ด้วยความที่มีรูปทรงแปลก แต่สวย เก๋ และเหมาะที่จะนำมาตกแต่งบ้านมาก ๆ ต้นปรง จึงถูกยกให้เป็นไม้ประดับยอดนิยมอีกหนึ่งชนิด ทว่าหลาย ๆ คนที่อยากปลูกไว้จัดสวนอยากจะทำความรู้จักกับต้นไม้ต้นนี้ก่อนวันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นปรง ทั้งประวัติ ลักษณะ สายพันธุ์ยอดนิยม การปลูก การดูแล ประโยชน์ สรรพคุณ และโทษ มาฝากกันอย่างครบถ้วนเลยค่ะ
ปรง (Cycas) เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นตามริมน้ำในป่า ลำต้นเป็นกอ ใบยาว รูปร่างแปลก แต่สามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้ดี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cycas circinalis L. จัดอยู่ในวงศ์ Cycadaceae โดยต้องบอกว่าต้นปรงนั้นมีมาตั้งนานมากแล้ว เพราะปรงถือเป็นพืชโบราณที่มีบรรพบุรุษอยู่ในยุคของไดโนเสาร์เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่ยังคงหลงเหลือปลงอยู่จนถึงปัจจุบัน ทว่าตอนนี้ต้นปรงจัดอยู่ในกลุ่มพืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตส (CITES) แล้ว เนื่องจากกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงในธรรมชาติ
ในประเทศไทยมีปรงพื้นเมืองทั้งหมด 10 ชนิด โดยแต่ละชนิดก็จะกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขึ้นในที่โล่งแจ้งและค่อนข้างแห้ง และบางครั้งชื่อที่เรียกก็จะบอกถึงความแตกต่างและแหล่งกำเนิดของต้นปรงนั้น ๆ ได้
ลำต้น : ปรงเป็นไม้พุ่ม ลำต้นอยู่เหนือดิน มีลักษณะคล้ายต้นมะพร้าวต้นเล็กหรือต้นปาล์ม แต่ก็มีความโดดเด่นชัดเจน ทำให้สามารถแยกออกจากกันได้ง่าย โดยเพศผู้และเพศเมียจะอยู่แยกต้นกัน
ใบ : ปรงมีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับแน่นที่ปลายยอด เส้นกลางใบนูนเด่นชัด ไม่มีเส้นแขนง แต่มีเกล็ดหุ้มยอด โดยใบของต้นเพศผู้จะสร้างอับไมโครสปอร์ ส่วนใบของต้นเพศเมียจะสร้างอับเมกะสปอร์
ดอก : ปรงมีดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ แยกกันอยู่คนละต้น โดยดอกเพศผู้จะอัดแน่นเป็นช่อทรงกรวยที่ปลายยอด มีสปอร์เรียงรอบแกนกลาง ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นกาบระหว่างใบ มีไข่อ่อนกลม ๆ ติดอยู่ระหว่างโคน ซึ่งไม่ค่อยจะออกดอกให้เห็นสักเท่าไร
ผล : ปรงมีผลเป็นทรงกลมหรือทรงรี สีเหลือง ด้านนอกมีเนื้อสดและหนา ด้านในแข็งเป็นเนื้อไม้ โดยจะเริ่มแก่ในช่วงสิงหาคม-กันยายน
เมล็ด : ปรงมีเมล็ดเป็นเมล็ดเปลือย ไม่มีรังไข่มี อาจเป็นทรงกลมหรือทรงรีก็ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยขนาดของเมล็ดจะค่อนข้างใหญ่และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ปรงที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
ปรงที่ผู้คนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยจะแบ่งออกเป็นปรงพื้นเมืองของไทย 3 สายพันธุ์ และปรงต่างประเทศ 1 สายพันธุ์ ดังนี้
ปรงพื้นเมืองของไทย
1. ปรงทะเล
ปรงทะเลหรือมะพร้าวเต่าทะล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas litoralis K.D.Hill เป็นปรงที่พบได้ตามป่าชายหาด ลำต้นอาจมียอดเดียวหรือหลายยอดก็ได้ เปลือกขรุขระ มีร่องลึกชัดเจน ใบแข็งและหนา โคนเพศเมียเป็นรูปกรวยแคบ โคนเพศผู้เป็นรูปไข่ ส่วนเมล็ดก็เป็นทรงไข่ มีจำนวนมาก เห็นได้ชัดเจน ผิวมันเรียบ
2. ปรงประจวบ/ปรงมะพร้าวสีดา
ปรงมะพร้าวสีดา ปรงประจวบ หรือปรงปราณบุรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas pranburiensis S.L.Yang,W.Tang,K.D.Hill&P.Vatcharakorn เป็นพืชที่พบได้บริเวณเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันถูกคุกคามจำนวนมาก จึงมีการเพาะเลี้ยงจากเมล็ด โดยลำต้นสูงไม่เกิน 3 เมตร เปลือกเป็นร่องลึกและเป็นทางยาว ก้านใบค่อนข้างแข็งและหนา มีใบจำนวนมาก เส้นกางใบนูนทั้งด้านบนและด้านล่าง โคนเพศเมียเป็นรูปกรวยแคบ โคนเพศผู้เป็นรูปไข่
3. ปรงเหลี่ยม
ปรงเหลี่ยมหรือตาลปัตรฤาษี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas siamensis Miq. เป็นปรงที่พบได้ง่ายและเกือบทุกภาค (ยกเว้นใต้) ส่วนมากขึ้นตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ลำต้นจะค่อนข้างสั้น เปลือกแตกเป็นร่อง ก้านใบแข็งและหนา โคนเพศผู้สร้างไมโครสปอร์ โคนเพศเมียสร้างอับเมกะสปอร์ เมล็ดค่อนข้างกลม มีสีเหลือง
ปรงต่างประเทศ
4. ปรงญี่ปุ่น
ปรงญี่ปุ่นหรือสาคูปาล์ม (Sago Palm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas revoluta Thunb. เป็นปรงนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกขรุขระ ใบกระจุกแน่นที่ปลายหยอด ปลายเรียวหลาบ ก้านใบแข็ง มีหนามแหลมสั้น ๆ
ปรงเป็นต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น ไม่สามารถทำด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้ ซึ่งเมล็ดของต้นปรงจะงอกได้ค่อนข้างช้ามาก ทว่าถ้าหากอยากให้เมล็ดปรงงอกเร็วขึ้น ก็ให้ทำการเลาะเปลือกหุ้มเมล็ดออกก่อน แล้วก็กะเทาะกะลาที่อยู่ข้างในเมล็ดให้แตกอีกที เท่านี้เมล็ดก็จะงอกเร็วขึ้นแล้ว และทางที่ดีอย่าลืมนำเมล็ดปรงไปแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา เพื่อช่วยให้ต้นปรงมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงขึ้นด้วย
ซึ่งในการเพาะเมล็ดปรงขั้นแรก ให้เพาะเอาไว้ในกระจาดที่ใส่ดินปนทราย โดยวางให้เมล็ดโผล่พ้นดินขึ้นมาครึ่งหนึ่ง แล้วตั้งไว้ที่กลางแจ้ง พร้อมดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ จากนั้นสักพักใหญ่ ๆ ก็จะมีก้านใบโผล่ขึ้นมาจากเมล็ด รอให้ยาวสักประมาณ 1 คืบ แล้วจึงนำไปปลูกลงดินแบบปกติได้เลย
ต้นปรง การดูแล
ปรงเป็นต้นไม้ที่ดูแลไม่ยาก ทนทาน และไม่ค่อยมีโรค โดยสามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่จะชอบดินร่วนปนทรายเป็นพิเศษ ชอบแสงแดดจัด ๆ ต้องการน้ำปานกลาง และทนต่อการขาดน้ำได้ดี ส่วนปุ๋ยก็จะใช้เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแค่ประมาณปีละ 2 ครั้ง แต่ต้องหมั่นตรวจเช็กต้นปรงบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีไรแดงและเพลี้ยหอยมาก่อกวนได้
ต้นปรง ประโยชน์
ปรงมีรูปทรงที่แปลก แต่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกปรงเป็นไม้ประดับ รวมถึงนำใบไปใช้ตกแต่งในงานพิธีต่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น เพราะเมล็ดของปรงยังนำไปสกัดเพื่อใช้เป็นแป้งสาคูทำขนมได้ด้วย แต่ต้องรู้ถึงวิธีการนำสารพิษออกจากเมล็ดให้ได้ก่อน แถมที่สำคัญ เมล็ดของปรงยังนำไปสกัดเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกต่างหาก ส่วนใบ แกน และเหง้าก็นำไปประกอบอาหารพื้นเมืองได้ ทั้งต้ม ผัด และแกงเลยด้วย ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าเมื่อไร้สารพิษที่ติดมาแล้ว ปรงมีประโยชน์ดี ๆ มากมายจริง ๆ ค่ะ
ต้นปรง สรรพคุณ
นอกจากจะมีประโยชน์มากมายแล้ว ปรงยังมีสรรพคุณทางยาดี ๆ อีกเพียบ โดยชาวป่าทางภาคเหนือนิยมนำยางปรงมาทำเป็นยาทาแผลอักเสบ ดูดหนองฝี และดับพิษ ส่วนบริเวณหัวของปรงก็นิยมนำไปฝนแล้วปรุงกับเหล้า ใช้ในการสมานแผล แก้บวม แก้ฟกช้ำ รวมถึงใช้รักษาแผลเรื้อรังได้เป็นอย่างดี ส่วนดอกของปรง ซึ่งมีรสค่อนข้างเผ็ด ก็จะถูกนำมาใช้ในการบำรุงร่างกาย แก้ลม และแก้เสมหะ บริเวณลำต้นก็นำมาตำหรือบดแล้วใช้สระเพื่อบำรุงและรักษารากผมได้
พิษต้นปรง
ถึงแม้จะมีประโยชน์และสรรพคุณเพียบ แต่ปรงก็มีพิษ ซึ่งอยู่ในส่วนยอดและเมล็ดด้วย โดยสารพิษตัวที่พบในปรงมีชื่อว่า Cycasin ถ้าหากอยู่ในสภาวะกรด (ในกระเพาะอาหาร) ก็จะสลายตัวให้เมทานอล (methylazoxymethanol) ทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง อาเจียน หายใจขัด สั่น และตามัว ซึ่งถ้าหากได้รับพิษมาก ๆ ก็อาจจะตาบอดหรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนถ้าหากสารนี้อยู่ในสภาวะด่าง (ในลำไส้) ก็จะสลายตัวให้ไฮโดรเจนไซยานิค (HCN) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาจนขวางกั้นระบบหายใจ ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ซึ่งก็จะตามมาด้วยอาการชักและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการศึกษากับสัตว์ทดลองแล้วพบว่า Cycasin มีพิษต่อตับและระบบประสาทด้วย ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่จะนำมารับประทาน ต้องกำจัดสารพิษออกให้หมด ด้วยการต้มในน้ำร้อนหรือแช่น้ำทิ้งไว้หลาย ๆ วัน จนสารพิษละลาย แล้วจึงนำมาใช้ประกอบอาหาร
ถึงแม้จะสวยและน่านำมาใช้ประดับตกแต่งบ้านแค่ไหน แต่อย่างไรก็ต้องใส่ใจเลือกต้นปรงที่มาจากเพาะเมล็ดใหม่ อย่าไปถอนมาจากธรรมชาติเชียว ไม่เช่นนั้นต้นปรงหลาย ๆ สายพันธุ์คงต้องสูญพันธุ์ไปแน่ อ้อ แล้วถ้าจะนำมาบริโภคก็อย่าลืมกำจัดสารพิษออกก่อนด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมป่าไม้, กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานหอพรรณไม้, ข้อมูลพันธูไม้, qsbg, puechkaset และ medplant.mahidol