10 เรื่องของ ตึกมหานคร ที่รู้แล้วจะอยากรีบไปเช็กอิน



          ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทย กับความเริดหรูที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ ถ้าอยากรู้ว่า ตึกมหานครราคาเท่าไร อยู่ที่ไหน มีกี่ชั้น และตึกมหานครแห่งนี้เป็นของใคร ใครเป็นคนสร้าง เราหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
 
          ตึกมหานคร (MahaNakhon) ตึกที่สูงที่สุดในไทย กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ หลังงานเปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทยแห่งนี้ มีความพิเศษอีกหลายอย่างมากกว่าเป็นแค่ตึกรูปทรงแปลก ๆ ที่รู้แล้วจะอยากไปขอเช็กอินสักครั้งแน่นอน 



1. ตึกมหานคร ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก

        ตึกมหานคร แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุง ออกแบบโดย โอเล เชียเรน สถาปนิกชาวเยอรมัน ที่ออกแบบตึกสูงสวย ๆ มาแล้วทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือ The Interlace คอนโดแนวตั้ง ในประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถคว้ารางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2015 จากเทศกาลสถาปัตยกรรมโลก มาครองได้สำเร็จ

2. ตึกมหานคร สร้างโดยบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำ

        ตึกมหานคร เป็นของ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาฯ เจ้าของโครงการนิมิต หลังสวน และมหาสมุทร 2 โครงการที่พักตากอากาศหรูในไทย ร่วมมือกับ บริษัท อินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอบีซี) บริษัทอสังหาฯ ชั้นนำระดับโลก สัญชาติอิสราเอล ผู้ออกแบบ Tel Aviv Towers และ One Plaza Shopping Center  พัฒนาโครงการมหานครนี้ขึ้นมา ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท 

3. ตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทย

        ตึกมหานคร เบียดแซงหน้าตึกใบหยก 2 ความสูง 304 เมตร กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในไทย ด้วยความสูงถึง 314 เมตร 77 ชั้น ซึ่งได้รับการรับรองโดยสภาตึกสูงโลก (Council on Tall Building and Urban Habitats; CTBUH) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 


4. ตึกมหานคร มีจุดชมวิวเมืองกรุง 360 องศา
 
        เมื่อความสูงของตึกมหานครมาแรงแซงหน้าตึกอื่น ๆ ขนาดนี้ แน่นอนว่าไฮไลท์เด็ดที่ชวนให้ไปเยือนตึกมหานครสักครั้งในชีวิตก็คือ MahaNakhon Observation Deck จุดชมวิวพื้นกระจกใสที่ยื่นออกมาจากตัวตึกและสามารถมองไปรอบ ๆ ได้ 360 องศา เลยทีเดียว

5. รูฟท็อป บาร์ ตึกมหานคร 

        ถ้าอยากดื่มด่ำในบรรยากาศสุดโรแมนติกบนที่สูงแล้วละก็ ขอให้นึกถึงรูฟท็อปบาร์เป็นอันดับต้น ๆ และแน่นอนค่ะว่า รูฟท็อปบาร์ ที่ตึกมหานครแห่งนี้ต้องพิเศษกว่าที่อื่น ด้วยความสูงที่เป็นที่สุด ซึ่งจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับจุดชมวิว MahaNakhon Observation Deck นั่นเอง 



6. คอนโดระดับซูเปอร์ลักซ์ซูรี่

        คอนโด เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส (The Ritz-Carlton Residences) อยู่ระหว่างชั้น 23-73 มีจำนวนทั้งหมด 200 เรสซิเดนซ์ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 125-844 ตารางเมตร มี 2-5 ห้องนอน ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 350,000 บาท 

7. โรงแรมระดับไฮเอนด์ ในตึกมหานคร 

        ภายในตึกมหานครแห่งนี้ยังมีโรงแรมระดับไฮเอนด์ ภายใต้ชื่อ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน บูติคโฮเทล แบรนด์ บางกอกเอดิชั่น บริหารงานโดย เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน ที่จัดเตรียมห้องพักสุดอลังการไว้ถึง 159 ห้อง มาพร้อมกับพื้นที่ไลฟ์สไตล์รีเทล ที่มากไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  



8. มหานคร คิวบ์ ตึกมหานคร 


        ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักของตึกมหานคร ซึ่งแยกตัวออกมาจากที่พักอาศัย หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า ไลฟ์สไตล์ แอนด์ รีเทล เซ็นเตอร์ 7 ชั้น ภายในประกอบไปด้วยร้านอาหารชั้นนำระดับพรีเมียม มาตรฐานมิชลินสตาร์ ได้แก่ Dean & DeLuca, M Krub, Morimoto Bangkok, L\'Atelier de Joël Robuchon และ VOGUE Lounge

9. มหานคร สแควร์

        ขึ้นแท่นเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานครทั้งที มันก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมสุดโอ่โถงด้วย ในชื่อ มหานคร สแควร์ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นตึกเล็ก ๆ ขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการ คอนเสิร์ต และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม สถานีช่องนนทรี ด้วย



10. ที่จอดรถอัตโนมัติ และที่จอดจักรยาน ของตึกมหานคร 

        หากจะเดินทางมา ตึกมหานคร ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถ เพราะที่นี่มีเทคโนโลยีอาคารจอดรถอัตโนมัติ จากประเทศเกาหลี อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถไม่ต้องวนหาที่จอดอีกต่อไป สามารถรองรับได้ถึง 485 คัน สำหรับใครที่ปั่นจักรยานมา ก็มีที่จอดจักรยานอยู่ด้านหน้ามหานคร คิวบ์ ไว้คอยให้บริการ 

        เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับความเป็นที่สุดภายในตึกมหานครแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางเมืองแห่งนี้ หลายคนคงอยากไปเยือนกันแล้วใช่ไหมคะ เอาเป็นว่าไปเยือนในส่วนที่เปิดให้บริการกันไปแล้วก่อนนะคะ และส่วนที่ยังไม่เปิดให้บริการ ก็ต้องอดใจรอกันอีกสักหน่อย เมื่อถึงเวลารับรองว่าสมใจแน่นอนค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก fishman, mivnegroup, Bdicode, เฟซบุ๊ก MahaNakhonPacedev,  Skyscrapercity และ buro-os


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องของ ตึกมหานคร ที่รู้แล้วจะอยากรีบไปเช็กอิน อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2559 เวลา 18:36:55 99,433 อ่าน
TOP
x close