x close

รีไฟแนนซ์บ้าน ขอสินเชื่อใหม่ให้บ้านหลังเดิม

          การรีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร จำเป็นต้องทำหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ตามไปดูข้อมูลการรีไฟแนนซ์บ้าน ก่อนตัดสินใจ พร้อมเอกสารและขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน

รีไฟแนนซ์บ้าน

          การจะมีบ้านสักหลังในครอบครอง ส่วนใหญ่มักต้องผ่านขั้นตอนในการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระ แต่หากผ่อนจ่ายไปได้สักระยะหนึ่ง แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน หรืออยากย้ายธนาคารขึ้นมา การรีไฟแนนซ์บ้านจึงกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่เจ้าของบ้านหลายคนนึกถึง

          แต่สำหรับคนที่ยังไม่ทราบข้อมูลของการรีไฟแนนซ์บ้าน และอยากรู้ว่า รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์บ้านมาฝากกันจ้า

รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร


          การรีไฟแนนซ์บ้าน หรือ การจัดไฟแนนซ์บ้าน คือ การกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่มาแทนสินเชื่อเดิม หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการนำบ้านที่ผ่อนชำระสินเชื่ออยู่ไปค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อใหม่อีกครั้ง โดยผู้ขอสินเชื่อจะได้เงินก้อนมาปิดภาระสินเชื่อเดิม เพื่อเป็นการลดดอกเบี้ย และอาจมีเงินส่วนต่างมาให้ใช้ยามฉุนเฉินด้วย

ทำไมต้องรีไฟแนนซ์บ้าน


          ส่วนมากการรีไฟแนนซ์บ้านเป็นเพราะต้องการดอกเบี้ยในอัตราใหม่ที่ถูกกว่าเดิม ทำให้อัตราการผ่อนชำระในแต่ละเดือนน้อยลง ช่วยให้สามารถลดเงินต้นได้เร็วขึ้น หรืออยากได้เงินก้อนในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังรวมถึงการต้องการย้ายสินเชื่อจากธนาคารเดิมไปยังธนาคารอื่นที่มีข้อเสนอดีกว่าด้วย

ข้อดี-ข้อเสียการรีไฟแนนซ์บ้าน


          ข้อดี : อาจได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม ค่าผ่อนงวดถูกลง เงินที่ส่งผ่อนชำระนำไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น หรือได้เงินส่วนต่างเพื่อนำไปใช้จ่ายได้คล่องตัวขึ้น

          ข้อเสีย : อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจิปาถะในการดำเนินการ เสียเวลา และอาจต้องเสียค่าปรับหากมีการไถ่ถอนจากสินเชื่อเดิมก่อนกำหนด

ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน


รีไฟแนนซ์บ้าน

          ในการรีไฟแนนซ์บ้านมักมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งแต่ละธนาคารอาจจะคิดอัตราไม่เหมือนกัน ดังนั้น ควรสอบถามให้รอบคอบ โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้านมีดังนี้

          - ค่าสรุปยอดหนี้
          - ค่าสรวจและประเมินหลักประกัน (ประมาณ 1,000 - 3,000 บาท)
          - ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ (ประมาณ 1,000 - 3,000 บาท)
          - ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
          - ค่าประกันอัคคีภัย (บางธนาคารไม่บังคับ)
          - ค่าออกเช็ค
          - ค่านิติกรรม
          - ค่าไถ่ถอน (จ่ายให้กับสำนักงานที่ดิน)
          - ค่าจดจำนอง (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดกู้)
          - ค่าผิดสัญญา (กรณีไถ่ถอนจากสินเชื่อเดิมก่อนกำหนด)

เอกสารรีไฟแนนซ์บ้าน


          การเตรียมเอกสารเพื่อขอรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารต่าง ๆ อาจมีเงื่อนไขต่างกันไปตามเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร ซึ่งมักมีข้อกำหนดเดียวกันกับการขอสินเชื่อบ้านทั่วไป แต่ในเบื้องต้นควรเตรียมเอกสารไว้ดังนี้

          - สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาบัตรข้าราชการ / สำเนาบัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ 
          - ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
          - สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณบัตรของคู่สมรส (ถ้ามี)
          - สำเนาทะเบียนบ้าน
          - สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง
          - สลิปเงินเดือน
          - สำเนาใบเสร็จรับเงินการผ่อนชำระค่าบ้านย้อนหลัง 
          - สำเนาหนังสือสัญญาเงินกู้เดิม
          - สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน (หน้า/หลัง) หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด 

วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน


รีไฟแนนซ์บ้าน

          - ติดต่อขอรายการสรุปยอดหนี้สินเชื่อบ้าน
          - นำรายการยอดหนี้ที่ได้มาไปยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านใหม่ (กับธนาคารเดิมหรือธนาคารอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจในอัตราดอกเบี้ยและข้อเสนอ)
          - รอเจ้าหน้าที่มาประเมินราคาบ้าน
          - รอฟังผลการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
          - ถ้าสินเชื่ออนุมัติแล้วให้นำเอกสารไปไถ่ถอนบ้านจากสินเชื่อเดิม โดยคิดยอดทั้งหมดเป็นเงินต้น+ดอกเบี้ย (นับจนถึงวันไถ่ถอน)
          - ทำสัญญากับสินเชื่อใหม่ และนัดวันโอนบ้านที่ใช้จำนอง หากเป็นสินเชื่อจากคนละธนาคารจะต้องนัดทั้ง 2 ธนาคารให้มาเจอพร้อมกันเพื่อชำระหนี้
          - หากยอดสินเชื่อใหม่สูงกว่าราคาไถ่ถอนจะได้รับเช็ค 2 ใบ แบ่งเป็นเช็คสำหรับไถ่ถอน และเช็คส่วนต่างที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ แต่หากยอดสินเชื่อใหม่ได้น้อยกว่าราคาไถ่ถอนจะต้องเตรียมเงินสดไปชำระเพิ่มด้วย
          - ไปทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเขตที่บ้านตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 ธนาคารไปด้วย
          - มอบโฉนดที่ดินให้กับธนาคารเจ้าของสินเชื่อใหม่ เป็นอันเสร็จสิ้น

          ได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นของการรีไฟแนนซ์บ้านกันไปแล้ว หากใครกำลังสนใจรีไฟแนนซ์บ้านใหม่อีกครั้ง ลองโทร. สอบถามรายละเอียดและอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารต่าง ๆ ให้ชัดเจน แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันว่าเงื่อนไขตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ ก่อนตัดสินใจด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : krungsri.com, kasikornbank.com, reic.or.th และ set.or.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีไฟแนนซ์บ้าน ขอสินเชื่อใหม่ให้บ้านหลังเดิม อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2567 เวลา 16:40:24 117,353 อ่าน
TOP