แบ่งปันประสบการณ์สร้างบ้านไม้หลังน้อยใต้ถุนสูง ตามแบบฉบับเฮือนโคราช บนที่ดินเล็ก ๆ ต่างจังหวัด พร้อมเผยข้อมูลโครงสร้างที่เขาตั้งใจศึกษาเพื่ออนุรักษ์บ้านไทยเอาไว้
สำหรับคนที่ชอบบ้านไม้ชั้นเดียวมีใต้ถุนหรือยกพื้นสูง เพราะวันนี้ คุณ Apple Devil สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม จะมาแบ่งปันประสบการณ์สร้างบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงเพื่อช่วยอนุรักษ์บ้านไทย โดยเขาศึกษาข้อมูลของเฮือนโคราชตั้งแต่ลักษณะโครงสร้างเลยทีเดียว พร้อมทั้งยังนำข้อมูลจากที่เขารวบรวมมาให้คนที่สนใจได้อ่านพร้อมดูขั้นตอนการสร้างบ้านหลังนี้ด้วย
โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบวัฒนธรรมประเพณีทางภาคอีสาน อาจจะเป็นเพราะพ่อผมเปิดฟังเพลงแคนเพลงโปงลางกล่อมมาตั้งแต่เด็ก หรือไม่ก็อ่านงานเขียนของอาจารย์คำพูน บุญทวีอย่าง “ลูกอีสาน” หรือ “นายฮ้อยทมิฬ” มากเกินไปก็เป็นได้ เมื่อโตขึ้นพอจะออกท่องเที่ยวคนเดียวได้ ผมจึงมักจะนั่งรถไฟหรือรถประจำทางไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคอีสานอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปราสาทหินต่าง ๆ นี่ชอบไปมาก ๆ และถ้าได้ยินเสียงดนตรีอีสานมักจะทำให้ขนลุกซู่อยู่บ่อย ๆ
เรียนจบทำงานมีครอบครัวจนอายุล่วงเลยมาจนเข้าเลขสี่ ผมและภรรยาจึงอยากจะปลูกบ้านของตนเอง ภรรยามีที่ดินเล็ก ๆ อยู่ในอำเภอเล็ก ๆ เงียบสงบในต่างจังหวัดแห่งหนึ่งของภาคกลาง ในรั้วเดียวกันนั้นก็มีบ้านของคุณยายและบ้านป้า อีกทั้งมีเพื่อนบ้านรายล้อมไม่เงียบเหงานักตามวิถีสังคมชนบท ยามเช้าจะมีป้าคนหนึ่งต้อนวัวผ่านหน้าบ้านผมไปทุกวัน เป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากแล้วในสังคมเมือง
งบประมาณในตอนแรกก็ตั้งกันเอาไว้ที่ราว 5 แสนกว่า ๆ ถึงหกแสนบาท ผมหาแบบบ้านไทยอีสานจากอินเทอร์เน็ต ได้ที่ตรงใจตอนแรกมา 2 แบบ คือแบบเรือนอีสานและเรือนผู้ไท ราว ๆ เดือนพฤศจิกายนก่อนตกลงใจเลือกแบบ ผมเคยลองเอามาถามในห้องชายคาเว็บไซต์พันทิปดอทคอมว่า งบประมาณนี้พอจะสร้างได้ไหม ก็มีความเห็นเพื่อน ๆ แตกออกเป็นสองเสียงคือ สร้างได้และสร้างไม่ได้ เอาแล้วผมเริ่มจะเครียดแล้วครับ
หลังจากนั้นผมกับภรรยาขับมอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวเขาใหญ่ ขากลับมาผมเจอร้านขายไม้เก่าอยู่ข้างทางอยู่หลายร้าน จึงลองขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปถามดู สองร้านแรกไม่คุยกับผมเลย มองผ่าน ถามอะไรก็ไม่ตอบ ผมกับภรรยาจึงล่าถอยออกมาจนไปเจอร้านลุงคนนี้ ครอบครัวแกเป็นคนอุบลราชธานี เมื่อรู้อย่างนี้ ผมจึงลองส่งสำเนียงอีสานแปร่ง ๆ ของผม (ผมคือคนภาคกลางที่ชอบหัดพูดภาษาอีสาน) กลายเป็นว่าคุยถูกคอกัน ผมจึงสำรวจราคาไม้หลายอย่างจดเอาไว้ก่อนจะลากลับ
เมื่อกลับถึงบ้าน ผมเปิดอินเทอร์เน็ตลองสืบราคาไม้จากโรงเลื่อย (ไม้ใหม่) เปรียบเทียบกับไม้เก่าที่ผมได้ราคามา สรุปได้ว่าไม้เก่าที่ผมเล็งไว้มีราคาถูกกว่าราคาไม้ใหม่เฉลี่ยอยู่มากกว่า 50% แต่ต้องทำใจเรื่องตำหนิของไม้เก่าพวกรอยตะปู ความไม่เรียบร้อยอะไรบ้าง ผมบวกลบคูณหารในใจเบ็ดเสร็จแล้ว บ้านไม้อีสานของผม “มันเป็นไปได้ !!!”
ปลายเดือนพฤศจิกายน ระหว่างที่ผมอาบน้ำเตรียมเดินเข้าห้องนอนนั้น ที่บ้านแม่ยายผมเปิดละครเรื่อง “นาคี” ที่กำลังเล่นอยู่พอดี ฉากนั้นคือฉากเรือนที่กำนันแย้มจัดให้พ่อพระเอกอยู่ที่บ้านดอนไม้ป่า ผมกำลังจะเดินผ่านไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นฉากนั้น ผมถึงกับต้องเดินย้อนกลับมาดูจริง ๆ จัง ๆ เฮ้ย บ้านหลังนี้ถูกชะตามาก ๆ มันเหมือนรักแรกพบอย่างไรไม่รู้
คืนนั้นผมเปิดโน้ตบุ๊กหาข้อมูลบ้านหลังนั้นทั้งคืน (จริง ๆ ไม่ได้นอนเลย) ได้ข้อมูลมาว่า บ้านหลังนี้ชื่อ “เฮือนนางเอื้อย” แถมยังได้ภาพบ้านของ “คำแก้ว” มาอีกหลังซึ่งเป็นเรือนโคราชเหมือนกัน (เฮือนนางสาหร่าย) เป็นบ้านอีสานโบราณที่ไร่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อนุรักษ์เอาไว้ที่ไร่ในอำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา นี่คือโจทย์ข้อใหม่สำหรับบ้านผม
หลังจากศึกษาข้อมูลทฤษฎีของเรือนโคราช โครงสร้างเฮือนนางเอื้อย และเฮือนนางสาหร่ายที่ผมหามาได้พบว่า เฮือนนางเอื้อยของไร่จิมทอมป์สันนั้น เป็นเรือนโคราชแต่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมและรูปแบบของช่างทางภาคอีสานอยู่มากกล่าวคือ เรือนนางเอื้อยนั้นหากมองจั่วและหลังคาจะไม่เหมือนเรือนโคราชหลังอื่น ๆ เพราะจั่วเฮือนนางเอื้อยทำมุมที่ประมาณ 35 องศา (จากการคะเนด้วยสายตา) เหมือนเรือนไทยภาคอีสานทั่วไป ผมเลือกเฮือนนางเอื้อยเป็นโครงสร้างหลัก เพราะมีแค่จั่วเดียว หากผมเลือกแบบเฮือนนางสาหร่ายซึ่งมีถึง 4 จั่วแล้วล่ะก็ คงต้องใช้เงินมากกว่านี้อีก 4 เท่าตัว ซึ่งผมไม่มีเสียด้วย
สมัยเรียน ปวช. ผมเคยเรียนเขียนแบบมาบ้าง จึงลองถอดโครงสร้างเฮือนนางเอื้อยออกมาจากภาพมากมายที่มีผู้โพสต์เอาไว้บนอินเทอร์เน็ต จากคนไม่เคยดูละคร ตอนนี้ผมต้องเปิดโน้ตบุ๊กสองตัว ตัวแรกเปิด “นาคี” ดูวนไปวนมาทั้ง 11 ตอน อีกตัวหนึ่งเอาไว้ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ผมเขียนแบบบ้านหลังนี้และนอนไม่หลับอยู่หลายวัน โดยผมยึดรูปแบบการวางแปลนของเรือนโคราชและเฮือนนางเอื้อยเป็นหลัก แต่รูปแบบจั่วและระเบียงรวมไปถึงบันได ถอดเอาเฮือนนางสาหร่ายมาใช้ เพิ่มหน้าต่างเป็น 8 บาน (เรือนดั้งเดิมมีเพียง 4 บาน) ในครัวมีหน้าต่างอีก 2 บาน วัสดุทำเสาผมเปลี่ยนจากเสาไม้กลมเป็นเสาไม้เหลี่ยมขนาด 6 นิ้ว เสาล่างผมเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูนสำเร็จขนาด 7x7 นิ้ว ซึ่งประหยัดเงินกว่าเสาไม้กลมมาก
ตอนเขียนแบบบ้าน ผมไม่เคยไปดูเฮือนนางเอื้อยหลังจริงเลยสักครั้ง ผมใช้วิธีดูจากละครบ้าง ดูจากภาพถ่ายบ้าง โทรศัพท์ไปถามโครงสร้างบ้านเรือนไทยของพ่อผมบ้าง ก็ออกมาสำเร็จเป็นแปลนเรียบร้อย จากนั้นส่งแปลนนี้ไปให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกดูให้ว่ามันโอเคหรือเปล่า เมื่อเพื่อนบอกว่าโอเค จึงส่งไปให้เพื่อนอีกคนที่เป็นวิศวกรที่ขอนแก่นคำนวณโครงสร้าง เพื่อนก็คำนวณเสร็จสรรพส่งกลับมาทางไลน์เรียบร้อย
ช่างผู้สร้างงาน
ช่างที่จะมาสร้างบ้านให้ผม ขอบอกเลยว่าหายากหาเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ยิ่งเมื่อเจอแบบบ้านของผมเข้าไป หลายเจ้าเรียกค่าแรงสูงเกินที่ผมจะจ่ายได้ (สูงเกือบสองเท่าของที่ประมาณไว้) แต่ก็โชคดีที่ลุงของภรรยาผมแกเป็นช่างทำบ้านไม้ ผมจึงเข้าไปคุยกับแกพร้อมแบบบ้าน สุดท้ายแกก็รับสร้างบ้านให้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ผมคิดไว้นิดหน่อย (ตกตารางเมตรละประมาณ 1,900 บาท ผมประมาณไว้ที่ 2,500 บาท) ซึ่งแกบอกว่าถ้าไม่ติดที่จะต้องจ่ายค่าแรงลูกน้อง แกจะคิดราคาผมน้อยกว่านี้อีก แต่ด้วยค่าตัวลูกน้องแกไม่ธรรมดา เพราะแต่ละคนคือช่างไม้อาชีพ ประสบการณ์สูง ลุงต้องจ่ายค่าแรงแต่ละคนตกคนละ 500-700 บาทต่อวัน ขอบข่ายของงานคือ ทำทุกอย่างจนเสร็จตั้งแต่เรือน พื้นปูน รั้วบ้าน ประตูบ้าน ฯลฯ เยอะมากครับ
คำแนะนำสำหรับท่านที่ไม่มีช่างที่ไว้ใจได้ในใจ ให้ลองไปดูเนื้องานที่เขาทำจากบ้านหลังก่อน ๆ ครับ พอเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจได้
เริ่มสร้างเฮือน
เมื่อแบบลงตัวแล้ว ถึงเวลาไปเลือกไม้ที่ร้าน ร้านจัดไม้กระดานให้ผมคิดเป็นตารางเมตร ตารางเมตรละ 1,000 บาท ประกอบไปด้วยไม้เก่าเนื้อแข็งสารพัดชนิด (ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เต็ง) ความหนาของไม้ที่ร้านจัดให้หน้า 8 นิ้ว หนาถึง 1.8-2.2 นิ้ว ซึ่งอดีตไม้เก่ากองนี้เคยเป็นคานเป็นตงมาก่อนแทบทั้งสิ้น ร้านบอกว่ากองนี้มีคนจะมาขอซื้อหลายคนแล้ว แต่ติดที่ผมจองไว้ก่อน จัดว่าโชคดีมาก ๆ ที่เจอ
บันไดขึ้นเฮือนผมย้ายตำแหน่งจากบันไดเดิมของเฮือนนางเอื้อย เนื่องจากหากผมวางเรือนตามแบบที่ต้องการ บันไดผมจะเดินขึ้นเรือนทางทิศตะวันตก ซึ่งลุงเตือนว่าไม่ดี ให้ผมย้ายใหม่ ผมจึงเอาบันไดไว้ทางทิศเหนือ ซึ่งจะเดินขึ้นเรือนทางทิศใต้ ส่วนบันไดเล็กอีกด้านหนึ่งนั้น เดินขึ้นเรือนทางทิศตะวันออก และที่สำคัญผมเลือกที่จะเพิ่ม “ฮ้านแอ่งน้ำ” คือร้านหม้อน้ำที่เอาไว้หม้อดินเผาใส่น้ำดื่มซึ่งเอกลักษณ์ที่พบเห็นในเรือนไทยอีสานที่ระเบียงของชานแดดด้วย
พูดถึงความสูงของเรือน เรือนโคราชโดยทั่วไปจะมีความสูงของเรือนไม่มากนัก แค่พอเดินลอดได้คือจะสูงประมาณ 2.10 เมตร แล้วลดระดับลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรือนนอนจนถึงชานแดด เพราะในจังหวัดนครราชสีมานั้นเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีอากาศที่หนาวจัด เรือนที่มีความสุงไม่มากจะได้ไม่ต้องปะทะลมแรง ๆ นั่นเอง ส่วนที่ต่ำที่สุดคือใต้ถุนชานแดดนั้นปกติไม่ใช้อยู่อาศัย แต่จะเอาไว้เก็บของจำพวกฟืนหรือเครื่องมือในการทำมาหากิน แต่เรือนของผมนั้นอยู่ในพื้นที่มีประวัติน้ำท่วมถึง (ถึงจะนาน ๆ ท่วมสักครั้งแต่ก็ควรจะเผื่อเอาไว้ก่อน) เรือนนอนของผมจึงมีความสูงจากพื้นถึงคานที่ 270 เซนติเมตร ลดระดับลงมาชั้นละ 40 เซนติเมตร ระเบียงจึงมีความสูง 230 เซนติเมตร และชานแดดสูง 190 เซนติเมตร
ทำฝาสำเร็จ
- รีดไม้ฝาทีละแผ่น
- ช่างกำลังประกอบฝาเรือน หน้าต่างของเรือนโคราชเท่าที่ผมสังเกตเห็นมีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบบานคู่เปิดออกนอกตัวบ้าน และบานเดี่ยวแบบเปิดเข้าในตัวบ้าน แบบเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่ายเป็นแบบบานเดี่ยวเปิดเข้าซึ่งเป็นรูปแบบที่ผมชอบ เพียงแต่ว่าเรือนโคราชไม่มีกันสาดเหมือนเรือนไทยภาคกลาง ช่างทำฝาเรือนของผมให้แง่คิดว่า หากทำเหมือนแบบโบราณเป๊ะ ๆ อาจจะเกิดปัญหาน้ำฝนสาดเข้าก็ได้เพราะสมัยนี้ฝนฟ้าแรง ช่างเลยออกแบบหน้าต่างให้ผมใหม่เป็นแบบบานเดี่ยวเปิดออกนอกตัวบ้าน มีบังใบซ่อนอยู่ภายในเพื่อกันน้ำฝนซึม เมื่อปิดหน้าต่างสนิทแล้วก็จะดูคล้าย ๆ กับฝาเรือนโบราณเหมือนกัน ผมทำสลักไม้จำลอง 4 ชิ้นติดไว้ที่ขอบบนล่างของหน้าต่างคล้ายของเฮือนนางสาหร่าย
- ทำไมผมจึงเลือกซื้อไม้จากร้านเดียว เพราะเรื่องความสะดวกในการขนส่งครับ ผมมีแต่มอเตอร์ไซค์กับรถเก๋งแก่ ๆ อีก 1 คัน ไม่สามารถขนไม้ด้วยตนเองได้ ระยะทางจากร้านไม้มาบ้านก็ห่างกันราว ๆ 130 กิโลเมตร หากเช่ารถหกล้อเพื่อขนส่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายตกประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อคัน เมื่อผมซื้อไม้ทั้งหมดจากร้านเดียว (รวมฝาสำเร็จด้วย) ร้านบริการขนส่งให้ผมฟรีใช้รถหกล้อ 2 คันทำให้ผมสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปเกือบ ๆ สองหมื่นบาทครับ ทีนี้ ด้วยความที่ผมนอบน้อมเอามาก ๆ แถมกระแดะพูดภาษาอีสานกับเจ้าของร้านอีก ผมได้ไม้แถมมามากมายหลายชิ้นเลย
โครงหลังคานั้น ผมเปลี่ยนวัสดุจากไม้มาเป็นเหล็ก เพราะไม้เนื้อแข็งหน้า 4 ที่จะเอามาทำจันทันนั้น ราคาค่อนข้างสูงมาก ครั้นจะเอาไม้ยางก็เกรงจะไม่แข็งแรงในระยะยาว ไม้เก่าที่ร้านไม้ก็ไม่มี วิศวกรเพื่อนผมจึงเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาจากไม้ให้เป็นเหล็กทั้งหมด โดยอกไก่ ดั้ง เสและอะเสเป็นเหล็กกล่อง 2x5 นิ้ว จันทันเป็นตัว C ขนาด 4 นิ้ว วางระยะห่างที่ 1.25 เมตร ตรงชายคาหน้าจั่วเป็น C 3 นิ้ว เหล็กทุกตัวหนา 2.3 ทั้งหมด รองพื้นด้วยสีกันสนิม TOA หลังคาเปลี่ยนจากแป้นเกล็ดไม้มาเป็นเมทัลชีทลอนสเปนแทน ซึ่งทีมลุงช่างก็จ้างช่างเหล็กมาทำโครงหลังคาโดยเฉพาะเช่นกัน (แกจ่ายเงินเองเช่นเคย) เพราะแกไม่ชำนาญงานเชื่อมเหล็กบนหลังคา เอามืออาชีพดีกว่า (แกว่าอย่างนั้นนะครับ) จริง ๆ ผมว่าแกทำได้แหละ แต่ทีมงานอายุเยอะ คงกลัวทำงานบนที่สูงแล้วพลาด แกบ่นอุบที่ว่าช่างเหล็กทำงานหลายวันจังถ้าเป็นไม้ล่ะก็ลุงทำเสร็จไปนานแล้ว
แป ผมใช้แปสำเร็จความหนา 0.60 วางระยะแปที่ 50 เซนติเมตร ราคาตัวละ 79 บาท ซึ่งพอวางเสร็จช่างขึ้นไปปูหลังคาเดินเหยียบได้ ไม่มียวบแต่อย่างใด ส่วนจั่วหรือหน้าบันนั้นก็ใช้ฝาไม้จริงจำลองจั่วของเฮือนคำแก้ว (เฮือนนางสาหร่าย) ซึ่งเป็นลักษณะตีซ้อนเกล็ดมาใส่ไว้ซะเลย มองภายนอกจะเหมือนบ้านผมมีจั่วคล้ายของโบราณอยู่เหมือนกัน (ผมว่าเหมือนนะ) ยกไก่ยาวตลอดหลังที่ระยะ 9 เมตรพอดีเป๊ะ (กำหนดขนาดตามเมทัลชีต) ได้ชายคาหน้าจั่วยื่นออกไปด้านละ 75 เซนติเมตร พอดี ส่วนโครงหลังคาครัวใช้ไม้จริง ซึ่งเป็นไม้เต็งหน้า 3 ทั้งหมดครับ ราคาเมตรละ 30 บาท ประหยัดไปได้หน่อย
- ป้านลม (บางที่ก็เรียก “ปั้นลม”) และเชิงชายนั้น ใช้เชิงชายไม้เทียม Dura หน้า 8 นิ้วและซ้อนด้วยไม้ระแนงขนาด 3 นิ้ว เอาให้เหมือนเฮือนตัวอย่าง ทาสีด้วยสีน้ำเบเยอร์คูลซะเลย รับประกัน 7 ปี ดูซิจะอยู่ได้ถึงไหม 555
- เมื่อโครงหลังคาเรียบร้อย ก็ได้เวลายกฝาเรือนขึ้นติดตั้ง ก่อนจะติดตั้งฝาเรือนได้ ต้องติดตั้ง “พรึง” เสียก่อน พรึงคือไม้คานรองฝาเรือน เฮือนโคราชนั้นมีเอกลักษณ์อีกอย่างตรงชายพรึงที่ยื่นเกินตัวบ้านออกไปนั่นจะปล่อยไว้ไม่ตัดออก เรือนของผมก็เช่นกัน ผมปล่อยชายพรึงยาวไว้อย่างนั้น จากนั้นก็ชักรอกฝาขึ้นไปติดตั้งทีละฝา ตอนแรกสุดนั้นประเมินกันเอาไว้ว่าฝาเรือนเนี๊ยะคงใช้เวลาติดตั้งราว 3 วัน เพราะทั้งใหญ่ทั้งหนัก แต่เอาเข้าจริง ฝาเรือนทั้ง 6 กระแบะติดตั้งเสร็จในวันเดียวเท่านั้น การติดตั้งฝาเรือนนั้นต้องทำก่อนมุงหลังคาครับ
เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น กระดานปูเรียบร้อย ลุงแกก็จ้างช่างขัดและทำสีพื้นกระดานมาอีกทีมหนึ่ง (ลุงช่างจ่ายเงินเองเช่นเคย) แกบอกว่าจะได้เนียน ๆ ตอนแรกผมตั้งใจวางตงที่ระยะ 50 เซนติเมตร แต่พอมาดูความหนาของไม้ที่ไสปรับแล้วยังหนา 1.6-1.8 นิ้ว ลุงแกเลยวางตงที่ 1 เมตรเลย บ้านผมก็เดินไม่ยวบครับ แข็งแรงมาก ยกเว้นตรงห้องที่ไม้กระดานที่ขาดไป ผมหาซื้อขนาดเท่าเดิมไม่ได้ที่ไปซื้อมาใหม่ 6 แผ่นนั้นหนาไม่ถึงนิ้ว ตรงห้องนั้นจึงต้องเสริมตงเพิ่มขึ้นที่ระยะ 50 เซนติเมตร เพื่อความแข็งแรง
- ช่างขัดกระดานจนหมดเสี้ยนแล้วลงเบเยอร์ชิลเลอร์หมดไปสองแกลลอน แล้วจึงตามด้วยเบเยอร์ Deck Stain อีก 3 รอบ (ทาวันละ 1 รอบ) ซึ่งอีเบเยอร์นี่ 1 แกลลอนมันทาได้ตก 60 ตารางเมตร (ข้างกระป๋องบอกว่าราว ๆ 70-80 ตารางเมตร) ถ้า TOA นี่ไม่ถึง แกลลอนนึงทาได้ตก 40 ตารางเมตรตามที่ข้างกระป๋องมันบอกเลย ดีที่ตอนซื้อ TOA มันลดราคา 555 หมดค่าสีไปทั้งหมดประมาณ 16,000 บาท
- ตรงพะระเบียงหรือเกยนั้น ผมทำประตูบานเฟี้ยมช่องละ 6 บานติดเอาไว้ รวมแล้วสามช่อง 18 บาน (แต่เฮือนนางเอื้อยไม่มีประตู ปล่อยโล่ง) เอาไว้กันฝนสาดเข้าบ้าน สั่งทำจากช่างท้องถิ่นในราคาบานละ 700 บาท โดยใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุ ทำมาแต่โครงแล้วเอาไม้ไผ่อัดกรุด้านใน ไม่ได้ใส่รางเฟี้ยมครับเพราะไม่ค่อยได้เปิด จะเปิดแค่ตรงช่องครัวเท่านั้น ตรงช่องโล่ง ๆ ที่ครัวทั้งสองด้าน และบานประตูเฟี้ยมตรงเกยนั้น ผมติดผ้าใบชักรอกสีน้ำตาลเพื่อป้องกันฝนและแสงแดด ก็จากรถที่เร่ขายผ้าใบนี่แหละครับ เขาขับผ่านแถวบ้านพอดี รวมแล้วค่าผ้าใบทั้งหมดหกพันบาท
หลายท่านคงสงสัยว่า แล้วชานแดดกับบันไดของผม มันไม่ตากแดดตากฝนหรือ คำตอบคือ “ตากครับ” ใน 1 วัน ชานแดดและบันไดของผมจะตากแดดอยู่ราว 6-7 ชั่วโมง ประมาณบ่ายสามโมง ชานแดดจะร่มทั้งหมด สีย้อมพื้นไม้เบเยอร์ Deck Stain ที่ลงไปทั้งหมด 3 รอบนั้น เอาไม่อยู่ครับบอกเลย บ้านปลูกเสร็จมาเกือบสองเดือนแล้ว บริเวณพื้นที่โดนแดดจัดเริ่มซีดลงไปเป็นบางส่วน ไม้มีการขยายตัวบ้างแต่ตรงจุดนี้ผมไม่กังวลอะไรครับ ถ้าไม้ชานแดดมันอยู่ได้ถึง 10-15 ปี อายุขัยที่เหลืออยู่ของผมก็คงจะมีโอกาสซ่อมพื้นตรงนี้ไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้น (ที่เหลือใครรับเรือนนี้ต่อไปก็ซ่อมกันเองล่ะกัน อิอิ) ในระหว่างรอมันพัง ผมก็จะทยอยซื้อไม้กระดานยาว 8 ศอกเก็บไว้ปีละสองสามแผ่น ระยะเวลาสิบกว่าปีก็คงจะได้ไม้กระดานเก็บไว้ 24 แผ่นพอซ่อมชานแดดพอดี 555 ไม้กระดานที่ปูชานแดด ผมเว้นระยะห่างของร่องกระดานไว้ที่ราว 0.5 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำฝนไหลลงใต้ถุนบ้านได้เร็วขึ้นแบบเรือนโคราชดั้งเดิม
- ใต้ถุนบ้านเทปูนสูง 10 เซนติเมตร เนื่องจากตรงนี้ถ้าฝนตกหนักน้ำจะระบายไม่ทันมักจะท่วมขังเสมอ
สไตล์การตกแต่งบ้าน บอกเลยว่าเฮือนนี้ไม่ต้องแต่งอะไรเลยครับ หน้าต่างอยู่สูงจากพื้นกระดานแค่ 50 เซนติเมตร ฝาด้านในเป็นช่องลูกฟักโชว์ฝาด้านใน ไม่มีเตียง กิจกรรมทุกอย่างในบ้านนี้ออกแบบมานั่งกับพื้นเรือนทั้งหมดครับ เฮือนผมจึงไม่มีเตียง ไม่มีเก้าอี้ มีโต๊ะลักษณะโต๊ะญี่ปุ่นไว้นั่งทำงานเท่านั้น ระบบไฟฟ้าหลอดไฟใช้หลอด LED ขนาด 5W ยกเว้นดวงใต้ถุนบ้านจะใหญ่หน่อยคือ 12 W รวมทั้งหลังมีหลอดไฟอยู่ 13 ดวง บ้านผมเย็นสบายตลอดวัน เปิดหน้าต่างเอาไว้ก็มีลมพัดผ่านเข้ามาตลอด ผมนั่งทำงานบนบ้านได้ทั้งวันโดยไม่ต้องเปิดพัดลม หากวันใดร้อนจัด ๆ หรือลมไม่ค่อยพัดก็ลงมานอนแคร่ใต้ถุนบ้าน และบ้านผมไม่ตีฝ้าครับ ในอนาคตข้างหน้าอีกประมาณ 4-5 ปี ผมมีโครงการจะเปลี่ยนหลังคาเมทัลชีตเป็นหลังคาแป้นมุงไม้ครับ ช่วงนี้ก็สะสมแป้นเกล็ดไปเรื่อย ๆ ตามกำลังทรัพย์ก่อนครับ
- ผมนั่งทำงานตรงนี้ได้ทั้งวัน
- ถ้าร้อนก็ลงมาใต้ถุน
เบ็ดเสร็จแล้ว บ้านผมใช้เวลาปรุงเฮือนราว 50 วัน งบประมาณทั้งสิ้นราว 7 แสนบาท จากแรงบันดาลใจของเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่าย ผมเขียนแบบเอง (ในความควบคุมของคุณเพื่อนสถาปนิกและวิศวกร) คุมงานเอง ซื้อวัสดุเอง เหนื่อยมาก ๆ ครับ แต่ผมโชคดีที่ได้ช่างดี ลุงใช้ไม้ได้คุ้มค่ามาก โดยเฉพาะไม้กระดาน แกคำนวณทุกแผ่นว่าแผ่นนี้ต้องตัดตรงไหน เอาไปต่อตรงไหนได้ถึงจะคุ้มค่าที่สุด ตัดทิ้งน้อยมาก ส่วนที่ตัดทิ้งผมเอาไปทำม้ารองนั่ง ม้ารองตีน ม้ารองโอ่ง ชานพักเอาไว้ล้างเท้าตรงบันได ผมได้ทักษะการทำงานไม้มาบ้างนิดหน่อยจากลุง ๆ เหล่านี้ เหนื่อยแต่ก็สนุกมากครับ
เฮือนหลังนี้อาจจะไม่ได้สร้างตามรูปแบบเฮือนโคราชดั้งเดิม 100% แต่ผมก็พยายามให้เฮือนคงความเป็นเฮือนโคราชไว้ให้มากที่สุด หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคนรักบ้านไม้ครับ และอยากให้คนที่อยากได้บ้านไม้ได้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างเรือนในฝันของตัวเอง โดยที่ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เพียงแต่เราต้องเข้าใจมันให้มากที่สุดครับ หาข้อมูลให้มาก ๆ คุณสามารถทำได้ทุกคน อีกอย่างบ้านไม้ทำให้เย็นได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ ลองศึกษาระบบการปลูกบ้านที่บรรพบุรุษของเราคิดค้นทดลองกันมานำมาปรับใช้กับบ้านของเราให้เหมาะสมครับ ลองดูเด้อ
- มุมพักผ่อนของภรรยา
- บ้านไม้ต้องกันเหนียวไว้ด้วยถังดับเพลิงเล็ก ๆ สักใบ ขอให้บ้านปลอดภัยไม่ต้องใช้ไปชั่วนิรันดร์ อิอิ
- ห้องนอนห้องที่สองสำหรับแขกไปใครมา ไม่มีอะไรเลยครับ ที่นอนเป็นฟูกพับต้องกางมุ้ง