จากการปลูกเมลอนบนระเบียงบ้านที่เกิดจากความชอบ ตอนนี้ขยับขยายเป็นการปลูกเมลอนในโรงเรือน ไปดูพร้อม ๆ กันค่ะว่าเขาทำได้อย่างไร ?
จากการปลูกเมล่อนสมัครเล่นในระเบียงบ้าน สู่การปลูกเมล่อนในโรงเรือนขนาดใหญ่กว่าเดิม
ก็กราบสวัสดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในเว็บไซต์พันทิปทุกท่านอีกครั้งครับ ขออภัยที่ผมห่างหายไปนานแสนนาน หลาย ๆ ท่านก็ติดต่อสอบถามกันมามากมายหลังจากกระทู้ก่อน ๆ ที่กระผมได้ลงไปก่อนหน้านี้คือ กลับมาอีกครั้งครับกับการปลูกน้องเม(ลอน)ไฮโดรโปนิกภาค 2 ของผม 555 และ เอาเมล่อนญี่ปุ่นที่ปลูกล่าสุดมาให้ชมกันครับ เห็นหลาย ๆ คนถามกันมาเยอะผมจัดให้ละครับ
ต่อมาหลังจากนั้นผมก็ทิ้งระยะและหายไปพักใหญ่ ๆ มีหลายท่านมาถามและคิดว่าผมเลิกปลูกเมลอนไปแล้วก็มี สำหรับกระทู้นี้ผมกลับมาบอกพี่ ๆ ทุกท่านว่าผมยังไม่ได้เลิกปลูกนะครับ แต่การใช้ชีวิตในเมืองที่มีออกซิเจนต่ำและความวุ่นวายพลุกพล่านมันทำให้ผมอยากกลับไปอยู่ใกล้กับธรรมชาติและสีเขียวของต้นไม้อีกครั้ง บวกกับองค์ความรู้ในการปลูกเมลอนญี่ปุ่นที่ผมได้ลองผิดลองถูกและความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพี่ Best Hydroponics มากมายหลายอย่าง จึงเกิดความคิดและไอเดียว่าอยากลองทำในขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาแรกเลยที่ผมคิดคือเรื่องของที่ดิน
- ซึ่งตัวกระผมเองนั้นไม่มีที่ดินหรือมรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ออกตระเวนหาที่ดินเพื่อเช่าทำโรงเรือนในหลาย ๆ ที่ ก็เจอที่ที่ดีแต่อยู่ไกลบ้าง ส่วนที่อยู่ใกล้ก็เป็นที่ลุ่มรกร้างไม่ได้ถมก็เยอะ บางที่ติดคลองเป็นสวนมะพร้าวไม่ติดถนน ต้องพายเรือเข้าไป 1 กิโลเมตร เหนื่อยกับการหาที่เช่าตามเว็บไซต์ต่าง ๆ และตระเวนขับรถเพื่อไปดูที่ดินราว ๆ เกือบ 2 เดือนก็ไม่ได้อะไรเลย เหนื่อยและเกือบจะล้มเลิกความคิดนี้ไปแล้วครับ
- อยู่มาวันหนึ่งมีโอกาสได้ไปดูที่ดินที่คุณแม่ของผมท่านซื้อเอาไว้เพื่อทำบ้านแถว ๆ นครปฐมไว้แปลงหนึ่ง ราว ๆ 80 ตารางวากว่า ๆ ได้ และท่านได้ซื้อบ้านทรงไทยน็อคดาวน์หลังเล็ก ๆ ไว้ด้วยหลังหนึ่ง เป็นบ้านสวนริมคลองเล็ก ๆ ที่อากาศค่อนข้างดี ซึ่งท่านเองก็ตั้งใจจะมาอาศัยอยู่บ้านนี้และใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายที่บ้านสวน และผมก็ได้พิจารณาถึงพื้นที่ที่เหลือนอกเหนือจากตัวบ้านแล้ว สามารถสร้างโรงเรือนขนาด 6*12 เมตรและขนาด 6*8 เมตรได้สบาย ๆ แล้วในหัวของผมมีเสียงดังปิ๊งทันทีในขณะนั้น
- ซึ่งงานในส่วนของการสร้างโรงเรือนเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่เหล็กและอุปกรณ์ทั้งหมดถูกนำมาส่งไว้ที่บ้านสวน ด้วยข้อจำกัดเรื่องของเวลาในการสร้าง อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบว่าผมเองมีงานประจำ งานสร้างโรงเรือนจึงต้องทำเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น บางสัปดาห์ก็แค่วันเสาร์ บางครั้งก็มาทำตอนกลางคืนในวันธรรมดาหลังเลิกงานจนสว่างเลยก็มี งานจึงค่อนข้างออกมาช้า แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรค่อย ๆ ทำไป และตัวผมเองก็รู้สึกมีความสุขกับการที่ได้ทำ จะช้ามากก็ไม่เป็นไร
- งานเชื่อมโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ จึงกินเวลาไปราว ๆ 3-4 เดือนเศษ ๆ โครงสร้างทุกอย่างก็เสร็จพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนของการขึ้นโครง จริง ๆ ปัญหาก่อนหน้ามันมีจุกจิกเยอะแยะ ตั้งแต่เรื่องที่ดินที่ถมแล้วไม่มีขอบปูน ทำให้เวลาฝนตกดินไหลลงไปสวนส้มโอที่อยู่ข้าง ๆ ก็เสียเวลากับการทำรั้วแบบเสาเข็มและถมดินไปหลายเดือน
- พอโครงเสร็จพร้อมตั้งโรงเรือน ปัญหาไม่จบแค่นั้นครับ อยู่มาวันหนึ่งคุณพ่อผมซึ่งท่านเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยในการทำงานนี้ของผมสักเท่าไร ได้บอกว่าพื้นที่ของบ้านขนาดความยาวมัน 18 เมตร ซึ่งผมทำโรงเรือนยาว 12 เมตรและเว้นที่ไว้สำหรับจอดรถ 6 เมตรจะจอดไม่ได้ (ในความคิดผม ผมว่ามันพอที่จะจอดได้) ท่านให้ผมขยับเหลือโรงเรือน 10 เมตร เวลานั้นผมรู้สึกเครียดมาก ทุกสิ่งที่ได้พยายามทำมาด้วยความลำบากกลับมีปัญหากันแค่ที่ดินไม่กี่ตารางเมตร คิดไม่ตกกับเรื่องนี้อยู่หลายวันว่าจะเอายังไงดี
- บังเอิญมากที่ช่วงเวลาที่ผมเชื่อมโครงสร้างโรงเรือนนั้นมีเพื่อน ๆ ที่ติดตามและสนใจการปลูกเมลอนของผมจากพันทิปได้มาดูผมสร้างโรงเรือน ด้วยความที่เขามีแนวคิดและสนใจในเรื่องเดียวกัน ทำให้ผมเกิดความสนิทและผมระบายปัญหาเรื่องนี้ให้เขาฟัง คำแรกเลยที่เขาเอ่ยคือตัวเขาเองก็เป็นคนรักและสนใจงานด้านการเกษตรมาก แต่เขาไม่มีความรู้เลย ที่มาหาผมหลายครั้งก็แวะเข้ามาดูและอยากมาเรียนรู้เพื่อที่จะไปทำบนที่ดินที่บ้านเขาเอง เขาบอกว่าเอาแบบนี้ไหม มาทำที่ดินผม ผมเองก็อยากทำแต่ไม่มีพี่เลี้ยงคอยแนะนำ ถ้าผมตกลงเขาจะพาผมไปดูที่ดินแถว ๆ พุทธมณฑลสาย 5
- ตัวผมเองก็ได้กลับมาคิดหลาย ๆ อย่างอยู่นานพอสมควร ด้วยความที่ผมเองก็เริ่มสนิทกันมาระดับหนึ่ง นิสัยใจคอเขาเป็นคนที่สบาย ๆ และมีความเป็นกัลยาณมิตร สิ่งที่ผมค่อนข้างกังวลมาก ๆ คือเรื่องของอนาคต กลัวว่าจะมีปัญหาหากต้องมาร่วมหุ้นร่วมทุนหรือต้องทำอะไรร่วมกัน เพราะอันดับแรกคือไม่อยากเสียเพื่อนดี ๆ ไป ก็เลยหาทางออกด้วยการที่ผมตกลงเช่าที่แปลงนี้เป็นรายปีในการสร้างโรงเรือน 1 โรงเรือน เราจะไม่มีการร่วมทุนร่วมหุ้นกัน แต่จะทำของใครของมันและช่วยกันดูแลกันไป ทางออกนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการที่จะไม่เกิดปัญหากันในภายหลัง
- ผมจึงได้คุยกันถึงข้อตกลงและเริ่มไปดูที่ดินแปลงนี้ทันที ลองใช้โปรแกรมเข็มทิศในมือถือเพื่อตรวจสอบลักษณะทางกายภาพว่าที่ดินแปลงนี้มีทิศตะวันออกและตะวันตกอยู่ด้านไหน เพราะเรื่องนี้มีผลต่อความสวยงามของลายเมลอนญี่ปุ่น ซึ่งก็พบว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ในทิศทางที่ดีมาก ๆ ในการปลูกเมลอน วันรุ่งขึ้นท่านตูนก็ได้หารถแบ็กโฮมาดันต้นไม้ที่มีสภาพเป็นป่าตั้งแต่แรกออกและปรับที่จนโล่งเลย จากตอนแรกที่ผมตั้งใจจะถางกันเอง พอเห็นเขาว่าจ้างรถมาดันที่รู้สึกถึงความมุ่งมั่นและจริงจังมาก ๆ ในใจลึก ๆ ก็แอบเครียดเหมือนกันเพราะเหมือนเขาเชื่อมั่นในประสบการณ์และตัวเรา กลัวว่าจะไม่สามารถช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในการปลูกได้
- ขั้นตอนต่อมาก็คลุมมุ้งและพลาสติกบนหลังคา สำหรับรายละเอียดเรื่องแบบโรงเรือนเป็นโรงเรือนแบบ ก ไก่ ที่ผมเลือกแบบนี้เพราะมานั่งคิดว่าหลังคาแบบโค้งที่ผมเคยปลูกและได้สัมผัสมาหลาย ๆ ที่เวลาเข้าไปจะรู้สึกร้อนอับ เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากการกักความชื้นไว้ด้านบน เรื่องความชื้นเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับราในเมลอน เช่น ราแป้งและราน้ำค้าง โรงเรือนแบบจั่ว ก ไก่ นี้สามารถระบายอากาศและความชื้นด้านบนออกไปได้ผ่านช่องเฉียง ๆ ที่ใช้มุ้งคลุม หลังสร้างเสร็จและปลูกรู้สึกได้เลยว่าอากาศไม่อับแบบโรงเรือนโค้งค่อนข้างเยอะทีเดียว
- ก็เสร็จสิ้นในส่วนของโรงเรือนขนาด 6*15 เมตร ที่ผมลงมือทำด้วยตัวเองแทบจะ 100% ยกเว้นดัดโค้งที่ต้องจ้างเขาดัดให้ครับ
- ต่อด้วยเรื่องของระบบน้ำแบบง่าย ๆ ที่ผมทำแบบไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร ตู้คอนโทรลก็ไม่ได้ใช้ตู้ราคาเป็นหมื่น ๆ สั่งร้านประกอบตัวไทเมอร์เข้ากับแมกเนติกรีเลย์ แค่นี้ก็สามารถเอามาใช้กับปั๊มหอยโข่งได้สบาย ๆ สามารถรับภาระโหลดทางไฟฟ้าได้มากถึง 20 แอมป์
- เสร็จเรื่องโรงเรือนและระบบน้ำก็จัดการเรื่องเพาะกล้าและเตรียมวัสดุปลูกต่อ สำหรับสายพันธุ์ที่ผมปลูกนั้นยังคงเป็นเมลอนญี่ปุ่นคิโมจิเช่นเดิม โดยส่วนตัวผมชอบในความเป็นญี่ปุ่นแท้ ๆ ของสายพันธุ์นี้ที่บริษัทผู้นำเข้าได้นำเข้าเมล็ดจากญี่ปุ่นโน่นเลย กระบวนการผลิตเมล็ดไม่ได้ทำในไทย ทำในประเทศเขาและมีการคัดคุณภาพและห้องแล็บที่ทันสมัย ซึ่งสายพันธุ์นี้มีการพัฒนามาร่วม ๆ 200 ปี ตกทอดกันมา 3-4 ชั่วอายุคนเลยทีเดียว เมล็ดเริ่มแช่น้ำและบ่มเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558 บ่มเมล็ดในถังน้ำแข็ง 1 วันเต็ม ๆ รากก็งอกพร้อมนำลงวัสดุเพาะกล้า อายุกล้าราว ๆ 7-10 วันก็พร้อมย้ายไปปลูกในถุงปลูก
- รูปต่อมาเป็นต้นกล้าหลังลงถุงปลูกได้ราว ๆ 3-4 วัน ต้นกล้าในระยะแรกผมให้ปุ๋ย Best Hydroponics สูตร 1 (ปัจจุบันสูตรปุ๋ยสำหรับเมลอนได้พัฒนาไปถึง 3 สูตรด้วยกัน แต่ละสูตรใช้คนละช่วงอายุในการปลูก) ซึ่งค่า EC ที่ผมให้ช่วงนี้อยู่ที่ราว ๆ 1.8 ไม่เกิน 2.0 us ปริมาณ 600 ซี.ซี. ต่อวัน จะเห็นว่าบางต้นเริ่มมีแขนงงอกออกมาตรงข้อใบ ต้องรีบลิดแขนงออกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ในช่วงแขนงที่ 1-8 จะไว้แขนงเพื่อให้ดอกตัวเมียออกมาพร้อมผสมเกสรที่ข้อใบที่ 9-13 หลังผสมเกสรจนลูกโตเท่าไข่ไก่จึงค่อยทำการคัดผลที่ดีและทรงสวยที่สุดไว้เพียงลูกเดียว
- หลังจากนั้นก็เริ่มพันเชือกให้ต้นเมลอนเลื้อยขึ้นไปครับ บังเอิญหาซื้อด้ายที่เป็นฝ้ายสีขาวไม่ทัน เลยใช้เชือกฟางแบบแข็งแทน ราคาผมซื้อที่ร้านวัสดุก่อสร้างใกล้ ๆ สวนยกถุง 240 บาท
- ดูจากสภาพโดยรวม ๆ ของการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอก็เหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ปัญหามันยังมีครับ ช่วงนี้เป็นช่วงเกสรดอกตัวเมียเริ่มทยอยออกจากข้อ 9 เป็นต้นไป ภาคกลางอย่างที่เราทราบข่าวว่าปีนี้ฝนจะมาช้าก่อนหน้านี้หลายเดือน บทฝนจะเริ่มมาดันมาช่วงที่ดอกตัวเมียผมงอกพอดี แดดเลยน้อยไปหลายวัน แขนงดอกค่อนข้างเล็กมากและยอดก็เหมือนจะกุด ผมเลยโทร. ถามพี่ Best Hydroponics เพื่อขอคำชี้แนะแนวทางในการแก้ไข
- หลังผสมเกสรราว ๆ 5 วัน เมลอนก็โตเท่าไข่ไก่ ช่วงนี้ก็สามารถที่จะทำการคัดลูกเมลอนเอาลูกที่ดีสุดไว้เพียงต้นละ 1 ลูก เพื่อคุณภาพและความเลอค่าครับ ผลอ่อนของเมลอนที่เราทำการคัดทิ้งสามารถนำมาทำอาหารได้ครับ เช่น นึ่งให้สุกจิ้มน้ำพริก ทำแกงจืดยัดไส้ เมลอนผัดใส่ใข่ ฯลฯ
- อายุ 16 วันลายก็เริ่มมา น้ำหนักราว ๆ 1 โลกว่า ๆ แล้วครับ
- ลูกนี้แฝดสยาม หนึ่งเดียวในสวนครับ 2 ลูก ใน 1 ก้านดอก
- สภาพโดยรวมวันที่ 30 สิงหาคม 2558
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : คุณ ครอบครัวการ์ฟิลด์ตัวอ้วน ๆ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และ เฟซบุ๊ก กอล์ฟฟาร์ม เมล่อนไทยแลนด์