Thailand Web Stat

เปิดประวัติ 3 ตึกสูงในตำนานสุดแกร่ง ไม่หวั่นแม้มีแผ่นดินไหว

เปิดประวัติ 3 ตึกสูงในตำนานสุดแกร่ง ที่กลายเป็นไวรัลและถูกพูดถึงอีกครั้ง ถึงความแข็งแรงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ตึกสูงในกรุงเทพฯ

กลับมาเป็นไวรัลอีกครั้งหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ที่ประเทศเมียนมา และสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ กระทั่งทำให้ตึก สตง. แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา [อ่านข่าว : รู้แล้ว ตึกก่อสร้างที่ถล่มย่านจตุจักร เป็นหน่วยงานรัฐที่ไหน สร้างมา 5 ปี งบ 2 พันล้าน] 

ในขณะที่ตึกกำลังก่อสร้างหลายแห่งยังคงอยู่ รวมถึงตึกสูงระฟ้าในกรุงเทพฯ หลายแห่งที่แม้จะสร้างมานานแต่ก็ยังคงตั้งตระหง่าน แข็งแรง สวยงาม เหมือนเดิม แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีหรือจะเกิดแผ่นดินไหวล่าสุด มีตึกอะไรบ้าง และใครเป็นคนสร้าง ไปดูกัน

1. สาทร ยูนีค ทาวเวอร์

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์

ภาพจาก : Peeradontax / shutterstock.com

อีกหนึ่งตึกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แม้จะสร้างไม่เสร็จและอยู่คู่ย่านสาทรมานานหลายปี แต่ก็ยังตั้งสูงตระหง่านแม้จะเกิดแผ่นดินไหว สำหรับ สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ ตึกสูง 185 เมตร 49 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 90,000 ตารางเมตร ที่ออกแบบโดย ผช. ศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังของไทย เดิมถูกวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นคอนโดหรูระดับไฮเอนด์วิวแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ แต่ทว่าการก่อสร้างต้องชะงักลงหลังเจอกับปัญหาด้านเงินลงทุนจากพิษเศรษฐกิจในวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงปี 2540 ซึ่งงานด้านโครงสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 80% แต่ยังเหลืองานวางระบบและตกแต่งภายใน พร้อมกับถูกทิ้งร้างไว้จนถึงปัจจุบัน

2. ตึกใบหยก

ตึกใบหยก

ภาพจาก : pisitnamtasaeng / shutterstock.com

ตึกสูงระฟ้าที่เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 309 เมตร จำนวน 88 ชั้น ตั้งอยู่ใจกลางย่านประตูน้ำ แหล่งค้าขายและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดย คุณเบียร์ ได้เล่าที่มาใน Vlog Beer Baiyoke ว่า คุณปู่ (คุณเล็งเลิศ ใบหยก) มาประมูลที่ดินตรงนี้ตั้งแต่สมัยยังเป็นชานเมืองที่ไม่มีอะไร ได้มาประมาณ 40 ไร่ เริ่มต้นด้วยการสร้างโรงหนังแล้วมาเปลี่ยนเป็นสร้างตึก เริ่มจากตึกใบหยก 1 (หรือตึกสายรุ้ง) จากนั้นคุณพ่อ (คุณพ่อพันธ์เลิศ ใบหยก) ก็มารับช่วงต่อ หลังจากที่มีการสร้างตึกสูงอื่น ๆ ขึ้นมา เลยมีความคิดว่าอยากจะสร้างตึกสูงกว่าใบหยก 1 แต่ไม่อยากใช้พื้นที่เยอะ เลยสร้างตึกแนวตั้งและใช้ Facility ให้เต็มพื้นที่และเกิดประโยชน์สูงสุด จนกลายเป็นตึกใบหยก 2 แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533-2541 หรือประมาณ 9 ปี 

เสาเข็มตึกใบหยก

ภาพจาก : Beer Baiyoke

ที่สำคัญการสร้างตึกใบหยก 2 ยังให้ความสำคัญกับรากฐาน ใช้เสาเข็มทั้งหมด 306 ต้น อีกทั้งตัวอาคารยังมีการออกแบบมาให้สามารถ “ยืดหยุ่น” หรือ “โยก” ได้ในระดับที่ควบคุมได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงหรือพังถล่มอีกด้วย 

3. ตึกช้าง

ตึกช้าง

ภาพจาก : Tiphat Banjongpru / shutterstock.com

หากใครเดินทางผ่านย่านรัชโยธิน บนถนนพหลโยธินบ่อย ๆ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับตึกสูงรูปทรงเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้เป็นอย่างดี กับตึกรูปทรงสุดแปลกตาแห่งยุค 90 ที่เรียกกันว่า "ตึกช้าง" จำนวน 32 ชั้น ความสูง 102 เมตร สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2540 ออกแบบโดย ศ. ดร.อรุณ ชัยเสรี และองอาจ สาตรพันธุ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย) 

ซึ่งแม้การออกแบบตึกแห่งนี้จะมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งข้อกำหนดของกฎหมายต่าง ๆ ข้อกำหนดของพื้นที่ที่ดิน รวมถึงการต้องเชื่อม 3 อาคารเข้าด้วยกัน รวมถึงการเปิดพื้นที่โล่งตรงกลาง 2 ช่องระหว่างตึก แต่สุดท้ายก็กลายเป็นตึกที่มีดีไซน์โดดเด่นอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเติมแต่งดีเทลเข้าไปทั้งช่องหน้าต่างวงกลมที่ดูเหมือนตา แถบหน้าต่างกระจกสีดำแทนหู แนวแถบสีเหลืองของงา ส่วนด้านหลังตึกยังมีแนวอาคารสีดำที่เป็นส่วนของหางช้างด้วย

เรียกว่าแต่ละตึกแม้เวลาจะผ่านมาหลายปี แต่ก็ยังคงสวยงาม มีเอกลักษณ์ และแข็งแรง จนกลายเป็นตำนานแห่งกรุงเทพฯ ไปเลยทีเดียว

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ แผ่นดินไหว :

ประเด็นที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ 3 ตึกสูงในตำนานสุดแกร่ง ไม่หวั่นแม้มีแผ่นดินไหว อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2568 เวลา 16:01:47 4,518 อ่าน
TOP
x close