7 งูพิษในไทย และพบเห็นได้บ่อยตามบ้าน มีลักษณะยังไง จะรู้ได้อย่างไรว่าโดนงูพิษกัด หากมี งูเข้าบ้าน แจ้งจับได้ที่ไหนบ้าง ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ นอกจากจะต้องระวังฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุ และน้ำท่วมแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน นั่นก็คือ "งู" อสรพิษสุดร้ายกาจที่ชอบเลื้อยหนีน้ำมาเข้าบ้านของเรา ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่อยู่เฉย ขออาสารวบรวมงูพิษชนิดต่าง ๆ ที่พบเจอได้บ่อยตามบ้านเรือนมาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ใช้แจ้งเหตุเมื่อมีงูเข้าบ้านหรือแอบอยู่ในสวน
ความแตกต่างระหว่าง งูพิษ และ งูไม่มีพิษ
ความแตกต่างระหว่าง งูพิษ และ งูไม่มีพิษ นอกจากจะดูกันที่ภายนอกแล้ว งูทั้ง 2 ชนิดนี้ยังมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันนั่นก็คือ โดยทั่วไปแล้วงูมีพิษจะต่อสู้ เมื่อโดนทำให้โกรธหรือตกใจ แต่หากเป็นงูไม่มีพิษจะมีความดุร้ายมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และสู้คนมากกว่า
ทั้งนี้ แผลที่เกิดจากงูมีพิษและงูไม่มีพิษก็แตกต่างกัน หากถูกงูพิษกัด พิษของงูจะซึมเข้าไปในผิวหนัง เยื่อเมือก หรือดวงตา และทำลายระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เนื้อเยื่อ เลือด เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ โดยเหยื่อที่ถูกกัดจะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ถูกกัด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ฯลฯ นอกจากนี้อาจถึงขั้นช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต
7 งูพิษพบบ่อยในไทย
1. งูเห่า
งูเห่า (Siamese) เป็นงูที่ออกหากินตามพื้นดินตอนกลางคืน ชอบอาศัยอยู่ตามจอมปลวก ทุ่งนา หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง ลักษณะลำตัวมีความยาวประมาณ 100-180 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สีเหลืองนวล หรือสีดำ ส่วนหัวแผ่แม่เบี้ยได้ โดยการตั้งส่วนหัวและคอขึ้น มีลายรูปวงแหวนสีขาว-ดำอยู่ตรงกลางด้านหลังของส่วนคอ เรียกว่า ลายดอกจัน
2. งูจงอาง
งูจงอาง (King Cobra) เป็นงูที่มักอาศัยอยู่ตามป่าทึบและใกล้แหล่งน้ำ สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย มีลำตัวยาว ประมาณ 200-540 เซนติเมตร โดยมีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 400 เซนติเมตร ส่วนสีสันและลวดลายของงูจงอางขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น งูจงอางภาคใต้ จะตัวใหญ่กว่างูจงอางที่พบในภาคอื่น ๆ มักมีสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียมอมเทา ลวดลายไม่ชัดเจน ส่วนงูจงอางของภาคเหนือ มักจะมีสีเข้มจนเกือบดำ ในขณะที่งูจงอางของภาคกลางและอีสาน มีลายขวางเป็นบั้งตลอดลำตัว เมื่อถูกรบกวนงูจงอางจะแผ่แม่เบี้ยได้เหมือนกับงูเห่า แต่แม่เบี้ยของงูจงอางจะแคบกว่าแม่เบี้ยของงูเห่า นอกจากนี้งูจงอางยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่ อยู่บนศีรษะค่อนไปทางด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม
3. งูสามเหลี่ยม
งูสามเหลี่ยม (Banded Krait) เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน เชื่องช้าตอนกลางวัน สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่จะชอบอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่ม ทุ่งนา และป่าชายเลน เป็นหลัก ลำตัวมีความยาวประมาณ 100-180 เซนติเมตร บางตัวอาจจะยาวได้ถึง 200 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าตัวผู้ ลำตัวมีสีดำสลับเหลืองเป็นปล้อง ๆ โดยสีของส่วนท้องจะจางกว่าส่วนบน ปลายหางมน และมีกระดูกสันหลังยกตัวสูงนูน เห็นเป็นลักษณะสามเหลี่ยมชัดเจน
4. งูทับสมิงคลา
งูทับสมิงคลา (Malayan Krait) เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน มีความว่องไวและมีพิษรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม มักอาศัยตามพื้นดิน ใกล้แหล่งน้ำ และมีความชื้นสูง ลำตัวมีความยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ลักษณะค่อนข้างกลม ไม่มีสันที่หลังชัดเจน ลำตัวมีสีขาวสลับสีดำเป็นปล้อง ๆ โดยในส่วนของเกล็ดสีขาวอาจจะมีสีดำปนอยู่บ้าง บริเวณท้องเป็นสีขาว หัวเป็นสีดำปนเทา หางเรียวยาวเล็กแหลม
5. งูแมวเซา
งูแมวเซา (Russell’s Viper) เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน มักอาศัยอยู่ตามโพรงดิน ซอกหิน พงหญ้า ทุ่งนา และที่แห้ง ไม่ค่อยชอบขึ้นต้นไม้สักเท่าไร เมื่อจะโจมตีจะขดตัวเป็นวงแล้วทำเสียงขู่ก่อนฉก ทั้งนี้ แม้ลำตัวจะดูเทอะทะ แต่จู่โจมค่อนข้างเร็ว ลำตัวมีความยาวประมาณ 90-150 เซนติเมตร เกล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นรูปกลมสีน้ำตาลเข้ม ขอบสีดำขลิบขาวทั่วลำตัว หัวเป็นทรงสามเหลี่ยม มีลายสีน้ำตาลเข้มคล้ายหัวลูกศร
6. งูกะปะ
งูกะปะ (Malayan Pit viper) เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืน ชอบขดตัวนิ่งตามซอกหิน ใต้กองใบไม้ ในสวนยางพารา และพื้นที่ลุ่มในป่าชื้น ความยาวลำตัวประมาณ 50-80 เซนติเมตร บางตัวอาจจะยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าตัวผู้ ลักษณะลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเทา มีลายสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่สองฝั่งลำตัว ซึ่งบริเวณปลายแหลมของสามเหลี่ยมจะชนกันอยู่ที่เส้นสีน้ำตาลตามแนวกระดูกสันหลังพอดี หัวออกสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวพาดผ่านปลายจมูก ขอบตาบน ไปจนถึงขากรรไกรบน ปากแหลม ปลายจมูกงอนขึ้นเล็กน้อย
7. งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง
งูเขียวหางไหม้ (White-lipped Pit viper) เป็นงูที่ออกหากินตอนกลางคืนตามพื้นดิน มักอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือใกล้แหล่งน้ำ พบบ่อยในสวนหรือใกล้บ้านคน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยงูตัวผู้มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวค่อนข้างอ้วนใหญ่ หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมหลิม ทั้ง 2 ส่วนปกคลุมด้วยเกล็ดสีเขียวขนาดเล็ก ผิวเรียบ และช่วงลำตัวจะใหญ่กว่าคออย่างเห็นได้ชัด ริมฝีปากและคางมักมีสีเหลือง ขาว หรือสีเขียวอ่อนกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย ปลายหางสีน้ำตาลแดง นอกจากนี้ตัวผู้มักมีเส้นขาวพาดเกล็ดลำตัวแถวนอกสุดตั้งแต่คอถึงหาง
งูเข้าบ้าน แจ้งจับที่ไหนได้บ้าง ?
ยิ่งเข้าหน้าฝนก็ยิ่งทำให้งูหนีน้ำมาเข้าบ้านของเรามากขึ้น ซึ่งถ้าหากใครพบว่าเป็นงูมีพิษละก็ ควรโทร. ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ จะดีที่สุด โดยสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 199 (สำหรับแจ้งอัคคีภัยและสัตว์เข้าบ้าน) และเบอร์ 1677 (รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน) ทว่าถ้าหากใครโชคไม่ดี โดนงูกัดเข้าให้แล้ว ก็สามารถโทร. ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนได้ที่เบอร์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมงเลยค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ งู :
ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส., อุทยานการเรียนรู้, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย/สวนงู และ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย/ความรู้จากพิษสัตว์