รีวิวปลูกบ้านชั้นเดียวยกสูง บนที่ดินเปล่าต่างจังหวัด พร้อมขั้นตอนอธิบายอย่างละเอียดตั้งแต่การถมดิน ปลูกสร้าง และตกแต่งภายในจนเสร็จสมบูรณ์
ต่อให้ผ่านมากี่ปีบ้านชั้นเดียวยกสูงก็ยังเป็นทรงบ้านที่เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทยมากที่สุดอยู่ดี และในวันนี้กระปุกดอทคอมก็จะพาคุณไปชมรีวิวปลูกบ้านชั้นเดียวยกสูงบนที่ดินเปล่าในต่างจังหวัดที่ คุณ น้องนู๋ซู่ซ่า สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม สร้างไว้ให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งตัวเอง พ่อ-แม่ และน้องสาว พร้อมทั้งยังออกแบบฟังก์ชั่นที่เหมาะกับคนแก่ เด็ก ๆ และไว้ใช้ยามขนของขึ้นบ้านด้วย
[CR] บ้านต่างจังหวัดเรียบ ๆ ยกสูง สีขาว สไตล์ TROPICAL...มั้งง โดย คุณ น้องนู๋ซู่ซ่า
สวัสดีพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่านนะครับเป็นครั้งแรกที่เขียนรีวิว หากผิดพลาดหรืออ่านยากต้องขออภัยด้วยครับ บ้านนี้เป็นบ้านที่สร้างบนที่ดินเปล่าอายุเกือบ 20 ปี เดิมเป็นที่ทำนา เลี้ยงวัว และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ อยู่ต่ำกว่าระดับถนน ต่อมาสักพักก็กลายเป็นหนองน้ำและที่อยู่อาศัยของสัตว์มากมายทั้งปลาช่อน ปลาหมอ เต่า นกกวัก ฯลฯ แอบเสียดายนิดหน่อยเพราะต้องถมหมดตามคำสั่ง ทั้งที่จริง ๆ อยากถมแค่ครึ่งเดียวแล้วเหลือปล่อยไว้ตามธรรมชาติให้หนู งู เต่า ปลา อยู่รอบกาย (แอบสยอง)
ซึ่งโจทย์ของบ้านหลังนี้คือ
1. ยกสูงรับลม+เผื่อน้ำท่วม ซึ่งครั้งแรกจะถมเป็นเหมือนสร้างบนเนินดิน แต่ไป ๆ มา ๆ ไม่ถมแล้วเพราะเปลือง แถมได้ที่จอดรดใต้ถุนบ้านเลยรวมถึงถังเก็บน้ำสำรองด้วย
2. อยากได้บ้านที่สะท้อนอารมณ์บ้านไทยภาคกลางอยู่บ้าง แต่ประยุกต์ให้มีความทันสมัยขึ้นมาตามเวลา ให้รู้ว่าสร้างราว ๆ ปีนี้ ๆ นะ
3. หลังคาเซรามิก อันนี้คุณแม่อยากได้ ตามใจหน่อยแต่บอกว่าราคาสูงอยู่นะ
4. บ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างเมืองไทย ไม่ร้อน กันแดดกันฝนได้ดี
5. ออกแบบช่วยให้ตกแต่งภายนอกและภายในน้อย ๆ ใช้เฟอร์นิเจอร์จากบ้านเดิมไว้ก่อน ฮ่า ๆ ๆ
6. ใช้การดูแลซ่อมบำรุงต่ำ เลี่ยงใช้ฉนวนบริเวณหลังคา ใช้ไม้เทียมลดใช้ไม้จริง
7. มีแสงสว่างเพียงพอ ดูโปร่ง เบาสบาย ไม่อับชื้น
8. สวยด้วยเหล็กดัด (ซึ่งคงยากอยู่)
9. ทดลองงานออกแบบบางอย่าง
สไตล์บ้านจึงน่าจะเป็นประมาณ...เอิ่ม...Tropical Contemporary มีกลิ่น Modern แฝงมาบ้าง ชายคาบ้านยาว ๆ สัก 1.50 เมตร กันแดดกันฝนได้ดี ผนัง 2 ชั้น ใช้อิฐมวลเบา 90-95% เพราะอยากรู้ว่ามีข้อดีข้อเสียขนาดไหน ยึดอะไรได้เยอะไหม ? ไอเดียในหัวตอนแรกก็ประมาณนี้ครับ
ดินดำแต่ลองแล้วไม่เหมือนกับที่คิด สุดท้ายก็ต้องใช้ดินลูกรัง ตอนลงต้นไม้ต้องเหนื่อยแน่ ๆ
แล้วก็ปล่อยให้ยุบตัวประมาณหนึ่ง ระหว่างนั้นลองลงถั่วลิสงกับกล้วยต่าง ๆ ตายบ้างรอดบ้าง แต่ตายมากกว่ารอด อิอิ
ช่วงน้ำท่วมขังก็ลองปล่อยปลานิล 200 ตัวที่ได้มาจากกรมประมงน้ำจืด เป็นปลาที่โตไวมากให้กินผักบุ้งรอบ ๆ บ่อ สุดท้ายต้องให้คนงานจับไปกิน บางส่วนลุงข้างบ้านมาจับไปตอนบ่อแห้งเอาไปปล่อยที่วัดให้ ระหว่างนี้ก็ออกแบบบ้านไปในตัว ไปยืน ๆ ดูทำเล มุมมอง แดด ลม ฝน วิวโดยรอบ ซึ่งก็พอมียอดเขาให้เห็นใกล้ ๆ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
สำรวจสภาพโดยรอบก่อนขึ้นเสาเอก ต้องคอยตัดต้นโสนอยู่เรื่อย ๆ ส่วนผู้รับเหมาก็จ้างที่รู้จักแถวบ้านครับ
ช่วงขึ้นเสากับเทปูนครับ ช่วงนี้บ่มเสาเองบ้าง เผื่อคนงานลืม เสาจะได้แข็งแรงขึ้นอีกนิดด
เริ่มเทคานชั้น 1 ครับ
เข้าแบบเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กรับคานรัดรอบหลังคา
เริ่มขึ้นคานหลังคาแล้วครับ หวาดเสียวแทนคนงานจริง ๆ เจ้าของผู้รับเหมาขึ้นไปสั่งกำกับดูแลด้วย จุดนี้ถ้าทำไปแล้วแก้ไขยากครับ
เริ่มก่อผนังอิฐมวลเบาตามขึ้นมาบางส่วน
บันไดหลังบ้านสูงไปนิดนึง เดี๋ยวใช้ถมดินเป็นเนินขึ้นไปครับ
เริ่มทำคานคอนกรีตเสริมเหล็กรับหลังคาด้านบนครับ
งานก่อตามมาเรื่อย ๆ นะ ยังไม่เนี้ยบเท่าไร รอยปูนบางจุดเยอะอยู่ อิฐด่างไปนิด
ต่อกันด้วยบันไดหน้าบ้านครับเป็นแบบ 2 ช่วง ลูกขั้นแรก 17 เซนติเมตร 5 ขั้น+ชานพักเก็บรองเท้า+ลูกขั้นสอง 15 เซนติเมตร 3 ขั้น ลดอาการเมื่อยหน้าขาตอนขึ้นบ้านครับ
เริ่มงานโครงสร้างหลังคาครับ มีใช้โครงถักบางส่วนด้านซ้ายของบ้าน
แวะดูความเรียบร้อยโครงหลังคาด้านในตัวบ้านนิดนึง ก่อนจะมุงกระเบื้องในวันถัดไป
ระหว่างรอกระเบื้องหลังคา
ด้านหลังบ้าน
งานฉาบผนังรอบบ้าน
ครัวค่ำ ๆ
พื้นที่ซักล้าง เล่นลูกเล่นช่องแสงแนวตั้งหน่อยเพื่อรับลมเข้ามาบริเวณดังกล่าว ซึ่งน่าจะช่วยให้ตากผ้าในร่มได้และน่าพอใจในระดับหนึ่ง
อะไรบินผ่าน พักสายตานิดนึง
ลงต้นไม้รอหลังคา
ในที่สุดก็มาแล้ว หลังเซรามิก Excella Plato White Matt ให้บ้านออกมาดูโมเดิร์นนิด ๆ เรียบ ๆ เกลี้ยง ๆ ทนอากาศเมืองไทย ที่สำคัญเนื้อดินเผา กันความร้อนได้ดี แล้วใช้สีขาวซึ่งสะท้อนความร้อนดีกว่าสีอื่น ถูกโฉลกสุด ๆ **ข้อเสีย** แพง ที่ครอบสันหลังคายิ่งแพ้งแพง เลยพยายามลดการใช้ครอบบางส่วน+ปรับความลาดชันหน่อย สำหรับแผ่นเรียบขั้นต่ำคือ 25 องศา ที่บ้านใช้ 25 และ 35 องศาครับ
อันนี้ครอบสันหลังคาครับ
ช่าง+คนงานต่างเริ่มลงมือทยอยขึ้นหลังคาเรื่อย ๆ แดดมาเต็มวันนี้
ขึ้นไปเกือบทั้งหมดแล้ว
ใกล้ความจริงแล้วสำหรับหลังคา ช่างบอกใต้หลังคาเย็นดีมาก แต่แผ่นหนักกว่าแบบลอนหน่อย แบบลอนหนักราว ๆ 3.5 กิโลกรัม ส่วนแบบเรียบหนักราว ๆ 3.8 กิโลกรัม
ดูความเรียบร้อยและการบิดตัวจากการมุง แผ่นเรียบต้องระวังเป็นพิเศษ ซึ่งจะไปฟ้องช่วงริม ๆ หลังคา
มุมนี้คือด้านทิศตะวันออก จะเป็นส่วนของห้องนอนคุณพ่อคุณแม่จะได้รับแดดในช่วงเช้าและให้พ่อ-แม่ชำเลืองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อที่จะตื่นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้านตอนฟ้าสางครับ ด้านขวาจะเป็นตัวบ้านด้านทิศเหนือซึ่งจะเปิดช่องแสงบ้างบางส่วนเหนือประตูหน้าต่าง
มุมนี้ด้านทิศตะวันตกเฉียงมาทางหน้าบ้านครับ ค่อนข้างเรียบ ๆ ทึบ ไม่เปิดช่องแสงด้านทิศนี้ครับ ผนัง 2 ชั้นในบางห้องจะเป็นพื้นที่ห้องเก็บของ ห้องน้ำกลาง ห้องอเนกประสงค์ ห้องครัว และซักล้างครับ ส่วนพื้นที่ใต้หลังคาขนาดใหญ่เว้นไว้เพื่อหน่วงการแผ่รังสีความร้อนที่ผ่านกระเบื้องหลังคาลงมา จะได้ช่วยลดความร้อนของบ้านในตอนบ่าย ชายคายาว 1.5 เมตร มุมเอียง 25 องศา ซึ่งแสงส่วนใหญ่จะเริ่มส่องประมาณบ่าย 4 โมงกว่าในช่วงหน้าร้อน
งานฝ้าครับเริ่มขึ้นโครงตาม ๆ กันมา ใช้ยิปซั่มชนิดติดฟอยล์มาจากโรงงาน ไม่มีใช้ฉนวนความร้อนใด ๆ (ทดลอง) มอง ๆ ไปแอบชอบตัวกระเบื้องหลังคาตัวนี้จัง ไม่ตีฝ้าได้ไหมนี่
ช่วงนี้เริ่มงานกระเบื้องกันต่อครับ ช่วงแรกจะเป็นกระเบื้องห้องน้ำผนัง-พื้นครับ
ห้องส่วนกลางเน้นสีสันหน่อยจะได้มีชีวิตชีวาบ้าง ซึ่งครอบครัวผมไม่ค่อยเน้นขนาดห้องน้ำใหญ่ ๆ ดูวิวอะไรมากมาย
ห้องน้ำพ่อ-แม่ครับ
ห้องน้ำผมเน้นขาว ๆ
เริ่มงานห้องครัว ปูกระเบื้องผนัง หล่อเคาน์เตอร์ปูนตัว L ให้หนาหน่อยให้สามารถตำน้ำพริกบนส่วนนี้ได้ ส่วนกระเบื้องผนังและพื้นผิวเลือกสีเข้มนิดหน่อยเพื่อให้ยากแก่การมองเห็นคราบสกปรกต่าง ๆ รวมถึงใช้กระเบื้องขนาดใหญ่เพื่อลดคราบตามรอยต่อกระเบื้อง ใช้กระเบื้องสีขาว มีลายนิดหน่อยให้ดูสว่างลดการใช้ไฟในช่วงกลางวัน
เริ่มติดตั้งหินแกรนิตบนเคาน์เตอร์แบ่งเป็น 3 ส่วนเวลาติดตั้งครับ ส่วนสีหินใช้ลายโทนอ่อนลดการมองเห็นคราบและให้เข้ากับบรรยากาศตัวบ้านที่เน้นความสว่าง ในช่วงนี้งานหน้าต่างอะลูมิเนียม ประตู เริ่มเข้ามาติดเพื่อป้องกันนกบินเข้ามาอยู่ตอนกลางคืน
ครัวติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จพร้อมหน้าต่างและเหล็กดัดครับ ส่วนพื้นใช้กระเบื้องสีเบสด้านเพื่อลดการมองเห็นคราบต่าง ๆ ตอนทำครัว
ห้องซักล้างเริ่มจากปูกระเบื้องและติดตั้งปั๊มในบ้านเพื่อป้องกันการขโมยกับกันแดดกันฝนเพื่อยืดอายุปั๊มน้ำครับ
ถังเก็บน้ำสำรองของบ้านนี้ครับใช้ขนาด 1,000 ลิตรครับ
เริ่มงานประตู หน้าต่างรอบบ้าน ประตูมีทั้ง PVC UPVC อะลูมิเนียม+กระจก และไม้เนื้อแข็งตามลักษณะการใช้งานและมุมที่อยากให้เห็นครับ ตรงไหนที่ต้องการหน่อยจะใช้กระจกบานใหญ่ไปเลย
ประตูครัวกว้างประมาณ 1.2 เมตร เพราะต้องการให้แสงตอนบ่ายทะลุมาบางส่วนและป้องกันกลิ่นตอนทำอาหาร ให้ลมเข้าจากประตูด้านหลัง แล้วออกหน้าต่างครัว ถ้ากรณีไม่ใช้งานจะเปิดให้ลมผ่านเข้ามาจากด้านใต้ (ประตูครัว) และตะวันตก (หน้าต่างครัว) ครับ
ตามกรอบประตูหน้าต่างจะใช้ไม้เทียมปิดรอยต่อและกันน้ำอีกชั้นหนึ่ง ในส่วนนี้จะไม่ใช้การปั้นคิ้วปูกันน้ำหยดหนา ๆ เพราะพื้นที่นี้นกพิราบอยู่บ้าง กันมาเกาะ อึ หรือทำรังครับ
มุมนี้เป็นด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งใช้รับสัญญาณดาวเทียมได้พอดีและไม่เห็นจากหน้าบ้านให้ดูแปลกตา
ติดตั้งราวบันไดด้านหลังสเตนเลสหลังบ้าน
ระบบไฟฟ้าซื้อเองครับ เน้นหลอดไฟ LED ทั้งหมด ลดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเปิดหลอดไฟได้ดี ผลพลอยได้คือสว่างไวและประหยัดครับ เทียบบิลค่าไฟฟ้าข้างบ้านมีตกใจ ได้มาแล้วก็จัดวางตามแปลนเพื่อให้ช่างไฟติดว่าหลอดไฟไหนอยู่ตำแหน่งไหนบ้างหรือดวงไหนใช้หลอดกี่วัตต์ ซึ่งแต่ละห้องใช้วัตต์ไม่เท่ากันครับ
สวิตช์และปลั๊กส่วนใหญ่ใช้รอบสีน้ำตาลตัดให้ผนังมีลูกเล่นมากขึ้นและไม่เหลืองสกปรกเวลาใช้ไปนาน ๆ ส่วนปลั๊กใช้แบบมีม่านนิรภัยกันหลานเอาอะไรไปจิ้มในรูปลั๊กไฟ
ส้วมใช้ระบบบ่อเกราะบ่อซึม แล้วระบายลงพื้นที่โดยรอบต่อไป เนื่องจากยังไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะครับ
ทดสอบไฟตอนกลางคืนในระยะแรกครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ น้องนู๋ซู่ซ่า สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม