10 ผักไฮโดรโปนิกส์ และวิธีปลูกกินเองง่าย ๆ ไม่ต้องง้อดิน

ไขข้อสงสัย ผักไฮโดรโปนิกส์ คืออะไร มีกี่ชนิด และมีวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อย่างไร ตามไปดูกันเลย

ผักไฮโดรโปนิกส์

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ถือว่าตอบโจทย์สำหรับบ้านที่ไม่มีที่ดินแต่ก็สามารถปลูกผักกินเองได้ แถมใช้พื้นที่ไม่ต้องมาก และการปลูกผักชนิดนี้มีความสะอาด ปลอดภัย และปลูกได้หลากหลายทั้งผักสลัดและผักสวนครัวเลยทีเดียว โดยถ้าหากใครกำลังมองหาวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วันนี้เราได้รวบรวมวิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มาฝากแล้วค่ะ

ผักไฮโดรโปนิกส์ คืออะไร

ผักไฮโดรโปรนิกส์ (Hydroponics) คือ การปลูกผักแบบไม่ต้องใช้ดิน แต่จะปลูกด้วยน้ำที่ผสมกับสารละลายที่มีธาตุอาหารพืช เมื่อรากสัมผัสกับสารปลูกตัวนี้ก็จะสามารถดูดสารอาหารไปใช้ได้โดยตรง

ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับการปลูกผักสลัดและผักสวนครัว เหมาะสำหรับบ้านที่พื้นที่น้อยหรือต้องการประหยัดพื้นที่ในการปลูก รวมทั้งคนรักสุขภาพที่อยากกินผักปลอดสารเคมีและมีความปลอดภัย

ประเภทการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มี 3 แบบ ได้แก่

1. ระบบ NFT (Nutrient Film Technique) : เป็นการปลูกผักโดยให้รากสัมผัสกับสารอาหาร โดยสารอาหารดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ หนา 1-3 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับรากพืชโดยตรง และจะมีการไหลหมุนเวียนกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากในประเทศไทย

2. ระบบ DRFT (Dynamic Root Floating Technique) : หรือการปลูกผักแบบลอยน้ำ เป็นการปลูกผักโดยให้รากสัมผัสกับสารอาหารในน้ำที่มีความลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยจะปลูกในราง ภาชนะ หรือถาดปลูก และมีการเติมออกซิเจนด้วยการใช้ปั๊มลม เหมาะกับพื้นที่เล็ก ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถปลูกเป็นงานอดิเรกได้

3. ระบบ DFT (Deep Flow Technique) : เป็นการปลูกผักโดยให้รากสัมผัสกับสารอาหารในน้ำลึก 5-10 เซนติเมตร โดยน้ำจะไหลผ่านรากพืชอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

ผักไฮโดรโปนิกส์

  1. เตรียมภาชนะปลูก : ขั้นตอนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มจากการเลือกภาชนะที่ใช้ในการปลูก สามารถเลือกซื้อเป็นชุดสำเร็จรูปสำหรับครัวเรือนที่มีขายอยู่ทั่วไปก็ได้
  2. เตรียมเครื่องมือตรวจวัด : สำหรับตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของสารละลายธาตุอาหารพืช (pH meter) และเครื่องมือตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายธาตุอาหารพืช (EC meter) เพื่อให้สารละลายมีค่า pH และค่า EC ที่เหมาะสม
  3. การเพาะเมล็ด : โดยเพาะเมล็ดในถ้วยเพาะสำเร็จรูปที่มีรูให้น้ำซึมผ่านได้อยู่ด้านล่าง จากนั้นใส่น้ำให้สูงประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วนำถาดเพาะไปวางไว้ในกระบะหรือถาดที่ใส่น้ำเปล่า พร้อมกับวางไว้ในที่ที่มีแสงแดดรำไรและมีการระบายอากาศดี เมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 วัน เมล็ดผักก็จะงอก หลังจากนั้นเพิ่มสารละลายธาตุอาหารให้กับพืชในความเข้มข้นต่ำ (ประมาณ 0.5 ms/cm) พอรากเริ่มยาวค่อยย้ายลงสู่รางปลูก
  4. เตรียมสารละลายธาตุอาหาร : สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์สำหรับการปลูกพืชไฮโดรโปรนิกส์ ในการใช้งานต้องทำการปรับค่า EC และ pH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) ให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกด้วย ซึ่งโดยปกติค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 5.8-6.5 ส่วนค่า EC อยู่ที่ 1.8-2.0 ms/cm และจะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 45 วัน

ผักไฮโดรโปนิกส์ มีอะไรบ้าง

1. ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ผักกาดหอม (Lettuce) ลักษณะเป็นผักใบสีเขียวหรือสีแดง ใบหยักเป็นคลื่น มีทั้งพันธุ์ห่อหัวและไม่ห่อหัว อุดมด้วยวิตามินซี วิตามินเค วิตามินเอ แมกนีเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยบำรุงสายตา เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ให้เป็นปกติ

2. ผักคอส

ผักคอส

ผักคอส (Cos Lettuce) หรือผักกาดโรเมน ผักกรีนคอส เบบี้คอส ผักกาดหวาน ลักษณะเป็นใบเรียวยาวสีเขียว มีความกรอบและรสชาติขมเล็กน้อย อุดมไปด้วยวิตามินซี มีไฟเบอร์สูง โพแทสเซียม และโฟเลต

3. ผักกาดแก้ว

ผักกาดแก้ว

ผักกาดแก้ว  (Iceberg Lettuce) หรือผักสลัดแก้ว ลักษณะม้วนห่อเป็นหัวแบบหลวม ๆ ใบสีเขียวอ่อน ขอบใบหยักและบางกรอบ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินซี โพรแทสเซียม กรดโฟเลต และสารอาหาร รวมทั้งแร่ธาตุที่มีประโยชน์กับร่างกาย เหมาะสำหรับเมนูสลัด

4. กวางตุ้ง

กวางตุ้ง

กวางตุ้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์คือ กวางตุ้งฮ่องเต้ (Baby Pak Choi) ผักสีเขียวปลายใบมนกลม ก้านใบหนามีสีขาวอมเขียว อุดมด้วยวิตามินเอ วิตามิน B6 ช่วยป้องกันโรคทางประสาทและโรคผิวหนังหลายชนิด บำรุงกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดหัวใจ

5. กรีนโอ๊ค

กรีนโอ๊ค

กรีนโอ๊ค (Green Oak Lettuce) ลักษณะเป็นผักใบหยักสีเขียวอ่อน รูปทรงพุ่ม รสชาติหวานกรอบ อุดมด้วยวิตามินบี วิตามินซี และไฟเบอร์ บำรุงสายตา กล้ามเนื้อ และเส้นผม เหมาะสำหรับเมนูสลัด

6. บัตเตอร์เฮด

บัตเตอร์เฮด

บัตเตอร์เฮด (Butter Head Lettuce) ลักษณะคล้ายกะหล่ำปลี ใบสีเขียวอ่อนซ้อนกันแบบหลวม ๆ มีรสชาติหวานกรอบ อุดมไปด้วยวิตามินเอ โพแทสเซียม กรดโฟเลต เบต้าแคโรทีน ลูทีน เหมาะสำหรับเมนูสลัด

7. เรดโอ๊ค

เรดโอ๊ค

เรดโอ๊ค (Red Oak Lettuce) ลักษณะเป็นผักใบหยักสีแดงและมีสีเขียวแซม รูปทรงพุ่ม รสชาติหวานกรอบ อุดมด้วยกากใย เหมาะสำหรับผู้ที่ขับถ่ายยาก มีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น เหมาะสำหรับเมนูสลัด

8. ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก

ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก

ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก (Frillice Iceberg) ใบมีสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม ลักษณะเป็นพุ่มฝอยหยิก รสชาติหวานฉ่ำน้ำ อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี มีประโยชน์ช่วยบำรุงสายตา ขับเสมหะ ป้องกันมะเร็ง บำรุงร่างกาย สร้างเม็ดเลือด ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นอกจากทำสลัดแล้วยังทำเมนูเมี่ยงหรือยำได้ด้วย

9. ผักกาดขาวไดโตเกียว

ผักกาดขาวไดโตเกียว

ผักกาดขาวไดโตเกียว หรือโตเกียวเบกาน่า (Dai Tokyo Bekana) ลักษณะลำต้นตรงสีขาว ใบใหญ่หนามีสีเขียวอ่อน ขอบใบหยัก รสหวานกรอบ อุดมด้วยกากใย วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส นิยมนำมาผัด ทำแกงจืด สุกี้ ลวกจิ้มน้ำพริก

10. ปัตตาเวีย

ปัตตาเวีย

ปัตตาเวีย (Batavia) มีทั้งกรีนปัตตาเวียและเรดปัตตาเวีย หน้าตาคล้ายกรีนโอ๊คและเรดโอ๊ค คือเป็นทรงพุ่มห่อหัวแบบหลวม ๆ แต่ใบหยิกกว่า เรียงซ้อนเป็นชั้นหรือลอนคลื่น อุดมด้วยวิตามินซี ไฟเบอร์สูง บำรุงสายตา บำรุงประสาทและกล้ามเนื้อ เหมาะสำหรับเมนูสลัด

ประโยชน์ของระบบไฮโดรโปนิกส์

ผักไฮโดรโปนิกส์

  • เนื่องจากไม่ได้ปลูกในดินจึงปลอดภัยจากสารพิษ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืชมารบกวน อีกทั้งผักมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและสดกรอบกว่าผักที่ปลูกในดิน
  • สามารถปลูกได้ทุกที่ ปลูกได้ในพื้นที่น้อย สามารถปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนหรือปลูกจำหน่ายได้ด้วย
  • สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่าปลูกในดิน สามารถควบคุมการให้น้ำได้ตามความต้องการของพืช จึงสามารถผลิตผักได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
  • พืชผักเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เร็วกว่าการปลูกพืชผักในดินอย่างน้อยประมาณ 1-2 สัปดาห์

จะว่าไปการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากสามารถปลูกบนคอนโดหรือหอพักก็ได้ มีผักให้ปลูกหลากหลายทั้งผักสลัดและผักสวนครัว ถ้าปลูกเองได้กินผักสด สะอาด ไร้สารเคมี และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : scimath.org, ait.nsru.ac.th, tph.go.th และ opsmoac.go.th
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ผักไฮโดรโปนิกส์ และวิธีปลูกกินเองง่าย ๆ ไม่ต้องง้อดิน อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2565 เวลา 17:22:34 192,225 อ่าน
TOP
x close