รีโนเวทบ้านพักครู ที่เน้นให้ความสำคัญกับการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่เดิม กับการแปลงโฉมใหม่ให้น่าอยู่
เนื่องจากมีงบอยู่อย่างจำกัด แต่บ้านพักหลังนี้ก็ทรุดโทรมจนไม่สามารถอาศัยได้จริง Parin+Supawut เลยเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่เดิม นำมาปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ ให้สามารถอาศัยได้จริง มีความน่าอยู่มากขึ้น
Patch House
โดย Parin+Supawut
ความเป็นมา
บ้านพักครูของโรงเรียนเฉลิมมณีฉายวิทยาคารถูกสร้างขึ้นจากแบบสําเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยเป็นอาคารบ้านพักครูแบบกรมสามัญตามพิมพ์เขียวที่พบได้ในโรงเรียนอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านพักครูเป็นเพียงส่วนเดียวในโรงเรียนที่งบประมาณการปรับปรุงจากรัฐและเอกชนไม่เคยเข้าถึง การที่บ้านหลังนี้ถูกทิ้งร้างเป็นสวัสดิการที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง ส่งผลให้ครูที่เข้ามาประจำที่โรงเรียนแห่งนี้ต้องแบกรับต้นทุนค่าที่พักด้วยตัวเองเดือนละหลายบาท
แนวคิดและกระบวนการออกแบบ
เนื่องจากอาคารเดิมเป็นแบบสำเร็จ ซึ่งมีขนาดและรูปแบบใกล้เคียงกับบ้านพักครูอีกหลายแห่งที่อาจอยู่ในสภาพทรุดโทรมไม่ต่างกัน แนวคิดการออกแบบจึงมุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนากระบวนการซ่อมแซมและรักษาโครงสร้างเก่าของบ้านไว้แทนการออกแบบอาคารใหม่ทั้งหมด โดยมีผู้ออกแบบช่วยวางแผนการรื้อถอนอย่างเป็นระบบ และสร้างองค์ความรู้ร่วมกับช่างในการซ่อม เสริม และดัดแปลงอาคารอย่างเรียบง่ายให้เกิดประโยชน์ใหม่ภายใต้ข้อจำกัดของอาคารเดิม
ภายในตัวบ้านชั้น 1 ได้มีการขยายพื้นที่ส่วนครัวออกไปและเปิดให้เชื่อมต่อเป็นส่วนเดียวกับห้องนั่งเล่น รวมถึงมีการเจาะช่องแสงเพิ่มเติม เพื่อเปิดรับแสงจากธรรมชาติเข้ามาช่วยลดความอึดอัดของพื้นที่ภายใน ส่วนชั้น 2 ของบ้านได้มีการปรับปรุงพื้นที่โถงบันไดให้เป็นส่วนพักผ่อนและอ่านหนังสือที่รับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ในเวลากลางวัน รวมถึงได้มีการออกแบบตู้เก็บของ โต๊ะ และเตียงนอนทั้ง 3 ใหม่ ให้มีขนาดและสัดส่วนที่พอดีกับห้องมากขึ้น
การออกแบบเพื่อการก่อสร้าง
ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง แบบ 2 ชุดได้ถูกมอบให้ทีมช่างท้องถิ่น โดยชุดแรกกำหนดวิธีการซ่อม เสริม ลดทอนโครงสร้างและขนาดช่องเปิดทั้งหมด ซึ่งอ้างอิงเป็นสัดส่วนง่าย ๆ กับระยะโครงสร้างเดิม
ในขณะที่แบบชุดที่สองคำนวณสัดส่วนและวิธีการแบ่งแผ่นไม้อัดที่ใช้ปิดผนังภายในอย่างละเอียด พร้อมทั้งกำหนดจุดที่ควรเริ่มติดแผ่นไม้อัดก่อน เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุที่เหลือทิ้งให้น้อยที่สุด
สีและวัสดุ
ไม้อัดทั้งหมดที่ใช้ปิดผนังภายในเป็นไม้อัดเกรด B-C ผสมกับไม้อัดเก่า ซึ่งโดยทั่วไปมีราคาถูกและไม่ได้มีผิวไม้ที่สวยเสมอกัน ทีมออกแบบได้เลือกใช้กระบวนการย้อมไม้ที่ผ่านการทดลองส่วนผสมจนได้โทนสีเฉพาะมาช่วยพรางตำหนิและยกระดับวัสดุ อีกทั้งยังช่วยแบ่งพื้นที่ภายในให้ดูเป็นสัดส่วนที่สวยงามมากขึ้น
ภายนอกอาคาร
ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด พื้นที่ภายนอกอาคารเป็นส่วนเดียวที่ทีมออกแบบเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องออกแบบ เนื่องจากต้องการให้ความสำคัญกับการลงงบประมาณในพื้นที่อยู่อาศัยภายในเป็นหลัก โดยได้คงรูปแบบผนังไม้เฌอร่าที่มีชนิดและสีเดียวกับอาคารเดิมก่อนปรับปรุง สลับด้วยหน้าต่างและช่องแสงหลากหลายที่ถูกเจาะจากด้านใน พื้นที่รกร้างภายนอกอาคารถูกปรับปรุงให้เป็นลานอเนกประสงค์เชื่อมต่อกับพื้นที่ด้านหลังอาคารเรียน และเป็นสนามเด็กเล่นอนุบาลให้คุณครูและนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งในและนอกเวลาเรียน
ภายในอาคาร
- Architect : Parin + Supawut
- Photographs : Parin + Supawut
- Contractor : Chok Furniture
- Engineering : Pairoj Wiboonpote
- Clients : Chalermmaneechai Wittayakarn School, Unique Plastic Industry