3 วิธีทำแปลงปลูกผัก กับ 4 วิธีทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ประหยัด ง่าย ไม่ยาก อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนอยากปลูกผักสดปลอดสารพิษไว้กินเองที่บ้าน
เพื่อให้ได้ผักที่สด สะอาด ปลอดสารพิษ ทุกวันนี้ผู้คนจึงนิยมปลูกผักที่บ้านกันมากขึ้น ทว่านอกจากการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองแล้วนั้น เชื่อว่าคนที่รักการปลูกผักเพื่อจัดสวนคงจะฟินไม่น้อย หากได้ทำแปลงปลูกผักหรือปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยถือโอกาสรวบรวมวิธีทำแปลงปลูกผักจากหลากหลายวัสดุ และวิธีทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารง่าย ๆ มาฝาก
1. วิธีทำแปลงปลูกผักจากไม้ไผ่
วิธีทำแปลงปลูกผักด้วยไม้ไผ่ไม่ยาก คุณ สมาชิกหมายเลข 2217722 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม บอกว่า ให้เริ่มต้นที่กำจัดวัชพืชออกให้เกลี้ยง จากนั้นก็ปรับระดับดินให้เท่า ๆ กัน แล้วขึ้นแปลงโดยใช้จอบพรวนดินขึ้นมา ตามด้วยนำไม้ไผ่ปักล้อมรอบแปลงเอาไว้ ขั้นตอนนี้หากใช้ไม่ไผ่ลำยาว ๆ เลยก็จะง่ายมาก ๆ แต่ถ้าหากมีแต่ไม้ไผ่สั้น ๆ ก็ไม่เป็นไร ให้ค่อย ๆ ทำไป หลังจากนั้นใส่ดินและมูลวัวหรือมูลควายลงไปให้ทั่ว เท่านี้ก็เสร็จ สามารถหว่านเมล็ดผักลงปลูกและรอเก็บมากินได้เลยค่ะ
2. วิธีทำแปลงปลูกผักจากอิฐบล็อก
สำหรับคนที่อยากให้แปลงปลูกผักแข็งแรงและมีมาตรฐานขึ้นมาหน่อย ขอแนะนำให้ทำจากอิฐบล็อก โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ จาก คุณ สมาชิกหมายเลข 2217722 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม คือ ขุดดินให้เป็นร่องไว้ใส่อิฐบล็อก ควรขุดลึกประมาณหนึ่งเพื่อให้ฐานแข็งแรง ไม่ล้ม และป้องกันหญ้าชอนไช จากนั้นก็ใส่อิฐบล็อกตามร่องที่ขุดไว้ พร้อมโรยก้อนหินรอบ ๆ เพื่อความแข็งแรงและสวยงาม เสร็จแล้วพรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับระดับให้เรียบ หากอยากป้องกันหอยทาก เพลี้ย หรือแมลงบางชนิด ก็อย่าลืมโรยปูนขาวให้ทั่วด้วย หลังจากนั้นก็สามารถนำผักมาปลูกได้ตามใจชอบ ซึ่งราคาอิฐบล็อกแต่ละก้อนจะอยู่ที่ประมาณ 6 บาท ถ้าหากอยากทำแปลงปลูกผักขนาด 4x1.5 เมตร จะใช้อิฐประมาณ 24 ก้อนค่ะ
3. วิธีทำแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จากท่อ PVC
สำหรับแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะแตกต่างจากแปลงปลูกผักก่อนหน้านี้เล็กน้อย โดย คุณ ตั้ม ซิงกอร์ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม อธิบายวิธีทำแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ระบบรางกึ่งน้ำลึกไว้ว่า ให้หาซื้อท่อไซซ์ต่าง ๆ มาตามที่เราต้องการ สำหรับโต๊ะใหญ่ควรใช้ท่อ 3 นิ้ว จากนั้นมัดท่อเพื่อเตรียมเจาะให้แน่น ตามด้วยวัดระยะห่างระหว่างรูที่จะเจาะเป็นช่องปลูก ซึ่งส่วนมากโต๊ะปลูกใหญ่จะเว้นระยะห่างประมาณ 20 เซนติเมตร เสร็จแล้วก็เจาะให้ตรงตามที่วัดไว้มากที่สุด และถ้าหากโต๊ะยาวเกิน 2 เมตร ควรใช้โฮลซอ 22 มิลลิเมตร เจาะตรงกลางระหว่างช่องเพื่อระบายอากาศด้วย โดยให้เจาะช่องเว้น 4 ช่อง หลังจากนั้นก็ใช้ตะไบกลมลบเหลี่ยมให้สะอาด ไม่บาดมือ แล้วนำกระถางนิ้วใส่ลงไปในรูได้เลย
ต่อมาเป็นการทำฝาครอบท้ายราง ให้นำฝาครอบ PVC มาเจาะด้วยโฮลซอขนาด 22 มิลลิเมตร โดยวัดจากฝาครอบลง 6 เซนติเมตร ตะไบขอบออก แล้วทากาวที่ข้อง้อ PVC ½ นิ้วเกลียวนอก จากนั้นก็ยัดลงไปในรูให้แน่นสนิท เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็นำไปครอบปิดท้ายราง พร้อมนำข้องอ PVC มาครอบปิดหัวราง ทากาวกันรั่วและทาสีขาวครึ่งบน จากนั้นผูกรางติดกับตัวยึด เสร็จแล้วประกอบเข้ากับโต๊ะ โดยตั้งรางให้อยู่ในระดับเดียวกัน วางระบบน้ำตามรูปแบบที่เหมาะสม สำหรับหัวท่อส่งน้ำ ให้ใช้ข้องอต่อลงไปในท่อปลูกตรงฝาครอบ ส่วนท้ายราง ให้เจาะท่อแล้วนำมาสวมตรงปลายข้องอ หลังจากนั้นก็มาเดินท่อน้ำกลับไปยังถังสารละลาย ต่อปั๊มกับท่อส่งน้ำ เติมน้ำและเปิดปั๊มเพื่อทดสอบการรั่วและการทำงาน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ปลูกผักได้ตามใจชอบเลย อ้อ อย่าลืมปิดฝาถังพร้อมแง้มไว้เล็กน้อย เพื่อให้อากาศเข้าไปช่วยระบายความร้อน และป้องกันสิ่งปนเปื้อนและตะไคร่น้ำด้วยล่ะ
4. วิธีทำปุ๋ยหมักพระราชทาน
สูตรปุ๋ยหมักแรกเป็นสูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำมาจากดิน ปุ๋ยคอก และซากพืช เช่น เศษใบไม้ หญ้าแห้ง โดยเริ่มแรกให้ขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร จากนั้นก็เอาซากพืชมากองเกลี่ยในหลุม กะให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร เหยียบขอบให้แน่น พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม แล้วสลับมาเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่ว หรือสูงประมาณ 5 เซนติเมตร หากมีปุ๋ยเคมีก็โรยให้ทั่ว หรือสูงประมาณ 2.5 เซนติเมตรได้ หลังจากนั้นก็สลับกองด้วยซากพืชซากสัตว์และรดน้ำอีกครั้ง ทำสลับกันไปมาเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนเต็มหลุม ก็เป็นอันเสร็จ รอกลับปุ๋ยหมักทุก ๆ 30 วัน จนกระทั่งซากพืชเปื่อยหมดทั้งกอง กลายเป็นปุ๋ย และมีความร้อนใกล้เคียงกับความร้อนของอากาศนั่นเอง ทั้งนี้น้ำที่รดจะผสมด้วยปัสสาวะคนหรือสัตว์ด้วยก็ได้
5. วิธีทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์
ปุ๋ยหมักสูตรของคุณ คุณ สมาชิกหมายเลข 2217722 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ง่าย สะดวก และดีมาก ๆ เพียงแค่ทำบ่อขยะเปียกขึ้นมา 2 บ่อ จะใช้เป็นถังดำหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ เลือกขนาดที่ต้องการ แล้วเจาะรูด้านล่าง พร้อมหาฝาปิดด้านบน จากนั้นก็หมั่นใส่ขยะอินทรีย์หรือพวกเศษอาหารในบ้านลงไป ตามด้วย EM และกากน้ำตาล เพื่อช่วยให้ขยะย่อยสลายและไม่เหม็น โดยมีเคล็ดลับนิด ๆ คือ ทำให้เสร็จไปเป็นบ่อ ๆ ด้วยการใส่ขยะที่บ่อใดบ่อหนึ่งจนเต็มแล้วปล่อยทิ้งไว้รอย่อยสลาย หลังจากนั้นก็สลับมาทำใส่ขยะลงไปในอีกบ่อ พอบ่อที่ 2 เต็ม บ่อแรกก็กลายเป็นปุ๋ย นำไปใช้งานได้พอดี ทีนี้ก็ใส่สลับกันไปเรื่อย ๆ ได้ ช่วยทั้งลดขยะเศษอาหาร และมีปุ๋ยหมักไว้ใช้จัดสวนเลย
6. วิธีทำปุ๋ยหมักแบบใช้ตัวช่วยย่อย
เคล็ดลับทำปุ๋ยหมักของ เฟซบุ๊ก ครัวคุณป้า : Aunty's Recipes ไม่ยุ่งยากเลยสักนิด เพียงแค่หาซื้อถังหมักสำหรับทำปุ๋ยจากเศษอาหารมา พร้อมกับ Compost Starter (ตัวเร่งเชื้อ หรือตัวช่วยย่อย) จากนั้นก็วางไว้ในทำเลที่ดี อยู่ในร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก แล้วใส่เศษอาหารลงไป พร้อมกับตัวเร่งเชื้อและน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ คลุกให้เข้ากัน แล้วปิดฝาทิ้งไว้ เมื่อไหร่ใส่อาหารลงไปอีก ก็ทำแบบเดิม แต่ให้ใส่น้ำตาลครั้งเว้น 3 ครั้ง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเต็มถัง แล้วหมักทิ้งไว้ 1 เดือน เท่านี้ก็จะมีปุ๋ยไว้ใช้บำรุงผัก บำรุงต้นไม้ง่าย ๆ แล้ว โดยขอเพิ่มข้อสังเกตอีกนิด คือ ตัวถังหมักที่ดีจะมีท่ออากาศในตัวอยู่แล้ว ส่วนข้อเสียของวิธีนี้ คือ ต้องซื้อตัวเร่งเชื้ออยู่ตลอดเวลา กับบ้านไหนที่มีเศษอาหารเยอะ ต้องใช้หลายถัง ซึ่งก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นนั่นเอง
7. วิธีทำปุ๋ยหมักแบบไม่ใช้ตัวช่วยย่อย
สูตรปุ๋ยหมักประยุกต์สูตรนี้ ดีงาม ไม่ต้องกลับ ไม่ต้องพลิก ไม่ต้องง้อ Compost Starter หรือตัวช่วยย่อยเศษอาหารเลยทีเดียว โดยได้แนวคิดมาจาก คุณ ทาสหมาขาสั้น สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ใช้กล่องหมักปุ๋ยแบบดินเผา ที่มีน้ำหนัก มีฝาปิด ก้นเปิดโล่ง และระบายอากาศดี แทนกล่องพลาสติกอื่น ๆ ซึ่งเริ่มแรกให้ขุดดินลงไปลึกประมาณ ¾ ของความสูงกล่อง จากนั้นก็วางกล่องลงไปแล้วกลบดินให้มิด ทำแบบนี้ 2 กล่อง เอาไว้สลับกันใช้ ส่วนขั้นตอนการหมัก คือ ใส่เศษอาหาร เช่น เศษผัก เศษผลไม้ เปลือกไข่ กากกาแฟ ข้าวบูด อาหารเหลือ กระดูก หรือก้างปลาลงไป แล้วทับด้วยปุ๋ยคอก เศษใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง หรือดินถุงก็ได้ ทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ เทเป็นชั้น ๆ ระหว่างนั้นก็ใส่น้ำตาลและน้ำผสม EM ประมาณอาทิตย์ละครั้ง ทำไปจนเต็มถัง จึงปิดทับบนสุดด้วยปุ๋ยคอกผสมหญ้าหรือใบไม้แห้ง พร้อมกับเทน้ำตาลลงไปอีกสัก 1-2 ช้อน และรดน้ำผสม EM ให้ชุ่ม จากนั้นปิดฝาไว้ทิ้ง คอยมาคนทุก ๆ 15 วัน พอครบ 30 วัน ก็จะเสร็จเรียบร้อย
มาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า การทำแปลงปลูกผักและการทำปุ๋ยหมักด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยากเลย แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้มีผัดสดปลอดสารพิษไว้กินเองและแบ่งเพื่อนบ้านได้ด้วย เอาเป็นว่าใครพอมีพื้นที่และมีเวลาสักหน่อย ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ