มาดูวิธีกำจัดน้ำมันใช้แล้วที่ถูกต้อง พร้อมแนวทางการนำน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ไปใช้ซ้ำ แปรรูป และวิธีทิ้งอย่างถูกวิธีกันดีกว่าค่ะ
น้ำมัน ถือเป็นส่วนประกอบในอาหารเกือบทุกประเภท จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เกือบทุกบ้านจะมีน้ำมันใช้แล้วเหลืออยู่ ทว่าอย่างที่เราทราบกันดีว่าการเทน้ำมันทิ้งในท่อระบายน้ำ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน แถมยังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอีกต่างหาก ฉะนั้นในวันนี้เรามาศึกษา วิธีกำจัดน้ำมัน ใช้แล้วที่ถูกต้องและไม่ทำลายระบบนิเวศ พร้อมเคล็ดลับการรีไซเคิลน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้ว ไปทำให้เกิดประโยชน์ดี ๆ อื่น ๆ กันค่ะ
วิธีจัดการกับน้ำมันที่ใช้แล้ว
1. ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
แน่นอนว่าน้ำมันที่เพิ่งใช้งานเสร็จจะต้องมีความร้อนสูงมาก ๆ ดังนั้นก่อนจะลงมือทำอะไรกับน้ำมันก็แล้วแต่ ควรรอเวลาอย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมงเพื่อปล่อยให้น้ำมันเย็นลง เพราะหากเราเลือกที่จะจัดการกับน้ำมันตอนที่ยังร้อน ๆ เลยทันที ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวกได้
2. กรองน้ำมันใส่ในภาชนะ
นำภาชนะที่เราจะใช้ใส่น้ำมันมาวาง โดยสามารถใช้ได้ทั้งแบบพลาสติก กระป๋อง หรือขวดแก้ว ทว่าหากจะใช้ขวดแก้วก็ควรระวังแตกสักหน่อย จากนั้นก็ให้เทน้ำมันลงไป โดยใช้ที่กรองเศษอาหาร เพื่อกรองเอาสิ่งสกปรกและเศษอาหารออก จนไม่มีอะไรเจือปนไปในน้ำมันด้วย
3. นำไปแช่ในช่องฟรีซ
หลังจากกรองน้ำมันใส่ภาชนะเสร็จแล้ว เราสามารถนำน้ำมันเหลือใช้เหล่านี้ไปแช่ในช่องฟรีซหรือเก็บไว้ในพื้นที่เย็นชื้นได้ เนื่องจากความเย็นจะส่งผลให้น้ำมันแข็งตัว ซึ่งก็ง่ายต่อการนำไปทิ้ง หรือหากจะใช้งานต่อก็แค่นำออกมาละลายเท่านั้น
หลังจากจัดการกับน้ำมันที่ใช้แล้วเสร็จเรียบร้อย คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่าเราสามารถนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อะไรได้บ้าง หรือถ้าหากใช้ไม่ได้ ควรจะกำจัดทิ้งให้ถูกวิธีได้อย่างไร
น้ำมันที่ใช้แล้วทำอะไรได้บ้าง ?
1. นำมาใช้ซ้ำหรือรียูส (Reuse)
- เชื่อว่าหลายคนคงนำน้ำมันกลับมาใช้ซ้ำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามน้ำมันทำอาหารเหล่านี้ควรใช้ซ้ำแค่เพียงหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้ อ้อ แล้วก็อย่าลืมกรองและเก็บให้ถูกวิธีตามขั้นตอนด้านบนด้วย อีกทั้งก่อนจะนำมาใช้งานซ้ำต้องดมเช็กว่ามีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นแปลก ๆ หรือเปล่าทุกครั้ง ถ้ามีก็ตัดสินใจทิ้งไปได้เลย แต่ถ้าไม่ก็สามารถใช้ซ้ำได้ แล้วก็ต้องทำความเข้าใจเอาไว้อีกด้วยว่า การใช้น้ำมันทำอาหารซ้ำอาจมีกลิ่นของอาหารเดิมติดมาได้
- นอกจากจะใช้ทำอาหารให้คนแล้ว น้ำมันใช้แล้วก็ยังสามารถนำไปผสมกับขนมปังเก่า ข้าว หรือธัญพืช เพื่อใช้เลี้ยงไก่และหมูได้
- ส่วนใครที่มีตะเกียงน้ำมันอยู่ที่บ้าน ก็สามารถนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาใช้แทนน้ำมันตะเกียงได้
- คุณผู้ชายหรือสาว ๆ คนไหนที่อยากกำจัดหนวดและขน ก็นำน้ำมาใช้แล้วมาใช้แทนครีมโกนหนวดหรือโกนขนได้ แต่ต้องระวังอาการแพ้ด้วย
- การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปผสมเป็นปุ๋ยถือเป็นอาหารชั้นดีของไส้เดือนดินเลยล่ะ หรือถ้าอยากจะกำจัดเหล่าวัชพืชที่มาก่อกวนต้นไม้ ก็สามารถนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วใส่ขวดสเปรย์ จากนั้นก็นำไปฉีดไล่พวกมันได้เลย
2. นำไปแปรรูปหรือรีไซเคิล (Recycle)
- เราสามารถนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปบริจาคหรือขายที่ปั๊มบางจาก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่สามารถใช้แทนน้ำมันปิโตรเลียมทั่วไปได้ แถมยังที่ไร้สารพิษและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วย
- นอกจากจะทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้แล้ว น้ำมันเหล่านี้ก็ยังสามารถทำเป็นสบู่ได้ด้วย ทว่าก่อนจะนำไปทำสบู่ต้องทำความสะอาดน้ำมันให้สะอาดเสียก่อน โดยวิธีการก็ไม่ยาก แค่เทน้ำใส่กระทะ ตั้งไฟอ่อน ๆ รอจนเดือดนิด ๆ แล้วก็เทน้ำมันที่ใช้แล้วใส่ลงไป คนให้เข้ากันเบา ๆ ในช่วงนี้เศษอาหารหรือเศษสกปรกต่าง ๆ จะแยกออกมาจากน้ำมันเอง เสร็จแล้วก็แค่ปล่อยทิ้งไว้จนหายร้อน โดยเราสามารถเคี่ยวต่ออีกหลาย ๆ ครั้งได้จนกว่าน้ำมันจะไร้สิ่งสกปรก จากนั้นก็นำไปทำเป็นสบู่ตามคลิปนี้ได้เลย
3. กำจัดทิ้ง
- นำน้ำมันเทใส่กระป๋องที่พร้อมทิ้ง แล้วนำไปแช่จนแข็ง แค่นี้ก็ช่วยให้กำจัดน้ำมันได้แบบง่าย ๆ แล้วค่ะ
- หากไม่อยากเสียเวลารอจนน้ำมันแข็ง ก็สามารถนำน้ำมันเทใส่ถุงหรือภาชนะแล้วปิดให้แน่นสนิท จากนั้นก็นำไปทิ้งใส่ถังขยะได้เลย โดยหากใส่ในถุงก็ควรระวังไม่ให้มีอะไรมาทิ่มจนถุงขาดด้วยนะ
- เทผสมน้ำมันลงในทราย ทรายแมว แป้ง หรือขี้เลื่อย แล้วรอจนมันเหนียวติดกันเป็นก้อน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ได้ค่ะ
- หากต้องใช้น้ำมันประกอบอาหารจำนวนมากเป็นประจำ จนกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ ด้านบนไม่ไหว คงต้องแนะนำให้ติดตั้งบ่อดักไขมันไว้ที่อ่างแล้วจานแล้วล่ะ
ในเมื่อได้รู้วิธีกำจัดน้ำมันใช้แล้วที่ถูกต้องไปแล้ว อย่าลืมนำไปปรับใช้ภายในบ้านตามความสะดวกและเหมาะสม โดยจะเลือกใช้วิธีใดก็แล้วแต่ แต่อย่าเผลอเทน้ำมันทิ้งในท่อระบายน้ำเชียวนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก thespruce, bonappetit, formula409, earth911, spoonuniversity, nyc.gov, lifehacker และ wikihow