x close

วิธีจัดฮวงจุ้ยห้องพระ ให้บ้านสงบร่มเย็น ช่วยเสริมโชคลาภและบารมี

          ฮวงจุ้ยห้องพระ วิธีจัดห้องพระตามหลักฮวงจุ้ย นอกจากจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสงบสุขแล้ว ยังสามารถส่งเสริมให้คนในบ้านมีบารมี และได้รับโชคลาภอีกด้วย

การจัดห้องพระ
          การมีห้องพระภายในบ้าน น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ทว่าในปัจจุบันหลายคนมักละเลยกับการจัดห้องพระ เช่น ในบางบ้านนำห้องพระมาใช้เป็นห้องเก็บของ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเท่าใดนัก และการจัดห้องพระไม่ใช่แค่การตั้งที่บูชาพระเพียงอย่างเดียว เจ้าของบ้านควรคำนึงถึงตำแหน่ง และขนาดของห้องพระ เพื่อให้สมาชิกภายในบ้านสามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ให้จิตใจผ่องใสและสงบนิ่งอย่างแท้จริง

          นอกจากการเลือกตำแหน่งของห้องพระภายในบ้านแล้ว การจัดวางสิ่งของภายในห้องพระยังสามารถใช้หลักของฮวงจุ้ย เพื่อเสริมให้บ้านที่อยู่อาศัยมีความสงบ ร่มเย็น รวมถึงเจ้าบ้านอาจได้รับโชคลาภ หรือพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ได้เช่นกัน และเพื่อให้ได้ฮวงจุ้ยห้องพระที่ถูกต้อง ทางทีมงานกระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลฮวงจุ้ยห้องพระมาฝากค่ะ

การเลือกตำแหน่งห้องพระ


          เริ่มแรกจะเป็นเรื่องการกำหนดตำแหน่งห้องพระ ว่าจะอยู่ส่วนไหนของบ้าน ซึ่งการเลือกตำแหน่งห้องพระจะมีเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังเช่น ตามหลักฮวงจุ้ยได้พิจารณาห้องพระในแง่ของพลังงานธรรมชาติว่า การจุดธูป เทียน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ห้องพระเป็นห้องที่มีพลังธาตุไฟมากกว่าปกติ ดังนั้น ในการกำหนดตำแหน่งของห้องพระจึงต้องพิจารณาดังนี้

1. ห้องพระควรเป็นห้องชั้นบนสุดของบ้าน 


          เพราะพระเป็นของสูง การวางต่ำกว่าคนในบ้าน หากมีการเดินข้าม นอนคร่อม หรือหันปลายเท้าเข้าหาพระ ย่อมไม่เป็นมงคล ทั้งนี้ การเลือกตั้งห้องพระไว้ชั้นล่างก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะมีข้อจำกัด เช่น ต้องพิจารณาว่าห้องที่อยู่ชั้นบนเหนือห้องพระเป็นห้องน้ำและห้องนอนหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรจะเป็นห้องว่างที่ไม่มีคนอยู่จะดีกว่า

2. ห้องพระควรอยู่ในตำแหน่งที่มีการระบายอากาศได้ดี 


          เพราะการบูชาพระจะต้องจุดธูป เทียน หากเป็นตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทสะดวก จะทำให้ไม่รบกวนสมาธิของผู้ปฏิบัติธรรม อีกทั้งยังช่วยลดอันตรายจากควันไฟและเปลวเทียนไม่ให้ไหม้บ้านได้อีกด้วย

3. ห้องพระต้องอยู่ในบริเวณที่สงบ 


          เป็นมุมที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน และตามหลักฮวงจุ้ย ตำแหน่งหน้าบ้าน ถือเป็นตำแหน่งโชคลาภ ส่วนตำแหน่งหลังบ้าน ถือเป็นตำแหน่งบารมี การจัดฮวงจุ้ยห้องพระจึงควรเลือก 2 ตำแหน่งดังกล่าว จะช่วยเสริมพลังบวกได้มากที่สุด

4. ห้องพระควรหันทิศไปทางตะวันออก หรือทิศเหนือ 


          ซึ่งเป็นทิศมงคล หากไม่สามารถเลือกตำแหน่งห้องพระในทิศตะวันออกและทิศเหนือได้ ให้ตั้งหิ้งพระและองค์พระหันหน้าไปทางทิศนั้น ๆ แทน

5. ห้องพระที่ติดกับห้องนอน 


          ต้องระวังเรื่องการวางเตียงหันปลายเท้าไปหาห้องพระ และกรณีที่หันหัวเตียงไปที่ห้องพระ ต้องพิจารณาว่า ตำแหน่งขององค์พระ หรือโต๊ะหมู่บูชา ติดกับหัวเตียงหรือไม่ เพราะถ้าติดกัน เมื่อนอนบนเตียงอาจได้รับอิทธิพลของธาตุไฟ ทำให้ปวดหัวง่าย หรือนอนไม่ค่อยหลับ

6. ห้องพระไม่ควรติดกับห้องน้ำ 


           เพราะในหลักฮวงจุ้ย ห้องน้ำถือว่าเป็นธาตุน้ำ ส่วนห้องพระถือว่าเป็นธาตุไฟ ตามกฎเบญจธาตุ (ธาตุทั้ง 5) ธาตุน้ำนั้นจะพิฆาตธาตุไฟ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องวางห้องพระติดกับห้องน้ำ ควรหาตู้มาพิงผนังห้องน้ำ แล้วหันพระไปทางทิศอื่น ไม่เช่นนั้นความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระจะเสื่อม เพราะถูกพลังของธาตุน้ำบั่นทอน

7. ไม่ควรนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนภายนอกเห็น 


           ในทางฮวงจุ้ย บ้านที่เป็นร้านค้าไม่ควรนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนภายนอกเห็น เพราะจะมีคนแกล้งนำของสกปรกมาทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ในกรณีที่บ้านเล็ก มีพื้นที่จำกัด สามารถเลือกจัดที่บูชาพระในจุดที่เหมาะสม โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเลือกตำแหน่งของห้องพระได้เช่นกัน

ข้อควรเลี่ยงตามหลักฮวงจุ้ยห้องพระ


           อย่างไรก็ตาม การจัดที่บูชาพระได้มีการเน้นย้ำในเรื่องตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

          1. ไม่ควรตั้งพระในห้องนอน โดยเฉพาะคนที่มีคู่แล้ว แต่หากจำเป็นควรใช้ฉากกั้นให้เป็นสัดส่วน

          2. ไม่ควรตั้งหิ้งพระตรงบันได หรือใต้บันได

          3. ไม่ควรตั้งหิ้งพระอยู่ใต้คาน

          4. ไม่ควรตั้งห้องพระหรือหิ้งพระอยู่เหนือห้องน้ำ

          5. ห้ามแขวนหิ้งพระกับผนังห้องน้ำ

การตั้งองค์พระตามหลักฮวงจุ้ย


การจัดห้องพระ

 

          เมื่อสามารถกำหนดตำแหน่งของห้องพระที่เหมาะสมได้แล้ว การเลือกตำแหน่งตั้งพระพุทธรูปตามหลักฮวงจุ้ยก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยทิศที่เหมาะสมในการตั้งพระพุทธรูป ได้แก่ ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ซึ่งจะช่วยเสริมดวงชะตาและนำโชคลาภมาสู่ผู้อยู่อาศัย โดยสามารถพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

           1. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ : ทิศนี้เป็นทิศเศรษฐี หากประกอบการงาน ทำมาค้าขายใด ๆ ก็จะเจริญร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้น

          2. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศตะวันออก : ทิศนี้เป็นทิศราชา จะประกอบการงานใด ๆ ก็จะเจริญ ใหญ่โต สมความตั้งใจทุกประการ

          3. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ : ทิศนี้เป็นทิศปฐม นับว่าเป็นทิศที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งพระ เนื่องจากทำอะไรจะไม่ค่อยเจริญ ลาภผลตกต่ำ และแค่พอมีพอใช้

          4. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศใต้ : ทิศนี้เป็นทิศจัณฑาล ทำงานอะไรก็จะติดขัด ยากลำบาก หากมีการลงทุนก็มักได้ผลประโยชน์ไม่ค่อยคุ้มค่า

          5. ตั้งพระให้หันไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ : ทิศนี้เป็นทิศวิปฏิสาร งานการที่ทำจะมีแต่ความเดือดร้อนยุ่งยาก ซ้ำยังมีผลกระทบมาสู่ครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้าน

          6. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศตะวันตก : ทิศนี้เป็นทิศกาลกิณี  ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็จะเกิดลังเลใจ ไม่เป็นมงคล อาจเกิดภัยอันตรายร้ายแรงกับคนภายในบ้าน ซึ่งควรหลีกเลี่ยงทิศนี้อย่างเด็ดขาด

          7. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ : ทิศนี้เป็นทิศอุทธัจจะ จะทำงานสิ่งใด ผลงานก็ไม่แน่นอน จับจด รวนเร ไม่ได้ผล

          8. ตั้งพระหันหน้าไปยังทิศเหนือ : ทิศนี้เป็นทิศมัชฌิมาปฏิปทา จะทำงานใด ๆ ผลงานจะอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ไม่ดี ไม่ร้าย
 

ทิศต้องห้ามในการตั้งองค์พระ


          นอกจากนี้ คนที่เกิดในแต่ละปี ก็มีทิศต้องห้ามในการตั้งพระด้วย ดังนี้

          1. เจ้าของบ้านเกิดปีชวด ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศเหนือเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้เจ้าบ้านเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงจนถึงขั้นเสียชีวิต

          2. เจ้าของบ้านเกิดปีฉลู ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้เจ้าบ้านเกิดการเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน

          3. เจ้าของบ้านเกิดปีขาล ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้ผู้หญิง และสมาชิกในครอบครัว เกิดอันตรายได้

          4. เจ้าของบ้านเกิดปีเถาะ ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง คนในบ้านจะเสียชีวิต

          5. เจ้าของบ้านเกิดปีมะโรง ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้คนในบ้านเกิดการเสียหายทั้งชายและหญิง

          6. เจ้าของบ้านเกิดปีมะเส็ง ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้คนในครอบครัวมีความยุ่งยากจนหาความสงบสุขไม่ได้

          7. เจ้าของบ้านเกิดปีมะเมีย ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศใต้ เพราะจะส่งผลให้เกิดเรื่องราวอัปมงคลขึ้นภายในบ้าน

          8. เจ้าของบ้านเกิดปีมะแม ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะส่งผลให้ครอบครัวเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้

          9. เจ้าของบ้านเกิดปีวอก ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะจะส่งผลให้เกิดเรื่องร้าย ๆ กับสมาชิกเพศชายในครอบครัว

          10. เจ้าของบ้านเกิดปีระกา ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะจะส่งผลให้ทุกข์โศกมาเยือนครอบครัวจนต้องร้องไห้อยู่เสมอ

          11. เจ้าของบ้านเกิดปีจอ ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเด็ดขาด เพราะจะส่งผลร้ายให้สมาชิกในครอบครัวอย่างมากถึงขั้นเสียชีวิตได้

          12. เจ้าของบ้านเกิดปีกุน ห้ามตั้งหิ้งพระบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะจะส่งผลให้เกิดเรื่องร้าย ๆ ในครอบครัวอยู่ตลอด อาจต้องมีการเสียเงินเสียทอง หรือขึ้นโรงขึ้นศาล

การจัดหิ้งบูชาตามหลักฮวงจุ้ย


การจัดห้องพระ

          ในการจัดหิ้งบูชาก็ต้องดูให้เหมาะสมกับดวงชะตาเช่นกัน และจะต้องดูแลให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะหากดูแลไม่ดีแล้ว สิ่งที่เป็นสิริมงคลของบ้านก็อาจกลายเป็นสิ่งอัปมงคลได้เช่นกัน โดยวิธีการจัดหิ้งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

          1. หิ้งบูชาต้องสะอาดอยู่เสมอ หากปล่อยให้หิ้งบูชาสกปรก คนในบ้านจะเจ็บป่วย และทำมาค้าไม่ขึ้น ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำเปล่าและดอกไม้สดที่บูชาเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ดอกไม้แห้งเฉาคาที่ เพราะจะทำให้คนในบ้านมีชีวิตที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก

          2. หิ้งพระต้องไม่อยู่เหนือประตู ซึ่งเป็นช่องทางเดินเข้า-ออก ถ้าจัดตั้งหิ้งพระในมุมที่พลุกพล่าน คนในบ้านจะมีแต่ความวุ่นวาย

          3. หิ้งบูชาพระไม่ควรหันหน้าตรงกับประตูห้องน้ำ หรือห้องครัว มิเช่นนั้นคนในบ้านจะเจ็บป่วย มีแต่เรื่องขัดแย้ง เงินทองรั่วไหล

          4. ถ้าพักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรือคอนโด ควรตั้งหิ้งพระให้สูงกว่าระดับศีรษะ เพราะหากตั้งหิ้งพระต่ำกว่าศีรษะ จะทำให้คนในบ้านไม่เจริญก้าวหน้า อาชีพการงานเติบโตช้า และจะถูกลดตำแหน่งงานลง

          5. หากตั้งหิ้งบูชาขนาดใหญ่ จำนวนองค์พระหรือองค์เทพบนหิ้งควรมีจำนวนเป็นเลขคี่ เช่น 1, 3, 5, 7, 9 องค์ ทั้งหลักฮวงจุ้ยและความเชื่อของไทยก็ล้วนระบุว่าไม่นิยมให้เป็นจำนวนเลขคู่

          6. ไม่ตั้งหิ้งบูชาไว้ใต้คาน มิเช่นนั้นดวงชะตาคนในบ้านจะถูกกดทับ ทำให้เจริญรุ่งเรืองยาก และมักมีเรื่องให้ปวดหัวอยู่เสมอ

          7. ไม่ควรมองเห็นหิ้งพระได้จากนอกบ้าน เพราะจะถือว่าการตั้งหิ้งพระไม่อยู่ในมุมสงบ หรือเป็นสัดส่วน แต่ถ้าเป็นร้านที่ประกอบธุรกิจค้าขายถือว่าไม่เป็นไร

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีบูชาพระที่บ้าน :  



          เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลฮวงจุ้ยห้องพระ ทั้งการกำหนดตำแหน่งห้องพระภายในบ้าน คำแนะนำในการวางพระ รวมถึงการดูแลหิ้งพระด้วย แต่ทั้งนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านก็ควรทำการสักการบูชาพระอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมถึงควรทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้ทุกคนภายในบ้านสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข จนเรียกได้ว่า สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ กันเลยยังไงล่ะคะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีจัดฮวงจุ้ยห้องพระ ให้บ้านสงบร่มเย็น ช่วยเสริมโชคลาภและบารมี อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2566 เวลา 10:58:15 1,088,177 อ่าน
TOP