วิธีสังเกต รอยร้าวผนัง-เพดาน สัญญาณเตือนอันตราย รีบซ่อมก่อนบ้านทรุด

รอยร้าวผนังและเพดาน สัญญาณเตือนอันตราย มาจากไหน ทำให้เกิดปัญหาอะไร และซ่อมแซมได้อย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ

รอยร้านผนัง

หนึ่งในปัญหาที่หลาย ๆ คนต้องเคยเจอก็คือ รอยร้าวบนผนังหรือเพดาน เพราะไม่ว่าบ้านจะเก่าหรือใหม่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมด จนทำเอาอดสงสัยไม่ได้ว่า ความจริงแล้วรอยร้าวบ้านมาจากไหน แบบไหนเป็นอันตราย-ไม่เป็นอันตรายบ้าง ดังนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับรอยร้าวแต่ละชนิด รวมถึงยังเจาะลึกถึงสาเหตุที่เกิด วิธีซ่อมแซม และวิธีป้องกันไปในตัวด้วย

รอยร้าวเกิดจากอะไร ?

รอยร้านผนัง

รอยร้าวบ้าน สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยมากทั้งในบ้านเก่าและบ้านใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดขึ้นได้หลากหลาย ซึ่งนอกจากสาเหตุทางธรรมชาติแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกดังต่อไปนี้

1. การทรุดตัว เนื่องจากดินยุบและทำให้เกิดเป็นโพรงใต้บ้าน ส่วนใหญ่มักจะเกิดรอยร้าวขนาดเล็ก แต่บางครั้งก็สามารถส่งผลกระทบรุนแรงได้

2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ทำให้โครงสร้างขยายเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และทำให้โครงสร้างหดตัวเมื่ออุณหภูมิต่ำลง

3. ปฏิกิริยาจากดินที่ขึ้นอยู่กับความชื้นและความแห้ง

4. โครงสร้างไม่ดี หรือวัสดุไม่ได้มาตรฐาน

5. ปลูกต้นไม้ใกล้บ้าน จนทำให้รากชอนไชมาทำลายโครงสร้าง หรือส่งผลกระทบเรื่องการแย่งน้ำในดิน

6. ความเสียหายจากน้ำ เช่น ท่อตันหรือน้ำรั่ว จนซึมเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้โครงสร้างบวมหรือเปราะบาง

7. รับน้ำหนักจากของที่แขวนหรือห้อยไว้มากเกินไป จนทำให้ตึงและเกิดรอยร้าวในที่สุด
 

รอยร้าวแบบไหนอันตราย

รอยร้าวบนผนัง

รอยร้านผนัง

รอยร้าวบนผนังที่สังเกตเห็นได้ส่วนใหญ่มี 4 ประเภทด้วยกัน คือ รอยร้าวแนวดิ่ง แนวนอน แบบขั้นบันได และรอยร้าวบริเวณประตูหรือหน้าต่าง ที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังนี้ 

1. รอยร้าวแนวดิ่ง

  • รอยร้าวแนวดิ่ง หรือรอยร้าวแนวตั้ง สามารถพบเห็นได้ตามปกติ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง และซ่อมแซมค่อนข้างง่าย ส่วนใหญ่มาจากปัญหาบ้านหดหรือทรุดตัวเพียงเล็กน้อย โดยรอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นตามมุมและวงกบของประตู-หน้าต่าง เป็นสัญญาณบอกถึงการทรุดตัวของบ้าน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากสร้างเสร็จได้ไม่นาน 
  • รอยราวแนวดิ่งที่ด้านบนกว้างกว่าด้านล่าง เป็นสัญญาณบอกว่าตัวบ้านด้านข้างทรุดลง หรือตัวบ้านตรงกลางยกขึ้น 
  • รอยร้าวแนวดิ่งที่ด้านล่างกว้างกว่าด้านบน เป็นสัญญาณบอกว่าตัวบ้านตรงกลางทรุดลง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารอยร้าวลักษณะนี้จะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามีขนาดกว้างกว่า 3 มิลลิเมตรขึ้นไป อาจจะสื่อถึงปัญหาทางด้านฐานรากหรือการทรุดตัวอย่างรุนแรงได้ ฉะนั้นควรหมั่นสังเกตและวัดขนาด หากผิดปกติควรให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบจะดีที่สุด

2. รอยร้าวแนวนอน

รอยร้าวแนวนอน หรือราวร้าวแนวทแยงลงมา 45 องศา มีระดับความรุนแรงต่างจากรอยร้าวแนวดิ่งมาก เพราะสื่อถึงปัญหาหนักเกี่ยวกับฐานราก อาจหมายความได้ว่าผนังกำลังเริ่มพังแล้ว ซึ่งก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเสียหายจากน้ำ หรือการเลื่อน การทรุด และการขยับตัวของดิน ดังนั้น ถ้าหากเจอรอยร้าวแนวนี้ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพราะยิ่งรอยร้าวมาพร้อมกับการโค้งงอหรือนูนขึ้นของผนังด้วยละก็ยิ่งสื่อถึงความร้ายแรงมากเลยทีเดียว

3. รอยร้าวแบบขั้นบันได

รอยร้าวแบบขั้นบันได มักจะพบในผนังอิฐ ซึ่งถ้าหากเป็นรอยร้าวขนาดเล็กจะสื่อถึงอายุการใช้งานปกติ ไม่น่ากังวลเท่าไร แต่ถ้าหากเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ มากกว่า ½ นิ้ว จะสื่อถึงปัญหาจากฐานรากหรือโครงสร้าง เช่น การทรุดตัวของดินใต้กึ่งกลางของผนัง ซึ่งวิธีเดียวที่จะระบุความเสียหายหรือหาทางแก้ไขก็คือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง

4. รอยร้าวบริเวณประตูหรือหน้าต่าง

รอยร้าวบริเวณประตูหรือหน้าต่างอาจจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ โดยมีเคล็ดลับในการเช็กง่าย ๆ คือ ให้ลองเปิด-ปิดประตูห้องนอนหรือห้องน้ำดูว่าติดขัดหรือเปล่า ถ้าหากติดขัดและไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยอื่น อาจจะสื่อได้ว่าฐานรากมีการขยับระดับปานกลางถึงรุนแรง จนทำให้เกิดรอยร้าวบนผนังบริเวณประตูและหน้าต่างขึ้น 

ทั้งนี้ อาจจะสังเกตจากช่องบนกรอบประตูหรือหน้าต่างร่วมด้วยก็ได้ เพราะถ้าเห็นช่องว่างหรือแสงเล็ดลอดเข้ามาอาจจะสื่อถึงปัญหาฐานรากหรือการทรุดตัวจนทำให้เกิดรอยร้าวนั่นเอง

รอยร้าวบนเพดาน

รอยร้าวบนผนังที่สังเกตเห็นได้ส่วนใหญ่มี 3 ประเภทด้วยกัน คือ รอยร้าวแนวดิ่ง แบบใยแมงมุม และรอยร้าวจากเพดานยุบตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ 

รอยร้านเพดาน

1. รอยร้าวแนวดิ่ง

รอยร้าวแนวดิ่ง หรือรอยร้าวแนวตั้ง มีลักษณะของรอยร้าวเป็นเส้นตามแนวยาวตั้งแต่เพดานลงมาจนถึงผนัง สื่อถึงความเสียหายทางด้านโครงสร้าง การทรุดตัวของฐานราก หรือผนังเปราะบาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะรุนแรง ควรรีบให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและแก้ไขจะดีที่สุด

2. รอยร้าวแบบใยแมงมุม

รอยร้าวแบบใยแมงมุม สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบนเพดาน ผนัง และพื้นบ้าน เป็นรอยร้าวที่มีขนาดเล็ก พบเห็นได้ตามปกติ ส่วนใหญ่ไม่มีความรุนแรงหรือปัญหาอะไร เพราะมักจะเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นของบ้าน ทว่าถ้าหากรอยร้าวลักษณะนี้มีขนาดกว้างถึง 1/16 นิ้ว ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจสื่อถึงการทรุดตัวหรือปัญหาฐานรากตั้งแต่แรกเริ่มได้

3. รอยร้าวที่มาพร้อมกับการยุบตัวของเพดาน

รอยร้าวที่มาพร้อมกับการยุบหรือพองตัวของเพดานพบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งอาจจะแสดงว่าฐานรากเริ่มมีปัญหาจนทำให้เพดานเคลื่อนตัวและเกิดรอยร้าวตามมา จึงถือเป็นรอยร้าวที่มีความรุนแรงชนิดหนึ่ง ถ้าหากพบแล้วควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว

วิธีรับมือและซ่อมแซมรอยร้าวบ้าน

วิธีซ่อมรอยร้าวผนัง

วิธีรับมือเมื่อพบรอยร้าวบนผนังและเพดานบ้าน ขั้นแรกให้เราตรวจสอบชนิดและวัดขนาดให้เรียบร้อย ถ้าหากเป็นรอยเล็กที่ไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยทิ้งเอาไว้ได้ หรือใครอยากจะซ่อมแซมก็ทำได้หลายวิธี เช่น อุดด้วยวัสดุอุดโป๊รอยร้าว ปิดด้วยพอลิยูรีเทน ซีลแลนท์ ฉาบด้วยซีเมนต์ซ่อมแซม และทาด้วยครีมซ่อมผนัง ทั้งนี้ ต้องพิจารณาให้ชัวร์ว่ารอยร้าวนั้น ๆ ไม่ได้มาจากปัญหาโครงสร้างจริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสจะเกิดซ้ำอีกครั้งได้

ส่วนรอยร้าวขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงสูง รอยร้าวที่มาพร้อมกับความชื้น รอยร้าวที่ทำให้ผนังนูน และรอยร้าวที่เกิดขึ้นตรงกลางผนังและเพดาน ควรเรียกผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบจะดีที่สุด โดยถ้าพบว่าสาเหตุมาจากปัญหาโครงสร้างและฐานราก ทางช่างจะได้แก้ไขที่ต้นตอ ด้วยการฉีดซีเมนต์เสริมความแน่นใต้ดิน ใช้ที่ยึดผนังให้แข็งแรง หรือหนุนฐานรากบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้เรายังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดรอยร้าวจากความเสียหายของฐานรากได้อีกด้วย โดยต้องดูแลดินรอบบ้านให้แข็งแรงมั่นคง ปลูกต้นไม้ขนาดเล็กให้ห่างจากบ้านอย่างน้อย 2 เมตร และปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ห่างจากบ้านอย่างน้อย 5-10 เมตรนั่นเอง

มาถึงตอนนี้คงจะพอรู้กันแล้วว่ารอยร้าวบ้านแบบไหนเป็นอันตราย-ไม่เป็นอันตรายบ้าง ฉะนั้นถ้าหากพบรอยร้าวเล็ก ๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป ลองตรวจสอบและวัดขนาดให้แน่ชัดแล้วซ่อมแซมด้วยตัวเองก็ได้ แต่ถ้าหากรอยร้าวเริ่มมีขนาดใหญ่หรือผิดปกติละก็ ขอแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า เพราะหากเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาจะได้รีบจัดการได้ทันนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก athomemum, homeguides.sfgate, foundationprosfl, uretek-gulfcoast และ homeguru.homepro
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีสังเกต รอยร้าวผนัง-เพดาน สัญญาณเตือนอันตราย รีบซ่อมก่อนบ้านทรุด อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2567 เวลา 15:51:48 82,331 อ่าน
TOP
x close