วิธีกำจัดตะไคร่น้ำ บนพื้นและหลังคา พืชสีเขียวเล็ก ๆ ที่ขึ้นลามไปทั่วในช่วงหน้าฝน จนทำให้บ้านดูสกปรก แถมยังทำให้พื้นลื่น สาเหตุของอุบัติเหตุในบ้านด้วย
เมื่อฝนมา...ภายในบ้านมันก็จะชื้น ๆ ต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิด ตะไคร่น้ำ หรือชื่อภาษาอังกฤษที่เรียกว่า มอสส์ (Moss) มาเกาะบ้าน ทำลายบรรยากาศไปซะหมด ถึงหลายคนจะบอกว่า มันดูสวยดี แต่ยังมีบางบ้านที่ไม่ต้องการให้มันขึ้น กระปุกดอทคอมเลยไม่รอช้าที่จะนำวิธีกำจัดตะไคร่น้ำมาฝากกันค่ะ สำหรับบ้านไหนที่ไม่อยากให้ตะไคร่น้ำเกาะ ก็เลือกวิธีทำความสะอาดที่เหมาะสมไปกำจัดเลยค่ะ
วิธีนี้คือขั้นพื้นฐานของการกำจัดตะไคร่น้ำ โดยการราดน้ำต้มเดือดตรงที่มีตะไคร่น้ำ ตามด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ๆ เทซ้ำลงไปที่เดิม ก่อนใช้แปรงหัวแข็งขัดและทำความสะอาดอีกรอบ
2. เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
วิธีนี้เป็นการกำจัดดตะไคร่น้ำแบบธรรมชาติเหมือนวิธีแรกนั่นแหละค่ะ ด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงมาฉีดบรรดาคราบตะไคร่น้ำที่เกาะอยู่ตามผนังหรือพื้นซีเมนต์ต่าง ๆ ให้ทั่ว คราบตะไคร่น้ำก็จะหายไปในทันที แต่วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลในบริเวณที่มีคราบตะไคร่น้ำเกาะหนา
3. น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูเป็นของดีที่ทุกบ้านต้องมีเลยค่ะ โดยนำน้ำส้มสายชูมาราดลงบนตะไคร่น้ำโดยตรง ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วขัดออก ราดน้ำเพื่อทำความสะอาดให้เกลี้ยง และที่สำคัญต้องทำให้แห้งด้วยนะคะ เพื่อกำจัดความชื้นตัวการที่ทำให้เกิดตะไคร่น้ำให้หมดไปแบบถาวรด้วย
หากทำวิธีด้านบนแล้วยังมีตะไคร่น้ำสีเขียว ๆ เกาะอยู่ งั้นต้องผสมสารฟอกขาว ¾ ถ้วยตวง กับน้ำเปล่า 1 แกลลอน เพื่อนำไปราดบนตะไคร่น้ำและทิ้งไว้ 10 นาที แล้วค่อยล้างออก แต่วิธีนี้ควรระวังไม่ให้ส่วนผสมไหลไปโดนต้นไม้เด็ดขาด ที่สำคัญถ้าจะให้ดีต้องทำวิธีนี้ในวันที่อากาศปลอดโปร่ง เพราะความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ส่วนผสมแห้งเร็วขึ้น
5. แอมโมเนียมซัลฟาเมต (Ammonium Sulfamate)
แอมโมเนียมซัลฟาเมต (Ammonium Sulfamate) เป็นสารละลายที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำสวนทั่วไป เทใส่ที่ฉีดแล้วนำไปฉีดพ่นลงบนตะไคร่น้ำได้โดยตรง แต่อย่าลืมสวมอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานโดยละเอียด หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสิ่งมีชีวิตและพืชที่อยู่แถวนั้น แนะนำให้ทำในวันที่อากาศปลอดโปร่ง ไม่มีลมพัด เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างอยู่ที่พืชชนิดอื่น ๆ ดีกว่า
6. โซเดียมเพนตะคลอโรฟีเนต (Sodium Pentachlorophenate)
โซเดียมเพนตะคลอโรฟีเนต (Sodium Pentachlorophenate) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นต้องระมัดระวังในการใช้เป็นอย่างมาก เริ่มจากสวมอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ให้พร้อม นำโซเดียมเพนตะคลอโรฟีเนต 1 ส่วน มาละลายเจือจางในน้ำเปล่า 8 ส่วน ให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วราดลงบนตะไคร่น้ำให้ทั่ว ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหากฝนตกลงมาก็ให้ทำซ้ำอีกครั้ง และต้องระวังให้มากอย่าให้สารเคมีไหลไปโดนต้นไม้อื่น ๆ
ถ้าสารเคมีหายากเกินไป แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในครัวเรือนอย่าง เบกกิ้งโซดา เพียงแค่นำไปโรยบนตะไคร่น้ำให้ทั่ว ทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง จากนั้นค่อยกวาดเศษตะไคร่น้ำและเศษเบกกิ้งโซดาทิ้งไป
ส่วนผสมที่ได้จากในครัวเรือนเหมือนกัน เริ่มจากผสมน้ำยาล้างจาน 600 มิลลิลิตร กับน้ำเปล่า 5 แกลลอนให้เข้ากันดี แล้วราดลงบนตะไคร่น้ำ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นก็มาขัดและล้างออกให้สะอาด
9. ไฮเดรตไลม์ (Hydrated lime)
เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่ใช้กำจัดตะไคร่น้ำออกได้ โดยนำสารดังกล่าว 1 กิโลกรัม มาผสมกับน้ำเปล่า 3 แกลลอน ฉีดลงไปบนตะไคร่น้ำให้ทั่ว ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ตะไคร่น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล จากนั้นก็ขัดออกเป็นขั้นตอนสุดท้าย
10. ไตรโซเดียมฟอสเฟต (Trisodium phosphate)
ไตรโซเดียมฟอสเฟต (Trisodium phosphate) เคยถูกผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน แต่มันกลับไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดพวกเชื้อรา เชื้อโรค รวมถึงตะไคร่น้ำได้ดีเยี่ยม หากจะนำมาใช้ให้เทไตรโซเดียมฟอสเฟต ½ ถ้วยตวง ผสมกับน้ำอุ่น 2 แกลลอน แล้วนำไปราดลงบนตะไคร่น้ำ ขัด-ล้างออกให้เกลี้ยง ระวังอย่าให้สารเคมีไหลไปโดนต้นไม้อื่นหรือพื้นที่อื่น ๆ โดยเด็ดขาด
หากใครจะใช้วิธีกำจัดตะไคร่น้ำที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ต้องระมัดระวังให้มาก ถ้าเลือกวิธีที่มีสารเคมีก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เพื่อกำจัดตะไคร่น้ำให้หมดไปและไม่เป็นอันตรายต่อตัวเราด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodhousekeeping, Doityourself, Sfgate และ Livestrong