4 สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม ป้องกันไว้ก่อนเจ็บตัว

          สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วมมีอะไรบ้าง พร้อมจุดควรระวังภายในบ้านและนอกบ้าน และวิธีป้องกันรวมทั้งการปฐมพยาบาล

          ช่วงน้ำท่วมแบบนี้ บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ก็ต่างหนีน้ำหลบเข้ามาในบ้านเรา โดยเฉพาะสัตว์มีพิษที่เราควรต้องระวังเป็นพิเศษ วันนี้เรามีข้อมูลของสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ ปลิง แมงป่อง ที่ควรระวังช่วงน้ำท่วมมาฝาก พร้อมทั้งลักษณะหน้าตา จุดที่ควรระวังทั้งภายในและภายนอกบ้าน การป้องกัน และวิธีปฐมพยาบาล

จุดที่ควรระวังสัตว์มีพิษ

 ปลิงดูดขา

  • ภายในบ้าน
          ควรจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษอพยพเข้ามาซ่อนตัว รวมถึงเก็บกวาดตามมุมอับต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น ใต้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมถึงรองเท้า ผ้าเช็ดเท้า กองเสื้อผ้า ทั้งนี้ สามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดยการอุดรูหรือช่องต่าง ๆ เช่น ท่อระบายน้ำในห้องน้ำ ท่อน้ำทิ้งอ่างล้างจาน รวมถึงซ่อมแซมรอยแตกร้าวบนผนังหรือพื้นให้เรียบร้อย อีกทั้งควรเตรียมยาฆ่าแมลงไว้ฉีดพ่นไล่สัตว์มีพิษหลังน้ำท่วมด้วย
  • ภายนอกบ้าน
          หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วมเพื่อออกไปทำธุระ ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายให้มิดชิด พร้อมนำถุงพลาสติกหุ้มเท้าให้ทับปลายขากางเกง แล้วมัดปากถุงด้วยเชือกหรือยางป้องกันสัตว์เข้ามาในกางเกง และระหว่างเดินให้ใช้ไม้เขี่ยหรือกระทุ้งน้ำให้กระจายเพื่อให้สัตว์หนีไปก่อน

สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม

1. งู

สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม งู

          งูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีลำตัวลักษณะกลมยาว ไม่มีแขน ขา หรือใบหู ลำตัวมีเกล็ด ไม่มีเปลือกตา มีทัั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ หากเป็นงูพิษจะมีเขี้ยว 1 คู่ ตรงขากรรไกรบน หากโดนกัดจะมีรอยเขี้ยวเป็นรูกลวง 2 จุดชัดเจน รอบเขี้ยวมีสีคล้ำหรือพองเป็นถุงน้ำ หากเป็นงูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยว แต่มีฟัน รอยกัดจะเป็นรอยฟันเรียงกันเป็นแถว 

          สายพันธู์งูที่พบมาก ได้แก่ งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม งูหลาม มักจะซ่อนตัวในพื้นที่ที่มีความอบอุ่น ป้องกันได้โดยการโรยปูนขาวไว้รอบ ๆ บ้าน ก็จะช่วยไม่ให้งูเลื้อยเข้ามาอยู่ในบ้านได้

วิธีปฐมพยาบาลงูกัด

  1. โทร. 1669 หรือรีบไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด
  2. นำซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) หรือจดจำลักษณะงูที่กัด หรือถ่ายภาพงูเอาไว้ 
  3. พยายามให้บริเวณที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยสุด สามารถทำการดามไม้กระดานหรือกระดาษแข็งและปิดแผล
  4. ไม่ควรขันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี เพราะอาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมและเนื้อตายมากขึ้น

2. แมงป่อง

สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม แมงป่อง

          แมงป่องมีรูปร่างคล้ายปู มีขนาดยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัวและอกรวมกัน ส่วนท้องมีลักษณะเป็นปล้อง มีขาคล้ายก้ามปูไว้สำหรับจับเหยื่อ ส่วนหางมี 5 ปล้อง ปลายหางยกขึ้นและมีต่อมพิษไว้ต่อยศัตรู มักพบในห้องน้ำ ครัว ผนังห้อง ท่อแอร์ และชอบที่เย็น 

          หากโดนแมงป่องต่อย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่โดน โดยพิษจะมีผลกับระบบประสาทและระบบโลหิต ทำให้รู้สึกปวดทันที และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ชัก น้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำมาก ไปจนถึงเนื้อตัวเขียวและหัวใจล้มเหลว

วิธีปฐมพยาบาลแมงป่องกัด

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด

  2. ประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวด

  3. หากสังเกตเห็นอาการใด ๆ ที่แย่ลง หรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อหรือมีอาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ควรไปพบแพทย์ หรือโทร. 1669

3. ตะขาบ

สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม ตะขาบ

          ตะขาบมีลักษณะเป็นสัตว์ขาข้อ มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3-8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบมีปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัว เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ
          มักอาศัยในบริเวณที่อับชื้นและรก รอยกัดจะเป็นรอยเขี้ยว 2 จุด พิษของมันจะทำให้มีอาการปวด บวม แดง หากรุนแรงอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต รู้สึกเจ็บเมื่อกด ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือทำให้เนื้อตายเฉพาะจุดได้

วิธีปฐมพยาบาลตะขาบกัด

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด

  2. ประคบน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวด

  3. ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ช็อกหมดสติ ควรไปพบแพทย์ หรือโทร. 1669

4. ปลิง

สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม ปลิง

          ปลิงเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำ มีลำตัวเป็นวงแหวนต่อกัน ยืดหยุ่นได้ ที่หัวและท้ายมีปากดูด (Sucker) ปากที่ท่อนหัวมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้สำหรับกัดและดูดเลือด ขณะที่กัดจะปล่อยสารฮิรูดิน (Hirudin) ซึ่งทำให้ผู้ถูกกัดมีเลือดไหลอยู่เป็นเวลานานและหายช้า ในกรณีที่เคยถูกกัดมาก่อนจะมีผื่นลมพิษและตุ่มพองเกิดขึ้นได้

วิธีปฐมพยาบาลปลิงดูด

          หากโดนปลิงดูดห้ามดึง เพราะจะทำให้เป็นแผลใหญ่ เนื้อฉีกขาด และหยุดเลือดยาก ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ใช้น้ำเกลือหรือแอลกอฮอล์หยดรอบ ๆ ปากดูดของมัน จะทำให้ปลิงหลุดออกได้ง่าย จากนั้นให้รีบล้างทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมรีบไปพบแพทย์ หากมีอาการแพ้จะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

การป้องกันสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม

น้ำท่วมบ้าน

  1. สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เพียงพอ

  2. สำรวจที่นอน ยกที่นอนให้สูงจากพื้น หากกางมุ้งได้ควรกางมุ้ง

  3. สำรวจเสื้อผ้า-รองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง และสวมรองเท้าบูตเมื่อเข้าสวน

  4. ทำความสะอาดบ้านและดูแลบ้านให้เป็นระเบียบ

  5. หลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือมีหญ้ารกขึ้นสูงในช่วงเวลากลางคืน

          ช่วงน้ำท่วมหลายคนเป็นห่วงบ้าน จึงเลือกอยู่เฝ้าบ้านที่ล้อมรอบด้วยน้ำ รวมทั้งหลังน้ำลดก็อาจเจอสัตว์มีพิษหลบอยู่ภายในบ้าน ดังนั้น ควรระวังสัตว์มีพิษเหล่านี้ และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงค่ำคืน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงเจอสัตว์มีพิษด้วย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ น้ำท่วมบ้าน :

ขอบคุณข้อมูลจาก : ku.ac.th, niems.go.th (1) (2), radiothailand.prd.go.th และ scimath.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 สัตว์มีพิษควรระวังช่วงน้ำท่วม ป้องกันไว้ก่อนเจ็บตัว อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2567 เวลา 16:46:52 7,634 อ่าน
TOP
x close