วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน จัดอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม

          วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน จัดอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม มาดูวิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้านพร้อมการวางเครื่องสักการะตามการจัดโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4, หมู่ 5, หมู่ 7 และหมู่ 9 


          แน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่คงเคยเห็น เคยได้ยิน และรู้จักโต๊ะหมู่บูชากันมาบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าโต๊ะหมู่บูชาคืออะไรและมีความสำคัญขนาดไหน วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำเอาข้อมูลโต๊ะหมู่บูชามาฝากกันค่ะ เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงที่มาและความสำคัญ พร้อมทั้งรูปแบบของโต๊ะหมู่บูชาที่นิยมจัดกัน จะได้เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบูชาสิ่งที่เคารพนับถือได้ถูกต้องตามแบบแผนที่สืบทอดกันมา

โต๊ะหมู่บูชา คืออะไร

 
วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน

          ประวัติของโต๊ะหมู่บูชา คือ ที่ตั้งสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะ ได้แก่ พระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมรูปหล่อจำลอง ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย รวมไปถึงรูปของบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ โดยตั้งเครื่องสักการบูชาควบคู่กันไป ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ ซึ่งในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ เราก็มักจะเห็นการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาหลากหลายรูปแบบตามแต่ละโอกาส
 
          การจัดโต๊ะหมู่บูชาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยอ้างอิงจากบทนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเรื่อง “อธิบายเครื่องบูชา” สรุปได้ว่า เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระราชประสงค์ให้สร้างสวนชวาในพระบรมมหาราชวังขึ้น บวกกับว่าราชทูตไทยที่ไปเยือนปักกิ่งในสมัยนั้น มักจะนำเครื่องเรือนรูปแบบจีนกลับมาตกแต่งพระตำหนักในสวนชวาด้วยเสมอ

          ซึ่งรูปแบบการจัดวางและลวดลายบนเครื่องเรือนแบบจีนนั้นเรียกว่า “ลายฮ่อ” และ “ลายปักโก๊” ซึ่งมีความสวยงามจนถูกนำไปประยุกต์เขียนลายบนผนังโบสถ์ และได้ถูกดัดแปลงให้เป็นเครื่องพุทธบูชาในเวลาต่อมา เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ทรงมีพระราชดำริโดยอนุโลมให้เขียนผนังโบสถ์ตามลายฮ่อ และยังมีการนำรูปแบบการจัดตั้งเครื่องเรือนแบบจีนมาสร้างม้าหมู่ (โต๊ะหมู่บูชา) เพื่อตั้งเครื่องสักการบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพน จนเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน หรือจะสรุปได้ว่าการจัดโต๊ะหมู่บูชานั้นเป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสาน โดยนำเครื่องบูชาแบบไทยมาประยุกต์เข้ากับรูปแบบการจัดเครื่องเรือนแบบจีนนั่นเอง

วัตถุประสงค์การจัดโต๊ะหมู่บูชา


วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน
 
          ก่อนอื่นต้องเท้าความไปถึงคตินิยมและความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธ ที่มักจะนิมนต์พระสงฆ์และพระพุทธเจ้าเสด็จมาเป็นประธานสงฆ์ประจำงานบำเพ็ญกุศลให้ครบองค์พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับงานนั้น ๆ ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานเป็นนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในงานพิธีทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมและเป็นอีกหนึ่งที่มาของการจัดโต๊ะหมู่บูชา ปัจจุบันการจัดโต๊ะหมู่บูชาจะถูกนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี ทั้งที่เป็นงานมงคลและงานอวมงคล ดังต่อไปนี้
 
          - พิธีทางพระพุทธศาสนา
          - พิธีถวายพระพร
          - พิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือของพระราชทาน
          - ใช้ในการรับเสด็จ
          - พิธีถวายสักการะในวันสำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
          - ใช้ในการประชุมต่าง ๆ
          - ใช้ในการประกวด

ความสำคัญในการจัดโต๊ะหมู่บูชา

 
          - เป็นเครื่องเตือนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้เกิดแรงศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ปฏิบัติดี มีปัญญา และเกิดจิตสำนึก ยำเกรงต่อสิ่งที่ประดิษฐานอยู่บนโต๊ะหมู่บูชา 
          - ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งบรรพบุรุษและบุคคลที่เราเคารพนับถือ
          - เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อันดีงามของไทย ซึ่งมีการออกแบบลวดลายการแกะสลัก ลงรักปิดทอง ฝังมุก และศิลปะอื่น ๆ บนเครื่องโต๊ะหมู่บูชา  

การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน


วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน
 
          องค์ประกอบหลัก ๆ ในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้านนั้นจะประกอบด้วยม้าหรือโต๊ะ 4 ขา วางรวมกันเพื่อเอาไว้ตั้งสิ่งเคารพบูชาและเครื่องสักการะ โต๊ะหมู่บูชาถูกแบ่งประเภทตามจำนวนโต๊ะที่เรียกว่า “โต๊ะหมู่” ซึ่งโต๊ะหมู่ที่นิยมจัดกันตามงานทั่วไปและในบ้าน ได้แก่ โต๊ะหมู่ 4, โต๊ะหมู่ 5, โต๊ะหมู่ 7 และโต๊ะหมู่ 9 ซึ่งมีการวางเครื่องสักการบูชาแตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้
 

1. เครื่องสักการบูชาบนโต๊ะหมู่บูชา หมู่ 4


          - กระถางธูป 1 กระถาง
          - เชิงเทียน 1 คู่
          - พานดอกไม้ 2 พาน
          - แจกัน 2 ใบ

2. เครื่องสักการบูชาโต๊ะหมู่บูชา หมู่ 5


          - กระถางธูป 1 กระถาง
          - เชิงเทียน 4 คู่
          - พานดอกไม้ 5 พาน
          - แจกัน 2 ใบ

3. เครื่องสักการบูชาโต๊ะหมู่บูชา หมู่ 7


          - กระถางธูป 1 กระถาง
          - เชิงเทียน 5 คู่
          - พานดอกไม้ 5 พาน
          - แจกัน 2 ใบ

4. เครื่องสักการบูชาโต๊ะหมู่บูชา หมู่ 9


          - กระถางธูป 1 กระถาง
          - เชิงเทียน 6 คู่
          - พานดอกไม้ 7 พาน
          - แจกัน 3 ใบ

ข้อกำหนดและข้อยกเว้นการจัดโต๊ะหมู่บูชา


วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน
 
          - ในกรณีที่ไม่มีโต๊ะหมู่บูชา สามารถใช้โต๊ะหรือตั่งที่มีลักษณะและสัดส่วนเหมาะสมมาตั้งแทนได้
          - ทิศทางในการตั้งโต๊ะหมู่ที่นิยม จะตั้งให้หันไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก
          - การจัดเครื่องสักการบูชาจะต้องจัดอย่างสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่สำคัญต้องดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างดี
          - บรรดาเครื่องสักการบูชาที่นำมาวางจะต้องทำมาจากวัสดุชั้นดี อย่างเช่น เครื่องแก้ว เครื่องถ้วย หรือเครื่องโลหะ
          - เครื่องสักการบูชาหลักจะต้องมีครบองค์ประกอบ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งโต๊ะหมู่พระในบ้าน : 



          หากใครที่สนใจและอยากตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน ก็ควรจัดโต๊ะหมู่บูชาให้ถูกต้องและเหมาะสม ด้วยวิธีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพร้อมด้วยเครื่องสักการะตามหมู่ต่าง ๆ ที่เรานำข้อมูลมาฝากกันในวันนี้นะคะ
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : province.m-culture และ Stou
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน จัดอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2566 เวลา 10:55:32 600,707 อ่าน
TOP
x close