ประสบการณ์ซื้อที่ดินปลูกบ้านตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมขั้นตอนการยื่นกู้และก่อสร้างอย่างละเอียด บอกเลยใครชื่นชอบแบบบ้านชั้นเดียวสไตล์ลอฟท์ต้องห้ามพลาดเด็ดขาด !
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน (เจ้าบ้าน/เจ้าของโฉนดที่ดิน)
2. แผนที่บ้านพร้อมจุดติดตั้ง
3. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอใช้น้ำ
3.1 กรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้แนบสำเนาโฉนดที่ดินเพิ่มเติม
3.2 กรณีทะเบียนบ้านชั่วคราว ต้องขออนุญาตจากราชการเจ้าของที่ดินเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมแนบสัญญาเช่า
3.3 กรณีติดตั้งแบบชั่วคราว (บ้านที่สร้างยังไม่มีทะเบียนบ้าน) ให้แนบสำเนาโฉนดที่ดิน (กรณีผู้เช่าขอติดตั้ง ให้แนบสัญญาเช่า พร้อมเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เช่า)
นอกจากจะเรียนต่อปริญญาโทและซื้อรถยนต์สักคันแล้ว การมีบ้านเป็นของตัวเองก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ คุณ JackCNX สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม เช่นเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อเขาต่อสู้ ดิ้นรน จนวันนี้สามารถสร้างบ้านสักหลังสำเร็จจนได้ ก็เลยนำประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มตัดสินใจจะมีบ้าน จนกระทั่งเสร็จพร้อมเข้าอยู่ ตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน 16 วัน มาเล่าสู่กันฟังอย่างละเอียด เผื่อว่าจะเป็นไอเดีย ข้อมูล แนวทาง และแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังจะซื้อที่ดินปลูกบ้านหรือกู้เงินธนาคารสร้างบ้านได้ เอาล่ะ เชื่อว่ามาถึงตอนนี้ทุกคนคงอยากรู้เรื่องราวฉบับเต็มของเขากันแล้ว ถ้างั้นก็อย่ามัวรอช้า ตามไปดูกันได้เลยค่ะ
ประสบการณ์ 1 ปี 2 เดือน 16 วัน ตั้งแต่ตัดสินใจจะมีบ้านจนกระทั่งเข้าอยู่
โดย คุณ JackCNX
ขอเกริ่นนำก่อนนะครับ
1. กระทู้นี้ผมเขียนจากประสบการณ์ทั้งหมดที่ตัวเองพบเจอ ซึ่งบางสถานการณ์บางท่านอาจจะไม่ได้เจอแบบผม
2. คุณจะไม่เจอแนวคิด "สร้างบ้านสวยด้วยงบหลักแสน" ในกระทู้นี้นะครับ ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์เกิดขึ้นจริงกับการสร้างบ้านของผมเอง สร้างบ้านอยู่ทั้งทีเอาให้ดี เอาให้มั่นคงครับ (เห็นหลายกระทู้บอกสร้างบ้านแบบนั้นแบบนี้ใช้งบแค่ 2-3 แสนบาท บอกเลยครับ ลำบากทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมา คุณอยากได้บ้านที่มั่นคงแข็งแรง คุณต้องเชื่อผู้รับเหมา (ดี ๆ) ของคุณเอง มากกว่าจะเชื่อกระทู้ตามโซเชียลครับ)
3. "การสร้างบ้านถ้าได้ผู้รับเหมาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" อันนี้จริงที่สุดครับ และโชคดีมาก ๆ ที่ผมได้ผู้รับเหมาที่ดี
4. การสร้างบ้านของผมส่วนใหญ่ไม่ได้ดูเรื่องฮวงจุ้ยหรือหลักความเชื่อใด ๆ เป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่าลบหลู่นะครับ แต่ผมยึดหลัก "ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่" โดยคิดตามหลักความเป็นจริง เช่น แดดจะแรงทิศไหน เวลาใด ลมจะไปทิศทางใด น้ำจะไปทางไหน อยากเห็นวิวจากส่วนไหนของบ้าน เป็นต้นครับ
5. การสร้างบ้านมีอุปสรรคโปรดใช้วิจารณญาณในการสร้าง
6. สำหรับท่านที่ไม่ชอบอ่านข้อความยาว ๆ เลื่อนดูแต่รูปภาพก็ได้ครับ ผมเขียนคำอธิบายใต้ภาพไว้ให้แล้วครับ
เข้าเรื่องเลยนะครับ เกริ่นมาซะเยอะ ผมเริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี (ไม่นับตอนไปเป็นพลทหาร 1 ปี) และวางเป้าหมายของชีวิตไว้ 3 อย่าง คือ 1. เรียนต่อปริญญาโท 2. ซื้อรถยนต์สักคัน และ 3. สร้างบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง การที่จะบรรลุเป้าหมายหลายอย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องยาก หลังจากทำงานได้ 5 ปีกว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ผมก็ตัดสินใจเลือกเป้าหมายที่ 3 โดยค้นหาที่ดินตามหน้าเว็บไซต์ทั่วไปครับ หลังจากไปดูที่ดินแล้วรู้สึกถูกใจ จึงเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติม เริ่มติดต่อนายหน้า เริ่มต่อรองราคา จนได้ราคาเป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย จึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย โดยระบุในสัญญาจะดำเนินการซื้อ-ขายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2561
- รูปภาพที่ดินครั้งแรกที่ไปเจอ
ระหว่างที่ติดต่อพูดคุยกับเจ้าของที่ดินผ่านนายหน้า ผมก็เริ่มหาผู้รับเหมาก่อสร้างและสถาปนิก ซึ่งโชคดีที่ได้ผู้รับเหมาเป็นรุ่นพี่ของเพื่อนร่วมงาน ส่วนสถาปนิกก็เป็นเพื่อนกับผู้รับเหมาอีกที ผมเขียนแบบแปลนบ้านคร่าว ๆ ลงกระดาษ อยากได้ห้องอะไรบ้าง กี่ห้อง ขนาดประมาณไหน แต่ละห้องอยู่มุมไหน เขียนไปแบบคนไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้าง แล้วก็เอาไปลองร่างในเว็บไซต์ที่เขาให้ออกแบบบ้านฟรีครับ จากนั้นก็ส่งให้สถาปนิกนำไปเขียนต่อตามหลักวิศวกรรม/สถาปัตยกรรม พูดคุยปรับแก้กันอยู่ประมาณ 2-3 เดือนก็ได้แบบแปลนที่สมบูรณ์
- รูปนี้เป็นรูปที่ผมวาดในเว็บไซต์ที่เขาให้ออกแบบบ้านฟรีครับ ลองเสิร์ชในกูเกิลก็ได้ครับ เป็นแบบเริ่มแรก และหลังจากพูดคุยกับทางสถาปนิกและผู้รับเหมาแล้ว มีการปรับแก้กันพอสมควร ขออนุญาตไม่ลงรูปแบบแปลนฉบับสมบูรณ์นะครับ
- รูปนี้เป็นรูป 3D ที่สถาปนิกเอาแบบบ้านของผมไปสานต่อแล้วนำมาเสนอครับ
หลังจากลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายและได้แบบแปลนบ้านที่สมบูรณ์แล้ว ผมก็ไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับทางเทศบาล ขณะเดียวกันที่ทำงานของผมมี MOU กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผมจึงยื่นเอกสารขอกู้กับ ธอส. เป็นจำนวน 2.8 ล้านบาท โดยเป็นการยื่นกู้แบบซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน ในเดือนมีนาคม 2561 หลังจากประเมินราคาที่ดินกับ BOQ ของแบบแปลนแล้ว ธอส. ติดต่อกลับมาว่าอนุมัติให้ 1.7 ล้านบาท -- โอ้ววว !! หายไป 1.1 ล้านบาท แค่ที่ซื้อที่ดินเงินก็หายไปเกินครึ่งแล้วครับ -- ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกเลย เงินมัดจำค่าที่ดินก็จ่ายไปแล้ว ไหนจะค่าเขียนแบบอีก 30,000 บาท (แต่ถ้ากู้ผ่านผู้รับเหมายินดีให้เป็นส่วนลดค่าก่อสร้าง)
// เอกสารที่ใช้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล
1. ใบคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ ข.1)
2. แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
3. รายการคำนวณ (กรณีที่เป็นอาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่)
4. หนังสือแสดงความเป็นตัวแทนเจ้าของอาคาร (กรณีตัวแทนเจ้าของอาคารเป็นผู้ขออนุญาต)
5. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มอบอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคล ผู้ขออนุญาตออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
6. หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
7. หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ออกแบบและคำนวณ พร้อมทั้งสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือสถาปัตยกรรมควบคุม
8. สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดิน และหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน (กรณีผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดินไม่ใช่คนเดียวกัน)
9. หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน
10. สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน
11. เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) //
// เอกสารที่ใช้ยื่นกู้กับ ธอส.
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. สำเนาทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบมรณบัตร/ใบแจ้งความแยกกันอยู่ (ถ้ามี)
4. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
6. ใบรับรองเงินเดือน/หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ
7. สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
8. สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (กรณีอาชีพประจำ)
9. สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาวางมัดจำ/สัญญาเช่าซื้อการเคหะฯ และหนังสือรับรองยอดคงเหลือ (กรณีซื้อ)
10. สำเนาสัญญากู้เงิน และสำเนาสัญญาจำนองกับสถาบันการเงินเดิม (กรณีไถ่ถอนจำนอง)
11. ใบเสร็จการผ่อนชำระหรือบัญชีหมุนเวียนย้อนหลัง 1 หรือ 2 ปี (กรณีไถ่ถอน)
12. หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
13. สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับกรมที่ดิน
14. สำเนาโฉนดที่ดิน/น.ส.3 ก./หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/อช.2 ทุกหน้า
15. ใบอนุญาตปลูกสร้าง/ต่อเติม (กรณียังไม่ได้ใบอนุญาตปลูกสร้างให้ใช้สำเนาใบคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ ข.1) ที่ลงรับโดยเจ้าหน้าที่แล้วไปก่อน)
16. แบบแปลน
17. ใบประมาณการปลูกสร้าง (BOQ)/สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง //
- แต่แล้วก็มีโชคช่วยอีกครั้ง เมื่อธนาคารกรุงไทยเข้ามาหาลูกค้าที่ทำงานและเสนอเงินกู้อเนกประสงค์ให้ (ดอกเบี้ยตั้ง 7.87% แน่ะ และผ่อนสูงสุดได้แค่ 17 ปี) ผมจึงตัดสินใจยื่นกู้เงินจำนวนหนึ่งให้เพียงพอจะซื้อที่ดินไว้ก่อน แล้วธนาคารกรุงไทยก็อนุมัติเงินกู้ให้ทันเวลาก่อนที่สัญญาจะซื้อจะขายจะหมดอายุเพียง 2 วัน เมื่อได้เงินมาแล้วรีบติดต่อนายหน้านัดวันซื้อขายทันทีเลยครับ และแล้ววว !! การซื้อ-ขายที่ดินก็เสร็จสมบูรณ์ มีที่ดินเป็นของตัวเองสักที แต่ก็ยังมีเงินไม่พอจะสร้างบ้าน จึงจ่ายค่าเขียนแบบให้ผู้รับเหมาไป 30,000 บาท
// เอกสารที่ใช้ยื่นกู้กับธนาคารกรุงไทย
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ (ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน)
2. สำเนาทะเบียนบ้าน (ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน)
3. หนังสือรับรองสิทธิ์จากหน่วยงานต้นสังกัด (ของผู้กู้)
4. สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน (ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน)
5. สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (ของผู้กู้)
6. เอกสารอื่น ๆ ตามที่ธนาคารร้องขอ //
- ในเดือนพฤษภาคม 2561 ได้รับการติดต่อจากทางเทศบาลว่าได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว ผมจึงตัดสินใจจะนำเงินเก็บจำนวนหนึ่งมาทำกำแพงกันดินกับถมดิน แต่ตอนที่ไปรับใบอนุญาตก่อสร้างจากเทศบาล ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อยู่สักพัก ปรากฏว่าการจะถมดินในเขตเทศบาลนั้นจะต้องขออนุญาตทุกกรณี (อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขหรือเทศบัญญัติของเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละแห่งจะกำหนดครับ) กลายเป็นว่าผมต้องทำเรื่องขออนุญาตถมดินอีกครั้ง ซึ่งใช้เวลารอประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อได้รับใบอนุญาตถมดินเรียบร้อยแล้วจึงดำเนินการถมดินทันทีเลยครับ
// เอกสารที่ใช้ยื่นขออนุญาตถมดิน
1. ใบแจ้งการขุดดินหรือถมดินตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543
2. แผนผังบริเวณที่จะทำการขุดดิน/ถมดิน และแผนผังบริเวณแสดงเขตที่ดินและที่ดินบริเวณข้างเคียง พร้อมทั้งวิธีการขุดดินหรือถมดิน
3. รายการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543
4. ภาระผูกพันต่าง ๆ ที่บุคคลอื่นมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินที่จะทำการขุดดิน/ถมดิน
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว
6. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งแสดงวัตถุประสงค์ ที่ตั้งสำนักงาน และผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้แจ้งที่หน่วยงานซึ่งมีอำนาจรับรอง (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้แจ้ง)
7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลผู้แจ้ง ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้แจ้ง)
8. หนังสือแสดงความเป็นตัวแทนของผู้แจ้ง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของตัวแทนผู้แจ้ง ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (กรณีมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้งแทน)
9. รายการคำนวณ
10. หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ออกแบบและคำนวณการขุดดิน/ถมดิน พร้อมทั้งสำเนาบัตรอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (กรณีที่งานมีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม)
11. สำเนาโฉนดที่ดิน/น.ส.3/ส.ค.1 ที่จะทำการขุดดิน/ถมดินขนาดเท่าต้นฉบับจริง ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว
12. หนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลซึ่งแสดงวัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลเจ้าของที่ดิน ที่หน่วยงานซึ่งมีอำนาจรับรอง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลเจ้าของที่ดิน ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (กรณีที่เป็นที่ดินของบุคคลอื่น)
13. หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน
14. สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว (เฉพาะกรณีที่งานมีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม)
15. เอกสารและรายละเอียดอื่น ๆ //
ในเดือนสิงหาคม 2561 ระหว่างที่ดำเนินการถมดิน ผมกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ตอนนี้เงินเดือนบนสลิปยังพอเหลือบ้าง โฉนดที่ดินเป็นของเราแล้ว ใบอนุญาตก่อสร้างได้รับแล้ว ที่ดินก็ใกล้จะถมเสร็จแล้ว จึงตัดสินใจยื่นกู้กับ ธอส. อีกรอบหนึ่ง รอบนี้เป็นการยื่นกู้แบบก่อสร้างบ้านอย่างเดียว ยื่นกู้ไป 1.5 ล้านบาท
- รูปภาพตั้งแต่ไปดูที่ดินครั้งแรกจนถึงถมดินเสร็จเรียบร้อยครับ
// ข้อมูลเพิ่มเติมจากประสบการณ์ที่ยื่นกู้สร้างบ้านกับ ธอส.
1. ใน BOQ เจ้าหน้าที่ประเมินจะประเมินเฉพาะค่าวัสดุเท่านั้น ค่าแรงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เจ้าของบ้านต้องมีเงินสำรองมาจ่ายเอง (ตัวอย่าง : ผู้รับเหมาเขียน BOQ ในการก่อสร้างบ้านให้คุณ 1,500,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าวัสดุ 1,100,000 บาท ค่าแรง ค่าดำเนินการ ฯลฯ อีก 400,000 บาท ธนาคารจะให้คุณแค่ 1,100,000 บาท (ตามราคาประเมินอีกทีนะครับ บางทีค่าวัสดุที่เขาประเมินอาจจะไม่ถึง 1,100,000 บาท) อีก 400,000 บาท คุณต้องหาเอง)
2. ถ้าเป็นการซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน ค่าที่ดินจะได้ 100% ของราคาประเมินจากบริษัทประเมิน (ไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายจริงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย) + ข้อ 1. และโฉนดที่ดินต้องจดจำนองกับ ธอส. (ตัวอย่าง : คุณซื้อขายที่ดินจริง 1,000,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ประเมินมูลค่าที่ดินได้แค่ 600,000 บาท ธนาคารก็จะให้คุณ 600,000 บาท + ค่าวัสดุตามข้อ 1.)
3. ถ้าเราเป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้วแต่จะกู้สร้างบ้าน ธนาคารจะให้ค่าที่ดิน 30% ของราคาประเมินจากบริษัทประเมิน + ข้อ 1. และโฉนดที่ดินต้องจดจำนองกับ ธอส. (ตัวอย่าง : ตามข้อ 2. เจ้าหน้าที่ประเมินมูลค่าที่ดินได้ 600,000 บาท 30% ของ 600,000 เท่ากับ 180,000 บาท ธนาคารก็จะให้คุณ 180,000 บาท + ค่าวัสดุตามข้อ 1.)
ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาเป็นข้อมูลที่ผมได้รับจากเจ้าหน้าที่ของทั้ง ธอส. และบริษัทประเมินที่ไปสอบถามมา บางท่านอาจจะมีข้อมูลนอกเหนือจากเงื่อนไขเหล่านี้ ยังไงลองสอบถามจากเจ้าหน้าที่หลาย ๆ สถาบันการเงินดูครับ //
// ผมยื่นกู้ภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บุคลากรภาครัฐ)
1. ปีที่ 1 - ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-3.75% ต่อปี (หรือเท่ากับ 3%)
2. ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1% ต่อปี
*ตอนที่ผมยื่นกู้ MRR เท่ากับ 6.75% ต่อปี และมีเงื่อนไขคือ ห้ามรีไฟแนนซ์หรือปรับลดดอกเบี้ยภายใน 7 ปี ส่วนสิทธิพิเศษที่ได้รับภายใต้โครงการ คือ
1. ฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (0.1% ของวงเงินกู้)
2. ค่าประเมินราคาหลักประกัน (ตามวงเงินกู้) (จ่ายไปก่อน ธอส. จะโอนคืนเข้าบัญชีประมาณ 2 สัปดาห์)
3. ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (1,000 บาทต่อราย) //
- และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง ธอส. ติดต่อมาว่าผมได้รับอนุมัติเงินตามจำนวนที่ยื่นกู้ ตื่นเต้นมากเลยครับ แต่บอกอารมณ์ไม่ถูกว่าตื่นเต้นที่จะได้เริ่มสร้างบ้าน หรือว่าตื่นเต้นเพราะจะเป็นหนี้ก้อนโตและผ่อนยาวนานที่สุดในชีวิตก็ไม่รู้ (ผ่อนตั้ง 40 ปีแน่ะ) หลังจาก ธอส. ติดต่อมาแล้ว อีกวันก็ไปเซ็นสัญญาที่ธนาคาร แล้วก็เดินทางต่อไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดจำนองเลยครับ (ถือโฉนดไว้ในมือ 4 เดือนกว่า ๆ จะไปอีกละ และไปนานด้วยนะ)
หลังจากบอกลาโฉนดที่ดินเสร็จสรรพ ก็หาฤกษ์งามยามดีลงเสาเอกเลยครับ พอได้ฤกษ์มาแล้ว ก็ติดต่อผู้รับเหมาเริ่มดำเนินการก่อสร้างเลย ก่อนวันลงเสาเอกประมาณ 1-3 วัน ผู้รับเหมาเอาคนงานไปวัดพื้นที่ ขุดหลุม เตรียมพื้นที่รอไว้เลยครับ การก่อสร้างค่อนข้างมีอุปสรรคนิดหน่อย เนื่องจากเป็นฤดูฝน ซึ่งทางผู้รับเหมาแจ้งว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 เดือน (สัญญากู้เงินของ ธอส. ระบุว่าต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือนครับ)
- รูปภาพวันลงเสาเอก
เมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว หลังเลิกงานถ้าวันไหนไม่ติดงานอะไรต่อ ผมก็จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูงานก่อสร้างครับ (จริง ๆ ก็เกือบทุกวันแหละ ถึงติดงานก็จะพยายามแบ่งเวลาไปดูจนได้) ได้เห็นพัฒนาการของบ้าน มันเป็นอะไรที่รู้สึกตื่นเต้น ตื้นตันใจ ภูมิใจ อย่างบอกไม่ถูกครับ สิ่งที่เราใฝ่ฝันมันกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วว
ด้วยความที่ที่ดินของผมอยู่ท้ายซอย น้ำประปาและไฟฟ้าจึงเป็นปัญหาอีกอย่างที่ต้องแก้ไข จากการสอบถามว่าที่เพื่อนบ้าน มีน้ำประปาจาก 2 แห่งที่สามารถใช้ได้ คือ การประปาส่วนภูมิภาค (ท่อประปาวิ่งผ่านหน้าปากซอยอยู่ห่างจากที่ดินของผมประมาณ 200 เมตร) และประปาหมู่บ้าน (ท่อประปามาสุดตรงหน้าที่ดินของผมพอดี) ส่วนเสาไฟฟ้าต้นสุดท้ายของซอย อยู่ห่างจากที่ดินของผมประมาณ 15-20 เมตร
เมื่อมี 2 ปัญหาที่ต้องแก้ไข กับข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างบ้าน จึงต้องวิ่งวุ่นติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. น้ำประปา คือใจผมอยากใช้บริการการประปาส่วนภูมิภาค จึงไปติดต่อการประปาส่วนภูมิภาคก่อน จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ มีท่อวิ่งผ่านหน้าปากซอยจริง ถ้าจะดำเนินการขยายเขตเข้ามาในซอยสามารถทำได้ สำหรับการวางท่อใหม่ระยะทางประมาณ 200 เมตร ค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 90,000-110,000 บาท (ไม่รวมค่ามิเตอร์น้ำ) -- ขุ่นพระ -- ยิ้มเจื่อน แล้วเดินออกจากการประปาแบบเข่าแทบทรุด -- ท่อที่วางจากปากซอยมาจนถึงหน้าที่ดินของผม เมื่อดำเนินการเสร็จจะตกเป็นของสาธารณะทันที ใครจะขอใช้ระหว่างทางก็จ่ายแค่ค่ามิเตอร์อย่างเดียว (ถึงผมจะชอบทำบุญ แต่ก็ไม่ใจป้ำถึงขนาดยอมจ่าย 90,000-110,000 บาทนะค้าบ) สรุปก็คงต้องใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่มาสุดตรงหน้าที่ดินของผมน่ะครับ ส่วนเรื่องน้ำแดง น้ำไม่ไหลเป็นครั้งคราว แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งแท็งก์น้ำและเครื่องกรองน้ำครับ
- รูปภาพการติดตั้งน้ำประปาหมู่บ้าน
// เอกสารที่ใช้ยื่นขอใช้น้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค
2. แผนที่บ้านพร้อมจุดติดตั้ง
3. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอใช้น้ำ
3.1 กรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้แนบสำเนาโฉนดที่ดินเพิ่มเติม
3.2 กรณีทะเบียนบ้านชั่วคราว ต้องขออนุญาตจากราชการเจ้าของที่ดินเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมแนบสัญญาเช่า
3.3 กรณีติดตั้งแบบชั่วคราว (บ้านที่สร้างยังไม่มีทะเบียนบ้าน) ให้แนบสำเนาโฉนดที่ดิน (กรณีผู้เช่าขอติดตั้ง ให้แนบสัญญาเช่า พร้อมเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เช่า)
4. หนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณีไม่ได้ติดต่อด้วยตนเอง)
5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่ได้ติดต่อด้วยตนเอง) //
2. ไฟฟ้า เนื่องจากเสาไฟฟ้าต้นสุดท้ายอยู่ห่างจากที่ดินของผมประมาณ 15-20 เมตร จะลากสายไฟผ่านตรง ๆ เข้าบ้านเลย ก็จะไปพาดกับหลังคาบ้านคนอื่น เลยต้องไปปรึกษาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คำตอบที่ได้รับคือต้องดำเนินการขยายเขตไฟฟ้า (ตั้งเสาใหม่หน้าที่ดินของผมนั่นเอง) โดยดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ขอขยายเขตเพื่อตั้งเสาใหม่รอไว้ก่อน (หลังจากยื่นเอกสารได้ประมาณ 1 เดือนการไฟฟ้าฯ จะเรียกไปจ่ายเงิน และหลังจากจ่ายเงินรออีกประมาณ 20 วันจะมีเจ้าหน้าที่ไปตั้งเสาไฟฟ้าให้ครับ) และขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการขอมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งต้องดำเนินการหลังจากก่อสร้างบ้านเสร็จและมีทะเบียนบ้านพร้อมเลขที่บ้านเรียบร้อยแล้ว อันนี้จำเป็นต้องทำครับ ค่าใช้จ่ายโดยรวมก็พอรับได้ (เสาที่ตั้งใหม่หน้าที่ดินของผมจะเป็นของสาธารณะทันทีเช่นเดียวกับท่อประปา ใครมาทีหลังจะฝากมิเตอร์ไว้ก็สามารถใช้ได้เลย)
// เอกสารที่ใช้ยื่นขอใช้ไฟฟ้า
1. ขอขยายเขตเพื่อตั้งเสาใหม่
1.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
1.2 สำเนาทะเบียนบ้าน (ทะเบียนบ้านปัจจุบันที่ผู้ขออาศัยอยู่)
1.3 สำเนาโฉนดที่ดิน
1.4 แผนที่ที่ดินที่จะตั้งเสา
1.2 สำเนาทะเบียนบ้าน (ทะเบียนบ้านปัจจุบันที่ผู้ขออาศัยอยู่)
1.3 สำเนาโฉนดที่ดิน
1.4 แผนที่ที่ดินที่จะตั้งเสา
2. ขอใช้ไฟฟ้า (ต้องดำเนินการหลังจากได้เลขที่บ้านและมีทะเบียนบ้านแล้ว)
2.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.2 สำเนาทะเบียนบ้าน
2.2 สำเนาทะเบียนบ้าน
หลังจากยื่นเอกสารเสร็จเจ้าหน้าที่จะกรอกข้อมูลของเราลงในระบบคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ใบคำร้องออกมาให้เราลงนามครับ ผมว่าสะดวกดี //
- รูปภาพตั้งแต่ลงเสาเอกจนถึงเทเสาบ้านครับ
- รูปภาพการมุงหลังคาครับ
หลังจากมุงหลังคาเสร็จ ผู้รับเหมาขอเบิกเงินงวดแรก ผมก็โทร. ติดต่อเจ้าหน้าที่ประเมินให้เข้าประเมินงานก่อสร้าง หลังจากโทร. เสร็จใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทำการกว่าเจ้าหน้าที่ประเมินจะลงพื้นที่หน้างาน และหลังจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แล้ว จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทำการ กว่าธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชี เพราะฉะนั้นระหว่าง 4-6 วันทำการนี้ คุณจะต้องเจรจากับผู้รับเหมาดี ๆ ครับ ว่าจะต้องรอนิดหน่อย ผมเชื่อว่าถ้าได้ผู้รับเหมาดี เขาจะเข้าใจครับ
- รูปภาพการก่อผนังครับ ใช้เวลาประมาณ 14-15 วันครับ
การก่อผนัง ผู้รับเหมาเลือกใช้อิฐมวลเบาเป็นส่วนใหญ่ และจะใช้อิฐมอญเฉพาะส่วนที่เป็นผนังห้องน้ำครับ เหตุผลคือ อิฐมวลเบาจะให้ความรู้สึกเย็นสบายกว่าอิฐมอญ ส่วนอิฐมอญจะทนความชื้นได้ดีกว่า จริง ๆ ผมไปเสิร์ชดูข้อมูลเกี่ยวกับอิฐในกูเกิลเยอะมากครับ ส่วนใหญ่ข้อมูลไม่ตรงกัน แต่ที่ผมสัมผัสได้เองคือเวลาที่แดดกระทบผนัง 2 ชนิดนี้ในเวลาเดียวกันเท่า ๆ กัน ผมลองเอามือไปวางอีกด้านของผนังทั้งสอง ปรากฏว่าผนังอิฐมวลเบาไม่รู้สึกถึงความร้อนเลยครับ ส่วนผนังอิฐมอญมีอุณหภูมิสูงมาก สำหรับท่านที่กำลังตัดสินใจว่าจะใช้อิฐตัวไหนในการก่อสร้างก็ลองปรึกษากับผู้รับเหมาดูนะครับ
ระหว่างที่ช่างกำลังก่อผนัง ผมก็ใช้เวลาช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ไปเที่ยวบ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนเฟอร์นิเจอร์บ้านม้า ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต้องบอกว่าหลังจากไป 2 แห่งนี้แล้ว ไอเดียการตกแต่งบ้านด้วยไม้พุ่งกระฉูดมากครับ อยากได้นั่นโน่นนี่ไปหมด จนถึงขั้นยกเลิกรายการบิวต์อินหลายรายการที่ติดมากับแบบแปลนเลยทีเดียว เผื่อใครชอบผลิตภัณฑ์จากไม้นอกจากจังหวัดแพร่แล้ว อยากให้ท่านลองไปเที่ยว 2 ชุมชนนี้ดูครับ ผลิตภัณฑ์ในบ้านถวายส่วนใหญ่จะเป็นของตกแต่งบ้านมีตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ เช่น กล่องใส่นามบัตร ทัพพีไม้ ที่เสียบร่ม เป็นต้น ไปจนถึงชิ้นใหญ่มาก ๆ เช่น พุทธรูปไม้ หีบธรรม ตู้เก็บพระไตรปิฎก เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ในบ้านม้าส่วนใหญ่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้นครับ
ปัจจุบันเรื่องความปลอดภัยของบ้านและทรัพย์สินเป็นสิ่งสำคัญครับ เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในชุมชนที่อบอุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนอย่างในอดีต คนในชุมชนไม่ได้รู้จักกันหมดเหมือนแต่ก่อน การมีรั้วรอบขอบชิดและกล้องวงจรปิดจึงพอช่วยได้บ้าง ในวันสุดท้ายของการก่อผนัง ผมจึงขออนุญาตผู้รับเหมาเอาช่างกล้องวงจรปิดเข้าไปวางระบบ เนื่องจากผมต้องการบ้านสไตล์ Modern Loft ชอบปูนเปลือยแต่ไม่อยากให้ท่อสายไฟติดอยู่ตามผนัง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการวางระบบไฟฟ้าและกล้องวงจรปิดในผนังและบนฝ้าเพดานก่อนฉาบผนังและติดฝ้าเพดานครับ (วางแต่ท่อกับสายสัญญาณครับ ตัวกล้องวงจรปิดกับอินเทอร์เน็ตรอบ้านเสร็จ 100% ค่อยให้ช่างเข้ามาติดตั้งอีกที)
หลังจากก่อผนังครบทุกด้านแล้ว ก็เป็นกระบวนการจับเซี้ยมครับ คือการเตรียมผนังก่อนฉาบ เพื่อให้ขอบมุมของผนังทุกด้านเท่ากัน โดยช่างใช้เซี้ยมสำเร็จรูปตามภาพเลยครับ เมื่อจับเซี้ยมครบทุกขอบมุมทั้งบ้านแล้ว ช่างก็จะฉาบผนังทับเซี้ยมไปเลย ทีนี้ขอบมุมของบ้านก็จะเป็นเส้นตรงเสมอกันแล้ว
- รูปภาพการจับเซี้ยมใช้เวลาประมาณ 4-5 วันครับ
เมื่อจับเซี้ยมเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าสู่กระบวนการฉาบผนังครับ โดยให้โจทย์กับช่างไปว่าต้องการผนังปูนเปลือยขัดมันที่ด้านนอกสีเข้มกว่าในบ้าน และระหว่างที่ช่างกำลังฉาบผนังผมก็ใช้เวลาว่างในวันหยุดนักขัตฤกษ์ไปเดินเที่ยวตามร้านวัสดุก่อสร้างเพื่อเลือกพื้น อุปกรณ์ และสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาติดหรือใช้ภายในบ้าน โดยผมใช้วิธีการชอบแบบไหนก็ถ่ายรูปของชิ้นนั้นพร้อมรหัสสินค้าและราคา รวมทั้งพิกัดร้าน แล้วส่งให้ผู้รับเหมาครับ เมื่อถึงเวลาผู้รับเหมาจะไปติดต่อสั่งของกับร้านวัสดุก่อสร้างนั้น ๆ เอง แรก ๆ อาจจะเขินหน่อยครับเวลาไปเดินร้านแล้วไม่ได้ซื้ออะไรติดมือออกจากร้านเลยหรือเวลาที่มีพนักงานเดินตาม แต่ผมก็จะบอกพนักงานไปตามตรงนะว่าขอถ่ายรูปเพื่อส่งให้ผู้รับเหมา แล้วยังไงผู้รับเหมาจะมาสั่งซื้อเอง พนักงานเขาก็เข้าใจครับ
- รูปภาพการฉาบผนังครับ ใช้เวลาประมาณ 14-15 วัน
เพื่อให้ได้เฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากับตัวบ้านหรือตรงกับความต้องการมากที่สุด ผมเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบสั่งทำครับ โดยหาร้านตามหน้าเว็บไซต์และตามเพจเฟซบุ๊กครับ จากนั้นก็ไปดูหน้าร้านเพื่อความมั่นใจและขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการสั่งซื้อ/สั่งทำสินค้า เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการครบถ้วนก็เป็นกระบวนการสั่งทำของเลยครับ โดยกำหนดวันในการส่งของให้เรียบร้อย เพื่อที่ร้านจะได้วางแผนการผลิตได้ พอบ้านเสร็จปุ๊บเขาจะได้ส่งของเลย
เมื่อฉาบผนังเรียบร้อยแล้ว ช่างไฟฟ้าก็เข้าดำเนินการเชื่อมต่อสายไฟตามท่อที่ซ้อนอยู่ในผนังและบนหลังคาโดยวางจุดตามที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นก็เป็นงาน Built-in เคาน์เตอร์ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอนแล้วครับ ซึ่งจะทำไปพร้อม ๆ กับงานฝ้าเพดาน ช่วงนี้ผู้รับเหมาก็จะสั่งพวกกระเบื้องมารอแล้วครับ งาน Built-in เสร็จปุ๊บก็เริ่มเตรียมพื้นสำหรับปูลามิเนตต่อเลย
- รูปภาพงาน Built-in ห้องครัว
- รูปภาพงาน Built-in ห้องนอน
- รูปภาพงาน Built-in ห้องน้ำ
- รูปภาพงานติดฝ้าเพดาน
- รูปภาพงานเตรียมพื้นก่อนปูลามิเนต
เมื่อเตรียมพื้นสำหรับปูลามิเนตเสร็จเรียบร้อย ต่อไปก็เป็นงานปูกระเบื้องห้องน้ำ ห้องครัว และเฉลียงแล้วครับ โดยห้องน้ำผู้รับเหมาเชียร์ให้ติดและปูกระเบื้องทั้งห้องครับ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะถ้าหากปล่อยให้ผนังห้องน้ำเป็นปูนเปลือยเหมือนผนังห้องอื่น ๆ มันจะดูแข็งกระด้างและรู้สึกเบื่อครับ ประกอบกับช่างบอกว่าถ้าผนังห้องน้ำเป็นปูนเปลือยขัดมันเวลาโดนน้ำบ่อย ๆ มันจะมีรอยความชื้นซึมทะลุอีกด้านของผนังเพราะฉะนั้นติดกระเบื้องบนผนังห้องน้ำจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส่วนลวดลายของกระเบื้องห้องน้ำต้องยกความดีความชอบให้กับผู้รับเหมาเลยครับ ผมให้ทางผู้รับเหมาออกแบบตามใจชอบเลย พอผู้รับเหมาออกแบบเสร็จส่งรูป 3D การติดกระเบื้องห้องน้ำมาให้ดูผมรู้สึกถูกใจมาก ๆ
ส่วนเหตุผลที่เลือกปูกระเบื้องห้องครัวเพราะห้องครัวมีโอกาสที่เศษอาหารจะตกลงไปอาจทำให้พื้นเปื้อนเป็นรอยได้ ผมคิดว่าการปูกระเบื้องในห้องครัวจะสามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดก็ได้แล้ว ซึ่งต่างจากพื้นลามิเนตที่มีคุณสมบัติกันน้ำน้อยกว่า ส่วนเฉลียงเนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่นอกตัวบ้านมีโอกาสโดนฝนได้ตลอดเวลาก็เลยต้องปูกระเบื้องเช่นเดียวกันครับ
- รูปภาพงานติดกระเบื้องห้องน้ำ
- รูปภาพงานปูกระเบื้องห้องครัว
- รูปภาพงานปูกระเบื้องเฉลียง
ในระหว่างนี้ก็เป็นงานเก็บรายละเอียดต่าง ๆ แล้วครับ บ้านผมถึงจะใช้ผู้รับเหมาคนเดียว แต่ช่างที่เข้าดำเนินการมีหลายทีมมาก เริ่มตั้งแต่ทีมฐานราก ทีมก่อฉาบพร้อมปูกระเบื้อง ทีมหลังคา ทีมฝ้าเพดาน ทีมประตูหน้าต่าง ทีมไฟฟ้า ทีมประปา ทีมปูลามิเนต แต่ละทีมต่างทำงานตามความพร้อมในแต่ละด้านครับ
- รูปภาพงานติดโครงหน้าต่าง
- รูปภาพงานติดฝ้าเพดานภายนอกพร้อมตกแต่งผนัง
เหตุผลที่ติดไม้เฌอร่าตกแต่งผนังบ้านบางส่วน ผมมองว่าเพื่อลดความแข็งกระด้างของตัวบ้าน เนื่องจากบ้านเป็นปูนเปลือยบวกกับมีรูปทรงสี่เหลี่ยมครับ ทั้งนี้ตัวไม้เฌอร่าจะมีการทาสีให้สวยงามขึ้นด้วยครับ
- รูปภาพงานทาสีฝ้าเพดาน
- รูปภาพงานติดตั้งหลอดไฟ
- รูปภาพงานทาสีตกแต่ง
- รูปภาพงานติดตั้งสุขภัณฑ์
- รูปภาพงานติดตั้งประตู
- รูปภาพงานปูพื้นลามิเนต
พอถึงตรงนี้ผู้รับเหมาขอเบิกเงินงวดที่สองครับ ผมก็ติดต่อบริษัทประเมินให้เข้าประเมินงานก่อสร้าง ใช้เวลารอ 2 วันเงินก็เข้าบัญชี หลังจากนั้นผมก็โอนเงินจ่ายให้กับทางผู้รับเหมาครับ
- รูปภาพงานวางท่อระบายน้ำ
- เหตุผลที่ต้องวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ไว้หน้าบ้านก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ เวลาฝนตกหนักน้ำฝนจากปากซอยจะไหลมารวมกันท่วมบนที่ดินของผม แต่พอถมที่ดินปุ๊บ น้ำที่เคยท่วมขังบนที่ดินมันก็มาท่วมขังหน้าที่ดินของผมแทน สภาพก็จะประมาณนี้ครับ ดังนั้น ผมจึงต้องแก้ไขด้วยการวางท่อขนาด 30 เซนติเมตรเพื่อรับน้ำฝนและส่งน้ำไปยังข้างหลังบ้าน ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่เจ้าของมีความกรุณาอย่างยิ่งที่ยินดีจะรับน้ำฝนดังกล่าว
- รูปภาพงานรั้ว
- รูปภาพงาน Built-in มุมนั่งเล่นในห้องนอน
เมื่อความก้าวหน้าของการก่อสร้างบ้านเกิน 90% ผมก็เริ่มตระหนักว่าถ้าบ้านเสร็จปุ๊บก็ยังเข้าอยู่ไม่ได้ในเมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ และจะไปขอติดตั้งไฟฟ้าได้ก็ต้องมีบ้านเลขที่ซะก่อน ดังนั้น ผมจึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการขอเลขที่บ้าน ได้ข้อมูลมาดังนี้ครับ
1. ถ้าบ้านอยู่ "ใน" เขตเทศบาลก็ให้ไปแจ้งขอเลขที่บ้านกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับใช้ประกอบการยื่นขอเลขที่บ้านกับ "สำนักงานเทศบาล"
2. ถ้าบ้านอยู่ "นอก" เขตเทศบาลก็ให้ไปแจ้งขอเลขที่บ้านกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับใช้ประกอบการยื่นขอเลขที่บ้านกับ "ที่ว่าการอำเภอ"
สำหรับบ้านผมเข้ากรณีที่ 2 ครับ ถ้าเอกสารครบใช้เวลารอไม่ถึง 30 นาที คุณก็จะได้สำเนาทะเบียนบ้านเล่มใหม่เอี่ยมพร้อมเลขที่บ้านมาแล้วครับ สำหรับเงื่อนไขในการให้เลขที่บ้านนั้น ใช้หลักการเรียงจากหัวบ้านไปท้ายบ้านครับ คือเรียงจากบ้านเลขที่ 1 ไปจนถึงบ้านหลังสุดท้ายของหมู่บ้านอาจจะเป็นบ้านเลขที่ 999 ก็ได้ครับ และสำหรับบ้านที่ปลูกสร้างใหม่ระหว่างบ้านเลขที่เท่าไร ก็ให้ใช้เลขที่บ้านของบ้านก่อนหน้าแล้วตามด้วยทับ (/) เช่น คุณปลูกบ้านใหม่ระหว่างบ้านเลขที่ 78 กับ 79 บ้านเลขที่ที่คุณจะได้รับก็คือ 78/1 ไม่ใช่ไปใช้ต่อเลขที่บ้านหลังสุดท้ายของหมู่บ้านนะครับ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าง่ายต่อการค้นหา ถ้าหากบ้านใหม่ที่สร้างไม่ว่าจะสร้างจุดไหนของหมู่บ้านได้เลขที่ต่อบ้านหลังสุดท้ายหมด คงหากันวุ่นวายทีเดียว แต่ผมก็เห็นบ้านหลังใหญ่โตบางหลังได้เลข 333/33 เลข 999/99 อันนั้นเป็นเพราะความบังเอิญหรือเปล่าไม่รู้นะครับ
แต่มันก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าบ้านที่สร้างใหม่บางหลังอาจจะไม่ได้มีเลขทับ (/) เสมอไป เพราะถ้าหากคุณเกิดไปสร้างบ้านระหว่างบ้านเลขที่ที่เขาได้ยกเลิกไปแล้ว คุณก็มีสิทธิ์เลือกเลขที่บ้านนั้นได้เลย เช่น มีเลขที่บ้านที่ถูกยกเลิกออกจากระเบียนราษฎร 2 เลข ได้แก่ บ้านเลขที่ 98 กับ 99 แล้วคุณบังเอิญไปสร้างบ้านระหว่างบ้านเลขที่ 97 กับ 100 นายทะเบียนก็จะถามคุณว่าจะเอาเลขไหนระหว่าง 98 กับ 99 อะไรประมาณนี้ครับ หรือถ้านายทะเบียนไม่ถามเราก็ชิงถามก่อนเลยว่ามีเลขให้เลือกไหม เผื่อจะมีเลขที่ถูกใจครับ
// เอกสารที่ใช้ยื่นขอเลขที่บ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้าน
1. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน จำนวน 1 ใบ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้อง จำนวน 1 ชุด
3. เอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ ส.ป.ก. เป็นต้น แต่ถ้าหากปลูกสร้างบ้านบนที่ดินคนอื่นต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดินด้วย จำนวน 1 ชุด
4. สำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 1 แผ่น
5. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ (กรณีเจ้าของบ้านหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่ได้ไปยื่นด้วยตนเอง) จำนวน 1 ชุด
6. ภาพถ่ายตัวบ้านทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลัง //
เมื่อได้เลขที่บ้านที่ถูกใจใช่เลยมาแล้ว ก็แวะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลสักชุดเผื่อถูกรางวัล 30 ล้านบาท ที่นี้คุณก็สามารถถ่ายเอกสารเพื่อใช้ประกอบการยื่นขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แล้วครับ ซึ่งหลังจากที่ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนัดวันเข้าทำการตรวจหน้างานว่าเราได้วางระบบไฟฟ้าภายในบ้านถูกต้องตามมาตรฐานไหม ดึงสายไฟจากบ้านไปรอที่เสาไฟฟ้าหรือยัง ถ้าเป็นไปตามมาตรฐานและมีสายไฟพร้อมเชื่อมต่อแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกให้คุณไปชำระค่ามิเตอร์พร้อมค่าธรรมเนียม ตามอัตราดังนี้ครับ
1. ระบบ 1 เฟส 2 สาย มิเตอร์ขนาด 5(15)A ราคา 728 บาท
2. ระบบ 1 เฟส 2 สาย มิเตอร์ขนาด 15(45)A ราคา 4,621.50 บาท (บ้านทั่วไปใช้อันนี้ครับ)
3. ระบบ 3 เฟส 4 สาย มิเตอร์ขนาด 15(45)A ราคา 16,004.50 บาท
ความรู้ใหม่ที่ได้รับในวันที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ มาตรวจสอบระบบไฟเพื่อติดตั้งมิเตอร์ เขาแจ้งว่า
1. ปลั๊กไฟที่อยู่ใกล้ก๊อกน้ำไม่เกิน 1.5 เมตร จะต้องใส่ฝาครอบ
2. สายไฟที่ช่างไฟฟ้าดึงไปรอที่เสาไฟฟ้าจะมีอยู่ 2 เส้น เส้นหนึ่งจะมีไฟวิ่งผ่าน อีกเส้นจะไม่มีไฟ ถ้าจะให้การไฟฟ้ามาติดตั้งมิเตอร์ ให้ช่างไฟใช้เทปสีฟ้าพันสายที่ไม่มีไฟด้วย เพื่อจะได้เชื่อมกับมิเตอร์ได้ถูกต้อง ไม่งั้นถ้าหากเชื่อมผิด มิเตอร์จะทำงานผิดปกติ
3. ให้แสดงสำเนาบัตรประจำตัวช่างไฟฟ้าตอนไปชำระเงินที่การไฟฟ้าฯ ด้วย บัตรประจำตัวที่ว่าไม่ใช่บัตรประจำตัวประชาชนของช่างไฟนะครับ แต่เป็นเอกสารที่แสดงว่าช่างไฟที่มาวางระบบไฟฟ้าภายในบ้านเราได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด หรือสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคมาแล้ว (เป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ)
4. การไฟฟ้าฯ มีข้อตกลงกับผู้รับเหมาติดตั้งมิเตอร์คือหลังจากที่ลูกค้าชำระเงินแล้ว ผู้รับเหมาจะต้องเข้าดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ภายใน 3 วัน (ไม่นับวันอาทิตย์) ถ้าหากไม่มาติดตั้งตามกำหนด สามารถร้องเรียนไปที่การไฟฟ้าได้เลย
- และแล้วการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็มาติดตั้งมิเตอร์ให้แล้วครับ
- ลองไฟเลยละกัน
- และในเดือนแรกของการเรียกเก็บเงินก็ยังมีกล่องสำหรับเสียบบิลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาติดที่รั้วบ้านให้ด้วยครับ
// เอกสารที่ใช้ยื่นขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 แผ่น
2. สำเนาทะเบียนบ้านปัจจุบัน จำนวน 1 แผ่น
3. สำเนาทะเบียนบ้านที่จะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า (ที่เพิ่งไปขอมาเลยครับ) จำนวน 1 แผ่น
4. แผนที่สำหรับการเดินทางไปยังบ้านที่จะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า //
- รูปภาพงานโรงรถ
- รูปภาพงานเคาน์เตอร์ห้องครัว
และเมื่อในบ้านเกือบเสร็จสมบูรณ์ ก็ถึงคิวส่งเฟอร์นิเจอร์ของร้านต่าง ๆ ที่ไปสั่งเขาไว้แล้วครับ คือต้องบอกว่าสับรางแทบไม่ทันเลยทีเดียว ต้องวางแผนดี ๆ และประสานกับทางร้านให้แน่นอนเลยครับ เพราะบ้านเองก็ยังมีคิวทำความสะอาด ทำถนน ทำอะไรอีกพอสมควร ต้องวางแผนว่าอันไหนส่งก่อนส่งหลัง อันไหนเข้ามาได้หรือยัง หรืออันไหนต้องติดตั้งไม่ใช่แค่เอาไปวางไว้เฉย ๆ นะครับ
- รูปสุดท้ายขวามือไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์นะครับ พอดีแท่นวางนอกบ้านยังไม่ได้ทำ เลยขอเชิญท่านมาอยู่ในบ้านเป็นการชั่วคราว
ต่อไปก็เป็นคิวของการเทถนนแล้วครับ เริ่มจากเทถนนภายในรั้วบ้านก่อน แล้วอีกวันจึงเทถนนนอกบ้านต่อ โดยถนนในบ้านผมพยายามเทเฉพาะเท่าที่จำเป็น ให้พอที่จะกลับรถ ถอยรถเข้า-ออกครับ เพื่อจะได้มีพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าแต่งสวนในอนาคต
- รูปภาพการเทถนนภายในบ้าน
- รูปภาพการเทถนนภายนอกบ้าน
บางท่านอาจสงสัยว่าจำเป็นต้องเทถนนนอกบ้านด้วยเหรอ ? ต้องบอกว่าก่อนหน้าที่ผมจะมาสร้างบ้านหลังนี้ บ้านหลังสุดท้ายของซอยอยู่ก่อนถึงบ้านผม ถนนคอนกรีตจึงมาสุดที่หน้าบ้านหลังนั้น พอพ้นจากบ้านหลังนั้นมาก็เป็นถนนลูกรังที่พอฝนตกก็จะเละเทะมาก แล้วก็ประตูหน้าบ้านของผมเป็นถนนส่วนบุคคลที่เจ้าของมีความกรุณาอย่างยิ่งที่จะให้ผมใช้ร่วม ดังนั้นผมจึงตอบแทนท่านสำหรับการอนุญาตให้ใช้ถนนและการอนุญาตให้นำน้ำฝนไหลเข้าสวนด้วยการเทถนนหน้าบ้านไปจนถึงหน้าทางเข้าสวน แล้วก็เชื่อมกับถนนคอนกรีตเดิมที่ทางเทศบาลได้ทำไว้ บวกกับซ่อมแซมถนนเดิมบางส่วนที่ทรุดระหว่างการถมดินและก่อสร้างบ้าน
- และเมื่อเทถนนเสร็จเรียบร้อยก็ถึงคิวติดตั้งประตูรั้วแล้วครับ
- รูปภาพรางน้ำฝนหลังบ้าน
ส่วนตัวผมเองมีแนวคิดอยากใช้ประโยชน์จากน้ำฝน เลยขอให้ทางผู้รับเหมาติดตั้งรางน้ำสำหรับรับน้ำฝนไปเก็บไว้ในแท็งก์น้ำที่เตรียมไว้ เพื่อจะได้นำน้ำฝนนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างเช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ ตามความจำเป็น
- ต่อไปก็เป็นการติดตั้งอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้านสำหรับใช้ประโยชน์แล้วครับ
- และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบ้านสมัยนี้ก็คือผ้าม่านครับ ยิ่งบ้านหลังนี้กระจกเยอะมาก เลยต้องให้ความสำคัญกับผ้าม่านเป็นพิเศษ วิธีการคือติดต่อช่างผ้าม่านนัดเจอกันที่บ้านเลยครับ เลือกผ้า ให้ช่างวัดขนาดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย แล้วก็คอนเฟิร์ม และเริ่มดำเนินการตัดเย็บได้เลย ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็ได้ผ้าม่านสมใจอยากแล้วครับ
- เมื่อคอนเฟิร์มกับช่างเรียบร้อย ช่างจะนัดขอเข้ามาติดตั้งรางผ้าม่านไว้ก่อนครับ พอผ้าม่านตัดเย็บเสร็จเรียบร้อยก็แค่เอามาคล้องกับรางที่เตรียมไว้ ต้องบอกว่ารวดเร็วทันใจมาก ๆ เลยครับ เพราะตอนแรกคิดว่าคงใช้เวลารอเป็นเดือน ๆ
- ต่อไปก็เป็นการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตกับกล้องวงจรปิดทั้งภายนอกและภายในตัวบ้านครับ จะติดในห้องนอนกับห้องน้ำด้วยก็รู้สึกหวิว ๆ เนาะ ติดแค่พอให้เห็นประตูหน้าต่างเข้า-ออกทุกบานก็พอแล้วครับ
- จากนั้นก็เริ่มทยอยขนเครื่องใช้ไฟฟ้าจากที่พักเดิมเข้าบ้านใหม่ครับ ไหน ๆ ก็ขนทีวีไปเป็นอันดับแรก ลองเปิดดูสักหน่อยจะเป็นไรไป เป็น Android TV รับสัญญาณจาก Wi-Fi ครับผม
แล้วก็ต่อด้วยระบบน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคแล้วครับ อยู่กันไม่กี่คนมีแท็งก์น้ำ 2 ถัง รวมความจุ 2,000 ลิตร (1 คนจะใช้น้ำประมาณ 200 ลิตรต่อวัน ถ้าอยู่กัน 2 คน แล้วน้ำประปาไม่ไหล น้ำ 2,000 ลิตร ก็อยู่ได้สบาย ๆ 5 วัน) ตอนแรกตั้งใจว่าจะเก็บน้ำประปาถังหนึ่ง และเก็บน้ำฝนอีกถังหนึ่ง แต่ช่างใจดีกรุณาออกแบบระบบให้ 2 ถังเชื่อมกัน จะเลือกเก็บแยกก็ได้ หรือจะถ่ายเทน้ำประปาเก็บไว้ทั้งสองถังก็ได้ครับ และเนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านค่อนข้างขุ่นและมีกลิ่นในบางครั้ง จึงใช้วิธีวางเครื่องกรองน้ำไว้ทำหน้าที่กรองน้ำก่อนเข้าแท็งก์ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำความสะอาดแทงก์น้ำบ่อย ส่วนสารที่ใช้กรองคือ แร่เสือดำ ไพโรลูไซต์ ครับผม ทีนี้ก็มีน้ำสำหรับอุปโภคสักที
- รูปภาพน้ำที่ผ่านการกรอง 1 รอบ ด้วยแร่เสือดำ ไพโรลูไซต์
ต่อมาก็เป็นน้ำสำหรับบริโภคแล้วครับ คือผมไม่อยากเสียเงินเสียทองไปกับการซื้อน้ำถังมาใช้กินใช้ดื่มครับ กลัวจะเจอปัญหามาส่งบ้างไม่มาส่งบ้าง จึงตัดสินใจติดตั้งเครื่องกรองน้ำ 5 ขั้นตอนอีกเครื่องหนึ่ง ต้องบอกว่าหมดปัญหาคอแห้งเวลาน้ำถังไม่มาส่งเลยครับ ใสแจ๋ว ไร้รส ไร้กลิ่น ลองดื่มแล้วครับ ยังอยู่ดีสบาย ยังไม่ตายจ้า
- รูปภาพระหว่างน้ำประปาเพียว ๆ กับน้ำประปาที่ผ่านการกรอง 2 รอบ
- ทีนี้ก็ถึงคิวของการปรับภูมิทัศน์นอกบ้านให้มีความสดชื่นด้วยการปลูกหญ้านวลน้อยและต้นไทรเกาหลีประดับตกแต่งรอบบ้านแล้วครับ เบื้องต้นผู้รับเหมาให้มาเท่านี้ก่อนครับ ตาม BOQ ที่เสนอตอนแรก ส่วนเราจะเพิ่มเติมเสริมแต่งอะไรก็ว่ากันไปตามนั้นครับ หรืออยู่ไปนาน ๆ 4-5 ปี หรือ 10 ปี 20 ปี จะปลูกอะไรเพิ่มก็ค่อยทำครับ ยังไงก็เป็นบ้านของเรา
- หลังจากการปรับภูมิทัศน์ภายนอกบ้านเรียบร้อย ก็ได้เวลาหาฤกษ์งามยามดีเข้านอนบ้านคืนแรกแล้วครับ ผมเลือกที่จะเอาพระพุทธรูปเข้าบ้าน แล้วตั้งศาลเจ้าที่ก่อน แล้วก็เข้าอยู่เลย ส่วนงานทำบุญนิมนต์พระมาสวด เชิญแขกมาเยี่ยมเยือนบ้านใหม่ยังไม่ทำครับ ขออยู่บ้านไปสักพักให้อะไรหลาย ๆ อย่างลงตัว เข้าที่เข้าทางก่อนครับ
ถึงตรงนี้ ผมก็ติดต่อไปยังบริษัทประเมินให้เข้ามาประเมินงานก่อสร้าง เพื่อจะได้เบิกเงินงวดสุดท้ายไปจ่ายให้ผู้รับเหมาแล้วครับ ขั้นตอนการเบิกเงินงวดสุดท้าย คุณจะต้องแสดงสำเนาทะเบียนบ้านหลังใหม่ที่สร้างเสร็จแล้วและได้เลขที่บ้านเรียบร้อยแล้ว ให้ ธอส. เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วยครับ ทั้งนี้ เงินงวดสุดท้ายที่ ธอส. จ่ายให้ จะถูกหักออกบางส่วนเป็นค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครอง 3 ปี พอครบ 3 ปีก็ต้องจ่ายใหม่ เพราะฉะนั้นคุณจะไม่ได้เงินกู้ส่วนที่เหลือเต็มจำนวนนะครับ
และแล้วทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดีครับ ได้เข้าอยู่บ้านใหม่ ซื้อข้าวของที่จำเป็นเข้าบ้าน ตื่นเช้ามารดน้ำสวน อาบน้ำ ทำอาหาร กินข้าว ไปทำงาน กลับมาก็ทำความสะอาดบ้าน รดน้ำสวน อาบน้ำ ทำอาหาร กินข้าว เข้านอน ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนในบ้านของตัวเองกันต่อไป
รวมระยะเวลาตั้งแต่ลงเสาเอกจนถึงวันแรกที่เข้าอยู่ คือ 5 เดือน กับอีก 5 วันครับ
- รถยนต์ที่เห็นไม่ใช่ของผมนะครับ ของแฟนครับ
สรุปค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านทั้งหมด 2,897,142.50 บาท แบ่งเป็น
1. ค่าก่อสร้างบ้านพร้อมรั้ว และงานเพิ่มนอกเหนือสัญญา 1,570,000 บาท
2. ค่าที่ดิน 880,000 บาท
3. ค่ารื้อถอนรั้วเดิม ก่อสร้างกำแพงกันดิน พร้อมถมดิน 140,900 บาท
4. ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการจดจำนองที่ดิน 15,145 บาท (คำนวณจาก 1% ของวงเงินกู้+ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ)
5. ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการโอนที่ดิน 11,882 บาท
6. ค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 153 บาท
7. ค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตถมดิน 500 บาท
8. ค่าประเมินหลักทรัพย์ (ที่ดิน/BOQ) 2,800 บาท (ได้คืนตามโปรโมชั่นของ ธอส.)
9. ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีลงเสาเอก 2,500 บาท
10. ค่าติดตั้งน้ำประปาหมู่บ้าน 4,000 บาท
11. ค่าดำเนินการขยายเขตไฟฟ้า 8,286 บาท (ตั้งเสาไฟฟ้าใหม่ 1 ต้น)
12. ค่าประเมินงานก่อสร้าง 3 ครั้ง ครั้งละ 800 บาท 2,400 บาท
13. ค่าวางระบบและติดตั้งกล้องวงจรปิด 54,800 บาท
14. ค่าตู้เสื้อผ้า 35,300 บาท
15. ค่าเฟอร์นิเจอร์สั่งทำ 45,900 บาท
16. ค่าโซฟา 17,900 บาท
17. ค่าที่นอนขนาด 6 ฟุต 47,610 บาท
18. ค่าเก้าอี้ไม้เตี้ย 1,800 บาท
19. ค่าศาลพระภูมิเจ้าที่ 1,300 บาท
20. ค่าธรรมเนียมในการขอมีเลขที่บ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมซอง 40 บาท
21. ค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า 4,621.50 บาท
22. ค่าผ้าม่าน 40,000 บาท
23. ค่าย้ายแอร์เก่า 2 เครื่อง 5,000 บาท
24. ค่าข้าวของสำหรับวางบนหิ้งพระ และใส่ในศาลเจ้าที่ 1,480 บาท
25. ค่าประกันอัคคีภัย 2,325 บาท
26. ค่าทำพิธีตั้งศาลเจ้าที่ 500 บาท
แล้วก็ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอไม่ลงรายละเอียดแล้วนะครับ เพราะมันคงมีมาอีกเรื่อยๆ อย่างพวก ค่าสาธารณูปโภค เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในอนาคต ประมาณนี้นะครับ
ตัวผมเองเป็นแค่มนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ ที่มีอัตราเงินเดือนเท่ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปครับ ย้ำนะครับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไม่ใช่ “ข้าราชการ” (บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตอนอายุ 22 เงินเดือนสตาร์ตที่ 9,200 บาท) หลังจากที่ผมเป็นทหารตอนอายุ 21 ปี ผมก็แทบจะไม่ขอเงินที่บ้านใช้อีกเลย คือต้องบอกว่าเริ่มจากศูนย์จริง ๆ ครับ และผมก็เป็นคนที่อยากได้อยากมีดังเช่นคนทั่วไป พวกมือถือ นาฬิกา เสื้อผ้า ฯลฯ ที่ใช้ก็ถือว่าราคาแพงพอสมควร แต่สิ่งที่ผมทำเสมอและยังทำเป็นประจำทุกเดือน คือ “เก็บก่อนจ่าย” หุ้นสหกรณ์เอย ประกันชีวิตเอย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอย ผมเป็นสมาชิกหมดครับ นอกจากเงินเดือนก็มีแต่ OT ตอนเย็นกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่เป็นรายได้เสริม ผมทำงานทุกวันครับ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และที่ผมตัดสินใจสร้างบ้านเป็นของตัวเองนั้น จริง ๆ แล้วก็ยังไม่เห็นอนาคตหรอกครับ ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม จะไปถึงเป้าหมายไหม แต่ผมเชื่อว่ามันมีจังหวะชีวิตของมันอยู่ มีเหตุปัจจัยหลาย ๆ เรื่องที่เราคิดว่ามันเป็นทางตัน สุดท้ายมันก็มีทางออกเสมอ ถึงมันจะไม่เหมือนที่เราคิดไว้ก็ตาม ชีวิตผมเจอเรื่องไม่คาดคิดมาเยอะครับ และบางอย่างมันลงล็อกของมันเองโดยที่เราไม่ต้องพยายามทำอะไรเลย
ย้อนกลับที่เป้าหมายของชีวิตผม 3 อย่าง ผมให้เหตุผลกับตัวเองแบบนี้ครับ
1. เรียนต่อปริญญาโท คือในตำแหน่งที่ผมทำงานอยู่ ไม่สามารถปรับเงินเดือนตามคุณวุฒิได้ บรรจุด้วยคุณวุฒิไหน ก็รับเงินเดือนตามคุณวุฒินั้น หรือถ้าจบปริญญาโทแล้วจะลาออกไปสอบตำแหน่งใหม่ โอกาสเป็นไปได้มันมีน้อยครับ ก็เลยคิดว่าถ้ามีเงินมีเวลาเมื่อไหร่ ค่อยไปเรียนเพื่อเสริมความรู้ เสริมทัศนคติก็พอ
2. ซื้อรถยนต์สักคัน คือผมรู้นิสัยตัวเองอย่างหนึ่งคือชอบซื้อของราคาแพงครับ รถก็เช่นเดียวกัน รุ่นที่อยากได้ ราคาก็เกือบ ๆ ล้าน หรือล้านกว่า ๆ แล้วต้องผ่อนไปอีก 7-8 ปี พอผ่อนหมด สภาพรถก็เก่า รุ่นใหม่เปิดตัวก็อยากได้อีก มันก็จะเข้าวงจรเดิมคือขายรถเก่าผ่อนรถใหม่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาระหว่างใช้งานอีก ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าภาษี ค่าซ่อมบำรุงอีกสารพัด ถึงทางบ้านอยากจะให้ซื้อรถยนต์ก่อน เหตุผลเพราะว่า "เหล็กหุ้มหนัง" ยังไงก็ปลอดภัยกว่า "หนังหุ้มเหล็ก" แต่ผมคิดว่ายังไม่ซื้อดีกว่า
3. สร้างบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง จริง ๆ คิดไว้ว่าถ้าไม่ได้บ้าน ซื้อที่ดินเปล่า ๆ ไว้ก่อนก็ยังดี เพราะที่ดินมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทุกปี ส่วนวัสดุก่อสร้างอัตราการขึ้นราคามันไม่ได้มากมายอะไร แต่ที่ตัดสินใจสร้างบ้านเลยก็เพราะมีเหตุปัจจัยนั่นแหละครับ คือจริง ๆ ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องที่พักอาศัยอะไรนะ เพราะปกติก็อยู่ในที่พักสวัสดิการของรัฐ แต่อย่างว่าครับ ความรู้สึกมันไม่เหมือนบ้านตัวเองหรอก แล้วถ้าคิดจะไปกู้เงินสร้างบ้านตอนแก่ ผมกลัวจะไม่ไหวครับ ทั้งระยะเวลาผ่อน ทั้งสังขารตัวเองอีก เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลือกสร้างบ้านก่อนซื้อรถยนต์หรือเรียนต่อ
หลายคนอาจสงสัยว่า อยากมีบ้านแล้วทำไมไม่ซื้อบ้านจัดสรร ง่าย สะดวก รวดเร็ว ธนาคารอนุมัติให้เต็ม เจ้าของโครงการก็วิ่งเต้นให้หมด ต้องบอกแบบนี้ครับ ผมเติบโตมาในสภาพแวดล้อมชนบท คนในชุมชนรู้จักกันหมด รั้วบ้านไม่ต้องมีก็ได้ บางทีเพื่อนบ้านทำอะไรก็เอามาแบ่งปันกัน ซึ่งผมติดสภาพแวดล้อมแบบนี้ครับ มันหายากในหมู่บ้านจัดสรร และเท่าที่ผมทราบบ้านจัดสรรส่วนใหญ่เขาก็กำหนดแบบบ้านมาให้เสร็จสรรพคนซื้อจะดัดแปลงต่อเติมก็ยาก แค่ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็กระอักแล้ว แถมยังมีค่าส่วนกลางที่ต้องจ่ายทุกเดือนทุกปีอีก ผมเลยตัดสินใจซื้อที่ดินในชุมชนแทนที่จะซื้อที่ดินจัดสรรหรือบ้านจัดสรรน่ะครับ อย่างน้อยที่สุดในความคิดผมนะ ที่ดินผมได้มากกว่าในราคาใกล้เคียงกับบ้านจัดสรร ผมได้บ้านในแบบที่ผมต้องการ ค่าส่วนกลางก็ไม่ต้องเสีย
สุดท้ายแล้ว ขอขอบคุณครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ผู้รับเหมา สถาปนิก คนคุมงาน ช่าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่คอยเป็นกำลังใจ ช่วยเหลือ และสำคัญที่สุดคือขอบคุณ แฟน ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ เติมส่วนที่ขาด และตัดส่วนที่เกิน จนกระทั่งบ้านหลังนี้เสร็จสมบูรณ์
ขอเป็นกำลังใจให้กับมนุษย์เงินเดือนที่อยากจะมีบ้าน หรือกำลังจะสร้างบ้านเป็นของตัวเองนะครับ อุปสรรคมันมีอยู่แล้ว แต่ยังไงเราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญครับ เมื่อมีปัญหา ลองพูดคุยปรึกษาหารือกับครอบครัว คนรัก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง บางทีเขาอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็คอยรับฟังและทำให้เราคลายความวิตกกังวลลงได้ หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์กับคนที่อยากมีบ้านทุกท่านนะครับ
ขอบคุณครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ JackCNX สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม