x close

คุยงานกับสถาปนิกอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน ?

คุยงานกับสถาปนิกอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ถ้าใครกำลังคิดจะสร้างบ้าน หรือกำลังอยากจะต่อเติมบ้าน และรื้อปรับปรุงใหม่ คงวุ่นวายกับการออกแบบกันอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ากำลังอยากติดต่อสถาปนิกฝีมือดีสักคนมาช่วยดีไซน์บ้านของคุณให้สวยตรงใจ และใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วได้เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุดก็คงสับสนลังเลกันอยู่ด้วยแน่ ๆ ถ้าอย่างนั้นคงดีกว่าถ้าจะมาดูเทคนิคคุยงานกับสถาปนิกและวิศวกรให้เข้าใจตรงกัน เพื่อให้การออกแบบบ้านออกมาใกล้เคียงกับความต้องการของคุณมากที่สุดค่ะ

1. เตรียมแบบบ้านในฝันไปด้วย

          ก่อนจะเข้าไปพูดคุยกับสถาปนิกเพื่อให้เขาออกแบบบ้านให้ สิ่งแรกที่คุณต้องมีก็คือแบบบ้านในฝันที่ตัวเองต้องการ จะมาในรูปแบบแปลนคร่าว ๆ หรือแค่ไอเดียบอกเล่าให้ฟังก็ได้หมด แต่ต้องบอกคอนเซ็ปต์แบบที่อยากได้ให้เขาเข้าใจอย่างชัดเจน ที่สำคัญควรเน้นเรื่องสไตล์การตกแต่ง วัสดุที่ต้องใช้ รวมทั้งระบบต่าง ๆ ภายในบ้านที่คุณอยากให้มีด้วย เช่น อยากติดตั้งเทคโนโลยีไร้สาย ทั้งเคเบิลและอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะถ้าต้องการจะติดตั้งเทคโนโลยีอัจริยะ หรือสมาร์ทโฮมเทคโนโลยีตรงจุดไหนในบ้านก็ควรระบุให้ชัดเจนไปด้วย เพื่อที่สถาปนิกจะได้ออกแบบบ้านให้รองรับความต้องการของคุณได้ครบถ้วน

2. เลือกที่มีสไตล์ใกล้เคียงกับตัวเอง

          คนที่มีสไตล์คล้าย ๆ กันมักจะเข้าใจและจูนเข้าหากันได้ง่าย ดังนั้นจะดีมากหากคุณจะสามารถเลือกสถาปนิกคนที่มีความคิดและความชอบคล้าย ๆ กับคุณมาออกแบบบ้านให้ แต่ก็อย่าลืมตรวจสอบประวัติความรู้ความสามารถ รวมทั้งทักษะและผลงานที่ผ่าน ๆ มาของเขาด้วย อีกทั้งควรมองหาสถาปนิกที่เชี่ยวชาญกับการออกแแบบบ้านพอสมควร เพราะเขาจะแนะนำข้อเด่น-ข้อด้อยของการตกแต่งบ้านได้ดีมากกว่าคนที่เชี่ยวชาญการออกแบบอาคารสำนักงาน นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกคนที่แต่งงานมีครอบครัว หรือคนที่อยู่บ้านกับครอบครัวด้วยนะคะ เพราะเขาจะสามารถเข้าใจการออกแบบบ้านที่อยู่กันแบบครอบครัวได้ลึกซึ้งมากกว่าคนโสดที่อยู่ตัวคนเดียวในคอนโด

3. กำหนดงบประมาณไว้ในใจ

          เชื่อว่าเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ทุกคนคำนึงถึง แต่ก็อยากจะย้ำเพื่อความรอบคอบอีกครั้งว่า ควรคิดเผื่อกรณีฉุกเฉินเอาไว้ด้วย สำรองไว้เยอะ ๆ ก็ดี ที่สำคัญควรจะแจ้งงบประมาณที่คุณมีให้สถาปนิกได้รับรู้ไว้ เขาจะได้รู้ขอบเขตการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมและเพียงพอกับงบประมาณ ไม่ทำให้งบบานปลาย แต่อย่างไรก็ตาม คุณควรชี้แจงให้สถาปนิกเข้าใจว่า ยังไงก็ต้องยึดถือความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรกด้วยนะจ๊ะ

4. ให้ความไว้วางใจสถาปนิก

          ในเมื่อคุณตัดสินใจเลือกสถาปนิกมาแล้ว พร้อมทั้งได้คุยคอนเซ็ปต์ และรายละเอียดเรื่องแบบบ้านอย่างละเอียดไปเรียบร้อย ก็ควรต้องให้อิสระในการทำงานกับสถาปนิกด้วย เพราะด้วยทักษะความสามารถของสถาปนิกที่คุณไว้ใจเลือกมาออกแบบบ้านให้ เขาจะสามารถออกแบบบ้านได้ตรงกับไอเดียที่คุณบอกเขาไปอย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็พยายามอย่าไปล้ำเส้นการทำงานของเขามากนัก จนทำให้เขาเกิดความรู้สึกอึดอัด และเหมือนมีคนคอยตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ากลัวว่าบ้านจะออกมาไม่สวยอย่างใจ ก็แค่ติดตามความคืบหน้าของงานเป็นระยะ ๆ และถ้าเกิดจุดบกพร่องตรงส่วนไหนก็ชี้แจงให้เข้าได้รับรู้และแก้ไขก็พอ

5. หมั่นติดต่อกันตลอด

          การติดต่อในที่นี้หมายถึงให้คุณคอยสอบถามกระบวนการทำงาน จากขั้นนี้แล้ว ต่อไปจะเป็นการสร้างหรือต่อเติมส่วนในเป็นลำดับต่อไป เป็นต้น และถ้ามีการก่อสร้างตรงมุมไหนของบ้านที่ดูทรงแล้วแปลก ๆ ก็ให้ถามกับสถาปนิกหรือวิศวกรไปตรง ๆ เลยว่าตรงจุดนี้คืออะไร ถ้าสร้างเสร็จแล้วจะกลายเป็นส่วนไหนของบ้าน เพื่อให้สถาปนิกได้มีโอกาสอธิบายดีไซน์ และเผลอ ๆ เขาก็จะอธิบายไอเดียการออกแบบของเขาให้คุณได้รู้เพิ่มเติม ที่สำคัญควรต้องหมั่นมาติดต่อกับสถาปนิกอยู่เรื่อย ๆ เผื่อมีจุดที่คุณต้องการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมตรงไหนจะได้รีบแจ้งให้สถาปนิกแก้ไขแปลนบ้านได้ทัน

          นอกจากนี้ก่อนจะเลือกสถาปนิกมาออกแบบบ้าน ควรต้องสอบถามระยะเวลาการทำงานของเขาให้แน่ชัด ว่าจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างต่อเติมบ้านนานเท่าไหร่ เพราะคุณจะได้รู้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เอาไปวางแผนชีวิตได้ และเพื่อป้องกันการก่อสร้างบานปลายใหญ่โต ทั้งเรื่องงบประมาณ และระยะเวลาการก่อสร้างด้วยนะคะ

 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุยงานกับสถาปนิกอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน ? อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2556 เวลา 17:33:23 3,555 อ่าน
TOP