ชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วิธีการปลูกผักไร้ดินแบบง่าย ๆ ด้วยวัสดุราคาประหยัด อยากมีผักสด ๆ ปลอดสารพิษไว้เก็บกินตลอดทั้งปี มาทำชุดปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ไว้ปลูกผักไร้ดินง่าย ๆ กันเถอะ
ต่อให้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลกินเจเจ้าผักปลอดสารพิษในตลาดก็ยังแพงอยู่ดี วันนี้กระปุกดอทคอมเลยอยากจะชวนทุกคนมาทำ ชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไว้ปลูกผักกินกันเอง ด้วยวิธีการปลูกผักไร้ดินง่าย ๆ จากรีวิวของ คุณ TheGolfMania สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่เริ่มจากทดลองปลูกจากแปลงเล็ก ๆ แล้วขยับขยายจนกลายเป็นแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขนาดใหญ่ ที่ทำจากวัสดุหาง่ายราคาประหยัดสุด ๆ
มาทำชุดปลูก Hydroponics กันครับ โดย คุณ TheGolfMania
หลังจากที่ผมเขียนกระทู้นี้ เดินตามฝันทำสวนผักไฮโดรโปนิกส์ (บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้น) ^^ ก็มีท่านที่สนใจเรื่องการทำชุดปลูก วันนี้ก็เลยจะนำเสนอขั้นตอนการทำชุดปลูกในแบบของผม ซึ่งผมได้แก้ไขบางอย่างจากการปลูกในครั้งก่อน เช่น ระบบการไหลของน้ำที่มีปัญหา การคุมระดับน้ำในท่อและอื่น ๆ ลองมาเริ่มกันเลยนะครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำชุดปลูกรอบนี้ ได้แก่
1. ท่อ PVC ขนาด 2 นิ้วเท่าจำนวนรางที่ต้องการ
2. ท่อ PVC ขนาด 6 หุนเท่าจำนวนรางที่ต้องการ (1 ท่อนยาว 4 เมตร ลองคำนวณดูครับว่าจะใช้กี่ราง ยาวเท่าไร)
3. ท่อเชื่อม 3 ทาง ขนาด 2 นิ้ว และ 6 หุนตามจำนวนที่อยากทำ (บางท่านถ้าทำชุดเล็ก ๆ อาจจะไม่ต้องคุมน้ำไหลแบบที่ผมทำก็ได้นะครับ ทำเป็นข้อต่อเล่นระดับลงมาก็ได้ แต่ที่ผมทำแบบนี้เพราะผมมองว่าน่าจะดีกว่าในแง่ของการควบคุมหลาย ๆ อย่างครับ)
4. บอลวาล์ว 2 นิ้ว 1 ตัว อันนี้ใช้คุมระดับน้ำในท่อ
5. บอลวาล์ว 6 หุน เท่าจำนวนรางที่ใช้
6. กาวทาท่อ
7. อุปกรณ์ตัดอาจจะเป็นใบเลื่อยธรรมดาก็ได้ครับ
8. สว่าน+โฮลซอว์ ขนาด 38 1/2
เมื่อได้แนวคิดประมาณนี้ก็ซื้ออุปกรณ์กันเลย
หลังจากนั้นผมก็ใช้ท่อ 6 หุนเป็นตัวเชื่อมเข้ากับ 3 ทางและใช้เชื่อมกันแบบนี้ครับ
เมื่อต่อกันเสร็จแล้ว ผมจะมีเมนน้ำเข้า 8 ทางหน้าตาแบบนี้
และก็เริ่มประกอบทางน้ำออก ซึ่งผมใช้ท่อ 2 นิ้วเป็นตัวเชื่อม 3 ทางเข้าด้วยกันแต่จะไม่มีวาล์วคุมเหมือนน้ำเข้า ตรงนี้ผมจะใช้วาล์ว 2 นิ้วเพียงตัวเดียวไว้เพื่อคุมระดับน้ำในท่อ หากเกิดกรณีไฟดับจะได้มีน้ำเลี้ยงอยู่ในท่อครับ โดยวัดระดับความยาวเชื่อมต่อกันเพื่อเทียบกับทางน้ำเข้าจะได้มีระยะห่างของแต่ละรางหัว-ท้ายแบบพอดี
ประกอบทางน้ำออก
และก็เริ่มลงมือเจาะกันเลย ^^
หลังจากเจาะแล้วก็ทำการตัดปีก และเอาเศษที่ไม่เรียบร้อยออกโดยใช้คัตเตอร์ตัดออก
ก็จะได้ชุดปลูกแบบนี้ครับ ^^ ซึ่งตอนนี้ผมเลือกผักสลัดมาทั้งหมด 10 ชนิด ได้แก่
เรดโอ๊ค
กรีนโอ๊ค
กรีนคอรัล โลคาร์โน
เรดปัตตาเวีย
เรดบัตเตอร์เฮด
ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก
เบบี้คอส
บัตเตอร์เฮด
เรดคอรัล
กรีนคอส
ซึ่งเพาะด้วยเมล็ดเกือบทั้งหมดครับ ยกเว้นฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก
เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงก็ได้หน้าตาแบบนี้ครับ ^^
ยืดและเริ่มเขียวแล้วเอาไปลงแปลงปลูกได้ทั้งหมดเลยครับ ^^ แต่หลังจากที่ไปอบรมมาผมก็รบกวนพี่ท่านหนึ่งมาลงดินและปรับที่ให้ ตอนนี้ก็เลยจะต้องยกเจ้าชุดปลูกทั้งหมดไปไว้ในโรงเรือนที่ทำเอาไว้ แอบโดนพี่ท่านหนึ่งตำหนิว่าหลังคาที่ใช้จะมีผลกับแสงและต้นไม้จะเจริญได้ไม่เต็มที่ ตอนนี้ทำได้แค่รอดูไปก่อนแล้วกันครับถ้าไม่ดีก็คงต้องแก้ไข ><
ปัญหาก็คือจะย้ายเข้าไปยังไงเพราะทำอยู่คนเดียวเนี่ยและมันก็ประกอบหมดแล้วด้วย T-T แต่ไม่เป็นไรหลักฟิสิกส์น่าจะช่วยได้ ฮ่า ๆ ลากสิครับลากและก็เอาจนได้
ทีนี้มาต่อกันด้วยการใส่วาล์วน้ำในขาออก ผมเลือกจะใส่ในแนวเอียงแบบนี้เพื่อจะได้ให้ตัววาล์วเป็นตัวคุมระดับน้ำในชุดปลูกครับ หากต้องการน้ำมากหน่อยเพื่อขังเอาไว้ในชุดปลูก ป้องกันปัญหาในกรณีไฟดับจะได้มีน้ำเลี้ยงในชุดปลูก^^
ในชุดส่งน้ำผมก็เลือกใช้ท่อ 6 หุนแล้วมัดรวมกับรางปลูกเพื่อส่งไปที่ชุดจ่ายอีกฝั่ง ทีนี้ระบบน้ำก็จะสมบูรณ์แล้วก็ใช้ได้อย่างภาพด้านบนนี้เลยครับ โต๊ะปลูก 2 ชุดนี้จะใช้น้ำร่วมกันในถัง 200 ลิตร ซึ่งในจำนวน 600 ถ้วยปลูกน่าจะใช้งานได้สบาย ๆ ครับ เพราะของเก่าในครั้งก่อนหน้านี้ผมใช้ 200 ต้นในถัง 50 ลิตรสามารถใช้งานได้ 1 วัน แต่เมื่อผักอายุได้สัก 30 วันกลายเป็นต้องเติมวันละ 2 รอบ >< ทีนี้ก็ได้เวลาเอาผักลงแปลงกันแล้วรอดหรือไม่รอดไม่แน่ใจนะครับเพราะ
1. ไม่ได้เช็กค่าน้ำว่าดีแค่ไหน ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องวัดค่า pH แล้วก็ต้องดูค่าของน้ำว่ามีอะไรเจือปนแค่ไหน ถ้าเป็นน้ำประปาควรจะปล่อยให้คลอรีนระเหยไปก่อน แต่แถวนี้ที่ผมย้ายมาเป็นประปาหมู่บ้านคงจะเป็นน้ำบาดาลสูบมา ซึ่งอาจจะมีค่าสารเจือปนพอสมควรเลยทีเดียว
2. ทรงของต้นอ่อนดูไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวว่ากันอีกทีถ้าไม่รอด ><
เดี๋ยวเอาไว้จะมาอัพเดทให้ดูนะครับว่ารอดหรือไม่รอด 555 ^^
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ TheGolfMania สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม