ไม้เลื้อยดักฝุ่น น่าปลูกจัดสวน ลดฝุ่นในอากาศได้ดี แถมยังทำซุ้มกันแดดหน้าบ้านได้ด้วย แค่ช่วยกันปลูกคนละต้นสองต้น ก็ลดปัญหาฝุ่นพิษพร้อมคืนอากาศบริสุทธิ์ได้
ในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศแบบนี้ รู้ไหมคะว่าเพียงแค่เราปลูกต้นไม้ ก็ช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในอากาศได้แล้ว โดย “ใบ” ของพืชที่มีขนปกคลุม สาก หยาบ หรือมีประจุไฟฟ้าจะเป็นตัวดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กเอาไว้ เมื่อฝนตกก็จะถูกชะล้างลงสู่พื้นดิน ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวม 6 ไม้เลื้อยที่สามารถดักจับฝุ่นได้มาฝาก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษในอากาศได้แล้วเนี่ย ยังสามารถปลูกทำซุ้มไว้หน้าบ้านหรือโรงรถไว้กันแดดได้อีกด้วย ส่วนจะมีไม้เลื้อยชนิดไหนบ้าง ตามไปชมพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
โดยคุณสมบัติของพรรณไม้ที่เหมาะแก่การดักจับฝุ่นละอองและฟอกอากาศได้ มีดังนี้
1. มีกิ่งก้านหนาแน่น มีพื้นที่ผิวใบและกิ่งก้านจำนวนมาก
2. เจริญเติบโตเร็ว
3. มีใบหนาแน่น ผิวใบไม่เรียบ มีสิ่งปกคลุมหรือขนจำนวนมาก
4. ทนทานต่อมลพิษและอากาศร้อนในเขตเมืองได้ดี
1. เล็บมือนาง
เล็บมือนาง หรือที่ชาวเหนือเรียกกันว่า จะมั่ง จ๊ามั่ง หรือมะจีมั่ง ไม้เลื้อยน่าปลูก เพราะนอกจากจะมีดอกสีชมพูสวยงามสะดุดตาแล้ว ยังส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ให้ชื่นใจ แถมยังเป็นไม้เลื้อยที่โตเร็วดูแลไม่ยาก ขยายพันธุ์ง่าย ๆ ด้วยการนำกิ่งมาปักชำ ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถปลูกในดินได้ทุกชนิด แต่หากจะให้ดีควรเป็นดินร่วนปนทราย นอกจากนี้ถ้าอยากให้ออกดอกสวยงาม ควรปลูกไว้ในบริเวณที่โดนแดดตลอดทั้งวัน รดน้ำพอประมาณให้ดินชื้น ๆ ไม่ควรรดเยอะจนดินแฉะ เพราะจะทำให้รากเน่า ที่สำคัญเมื่อปลูกเสร็จแล้วอย่าลืมนำไม้มาปักข้าง ๆ หรือทำค้างให้เถาเลื้อยด้วยนะคะ
- ลักษณะใบ : ใต้ใบมีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก
- ลักษณะใบ : ใต้ใบมีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ● ○ ○
----------------------------------------------
2. อัญชัน
เรียกได้ว่าเป็นไม้เลื้อยสารพัดประโยชน์จริง ๆ สำหรับ ต้นอัญชัน เพราะนอกจากจะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คุณพ่อ-คุณแม่หลาย ๆ คนนำไปใช้ทาคิ้วให้เด็ก ๆ แล้วเนี่ย ยังสามารถนำไปทำอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิดเลย สามารถปลูกได้ด้วยการใช้เมล็ด โดยเริ่มจากนำเมล็ดมาเพาะในดินร่วนปนทรายผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ปลูกในที่โดนแสงแดดบ้าง หมั่นรดน้ำพอให้ดินชุ่มชื่นทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ก็จะออกดอกสวย ๆ ให้เก็บได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญไม่ต้องคอยดูแลมาก เพราะไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงมารบกวนเลย
- ลักษณะใบ : ผิวใต้ใบมีขนหนา
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ○ ○ ○
----------------------------------------------
3. พวงชมพู
พวงชมพู พวงนาค หรือหงอนนาค ไม้เลื้อยที่มาพร้อมดอกสีชมพูอ่อน ๆ ออกเป็นช่อสวยงาม แม้ไม่มีกลิ่น แต่ก็ออกดอกให้ชมได้ตลอดทั้งปี ลักษณะเถาเลื้อยพันเป็นพุ่มแน่นกันแดดได้ดี เหมาะสำหรับปลูกในเมืองร้อนอย่างบ้านเรามาก ๆ เพราะเป็นไม้เลื้อยที่ชอบแสงแดดจัด สามารถปลูกได้ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ ปลูกง่าย โตไว ทนแล้ง ทนโรค และทนแมลงได้ดี จะปลูกทำซุ้มกันแดดโรงรถหรือปลูกประดับริมรั้วก็ได้ ที่สำคัญดอกของพวงชมพูยังสามารถนำไปชุบแป้งทอดกินได้ด้วยนะคะ
- ลักษณะใบ : ใบหยาบ มีเส้นแขนงเยอะ
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ○ ○ ○
----------------------------------------------
4. กะทกรก
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินชื่อแน่นอน เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ลำต้นมีหนามเล็กปกคลุม ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีผลทรงกลมหรือไข่ ลักษณะอวบน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร สายพันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ผลสีเหลืองทอง พันธุ์ผลสีม่วง พันธุ์ผลสีม่วงกับสีเหลืองทอง (พันธุ์ไฮบริด) ปลูกได้โดยการเพาะเมล็ดในดินผสมปุ๋ยคอก พร้อมทำค้างให้เถาเลื้อย
- ลักษณะใบ : ใบหนา มีความสาก
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ● ○ ○
----------------------------------------------
5. สร้อยอินทนิล
ไม้เลื้อยหน้าตาคล้ายรางจืด แต่จริง ๆ แล้วต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อว่า สร้อยอินทนิล เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ มีดอกรูปแตรสีม่วงอมฟ้า และออกดอกได้ตลอดทั้งปี มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อาทิ คาย ช่องหูปากกา น้ำผึ้ง ปากกา และย่ำแย้ ปลูกได้ทั้งการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ สามารถปลูกได้ในดินทั่วไป ในบริเวณที่มีแสงแดดจัดและความชื้นปานกลาง
- ลักษณะใบ : ใต้ใบมีขนหนา สาก ก้านใบมีขน
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ● ○ ○
-------------------------------------------------
6. พวงคราม
ไม้เลื้อยออกดอกเป็นพวงสีม่วงครามชนิดนี้มีชื่อว่า พวงคราม เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งมีเถาขนาดใหญ่ ออกดอกตลอดปี แต่จะออกดอกเยอะเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว มีผลสามารถกินได้ ปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชื้น แต่ไม่แฉะ ฉะนั้นควรรดน้ำปานกลาง ไม่เยอะเกินไปจนน้ำขัง สถานที่ปลูกควรเป็นที่โล่งแจ้ง แสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน โรคและแมลงรบกวนน้อย
- ลักษณะใบ : ใบเรียบ มีขนสากปกคลุมทั่ว
- ประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น : ระดับ ● ● ○ ○ ○
จริง ๆ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ชนิดไหน พันธุ์อะไร ก็สามารถช่วยดักจับฝุ่น ลดมลพิษทางอากาศ และสร้างออกซิเจนได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะไม้พุ่มที่มีประสิทธิภาพกรองอากาศชั้นล่าง และไม้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพกรองอากาศชั้นบน ฉะนั้นแล้วนอกจากไม้เลื้อยดักฝุ่นเหล่านี้ ก็ลองมองหาต้นไม้ดักฝุ่นอื่น ๆ มาปลูกประดับบ้าน ประดับสวนดู รับรองคนละไม้ คนละมือ ก็สามารถบรรเทา ป้องกัน และบอกลาปัญหามลพิษทางอากาศได้แน่นอน