรือท่อระบายน้ำ เป็นต้น
2. กำจัดที่อยู่อาศัย
อีกหนึ่งวิธีไล่ตะขาบง่าย ๆ แต่ได้ผลเกินคาดก็คือ ทำลายที่ซ่อนตัวของพวกมัน เช่น ติดตั้งเครื่องลดความชื้นในบ้าน ติดตั้งพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำ ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา อุดรูรั่วและรอยแตกเพื่อไม่ให้แมลงสาบเข้ามาในบ้านหรือวางไข่ได้ กำจัดแหล่งอาหารที่ตะขาบชอบ และหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่เปียกชื้น เช่น กองเศษใบไม้ เศษขยะ หรือแหล่งที่พวกมันใช้เป็นที่อยู่อาศัย
3. เทปูนขาวดักตามทาง
ลองเทปูนขาวตามจุดที่คิดว่าน่าจะมีตะขาบซ่อนตัวอยู่ หรือเทไว้ตามรายทางที่ตะขาบชอบออกมาเดินยั้วเยี้ย โดยโรยในปริมาณเยอะหน่อย หรือจะผสมน้ำมะกรูดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพก็ยิ่งดี และพยายามดักทางที่จะเข้าห้องนอนหรือห้องสำคัญ เพื่อบังคับให้ตะขาบไปในเส้นทางที่ต้องการและอพยพออกจากบ้านไปเอง ทั้งนี้ ควรหมั่นเปลี่ยนปูนขาวบ่อย ๆ ด้วย
4. โรยผงล้างห้องน้ำ
ค่อย ๆ โหดขึ้นทีละนิดสำหรับการไล่ตะขาบ โดยให้เปลี่ยนจากปูนขาวมาเป็นผงล้างห้องน้ำยี่ห้อต่าง ๆ ที่มีขายกันอยู่ทั่วไป และให้โรยตามเส้นทางวิธีการเดียวกับปูนขาว ความแรงของผงล้างห้องน้ำอาจส่งผลให้ตะขาบแสบร้อนจนเผ่นหนีไปก็ได้
5. วางสบู่ปิดตามท่อ
ตะขาบส่วนมากมักจะคืบคลานเข้ามาตามท่อน้ำที่มีความอับชื้น ดังนั้น วิธีป้องกันง่าย ๆ ให้ลองหาอะไรไปปิดตามฝาท่อเพื่อไม่ให้ตะขาบผลุบโผล่ขึ้นมาได้ ยิ่งถ้าเป็นก้อนสบู่ที่มีความลื่น และมีด่างอยู่ในตัว จะช่วยทำให้ตะขาบไม่กล้าไต่ขึ้นมาเพราะกลัวอันตราย
6. พึ่งผงไล่ตะขาบ
ปัจจุบันมีการพัฒนาตัวช่วยไล่ตะขาบให้สะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น สำหรับคนที่อยากไล่ตะขาบแบบง่าย ๆ ก็ลองไปหาซื้อผงไล่ตะขาบตามร้านทุกอย่าง 60 บาท มาโรยให้ทั่วบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง หรือจะผสมน้ำแล้วฉีดตามบริเวณที่ต้องการก็ได้เช่นกัน
7. ใช้โซดาไฟ
เทโซดาไฟใส่ในท่อ หรือจุดที่ตะขาบชอบปรากฏตัว ฤทธิ์ของโซดาไฟจะทำให้ตะขาบแสบร้อนและเข็ดหลาบจนไม่อยากโผล่มาให้เห็นอีกเลยล่ะ
8. พ่นน้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้ที่มีขายตามร้านอุปกรณ์เกษตร หรือตามซูเปอร์มาร์เกตบางแห่ง สามารถนำมาผสมน้ำและฉีดพ่นเพื่อป้องกันตะขาบได้ โดยควรระวังอย่าให้เข้าตาหรือโดนร่างกาย เนื่องจากมีความเป็นกรดสูง
9. เลี้ยงไก่
ใครจะเชื่อว่าการเลี้ยงไก่จะช่วยไล่ตะขาบได้ แต่มีเสียงยืนยันมากมายว่าการเลี้ยงไก่ช่วยให้ตะขาบหลบหายไปได้จริง ๆ เพราะไก่กับตะขาบดูท่าว่าจะไม่ลงรอยกันสักเท่าไหร่ แต่ทางที่ดีก็ให้ระวังอันตรายจากพิษตะขาบที่จะเกิดกับไก่ของคุณด้วยนะคะ
10. ฉีดสเปรย์สบู่
เพียงแค่ผสมสบู่เหลว 2 ช้อนโต๊ะ กับน้ำอุ่น 1 แกลลอน เข้าด้วยกันในขวดสเปรย์ เขย่าให้เข้ากันดี แล้วฉีดตามมุมมืด รอยแตกของบ้าน และบริเวณที่พบตะขาบบ่อย ๆ ก็จะช่วยกำจัดตะขาบกวนใจได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อน้ำสเปรย์สบู่สัมผัสกับตัวตะขาบ จะทำให้ร่างกายมันคายน้ำจนแห้งตายในที่สุด
11. DIY สเปรย์น้ำมันพืช
สำหรับตะขาบที่เข้ามาก่อกวนสวนสีเขียวในบ้าน ขอแนะนำให้ทำสเปรย์สูตรธรรมชาติที่ช่วยไล่สัตว์ขาเยอะยั้วเยี้ยได้อยู่หมัด แถมไม่เป็นอันตรายต่อพืชผักหรือต้นไม้เลยสักนิด เริ่มจากผสมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันพืช 1 ถ้วยตวง เข้าด้วยกันในกล่องพลาสติก ปิดฝาทิ้งไว้ จากนั้นเวลาจะใช้งานให้นำมาเจือจางในขวดสเปรย์ก่อน โดยผสมน้ำยาที่ผสมไว้ 2 ช้อนโต๊ะ เข้ากับน้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง เขย่าให้เข้ากัน แล้วฉีดพ่นบนต้นไม้บ่อย ๆ หรือทุก ๆ 10 วัน จนกว่าสวนจะไร้ร่องรอยความเสียหายจากตะขาบ
12. ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์
อีกหนึ่งวิธีไล่ตะขาบออกจากสวนในบ้านแบบไม่ทำร้ายพืชผักและต้นไม้ ให้นำรับบิ้งแอลกอฮอล์ 1 ถ้วยตวง น้ำมันพืช 1 ช้อนชา และน้ำเปล่า 1 ลิตร ผสมเข้าด้วยกันในขวดสเปรย์ เขย่าจนทั้งหมดเข้ากันดี เสร็จแล้วก็นำไปฉีดพ่นให้รอบสวนได้เลย
แม้จะได้รู้จักกับวิธีไล่ตะขาบยั้วเยี้ยออกจากบ้านกันไปแล้ว แต่หากบ้านไหนยังคงปราบไม่อยู่หมัด คงต้องพึ่งพาวิธีสุดท้าย คือ ตั้งสติ คว้าของใกล้ตัว และตีให้ตาย ซึ่งแม้ว่าจะดูบาปและรุนแรงไปสักหน่อย แต่ทั้งหมดก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง แต่อย่างไรก็ขอแนะนำให้เก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายจะดีกว่านะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก hunker และ apartmenttherapy