5 เรื่องน่ารู้ โซลาร์รูฟท็อป ก่อนร่วมโครงการ โซลาร์ภาคประชาชน

          โซลาร์รูฟท็อป คืออะไร มาดูรายละเอียดก่อนเข้าร่วมโครงการ โซลาร์ภาคประชาชน กกพ. พร้อมวิธีการลงทะเบียนโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับคนที่สนใจด้วยค่ะ 

โซลาร์ รูฟท็อป

          หลายปีที่ผ่านมาทาง กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ได้มีโครงการโชลาร์ภาคประชาชน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนทั่วไป และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีประกาศทำโครงการนี้ต่อเนื่อง วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอรวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ ไว้เป็นข้อมูลให้กับคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาฝากก่อนตัดสินใจ

1. โซลาร์รูฟท็อป คืออะไร


          โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) คือ การติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ไว้บนหลังคา เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องแปลงไฟ (Inverter) เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ก่อนจ่ายไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในบ้าน แต่หากเป็นช่วงฟ้าปิด ฝนตก หรือความเข้มของแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ระบบก็จะสลับกลับมาใช้ไฟฟ้าแบบปกติโดยอัตโนมัติ 

2. การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป


          โซลาร์รูฟท็อปสามารถติดตั้งบนหลังคาได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องซีเมนต์ และเมทัลชีท แต่ก็ควรเช็กโครงสร้างหลังคาซะก่อนว่าแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักของโซลาร์เซลล์หรือไม่ โดยเฉพาะหลังคาที่่ผ่านการใช้งานมานานกว่า 10 ปีขึ้นไป ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 8-10 ตารางเมตร ต้นทุนเฉลี่ย 35,000 บาท ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ 

3. โซลาร์รูฟท็อป เหมาะกับใคร


โซลาร์ รูฟท็อป

          นอกจากเช็กโครงสร้างหลังคา พื้นที่ และต้นทุนที่ต้องใช้ ควรเปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตัวเองในแต่ละเดือน พร้อมกับคำนวณจุดคุ้มทุนในระยะยาวด้วย เพราะหลัก ๆ แล้วไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนำมาใช้ในบ้านก่อน แล้วค่อยขายส่วนต่างให้กับทางการไฟฟ้าฯ อีกที 

4. วิธีเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน


          สำหรับ "โซลาร์ภาคประชาชน" เป็นโครงการของ กกพ. ที่สนับสนุนให้บ้านเรือนทั่วไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง แล้วค่อยนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้มาจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฯ โดยรับซื้อไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ (Mwp) ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยผู้ที่สมัครจะต้องเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของมิเตอร์ หากเคยเข้าร่วมโครงการโซลาร์รูฟเสรีก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยสามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2566

5. วิธีลงทะเบียน 


โซลาร์ รูฟท็อป

          สามารถลงทะเบียนพร้อมดาวน์โหลดเอกสารให้การไฟฟ้าฯ พิจารณา ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ทั้งนี้ หากอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ยื่นคำขอในช่อง สำหรับผู้ใช้ไฟ กฟน. ส่วนอีก 74 จังหวัดที่เหลือลงทะเบียนผ่านช่อง สำหรับผู้ใช้ไฟ กฟภ. 

          เอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียน ได้แก่ 

          บุคคลทั่วไป 

          - สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของเครื่องวัดฯ
          - สำเนาใบแจ้งค่าไฟฟ้าของอาคารที่ติดตั้งแผง
          - เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของแผงโฟโตโวลเทอิก
          - แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ติดตั้งแผงโฟโตโวลเทอิก
          - แผนภูมิระบบไฟฟ้า (Single Line Diagram) ที่มีวิศวกรรับรองแบบ
          - สำเนาใบประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรที่ยังไม่หมดอายุ ระดับภาคีวิศวกรเป็นต้นไป
          - เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของอินเวอร์เตอร์
          - รูปถ่ายบ้านอยู่อาศัยที่จะติดตั้งแผงโซลาร์
          - หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณีมอบอำนาจ) 
          - สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)

          นิติบุคคล 

          - เอกสารข้างต้นแบบเดียวกับบุคคลทั่วไป
          - หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน
          - สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและสำเนาแบบ ภ.พ.01 หรือแบบ ภ.พ.20 (ถ้ามี)

          หลังจากลงทะเบียนและยื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว การไฟฟ้าฯ ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลและแจ้งผลไปยังอีเมลและทางเว็บไซต์ หากผ่านการคัดเลือกก็จะได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าต่อไป

โซลาร์ภาคประชาชน
ภาพจาก กกพ.

          ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจจะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟ เพราะนอกจากจะสามารถนำพลังงานสะอาดมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าใช้ในบ้านพร้อมลดค่าไฟในระยะยาวได้แล้ว ยังสามารถขายส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้าฯ ได้อีกด้วย 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เรื่องน่ารู้ โซลาร์รูฟท็อป ก่อนร่วมโครงการ โซลาร์ภาคประชาชน อัปเดตล่าสุด 19 เมษายน 2566 เวลา 10:22:58 70,072 อ่าน
TOP
x close