x close

เปิดแอร์ 1 ชั่วโมงกี่บาท ไว้คำนวณค่าไฟก่อนบิลมาสิ้นเดือน

ไขคำตอบ เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ต้องจ่ายค่าไฟกี่บาท ถ้าเปิดแอร์ทั้งวันต้องจ่ายเท่าไร พร้อมวิธีเปิดแอร์ยังไงให้ประหยัด

ค่าไฟแอร์

ในช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้เชื่อว่าหลายคนก็เลือกที่จะเปิดแอร์ เพราะช่วยแก้ร้อนได้ง่ายและเร็วที่สุด แต่ว่ายิ่งอากาศร้อน แอร์ก็ยิ่งทำงานหนัก และทำให้ค่าไฟแพงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ หากกำลังกังวลเรื่องค่าไฟ อยากรู้ว่าเปิดแอร์ 1 ชั่วโมง กี่บาท เอาไว้คำนวณค่าไฟคร่าว ๆ ล่วงหน้า เพื่อเตรียมค่าใช้จ่าย วันนี้เรามีคำตอบมาฝากแล้ว

ปัจจัยในการคำนวณค่าไฟแอร์

การคำนวณค่าไฟต่อการเปิดแอร์ 1 ชั่วโมงของแอร์แต่ละเครื่องนั้นไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

  • สภาพอากาศ : ยิ่งอากาศร้อน เครื่องก็จะทำงานหนักขึ้น และทำให้กินไฟมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเปิดแอร์ 12000 BTU เทียบกันระหว่างในวันที่มีอุณหภูมิ 35°C กับ 41°C ก็มีผลทำให้ค่าไฟสูงขึ้น 14% เลยทีเดียว

  • ขนาดของแอร์ : โดยดูจากค่า BTU หากขนาดของแอร์ต่างกัน ค่าไฟก็ต่างกัน รวมไปถึงขนาดของห้อง หากเลือกขนาดแอร์ไม่เหมาะสมกับขนาดของห้องก็ทำให้ใช้ไฟมากขึ้นได้เหมือนกัน   

  • ค่า SEER (Seasonal Energy Efficiency Ratio) : ค่าวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของแอร์ ภายใต้อุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ยิ่งมีค่าสูงก็ยิ่งประหยัดพลังงาน 

  • กำลังไฟ : แอร์แต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่น มีกำลังไฟแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ระหว่าง 730-3,300 วัตต์ 

  • ระบบแอร์ : แอร์อินเวอร์เตอร์จะประหยัดไฟกว่าแอร์ธรรมดา เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยปรับการทำงานของแอร์ให้ดีขึ้น ทำความเย็นได้สม่ำเสมอ และใช้พลังงานน้อยกว่า

  • ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : เกณฑ์วัดประสิทธิภาพพลังงานโดย กฟผ. ฉลากที่ใช้แสดงให้เห็นถึงระดับการประหยัด มีทั้งหมด 6 แบบ ยิ่งมีดาวมากก็ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่านั่นเอง

  • อัตราค่าไฟ : นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับอัตราการใช้ไฟฟ้าของแต่ละบ้านด้วย ระหว่างอัตราไฟฟ้าปกติกับ Time of Use Rate (TOU) หรืออัตราตามช่วงเวลาของการใช้

เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จ่ายค่าไฟกี่บาท

วิธีคิดค่าไฟแอร์

           สามารถคำนวณเพื่อประมาณการค่าไฟต่อการเปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ได้จากสูตรและวิธีคำนวณค่าไฟแอร์ ดังนี้

แบบที่ 1 (มีค่า SEER) :

สูตรคำนวณค่าไฟแอร์ (บาท) = (ค่า BTU ÷ ค่า SEER ÷ 1,000) x จำนวนชั่วโมงที่เปิด x จำนวนวันใช้งาน x ค่าไฟต่อหน่วย

ตัวอย่างเช่น : แอร์ 12000 BTU ค่า SEER 18 และค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย

ค่าไฟ = (12000 ÷ 18 ÷ 1000) x 1 x 1 x 4.18 = 2.78 บาทต่อชั่วโมง 

หากใช้งาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน ค่าไฟก็จะอยู่ที่ราว ๆ 668.8 หรือประมาณ 669 บาทต่อเดือน 

แบบที่ 2 (ไม่มีค่า SEER) :

สูตรคำนวณค่าไฟแอร์ (บาท) = กำลังไฟ (วัตต์) ÷ 1,000 x จำนวนชั่วโมงที่เปิด x จำนวนวันใช้งาน x ค่าไฟต่อหน่วย

ตัวอย่างเช่น : แอร์ 12000 BTU กำลังไฟ 1,167 วัตต์ และค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย

ค่าไฟ = (1,167 ÷ 1000) x 1 x 1 x 4.18 = 4.88 บาทต่อชั่วโมง

หากใช้งาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน ค่าไฟก็จะอยู่ที่ราว ๆ 1,171 บาทต่อเดือน

           ทั้งนี้ การคำนวณค่าไฟแอร์ข้างต้นเป็นเพียงการประมาณการคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้นด้วยนั่นเอง

เปิดแอร์ยังไงให้ประหยัด

เปิดแอร์ยังไงให้ประหยัด

เปิดแอร์ที่ 26°C

เพราะการเปิดแอร์ที่ 26°C จะช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า หรือเปิดพัดลมควบคู่กันไปก็จะช่วยลดอุณหภูมิในห้องได้อีก เพราะพัดลมจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศและทำให้รู้สึกเย็นสบายตัวมากขึ้น

ปรับโหมดแอร์ให้เหมาะสม

สำหรับในช่วงที่มีอากาศร้อนมาก ๆ ให้ปรับระดับพัดลมของแอร์ไปที่ระดับสูงสุด ก็จะช่วยให้ภายในห้องเย็นเร็วขึ้น

ตั้งเวลาปิดแอร์

โดยการตั้งเวลาปิดแอร์ก่อนออกไปทำธุระ 1 ชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกทาง

           สำหรับใครที่กำลังกังวลเรื่องค่าไฟเพราะเปิดแอร์บ่อย ลองนำวิธีคิดค่าไฟแอร์ข้างต้นไปคำนวณกันดูนะคะ จะได้เอาไว้เตรียมค่าใช้จ่ายล่วงหน้า แต่ไม่ตกใจตอนบิลค่าไฟมาช่วงสิ้นเดือน

บทความเกี่ยวกับ การใช้แอร์ :

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดแอร์ 1 ชั่วโมงกี่บาท ไว้คำนวณค่าไฟก่อนบิลมาสิ้นเดือน อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2567 เวลา 17:48:14 11,699 อ่าน
TOP