12 ไอเดียผลิตภัณฑ์จากของรีไซเคิล เป็นการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ และยังช่วยลดการเกิดมลพิษในกระบวนการผลิตก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค จากความคิดและการสร้างสรรค์อันยอดเยี่ยมจากนักดีไซน์ของไทย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เทรนด์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรงมาก เพราะนอกเหนือจากการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังแล้ว การลดปริมาณขยะพร้อมนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสที่ผู้คนให้ความสนใจมากเช่นกัน ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยถือโอกาสรวบรวมไอเดียรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้เป็นของใช้ในบ้าน และของตกแต่งบ้านเจ๋ง ๆ จากฝีมือนักออกแบบชาวไทยมาฝาก รับรองดีงาม สร้างสรรค์ ควรค่าแก่การใช้งานสุด ๆ ไปเลยล่ะ
1. รองเท้าขยะทะเลจร (Tlejourn Upcycles Sandals)
รองเท้าขยะทะเลจร เป็นสินค้าในโครงการทะเลจร องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เกิดจากการเก็บขยะรองเท้าฟองน้ำในบริเวณริมชายหาดและท้องทะเลของกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero จากนั้นก็นำไปทำความสะอาดและอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นรองเท้ารีไซเคิล 100% ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เสร็จแล้วส่งต่อให้กลุ่มแม่บ้านในตำบลคลองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และแม่บ้านในอำเภอกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ประกอบเป็นรองเท้า เพื่อช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ช่วยให้ผู้คนเห็นคุณค่าของการอัปไซเคิล และที่สำคัญช่วยลดปริมาณขยะในท้องทะเลลงไปในตัว โดยปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ หลากไซซ์ จัดจำหน่ายแล้วที่กรุงเทพฯ ในราคา 399 บาท
- เว็บไซต์ : www.tlejourn.org
- เฟซบุ๊ก : Tlejourn : ทะเลจร
- เบอร์โทรศัพท์ : 081-543-3177
2. เซรามิกจากกระดาษสา (Saa Paper Clay)
Prempracha’s Collection สตูดิโอเซรามิกในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า งานหัตถกรรมทำร่มจากกระดาษสาของหมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเศษกระดาษสาที่ถูกนำไปทิ้งเป็นขยะ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงเกิดไอเดียนำมาผสมในเนื้อดิน จนได้เป็น Paper Clay ที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงและทนทาน นำไปผลิตเป็นสินค้าและผลงานเซรามิกได้หลากหลาย ทั้งแจกัน ถ้วย ชาม และของตกแต่งบ้าน ที่สำคัญช่วยให้ทุกชิ้นมีพื้นผิว ลวดลาย และผิวสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป แถมยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้เป็นอย่างดีด้วย
- เว็บไซต์ : http://www.prempracha.com/
- เฟซบุ๊ก : Prempracha's Collection
- เบอร์โทรศัพท์ : 053-338-540, 053-333-8857
3. กระเป๋าถักจากถุงพลาสติก (Merak On Earth)
ไอเดียการนำถุงพลาสติกใช้แล้วกลับมาแปรรูป (Upcycling) เป็นกระเป๋าถักที่ทั้งแข็งแรงและทนทานของ คุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ เริ่มต้นจากการประกาศรับซื้อถุงพลาสติกใช้แล้วในราคาสูง เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้คนในชุมชนรู้จักคัดแยกขยะ จากนั้นก็เชิญชวนให้ทุกคนมาลองทำกระเป๋าจากขยะพลาสติกร่วมกัน เสร็จแล้วก็ส่งขายเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับขยะและงานรีไซเคิลต่อไป
- อีเมล์ : Janwanmai@gmail.com
- เบอร์โทรศัพท์ : 061-398-7118
4. ที่เก็บถุงพลาสติกและกระดาษชำระจากขวดพลาสติก (Moby Whale)
จากข่าววาฬเสียชีวิตโดยมีขยะพลาสติกเต็มท้อง ทำให้ Qualy เกิดแรงบันดาลใจที่จะกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการทิ้งขยะลงทะเล แม่น้ำ ลำคลอง และลดการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้งพร้อมหันมาใช้ซ้ำ ด้วยการผลิตที่เก็บถุงพลาสติกและกระดาษชำระลายวาฬสีน้ำเงินจากขวดน้ำพลาสติก PET ขนาด 420 มิลลิลิตร จำนวน 28 ขวด ซึ่งสามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่อีกครั้งได้ ส่วนการใช้งานมี 2 รูปแบบ คือ เป็นที่เก็บถุงพลาสติกใช้แล้วที่มาพร้อมกับความจุ 4 ลิตร โดยให้ใส่ถุงไว้ที่ท้องเพื่อเก็บ และดึงถุงออกทางปากเพื่อใช้ และเป็นที่เก็บกระดาษชำระ โดยสามารถใส่กระดาษได้ทั้งหมด 2 ม้วน ซึ่งจากรูปลักษณ์และการใช้งานก็ช่วยเตือนใจถึงผลกระทบที่สัตว์ทะเลได้รับ รวมถึงช่วยกระตุ้นให้คนใช้พลาสติกซ้ำก่อนนำไปรีไซเคิลต่อได้เป็นอย่างดี
- เว็บไซต์ : http://www.qualydesign.com/
- เฟซบุ๊ก : Qualy
- เบอร์โทรศัพท์ : 02-689-8591
5. ผนังดูดซับเสียงจากฟางข้าวและกะลากาแฟ (Eco Acoustic Mosaic)
อีกหนึ่งไอเดียนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลใหม่ ได้แก่ ผนังดูดซับเสียงของ Wasoo ที่เป็นการนำฟางข้าวและกะลากาแฟ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากฝั่งอุตสาหกรรม ที่ยากต่อการกำจัด จนทำให้เกษตรกรต้องเผาทำลายและกลายเป็นมลพิษ มาทำเป็นแผ่นผนังแต่งบ้านที่มีคุณสมบัติดูดซับเสียงและป้องกันความร้อนได้ อีกทั้งยังช่วยต่อลมหายใจให้กับกระดาษ ด้วยการนำเยื่อกระดาษใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นตัวประสานแทนกาว ช่วยให้สินค้าปลอดภัย ไม่ลามไฟ ปลวกไม่กิน และรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัว โดยตัวสินค้าจะมีให้เลือกหลายรูปแบบ สามารถนำไปทาสีหรือตกแต่งได้ ที่สำคัญถ้าหากเหลือเศษหรือไม่ใช้แล้ว ทางผู้ผลิตยังรับคืนอีกด้วย
- เว็บไซต์ : https://wasoo.co/
- เฟซบุ๊ก : Wasoo
- เบอร์โทรศัพท์ : 061-542-4469
6. กระถางต้นไม้และสตูลนั่งเล่นจากพลาสติก (Ray Self Watering Planter and Seating)
เรียกได้ว่ามีประโยชน์แบบ 2 in 1 จริง ๆ สำหรับ Ray Self Watering Planter and Seating หรือกระถางต้นไม้และสตูลนั่งเล่นจาก Plural Designs เพราะนอกจากจะใช้เป็นกระถางต้นไม้ ที่มีระบบรดน้ำเอง (Self Watering) แล้ว ยังใช้เป็นสตูลนั่งเล่นได้ เพียงแค่พลิกกลับด้าน โดยตัวสินค้ามีให้เลือกหลายขนาด หลายรูปแบบ และหลายสี ที่สำคัญทำมาจากพลาสติกเหลือใช้ในวงการอุตสาหกรรม เป็นการช่วยลดขยะ ลดพลาสติก และลดโลกร้อน แถมยังทำให้สินค้ามีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ทนทาน จนสามารถวางซ้อนกันได้ตามใจชอบเลย
- เว็บไซต์ : http://www.pluraldesigns.net/
- เฟซบุ๊ก : Plural designs
- เบอร์โทรศัพท์ : 081-833-4566
7. แผ่นไม้พลาสติกจากวัสดุเหลือใช้ (WPC Wood)
ใช่ว่าขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะหมดประโยชน์ไปเลยทีเดียว เพราะ Best Polymer International co.,Ltd ปิ๊งแนวคิดนำขยะที่รีไซเคิลไม่ได้เหล่านี้ เช่น ซองขนม ซองบรรจุภัณฑ์ มาผสมกับเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร แล้วทำเป็น WPC wood (Wood Plastic Composite) หรือไม้พลาสติก ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับไม้เทียม มีความแข็งแรง ทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน และสามารถใช้งานภายนอกได้ นอกเหนือจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาเป็นวัสดุปูพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย
- เบอร์โทรศัพท์ : 02-814-4460-5 ต่อ 102
8. เก้าอี้จากพลาสติกรีไซเคิล (Past Perfect Collection)
หลังจากโชว์ผลงานเก้าอี้ไม้แบบดั้งเดิมกับนิทรรศการ Taste Test ในงาน Bangkok Design Week 2019 ไปเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด Salt and Pepper Studio นักออกแบบสุดสร้างสรรค์ ก็เริ่มมองหาแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยต่อยอดไอเดียเดิม จนเกิดเป็นเก้าอี้จากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมาจากการนำพลาสติกเหลือใช้ในวงการอุตสาหกรรมมาอัปไซเคิลเป็นเก้าอี้ทรงสวย โดยภาพที่เห็นเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ของจริงกำลังดำเนินการและเตรียมวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้
- เว็บไซต์ : https://www.saltandpepper-studio.com/
- เฟซบุ๊ก : Salt and Pepper Studio
- เบอร์โทรศัพท์ : 092-448-2525
9. เก้าอี้คอนกรีตไร้ซีเมนต์ (Zero Cement)
เนื่องจากกระบวนการผลิตซีเมนต์ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก LOCK iN SPACE x THINKK Studio จึงเลือกสร้างเก้าอี้จากคอนกรีตทางเลือก ซึ่งไม่มีส่วนผสมของซีเมนต์เลย ทำให้ไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปในตัว โดยเก้าอี้คอลเล็กชั่นนี้ใช้วิธีการหล่อเหมือนทั่วไป ทว่ามีส่วนผสมจากขยะชีวภาพด้วย แถมพิเศษยิ่งกว่าตรงที่ทำให้บางเพียง 20 มิลลิเมตร แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม
- เฟซบุ๊ก : LOCK iN by i-MEMBERS
- เบอร์โทรศัพท์ : 090-979-9060
10. ของใช้จากการประกอบวัสดุเหลือใช้ (8-BAR)
Flo บริษัทออกแบบเฟอร์นิเจอร์มากฝีมือของไทย ดีไซน์ 8-BAR ที่ตั้งและที่วางของจากการประกอบวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นคนส่วนใหญ่นำชิ้นส่วนต่าง ๆ มารวบรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้ใช้งานได้ต่อไป ถือเป็นการซ่อมแซมและรีไซเคิลไปในตัว แถมยังช่วยให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และช่วยให้ได้ของใช้ใหม่ที่เก๋ไก๋ มีสไตล์ และน่าสนใจไม่แพ้กันด้วย
- เว็บไซต์ : https://www.flofurniture.com/
- เฟซบุ๊ก : Flo
- เบอร์โทรศัพท์ : 088-220-8611
11. บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเคลือบเซรามิก (Clayven)
ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์กลายเป็นขยะจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ได้เก็บไปใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ฉะนั้น ROOM Lab จึงเกิดไอเดียที่จะนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งมาเพิ่มคุณค่า เพิ่มการใช้งาน และกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจกับปัญหานี้มากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ สะดวกซื้อ สะดวกใช้ แต่ไม่สะดวกทิ้ง โดยได้นำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มาเคลือบเซรามิกเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้จริง และใช้งานได้นาน ที่สำคัญจะนำไปใส่อาหารอีกครั้งก็ได้ จะนำไปใช้เป็นที่เก็บของก็ดี หรือจะนำไปแต่งบ้านก็เด่นไม่เบาเลย
- เว็บไซต์ : https://www.roomlab.design/
- เฟซบุ๊ก : ROOM Lab
- เบอร์โทรศัพท์ : 095-372-2158
12. WRAP AROUND เอาวัสดุเหลือใช้มาประกอบมัดรวมกันเป็นเก้าอี้
เพราะทั่วโลกมีการออกแบบเก้าอี้ใหม่ ๆ ดีไซน์สวย ๆ คุณภาพเจ๋ง ๆ มากมายอยู่แล้ว THINKK / Internship team จึงพยายามมองหาทางเลือกใหม่ ด้วยการผลิตเก้าอี้จากวัสดุเหลือใช้ง่าย ๆ โดยนำเศษไม้ แท่งไม้ ที่มีความยาวกำลังดีมากองรวมกัน แล้วมัดให้แน่นและแข็งแรงด้วยสายรัด พร้อมวางเบาะรองนั่งไว้ด้านบน เท่านี้ก็ช่วยให้ได้เก้าอี้ใหม่ไว้นั่งเล่นเก๋ ๆ ชิล ๆ แถมยังเป็นการนำวัสดุไร้ค่ามาเพิ่มคุณค่าได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
- เว็บไซต์ : https://thinkktogether.com/
- เฟซบุ๊ก : THINKK Together
- เบอร์โทรศัพท์ : 02-075-3323
เรียกได้ว่านักออกแบบชาวไทยก็สร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก น่าดีใจจริง ๆ ที่ได้เห็นผลงานการออกแบบที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมายขนาดนี้ อย่างไรกระปุกดอทคอมก็หวังว่าทุกคนจะเกิดไอเดียในการรีไซเคิลสิ่งของของตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ได้แรงบันดาลใจในการหันมาบริโภคสินค้าที่ดีต่อโลกกันมากขึ้นนะคะ