แบบบ้านเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์ฟาร์มเฮ้าส์ โอบล้อมด้วยธรรมชาติและภูเขา สามารถมองเห็นวิวได้จากทุกมุมในบ้าน พร้อมพื้นที่ไว้ปาร์ตี้และปลูกผัก
บ้าน ไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย แต่ยังเป็นแหล่งรวมความสุขของครอบครัว เช่นเดียวกับบ้านเดี่ยวสองชั้นหลังนี้ที่ Wardwai Architect and Design ได้ออกแบบมาจากความต้องการและไลฟ์สไตล์เจ้าของบ้าน พร้อมดีไซน์มาเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์ฟาร์มเฮ้าส์ บนพื้นที่ใช้สอยขนาด 145 ตร.ม. ท่ามกลางวิวสวย ๆ ของ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่สามารถชวนเพื่อนมาปาร์ตี้ได้อีกด้วย
Farm to Table House
โดย Wardwai Architect and Design
บ้านหลังนี้เริ่มต้นจากการที่ครอบครัวนี้มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน จุดประสงค์คือต้องการสร้างบ้านที่สามารถรองรับการจัดปาร์ตี้เวลามีเพื่อน ๆ มารวมตัวกันหลายคนได้ และปลูกผักสวนครัวเป็นกิจกรรมให้กับผู้พักอาศัย อยู่ภายใต้งบประมาณที่ตั้งเอาไว้
คอนเซ็ปต์ Farm to Table
แนวคิดเริ่มต้นมาจากการคุยกับเจ้าของบ้าน ซึ่งมีพื้นที่เปล่าขนาดประมาณ 3 งานกว่า ๆ ที่ปากช่อง ด้วยศักยภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ถูกล้อมไปด้วยทิวทัศน์ภูเขา จึงตั้งใจออกแบบให้ทุกพื้นที่ใช้สอยในบ้าน สามารถมองเห็นภูเขาได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหน ส่วนตัวอาคารก็ได้แรงบันดาลใจมาจากดีไซน์ของฟาร์มปศุสัตว์ในยุโรป ที่ใช้ไม้แบบแนวตั้งพิมพ์ลายลงไปบนผิวคอนกรีต เกิดเป็นพื้นผิว (Texture) ใหม่ที่ดูน่าสนใจ
โต๊ะยาวกลางบ้านและ Double Space
บริเวณชั้น 1 จัดเป็นพื้นที่หลักของบ้านสำหรับการสังสรรค์ ออกแบบจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน ซึ่งชอบทำอาหารหลากหลายรูปแบบ และมักกินข้าวกันที่โต๊ะนอกบ้าน จึงเกิดเป็นไอเดียโต๊ะยาวบริเวณกลางบ้าน เหมือนเป็นจุดรวมที่ผู้ใช้งานทุกคนจะมารวมตัวกันในพื้นที่นี้ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
โดยยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ชั้น 2 ได้ผ่าน Double Space ที่มีประตูบานเลื่อนระบายความร้อนในชั้น 2 อีกทั้งยังสามารถนั่งชมวิวภูเขาผ่านช่องประตูขนาดใหญ่ที่เปิดโล่ง ทำให้บริเวณชั้น 1 เปิดโล่งและมีลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา พร้อมครัวไทยบริเวณหลังบ้านไว้สำหรับทำอาหารอีกด้วย
Facade ด้านข้างอาคาร
เลือกใช้เป็นระแนงไม้เทียมขนาดเล็กจัดวางเรียงกันในแนวตั้งให้เกิดเป็นริ้ว เพื่อกรองแสงและยังส่งเงากระทบกับพื้นผิวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา
ห้องนอนวิวภูเขาและโต๊ะจิบกาแฟยามเช้า
บริเวณชั้น 2 เป็นห้องนอนหลักของบ้านหลังนี้ที่ตกแต่งด้วยผนังลอฟท์สีเขียว และฝ้าไม้ทรงจั่วลาดลงไปเหนือขอบหน้าต่าง ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกโปร่งโล่งเมื่ออยู่ในห้อง และขยายมุมมองเมื่อมองผ่านหน้าต่างไปยังภูเขา
เมื่อเดินผ่านระเบียงทางเดินแล้วจะพบกับชานด้านหน้าบ้านทางทิศตะวันออก เป็นมุมนั่งจิบกาแฟยามเช้าพร้อมชมพระอาทิตย์ขึ้นอีกด้วย
พื้นที่ลานรอบบ้านสำหรับปลูกผักสวนครัว
เนื่องจากความต้องการทั้งในเรื่องพื้นที่ปาร์ตี้และการปลูกผักนั้นมีความต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของไทม์ไลน์ (Timeline) และลักษณะพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สามารถจัดวาง Landscape Zoning ได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ โดยมีตัวอาคารอยู่กึ่งกลางเป็นตัวเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรม ทำให้เกิดแสงเงาที่สอดคล้องกับช่วงเวลาทำกิจกรรมแต่ละช่วงในบ้าน ดังนี้
- ทิศเหนือ-ตะวันออก : เป็นพื้นที่ปาร์ตี้ แสงเงาจากตัวบ้านจะช่วยบังให้เกิดร่มเงาในช่วงเวลาบ่าย-เย็นพอดี ทำให้เริ่มทำงานได้เร็วขึ้น
- ทิศใต้-ตะวันตก : เป็นพื้นที่ปลูกผัก แสงแดดสาดลงมาที่แปลงผักพอดี
จากการที่ตัวบ้านเป็นตัวเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทั้ง 2 ส่วน คือ หน้าบ้านและหลังบ้าน ในการออกแบบอาคารจึงมีการทำให้พื้นที่ชั้น 1 เป็นบ้านกึ่งศาลาที่เปิด-ปิดได้ ช่วยให้ลมสามารถผ่านได้ตลอดทั้งวัน และปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย โดยมีโต๊ะกลางและ double space เป็นจุดเด่นกึ่งกลางของบ้าน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เฟซบุ๊ก Wardwai Architect and Design และ Farm to Table House & Family